FAQ

Frequency Asked Question

คำถามที่พบบ่อย

ออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ทางการแพทย์สรุปว่าโรคออทิสติกเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การช่วยเหลือที่เหมาะสมจะทำให้น้องค่อยๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และการช่วยเหลือตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับปกติได้

ลูกมีสิ่งบ่งชี้อาการน้อย ควรจะมารับการฝึกหรือไม่

ในความเป็นจริงแล้ว การเข้าสู่กระบวนการฝึก เป็นเพียงแต่การผ่านกระบวนการการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและมีความซ้ำเพียงพอที่จะช่วยให้น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนั้นในน้องที่มีระดับอาการน้อยจะเห็นผลการกระตุ้นพัฒนาการเร็วและสามารถเข้าสู่การเรียนร่วมอย่างมีความหมายได้เร็วขึ้น

เป้าหมายของการกระตุ้นพัฒนาการคือการพยายามส่งน้องกลับเข้าสู่สังคมให้เร็วที่สุด ดังนั้นเมื่อน้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งคุณครูจะเริ่มวางแนวทางการส่งต่อเข้าเรียนร่วมต่อไป

แนวทางการเรียนการสอนของ “บ้านอุ่นรัก” ยึดตามทฤษฎีใด

มีทฤษฏีต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก ทั้งทฤษฏีที่มีผลวิจัยรองรับหรือได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เช่น ABA (Applied Behavior Analysis), TEEACH (Treatment and Education of Autistic and related Communication handicapped Children), DIR/Floortime (Developmental, Individual Differences, Relationship-based approach) หรือ ทฤษฏีทางเลือกอื่นๆ เช่นโภชนาการบำบัด,  การปรับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดสารพิษ สารเคมีต่างๆ ที่อาจมีผลต่อเด็ก

การทำงานของ “บ้านอุ่นรัก” เป็นการผสมผสานระหว่างของทฤษฏีต่าง ๆ และองค์ความรู้ของ “บ้านอุ่นรัก” เองที่ได้จากประสบการณ์จริงจากการทำงานด้านนี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปี   เนื่องจากออทิสติกเป็นโรคที่สลับซับซ้อนและมีอาการหลายด้าน เด็กแต่ละคนอาจมีการตอบสนองต่อการช่วยเหลือแต่ละแนวทางต่างกัน ไม่มีการบำบัดวิธีใดวิธีหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลกับเด็กทุกราย การช่วยเหลืออย่างหนึ่งอาจได้ผลกับเด็กคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลกับเด็กอีกคนหนึ่ง  การทำงานของ “บ้านอุ่นรัก” เป็นการทำงานโดยใช้ “แผนการกระตุ้นพัฒนาการเฉพาะบุคคล” ของน้อง และปรับแผนการสอนตามผลที่ได้รับจริง

ผู้ปกครองจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการของ “บ้านอุ่นรัก” ได้อย่างไร

“บ้านอุ่นรัก” สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในทุกขั้นตอนของการฝึก เช่น…

  • ผู้ปกครองสามารถศึกษาข้อมูลแนวทางการฝึกของน้อง ผ่านสมุดสรุปแผนการสอนและสรุปพัฒนาการของน้อง
  • ผู้ปกครองสามารถติดตามผลการกระตุ้นพัฒนาการจากบันทึกการสอนผลและผลการสอน (ผลของการฝึกทุกกิจกรรมจะมีการบันทึกผลเป็นรายบุคคลและวัดผลได้เป็นรูปธรรม)
  • มีการทำ Case Conference เป็นระยะ โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น ครอบครัว โรงเรียน แพทย์ และทีมบำบัด   
  • มีการจัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองทุก 2-3 เดือน
  • เมื่อน้องปรับตัวได้แล้ว ผู้ปกครองสามารถเข้าชมการสอนได้ตลอดเวลาเพื่อนำเทคนิคต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการฝึกน้องที่บ้าน
  • ผู้ปกครองสามารถนำพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลของน้องเข้ามาฝึกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือน้องที่บ้านทำได้ดียิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมของที่บ้านในการดูแลน้องในระยะยาว

