ชวนลูกเล่น Flashlight | บ้านอุ่นรัก

ชวนลูกเล่น Flashlight | บ้านอุ่นรัก

ลูกออทิสติก สมาธิสั้น จำนวนหนึ่งมีระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ลูกจึงแสดงพฤติกรรมที่พอจะมองเห็นได้หลายรูปแบบ เช่น

  • หมกมุ่นสนใจเป็นพิเศษกับการรับรู้ทางสายตา จึงชอบเพ่งมองภาพซ้ำ ๆ มองตัวอักษร สี สัญลักษณ์ ยี่ห้อสินค้า ธงชาติ ชอบมองสิ่งที่มีพื้นผิวมันวาว สิ่งที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เข็มนาฬิกา หรือมองแนวกระเบื้องที่พื้นหรือฝาผนัง มองตามเสาไฟฟ้า มองป้ายโฆษณาขณะนั่งรถ
  • แต่ลูกบางคนอาจมีการหลบเลี่ยงการมองบางประเภท เช่น ไวต่อแสง ไม่ชอบเมื่อมีคนถ่ายภาพแล้วมีแสงเฟรช ไม่ชอบไฟกระพริบ ไม่ชอบแสงจ้า
  • หรือลูกบางคนมักจะมองอะไรแบบละสายตาโดยง่าย มองแบบไม่จดจ่อ มองไม่ต่อเนื่อง เหม่อมองแบบไม่โฟกัสสายตา สอดส่ายสายตาไปมา หรือตาลอยแบบมองทะลุผ่าน

จากปัญหาระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ทีมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกและสมาธิสั้นจึงมักจะจัดกิจกรรมให้ลูกศิษย์ได้เล่น Flashlight เล่นฉายไฟ เล่นไฟกระพริบ ที่เด็ก ๆ ได้มองตามแสงไฟ เพื่อ

  • กระตุ้นการรับรู้ทางสายตา (Visual Perception)
  • การมองตามสิ่งเคลื่อนไหว (Eye Tracking) และการกรอกตาตามวัตถุที่เคลื่อนที่
  • การฝึกคงสายตาจดจ่ออย่างต่อเนื่อง เพิ่มการคงสมาธิ
  • ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ เวลาที่ลูกหงุดหงิด

ตัวอย่างอุปกรณ์การเล่นที่นำมาประยุกต์ได้ เช่น ไฟฉาย ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก) ไฟเธค ไฟกระพริบ

ไฟฉาย

แบบที่ 1: ปิดไฟในห้อง ปิดม่านให้ห้องมืด แล้วเปิดไฟฉาย ใช้ไฟฉายส่องเคลื่อนที่ไปตามจุดต่าง ๆ ช้า ๆ ให้เด็กมองตาม  การเคลื่อนที่ของแสงในรูปแบบอิสระ

แบบที่ 2: ฉายไฟแบบระนาบที่ต่อเนื่องเพื่อฝึกมองแบบคงสายตา เช่น ฉายไฟย้ายตำแหน่งต่อกันเป็นเส้นทางที่ต่อเนื่อง อาจนับในใจ 1 ถึง 20 จุด โดยเคลื่อนที่ไฟฉายช้า ๆ ต่อเนื่องเป็นแนว เช่น ทางยาว ส่องไฟจากบนลงล่างแบบแนวตั้ง  ส่องแนวนอน  แนวเฉียงต่อกัน  ส่องเป็นแนวรูปสี่เหลี่ยม

แบบที่ 3: ส่องไฟและสอนคำศัพท์ เช่น ติดภาพคำศัพท์ที่ต้องการสอน จะติดแบบอิสระ หรือจะติดเป็นแนวระนาบ หรือสลับรูปแบบก็ได้ จากนั้นส่องไฟไปยังภาพคำศัพท์เพื่อกระตุ้นการพูด  หรือหากทำจนลูกจำคำศัพท์ได้แล้ว อาจรอให้ลูกพูดก่อนจึงส่องภาพถัดไป

