VDO เด็กออทิสติก – ฝึกพัฒนาการด้วย SI (Sensory Integration)

VDO เด็กออทิสติก – ฝึกพัฒนาการด้วย SI (Sensory Integration)

VDO ความรู้เรื่องนี้จะช่วยให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ทราบข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เพิ่มมากขึ้น

  • ระบบประสาทรับความรู้สึก หรือกระบวนการทำงานภายในสมองที่คอยจัดระเบียบคัดกรองความรู้สึกและสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้นร่างกายผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก และสั่งให้ร่างกายแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ
  • ประโยชน์ของการฝึกพัฒนาการด้านการบูรณาการการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration หรือ SI) และ
  • ตัวอย่างกิจกรรมบำบัด ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการเล่นที่มีเป้าหมายในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ นั่นเอง

ส่วนระบบประสาทรับความรู้สึกทั้ง 7 จะประกอบด้วย

  1. การมองเห็น (Visual System)
  2. การได้ยิน (Auditory System)
  3. การรับสัมผัสทางผิวหนัง (Tactile System)
  4. การได้กลิ่น (Olfactory System)
  5. การรับรส (Gustatory System)
  6. การรับรู้ท่าทางของร่างกายผ่านข้อต่อ (Proprioception)
  7. การทรงท่า (Vestibular)

ทั้งนี้ เด็กที่มีปัญหา SI จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ และพบบ่อยในเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และเด็กที่มีพัฒนาการช้า

  1. ชอบการเคลื่อนไหวมาก ๆ เช่น กระโดด สะบัดมือ เดินเขย่งเท้า
  2. หลีกหนีสิ่งเร้า เช่น กลัวชิงช้า กลัวที่สูง ไม่มั่นคง ไม่สัมผัสอาหาร หรือของเล่นที่นุ่มนิ่ม
  3. ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เช่น ตื่นตระหนก อ่อนไหวง่าย
  4. ความรู้สึกช้า ไม่แสวงหาสิ่งเร้า เช่น มีสีหน้าเรียบเฉยง่วงนอนตลอดเวลา ไม่รับรู้สิ่งแวดล้อม ดูนิ่ง ๆ ซึม ๆ
  5. ดีสแพร็กเซีย (Dyspraxia) เช่น มีการวางแผนการเคลื่อนไหวที่ไม่ดีทำให้เกะกะเก้งก้าง ใส่เสื้อผ้าเองลำบาก เรียนรู้กิจกรรมใหม่ ๆ ได้ช้า

https://www.youtube.com/watch?v=mFSNcJkhjx0&feature=youtu.be

เมื่อชมคลิปจนจบ ก็รู้สึกทึ่งที่เด็กชายออทิสติกตัวน้อย ๆ ที่มีอายุเพียง 4 ขวบคนหนึ่ง ที่เคยอยู่ไม่นิ่ง ยืนโยกตัวค่อนข้างตลอดเวลา ไม่มองหน้า ไม่สบตาเลย ชอบเล่นเสียง เอาแต่ใจ โวยวาย ไม่ยอมทำกิจกรรม ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ไม่ฟังคำสั่ง ไม่เข้าใจภาษา แสดงออกทางภาษาน้อย รอคอยไม่ได้เลย มีปัญหาการเรียนรู้และสุขภาพอนามัย ไม่เข้าสังคม และใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่ปกติสุข แต่เมื่อเด็กได้เข้ารับการฝึกทักษะการรับความรู้สึกผ่านระบบประสาทสัมผัส 7 ด้านด้วยการทำกิจกรรมบำบัดเพื่อปรับความสมดุลระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึกของร่างกายให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าและแสดงพฤติกรรมโต้ตอบต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง พัฒนาการหลายด้านของเขาก็ดีขึ้นได้ภายใน 1 ปี  

กรณีการฝึกนี้ ทำให้เรามีกำลังใจและฮึดสู้เพื่อลูกขึ้นมาได้ เพราะเราได้เห็นตัวอย่างแล้วว่าเพียงหนูน้อยคนนี้เข้ารับการฝึกพัฒนาการด้วยกิจกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 ปี เขาก็สามารถเพิ่มพูนพัฒนาการหลายด้านของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าสมาชิกในครอบครัวของลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย รู้วิธีการฝึกที่ถูกต้องและร่วมใจกันลงมือฝึกลูกหลานที่บ้านควบคู่กันไปด้วย เด็ก ๆ ก็จะยิ่งเก่งได้มากกว่านี้และเก่งขึ้นในทุก ๆ วันอย่างเห็นได้ชัดมากมายเพียงใด  

สำหรับผู้ปกครองที่อยากไปฝึกลูกเองต่อที่บ้าน ท่านควรทำดังนี้ คือ 

  1. พาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อรับการวินิจฉัยอาการและรู้ปัญหาที่แท้จริงของลูก เพื่อจะได้เสริมสร้างพัฒนาการได้ถูกด้านต่อไป
  2. คลุกคลีและเล่นร่วมกันกับลูกที่บ้านบ่อย ๆ ทั้งนี้ ท่านสามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมง่าย ๆ ที่บ้าน หรือแม้แต่ให้ลูกช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ง่าย ๆ ก็สามารถฟื้นฟูและสร้างเสริมพัฒนาการให้ลูกได้
  3. ขอคำแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัดหรือครูกระตุ้นพัฒนาการของลูกเมื่อมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

พัฒนาการของลูกเราสามารถร่วมกันสร้างเสริมให้ลูกได้ ขอเพียงเริ่มต้นเรียนรู้ ทำตามแนวทางที่ถูกต้องทุกวัน ทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือต้องไม่ถอดใจ เราก็จะประสบความสำเร็จและช่วยลูกได้ค่ะ

บ้านอุ่นรักจะอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับทุกท่าน และพร้อมที่จะรับฟัง เป็นที่ปรึกษา ตลอดจนให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ทุกท่านเสมอค่ะ 

Credit คลิปและข้อมูล: รายการโทรทัศน์ มูลนิธิเด็ก | ก.บ. ปานิศรา วาริสสอน (ครูน้อยหน่า นักกิจกรรมบำบัดประจำสถาบันวิชาการ มูลนิธิเด็ก)

Credit ภาพ: Bekah Russom | Troy T | Bruce Warrington | Unsplash