สิ่งที่ควรกังวลสำหรับอนาคต

สิ่งที่มักเป็นปัญหา น่าจะเป็นเรื่อง อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม  จะน่าดีใจมากหากน้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ มีสังคม (อาจจะเป็นสังคมเล็กๆ ของตนเอง) และไม่มีพฤติกรรมที่ขัดขวางการใช้ชีวิตในสังคม ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น ควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อโกรธ ไม่มีความก้าวร้าวรุนแรง มีพฤติกรรมสุขภาพ เช่น รู้จักดูแลรักษาความสะอาดของตนเอง ทานอาหารได้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น

ในตอนต้นของชีวิตพ่อแม่อาจกังวลด้านการเรียนรู้ เช่นกลัวว่าน้องจะเรียนไม่ได้ กังวลเรื่องสติปัญญา ในฐานะที่เราเป็นคุณครูและนักกระตุ้นพัฒนาการจะเป็นห่วงเรื่องการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะพบว่าหากได้ทำการคืนธรรมชาติในการสนใจอยากเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ให้น้องตั้งแต่ยังเล็ก น้องๆ มักจะชอบการเรียน โดยเฉพาะการเรียนที่มีแบบแผน ไม่ซับซ้อน (เช่น การอ่าน เขียน) ชอบลงมือทำงาน และมีจุดเด่นในเรื่องความจำ หากมีความสนใจในสิ่งใดจะทำได้ดีมากในสิ่งนั้น (เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้หมกมุ่นในสิ่งใดเป็นพิเศษ) หากน้องไม่ได้มีปัญหาด้านสติปัญญาก็น่าจะสามารถต่อยอดเรื่องการเรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ  พ่อแม่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่ต้องการสร้างให้เป็นรากฐานของลูกในวันนี้ต้องมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตข้างหน้า ต้องเป็นสิ่งที่จะมีส่วนช่วยให้น้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีคุณค่าและมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่นเด็กสมาธิสั้นมักไม่มีปัญหาในการเรียนรู้ แต่ไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการเรียน หลายๆ คน แม้มีความสามารถแต่ก็ไม่อยากเรียน ช่วงพักกลางวันก็ไม่มีเพื่อน เข้ากับใครไม่ค่อยได้ อาจรู้สึกว่าตนแตกต่างจากคนอื่น ไม่รู้จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร รู้สึกว่าตนด้อยค่า หากพ่อแม่ไม่เข้าใจปัญหาดังกล่าวของลูก มุ่งเน้นแต่เรื่องการเรียน ในอนาคตน้องอาจมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าและไม่สามารถดำรงชีพอย่างมีความสุข อีกหนึ่งตัวอย่างง่ายๆ คือ พฤติกรรมการทานอาหาร เด็กออทิสติกจำนวนมากชอบอาหารกรอบๆ หวานๆ บางคนเลือกทานเฉพาะอาหารมัน หากพ่อแม่ไม่ตระหนักรู้และไม่ทำการปรับพฤติกรรมนี้ตั้งแต่เล็ก เมื่อน้องโตขึ้นก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดอุดตัน เบาหวาน  ฯลฯ ความสามารถด้านการเรียนเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในชีวิตของลูก อย่าลืมว่าชีวิตประกอบด้วยสิ่งใหญ่ๆ อีกมากมา

ดังนั้นในวันนี้อย่าลืมคิดเสมอว่าในอนาคตลูกเราจะอยู่อย่างไร? อะไรที่ดูจะเป็นปัญหา ป้องกันและแก้ไขตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นในอนาคต

พ่อแม่รู้สึกสับสนไม่แน่ใจว่าควรเชื่อข้อมูลใด หรือจะเลือกแนวทางใดในการช่วยเหลือลูก