แบบที่ 4: ปิดไฟมืด แล้วฉายไฟฉายบนโต๊ะ หรือบนพื้นให้ลูกไล่ตบแสง ในรูปแบบส่องไฟอิสระ หรือส่องตามแนวระนาบ  และอาจสลับบทบาทให้ลูกเป็นคนส่องแสงไฟ แล้วพ่อแม่ตามตบแสงเพื่อเล่นสนุกร่วมกัน

ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก)

วิธีเล่น: ปิดไฟให้มืด แล้วส่องไฟฉายแบบเคลื่อนที่ให้เกิดแสงสะท้อนในมุมต่าง ๆ เริ่มจากส่องแบบเคลื่อนที่แนวระนาบช้า ๆ ให้ลูกมองต่อเนื่อง จากนั้น ส่ายไฟฉายแบบเร็ว ๆ ย้ายจุดไปมา ให้เกิดแสงกระทบ ให้ลูกมองตาม

ไฟเธค ไฟกระพริบ (ขนาดเล็ก)

แบบที่ 1: ปิดไฟมืดแล้วเปิดแสงให้ลูกวิ่งเล่น หรือเปิดเพลงจังหวะเร้าใจสนุก ๆ แล้วชวนลูกเต้นรำ เคลื่อนไหวร่างกายด้วยกัน

แบบที่ 2: นำไฟกระพริบใส่ในเต็นท์ที่มีขนาดใหญ่พอควร ให้ลูกมุดไปนั่งเล่น

แบบที่ 3: ในสถานการณ์ที่ลูกหงุดหงิด ลองเปิดไฟนี้ให้ลูกได้ใช้เวลาสงบใจกับตนเอง ในลูกรายที่ไม่กลัวแสง หลังจากอยู่ในบรรยากาศของแสงไฟ ลูกจะเริ่มผ่อนคลายจากความหงุดหงิดภายใน  เพราะความสนใจถูกเบี่ยงเบนมายังสิ่งเร้าภายนอกคือแสงไฟ

คำเตือน

  • กรณีที่พบว่าลูกเลี่ยงหรือหวาดกลัว กลัวแสงไฟ โดยเฉพาะการใช้ไฟกระพริบหรือแสงจ้า ควรปรับระดับแสงให้สีนวล และเริ่มจากเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายเวลาให้นานขึ้น
  • ในทุกกิจกรรมเราจะไม่ปล่อยให้ลูกหมกมุ่นกับกิจกรรมใดนาน ๆ หรือซ้ำ ๆ ดังนั้นในแต่ละกิจกรรมควรใช้เวลาไม่เกิน 10-20 นาทีต่อรอบ เลือกทำในบางวันสลับกับการทำกิจกรรมอื่น หรือขึ้นอยู่กับปฎิกริยาตอบสนองของลูกว่าสนุก สนใจ และมีส่วนร่วมหรือไม่

เครดิตภาพ: https://www.freepik.com/rocketpixel

จิ๋วแจ่มแจ๋ว | บ้านอุ่นรัก

จิ๋วแจ่มแจ๋ว | บ้านอุ่นรัก

คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่เด็ก 3 ขวบควรทำได้? และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอบอกเพิ่มเติมว่าคุณครูในโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 ก็คาดหวังว่าผู้ปกครองได้เตรียมเด็ก ๆ ให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนเข้าโรงเรียนแล้ว

เด็ก 3 ขวบควรดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องเหล่านี้

  • ปัสสาวะในห้องน้ำได้เอง ไม่ปัสสาวะราด ไม่ใส่แพมเพิส

สำหรับบางบ้านที่ลูกยังใส่แพมเพสอยู่ที่บ้าน ต่อไปนี้ ต้องทำใจนิ่ง ๆ ยิ้มสู้ ตั้งรับภาระการซักกางเกงและการหมั่นถูพื้นเปียก เพื่อแลกกับการเติบโตสมวัยของลูก โดยทุก ๆ 30 นาที หมั่นพาลูกเข้าห้องน้ำ กระตุ้นให้ลูกกระตุกกางเกงลงเอง กระตุ้นให้ลูกเบ่งฉี่ ซึ่งอาจต้องร้องเพลงรอ รอ และรอนานสักหน่อย แต่ขอให้รออย่างใจเย็น ลองเปิดน้ำช่วยบิ้วท์อารมณ์ พร้อมพูดกับลูกว่า “ฉี่ ๆ ๆ”  จากนั้นก็รออีกจนกว่าลูกจะสามารถเบ่งฉี่ออกมาสำเร็จ

  • เลิกนมขวดในตอนกลางวัน (และเมื่อทำได้จึงเลิกนมขวดกลางคืนต่อไป)

บางบ้านอาจกังวลว่าลูกทานอาหารได้ไม่ดี จึงยอมให้ดื่มนมขวด โดยลืมไปว่าตราบใดที่ลูกเลือกที่จะอิ่มท้องด้วยนมได้ ลูกก็จะไม่พยายามทานอาหาร ซึ่งประเด็นลูกเลิกนมขวดได้แล้วหรือไม่นี้ บอกอะไรได้ค่อนข้างลึกล้ำ คือ บ้านที่ตัดใจ ตั้งใจทำจนทำสำเร็จ เป็นการยืนยันให้เรารู้ว่าครอบครัวนี้จะนำทางลูกได้แน่นอน เพราะเขารู้ว่าอะไรควรทำเพื่อการเติบโตก้าวต่อไปของลูก

  • ทานอาหารโดยนั่งทานที่โต๊ะ ไม่เดินป้อน ตักทานเอง ทานได้ปริมาณ 10 คำขึ้นไป ทานอาหารได้หลากหลายชนิด

เรื่องการทานอาหารเป็นเรื่องที่ปรับง่ายที่สุดสำหรับเด็ก ๆ ในช่วงวัยก่อน 3 ขวบ ส่วนเด็กช่วงวัย 3-4 ขวบ อาจปรับยากขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ค่อย ๆ ฝืนและฝึกได้

  • แต่งตัวแบบง่าย ๆ ได้เอง ถอด-ใส่รองเท้าได้เอง
  • นอนกับที่ในช่วงกลางวันโดยไม่ต้องนอนกอดหรืออุ้ม
  • ให้ความร่วมมือเมื่อผู้ใหญ่ช่วยนำในกิจกรรมช่วยเหลือตนเอง เช่น การแปรงฟัน
  • จับข้อมือลูกพาเดินแทนการอุ้ม

วันนี้ “บ้านอุ่นรัก” ขอกล่าวถึง “การช่วยเหลือตนเองที่เด็กวัย 3 ขวบควรทำได้” เพียงเท่านี้เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองพอที่จะเห็นภาพว่าท่านควรเตรียมลูกวัยก่อน 3 ขวบให้พร้อมในด้านใดก่อนวัยอนุบาล ซึ่งหลักการทำให้สำเร็จ คือ

  • สร้างความเชื่อให้ตัวเราเองและลูกว่าถึงวัยที่ลูกจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดแล้ว นี่คือก้าวแรกที่ลูกจะต้องเริ่มเติบโตอย่างสมวัย
  • จากนั้นจับนำ กระตุ้นให้ลูกร่วมลงมือทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ค่อย ๆ ฝึกไปอย่างช้า ๆ แต่มีความหมาย
  • ไม่เน้นว่าลูกต้องทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในทันที ณ จุดเริ่มต้น ขอเพียงลูกได้ร่วมทำ เมื่อเวลาผ่านไป ดูท่าทีของลูก หากพบว่าลูกเริ่มจับทางได้และเริ่มทำได้เอง จึงค่อย ๆ ลดการช่วยในบางขั้นตอนของกิจกรรมจนถึงจุดที่ลูกทำสิ่งนั้น ๆ ได้เองอย่างสมบูรณ์แบบ

การเลี้ยงลูกตัวจิ๋วให้เติบโตอย่างสมาร์ทแจ่มแจ๋วจะทำให้ลูกไม่ต้องรอพึ่งพิงคนอื่น ลูกดูแลตัวเองได้สมวัยเหมือนกับที่เด็กคนอื่นทำได้ ยืนบนขาของตนเอง และพร้อมก้าวเดินสู่การเติบโตในขั้นถัด ๆ ไป

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด?