เป็นปกติที่พ่อแม่จะรู้สึกสับสน ไม่รู้จะไปทิศใด จะเริ่มต้นอย่างไร ปัจจุบันมีหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งภาครัฐและเอกชน  และมีแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, Internet ฯลฯ การหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกและเริ่มต้นได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม  การรับข้อมูลมากจนเกินไป อาจทำให้รู้สึกสับสนและวิตกกังวลมากขึ้น พ่อแม่จึงควรหาข้อมูลอย่างมีสติ มุ่งหาวิธีช่วยเหลือลูก มากกว่า จะวิตกกังวล คิดวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิจารณญาณและสัญชาตญาณของการเป็นพ่อแม่มากกว่าเลือกตามผู้อื่น ช่วยเหลือลูกบนพื้นฐานของความเป็นจริงมากกว่าจะเลือกตาม “ความต้องการ” ของพ่อแม่

ลูกเป็นอะไร

หากพ่อแม่มีความสงสัยในความผิดปกติทางพัฒนาการของลูก เช่น ไม่พูดเมื่อถึงอายุที่ควรพูด มีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางด้านพัฒนาการ หรือ จิตเวชเด็ก การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทำตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

โรคที่มักพบในเด็กที่มีพัฒนาการหลายด้านบกพร่อง ได้แก่

 

Pervasive Developmental Disorder (PDD)  โรค PDD คือกลุ่มโรคที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องทางพัฒนาการร่วมกันหลายด้าน

Autistic Disorder  โรคออทิสติก เป็นโรคหนึ่งในกลุ่ม PDD เกิดจากความผิดปกติของสมอง โดยแสดงพัฒนาการที่บกพร่องออกมา 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ

  1. พัฒนาการทางสังคม เช่น
  • ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น (Joint Attention)
  • ห่างเหิน ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาต่อผู้คน
  • ชอบอยู่คนเดียว ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน
  • สนใจสิ่งของมากกว่าคน
  1. พัฒนาการทางการสื่อภาษา เช่น
  • พูดช้า หรือ พูดไม่ได้เลย
  • มีภาษาแปลกๆ ของตัวเอง
  • ชี้หรือขอไม่เป็น แต่จะใช้วิธีดึงมือคนไปที่สิ่งนั้น
  • ไม่สามารถสานการสนทนากับผู้อื่น เฃ่น พูดแต่สิ่งที่ตนเองสนใจ ไม่คงการสนทนาอยู่ในเรื่องที่อีกฝ่ายสนทนาด้วย

 

  1. พัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น

 

  • มีการแสดงอารมณ์ที่น้อยเกินไป เช่น สีหน้าเรียบเฉย
  • บางครั้งมีการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงเกินไป เช่น ร้องไห้รุนแรง ยาวนาน ผิดธรรมดา
  • มีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง เล่นมือ เดินเขย่ง
  • ระบบรับสัมผัสไวเกินไป หรือ น้อยเกินไป เช่น รับเสียงได้ดีเกินปกติ ไม่ชอบเสียงดัง ชอบเลี่ยงพื้นผิวบางอย่าง หรือ เข้าหาพื้นผิวบางอย่าง มากเกินไป
  • ปรับตัวยาก
  • ซนมาก สมาธิสั้น
  • อาจสนใจสิ่งของแต่เป็นการเล่นอย่างไม่มีความหมาย เช่น สนใจล้อรถ เล่นหมุนล้อรถแทนที่จะเอาเล่นอย่างมีความหมาย

High Function Autism กลุ่มออทิสติกที่มีอาการค่อนข้างดี ไม่มีภาวะปัญญาอ่อน

Asperger’s syndrome เป็นความผิดปกติทางพัฒนาการแบบหนึ่งในกลุ่มของ Pervasive Developmental Disorder (PDD) และมีความบกพร่อง 3 ด้านใหญ่ๆ เช่นเดียวกับกลุ่ม Autistic แต่ มักมีทักษะทางภาษาดีกว่า มี IQ ดีกว่า บุคคลที่เป็นก็ตระหนักว่าตนเองมีปัญหา แต่มีปัญหาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ทางสังคมได้ อาจดูเป็นคนแปลกๆ และมีพฤติกรรมแยกตัวชอบอยู่คนเดียว

Global Delay Development เด็กที่มีพัฒนาการโดยรวมช้าทุกด้าน รวมทั้งพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก

Attention Deficits and Hyperactivity Disorder โรคสมาธิสั้น อาการที่สำคัญของเด็กกลุ่มสมาธิสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. อาการซนมากกว่าปกติ (Hyper Activity) ลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆไป ไม่อยู่นิ่ง อยู่ไม่เป็นสุข
  2. อาการสมาธิสั้น (Attention Deficit) เด็กขาดการจดจ่อและมีปัญหาการคงสมาธิในสิ่งที่กำลังกระทำ ทำงานไม่ค่อยเสร็จ หรือใช้เวลานาน เด็กจะมีความวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเล็กๆน้อยก็สามารถทำให้เด็กเสียสมาธิได้ เช่น เสียงของตก คนเดินผ่าน เป็นความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกโดยผ่านทาง ตา / หู หรืออาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในตัวของเด็กเอง ในกรณีนี้จะแสดงออกในลักษณะอาการเหม่อลอย นั่งนิ่งๆ เป็นระยะเวลานานๆ เหม่อบ่อย
  3. อาการหุนหันพลันแล่น ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (Impulsive) เด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น รีบเร่ง เช่น ชอบพูดแทรก พูดโพล่งออกมาโดยไม่ทันฟังคำถาม หุนหันพลันแล่น อารมณ์ร้อน เล่นกับเพื่อนแรง เคลื่อนไหวอย่างไม่มีจังหวะจะโคน

**เด็กอาจมีลักษณะอาการครบทั้ง 3 กลุ่มได้ หรือ อาจมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เด่นหรืออาจมีลักษณะเด่นร่วมกันหลายอาการ   

 

Attention Deficits Disorder (ADD) โรคสมาธิสั้น มีปัญหาในการจดจ่อและไม่สามารถคงสมาธิในสิ่งที่กำลังทำ

Attention Deficits Hyperactivity Disorder (ADHD) โรคสมาธิสั้นที่มีอาการซน อยู่ไม่สุข ร่วมด้วย

พื้นฐานบางทฤษฏีอาจดูแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ABA และ Floortime เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน

ในสิบกว่าปีที่แล้วทั้งสองทฤษฏีนี้อาจแตกต่างกันอย่างมาก แต่ในปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าทั้งสองแนวทางดูใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น  เดิม ABA ผู้ฝึกจะเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์เกือบทั้งหมดและอาจขาดการใส่ “ธรรมชาติ” เข้าไปในการฝึก แต่ ABA ในปัจจุบันเริ่มเป็นการฝึกอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีทั้งการดึง ผ่อน ผู้ฝึกเป็นผู้นำและเด็กเป็นผู้นำ สลับกันไป จะเป็นความน่าเสียดายอย่างมากหากต้องเลือกไปในทิศใดทิศหนึ่ง น่าจะดีกว่าหากทำความรู้จักหลายๆ แนวทาง เรียนรู้ข้อดีข้อด้อยและนำเทคนิคของทฤษฏีที่เกิดขึ้นต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน

น้องจะสามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนได้หรือไม่

โดยส่วนใหญ่น่าดีใจว่าน้องสามารถเข้าเรียนร่วมได้ และไปตามกลุ่มได้ แต่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือในบางขั้นตอนของการเรียนร่วม คงไม่สามารถพูดได้ว่าการเข้าเรียนร่วมเป็นหนทางที่ราบเรียบ ปราศจากอุปสรรค แต่หากพ่อแม่มีกำลังใจที่ดี เข้าใจลูกในสิ่งที่ลูกเป็น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และคอยให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เด็กๆ จะสามารถไปได้ไกลอย่างคาดไม่ถึง

เด็กๆ ส่วนน้อยอาจเข้าเรียนร่วมไม่ได้ ในกลุ่มนี้ต้องช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อการฝึกอาชีพ มีงานหลายประเภทที่บุคคลออทิสติกสามารถทำเพื่อประกอบอาชีพได้ เช่น งานคอมพิวเตอร์ งานในสำนักงาน ทำอาหาร งานที่ใช้ความสามารถด้านศิลปะ เป็นต้น งานที่น่าจะทำได้ดีคืองานที่มีแบบแผนชัดเจนและเป็นงานที่ทำซ้ำๆ

การช่วยให้ลูกมีเส้นทางชีวิตที่ทำให้รู้สึกว่าตนมีคุณค่าและมีความสุขในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจและตระหนักว่าไม่จำเป็นที่เส้นทางชีวิตของเด็กๆ จะต้องมุ่งไปทางการเรียนร่วมอย่างเดียวเท่านั้น