หัวใจสำคัญของการส่งเริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด คือ

  • การกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นลูกให้พูดบอกความต้องการเสียก่อนจึงจะให้การช่วยเหลือหรือให้สิ่งของที่ลูกต้องการ ทั้งนี้ หากลูกยังพูดเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถพูดบอกบทนำและกระตุ้นให้ลูกพูดตาม โดยต้องกระตุ้นถามทวนซ้ำสัก 3-5 รอบ เช่น น้อง จะไปไหน : น้อง-ไป-ฉี่ หรือ น้องจะทำอะไร: น้อง-ดื่มน้ำ เป็นต้น
  • การเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อสื่อสารตามสถานการณ์นั้น ๆ หากลูกใช้ภาษาท่าทางไม่สมวัย พ่อแม่สามารถเริ่มจากจากการจับนำให้ลูกใช้ท่าทางประกอบการสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น จับมือฝึกลูกชี้สิ่งที่ต้องการแทนพฤติกรรมการดึงพ่อแม่ไปโดยไม่สื่อสารอย่างชัดเจน หรือฝึกการผงกหัวรับเพื่อสื่อความหมายว่า “เอา” “ใช่” หรือส่ายหน้าแทนคำว่า “ไม่เอา” “ไม่ใช่” เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ลูกต้องเน้นการรวมพลังของบุคคล 3 ฝ่ายเพื่อช่วยลูกให้ถูกวิธี ซึ่งประกอบด้วย (1) แพทย์ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก) (2) ผู้เชี่ยวชาญ (นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด) และ (3) คนที่บ้าน (คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและทุกคนที่บ้านที่เกี่ยวข้องกับลูก) นอกจากนี้ การใช้ “ภาพ” นับเป็นสื่อการสอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการฝึกลูก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านควรรู้วิธีฝึกลูก ตลอดจนมีการกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน และควรเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อลูกสามารถใช้ท่าทางในการสื่อสารตามสถานการณ์ให้ได้ด้วย

ปัญหาความล่าช้าทางพัฒนาการทางภาษาและการพูดในลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ไม่ว่าจะตั้งต้นอยู่ที่ระดับใด ตั้งแต่ลูกไม่พูดเลยหรือลูกพูดได้แต่คุณภาพการพูดไม่สมวัย คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาได้ และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะช่วยสนับสนุนข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Hulki Okan Tabak | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร?

เมื่อลูกเริ่มออกเสียงตาม “ภาพ” ได้แล้ว เราจะเพิ่มศักยภาพทางภาษาให้ลูกผ่านการฝึกตอบคำถามและลดการพูดทวนตาม โดยมีวิธีฝึก ดังนี้

  1. ถามคำถามตามภาพ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพและพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว)
  2. ถามซ้ำและชี้ภาพคำตอบ โดยผู้สอนงดการพูดนำคำท้ายลงทีละคำ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพ และพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | …ทั้งนี้ ผู้สอนไม่ต้องพูดนำว่า “ข้าว” แต่ผู้สอนชี้ที่ “ภาพข้าว” เพื่อให้ลูกตอบเอง) สำหรับขั้นตอนนี้ ผู้สอนจำเป็นต้องอดใจรอให้ลูกพยายามตอบเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อย จนถึงขั้นที่ผู้สอนสามารถลดการพูดนำลงไปทีละน้อยได้
  3. กรณีที่ลูกยังตอบคำถามเองไม่ได้ ผู้สอนจะบอกบทและกระตุ้นให้ลูกพูด (คำตอบ) ตามสัก 3 รอบ จากนั้น ต้องมีการถามซ้ำอีกรอบทันที  พร้อมกับกระตุ้นให้ลูกมองภาพคำศัพท์นั้น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
  4. กรณีถามหลายครั้ง แต่ลูกยังตอบไม่ได้หรือ พูดทวนคำถาม ให้ผู้สอนถามคำถามด้วยเสียงเบาพอได้ยิน และพูดคำตอบในลักษณะการบอกบท พูดนำคำตอบต่อคำถามทันทีด้วยเสียงที่ดังขึ้น และกระตุ้นให้ลูกพูดคำตอบตาม

บทความของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะบอกหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถช่วยลูกสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป

เครดิตภาพ: Julian Larcher | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

“ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร?