พ่อแม่จะมีส่วนช่วยลูกได้อย่างไร

ให้เวลากับลูกมากๆ  อย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองนานจนเกินไป เน้นปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง (เช่น เล่นกับลูกเยอะๆ) พ่อแม่ต้องตระหนักในบทบาทของตนเองและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา เป็นพ่อแม่ที่ไม่ยอมแพ้ คิดเสมอว่าลูกต้องทำได้ หากลูกทำไม่ได้หรือติดขัดในขั้นตอนใดก็คิดหาทางแก้ปัญหา ต้องไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” แต่ ต้องคิดเสมอว่า “จะทำได้อย่างไร” ไม่ได้ด้วยวิธีนี้ก็หาวิธีอื่นๆ ช่วยลูกแก้ปัญหาต่อไป หากพ่อแม่เป็นพ่อแม่ที่ไม่ยอมแพ้ แน่นอนว่าน้องจะต้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเขาจะเป็นสมาชิกที่มีความหมายของสังคม และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พ่อแม่

เกี่ยวกับโรงเรียนเรียนร่วมที่รับเด็กพิเศษ

ผู้ปกครองหลายๆ ท่านมีความกังวลในการหาโรงเรียนให้น้องเข้าเรียนร่วม แต่อยากให้กำลังใจว่าการหาโรงเรียนให้น้องไม่ใช่เรื่องยาก หากน้องได้ผ่านกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการและการบำบัดมาบ้างแล้ว รวมทั้งมีทีมบำบัดช่วยดูแลในกระบวนการเข้าเรียนร่วม จะทำให้คุณครูในชั้นเรียนทำงานง่ายขึ้น  สบายใจขึ้น และไม่รู้สึกว่าเด็กพิเศษเป็นภาระของห้องเรียน ต้องเห็นใจคุณครูในชั้นเรียนเนื่องจากต้องรับผิดชอบเด็กจำนวน 20-30 คน ขึ้นไป อาจไม่สามารถช่วยเหลือน้องเป็นพิเศษหากน้องยังไม่ผ่านกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการมาเลย ปัจจุบันพบว่าโรงเรียนให้ความสนใจในการรับเด็กพิเศษเพิ่มมากขึ้น

ในประสบการณ์ทำงานของ “บ้านอุ่นรัก” น่าดีใจที่ปัจจุบันเรามีโรงเรียนซึ่งทำงานร่วมกันแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 50 โรง ซึ่งในระหว่างทางการทำงานเกี่ยวกับการเรียนร่วมได้พบกัลยามิตรจำนวนมากมาย ได้พบคุณครูที่มีใจเมตตากับเด็กๆ  ความเมตตาดังนี้เองที่เป็นกำลังใจอย่างมากให้แก่พ่อแม่ และคุณครูของ ”บ้านอุ่นรัก” เองในการส่งเด็กๆ ให้ถึงฝั่ง

จากประสบการณ์ของ “บ้านอุ่นรัก” น้องๆ โดยส่วนใหญ่สามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วๆ ไปได้ โดยไม่ต้องเน้นว่าเป็นโรงเรียนพิเศษ เด็กๆ สามารถเรียนร่วมไปกับเพื่อนๆ โดยเราคอยช่วยเหลือในบางช่วง เช่น ช่วงการเริ่มไปโรงเรียน (อนุบาล 1) หรือช่วงรอยต่อ เช่น เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษา 1 ชั้นประถมศึกษา 3

“บ้านอุ่นรัก”

ขอให้กำลังใจคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่าน

เชื่อเถอะค่ะว่า

“ความรัก”

ทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้

คำถามเพิ่มเติม

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองท่านใด มีคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามเข้ามาได้ โดยเขียนคำถามฝากมายังแบบฟอร์มด้านข้าง หรือกด Add Line ด้านล่างค่ะ

ทางทีมงาน “บ้านอุ่นรัก” จะทำการตอบกลับโดยเร็วที่สุด ขอบคุณค่ะ

11 + 4 =