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ใช้ “ภาพที่เป็นรูปธรรม” ในการสอนลูกศิษย์ออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ให้พูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้น ทั้งนี้เพราะ “ภาพ” เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ครูกระตุ้นพัฒนาการกำลังพูด กำลังสอน หรือต้องการสื่อสารในสถานการณ์นั้น ๆ ได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้ง “ภาพ” เป็นตัวช่วย (Cue) ให้เด็กเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้

โดยทั่วไป ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นในการใช้ “ภาพ” ในการสอน ดังนี้

  • ช่วยให้เด็ก ๆ พูดได้ยาวขึ้น
  • กระตุ้นให้เด็ก ๆ พยายามออกเสียงออกมาเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อยจนถึงขั้นที่ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) สามารถลดการพูดนำลงได้ทีละน้อย

ส่วนวิธีใช้ “ภาพ”เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด มีขั้นตอนดังนี้

  1. แปลงคำพูดในประโยค ให้เป็น “คำ”
  2. แปลงคำทุกคำให้เป็น “รูปภาพ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. นำภาพมาเรียงเป็นช่องตามจำนวนคำในประโยคนั้น
  4. ผู้สอนพูดสั้น ๆ เป็นคำ ๆ ตามภาพ โดยพูดนำช้า ๆ ใช้คำพูดสั้น ๆ เป็นคำที่ตรงตามภาพ และจับนิ้วเด็กร่วมชี้ไปตามภาพอย่างช้า ๆ พร้อมกับพูดนำ โดยผู้สอนจะทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ สัก 3-5 รอบ
  5. กระตุ้นให้เด็กชี้และพูดตามสัก 3-5 รอบ ซึ่งอาจต้องรอเวลาชั่วครู่เพื่อให้เด็กพูดตาม
  6. เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยที่จะพูดตามเป็นประโยค ผู้สอนจะชี้ภาพทีละพยางค์ เริ่มลดการพูดนำ เพียงแค่ชี้ไปที่ภาพแทนการพูดนำ เพื่อให้เด็กพยายามออกเสียงพูดออกมาด้วยตนเอง
    • กรณีเด็กยังพูดเองไม่ได้ ให้ใช้วิธีข้างต้นซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ทุกวัน หรือให้เด็กพยายามต่อคำ
    • กรณีเด็กออกเสียงได้ แต่ยังไม่มั่นใจ หรือยังไม่เข้าใจ ผู้สอนจะชี้ภาพและออกเสียงพูดนำโดยลดเสียงลง เช่น ประโยค “น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว”
  1. ทำซ้ำบ่อย ๆ ชวนเด็กชี้และพูดตามภาพ และลดการพูดนำ รอเวลาชั่วครู่ให้เด็กพยายามคิดและพูดเอง โดยสามารถชี้นำด้วยการชี้ที่ภาพคำตอบ

เนื่องจาก “ภาพ” เป็นสื่อที่ใช้ได้ดีในการสื่อความหมายให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการสอนได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับเด็ก ๆ ได้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จึงได้จัดทำ “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” เพื่อจัดจำหน่าย โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านที่ต้องการใช้ “ภาพ” ในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก ๆ ในขณะที่ลูกอยู่บ้านต่อไป

ชมตัวอย่าง “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” กดลิงก์ข้างล่างนี้

https://www.facebook.com/255269831707213/posts/852651015302422/

บทความ เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ยังมีอีก 2 ตอนซึ่ง “บ้านอุ่นรัก” ฝากทุกท่านโปรดติดตามอ่านเพื่อได้ข้อมูลและแนวทางเพิ่มเติมในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Quokkabottles | Unsplash