4 วิธีการตรวจเช็คเบื้องต้น สำหรับการสังเกตและบ่งชี้อาการออทิสติกของลูกน้อย | บ้านอุ่นรัก

4 วิธีการตรวจเช็คเบื้องต้น สำหรับการสังเกตและบ่งชี้อาการออทิสติกของลูกน้อย | บ้านอุ่นรัก

หากเราทำความเข้าใจอย่างแท้จริง และมีการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง อาการออทิสติก ไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด

หากมีความเข้าใจในโรคและอาการของโรคนี้มากเพียงพอ ก็จะสามารถรับมือและหาวิธีการอยู่ร่วม รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลปกติทั่วไปได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือ การค้นพบอาการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเริ่มต้นการบำบัดอาการให้ทุเลาลง ซึ่งวันนี้ บ้านอุ่นรัก ขอนำเสนอ 4 วิธีการง่ายๆ ในการตรวจเช็คเบื้องต้น สำหรับการสังเกตอาการและข้อบ่งชี้อาการออทิสติกของลูกน้อย โดยหากพบมากกว่า 2 ด้าน  !!!!!  ควรรีบไปปรึกษาแพทย์นะคะ

1. ความไม่สมวัยด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง

  • เลี่ยงการสบตา
  • ไม่สนใจสานต่อปฎิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคล  ทั้งกับบุคคลใกล้ชิด และเด็กวัยเดียวกัน
  • มักจะแยกตัว ชอบเลี่ยงออกไปเล่นคนเดียวในแบบของตนเอง
  • ขาดการชี้ชวนออดอ้อนพยักพเยิด  ไม่สานต่อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางอารมณ์กับบุคลใกล้ชิด
  • ไม่สนใจเลียนแบบท่าทาง  การกระทำ หรือการพูดจากบุคคลรอบตัว

2. ภาษา/การสื่อความหมาย : ลักษณะการพูดและการสื่อความหมายไม่สมวัย

  • เริ่มพูดเพื่อสื่อความต้องการ ได้ช้ากว่าวัย (พูดช้ากว่า 2 ขวบ)
  • สานต่อ การสนทนา ไม่ได้
  • การแสดงออกทางแววตา/สีหน้า/ท่าทาง สื่อความหมายได้จำกัด

3. พฤติกรรม

  • ติดรูปแบบในการดำรงชีวิต   ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
  • บางรายมีการเคลื่อนไหวอวัยวะซ้ำ  (กระตุ้นระบบการรับสัมผัส)
  • หมกมุ่นกับสิ่งของเฉพาะอย่างเป็นพิเศษ
  • เล่นเป็นรูปแบบซ้ำๆ หรือมีวิธีเล่นเฉพาะตัว  ขาดการเล่นแบบสำรวจทดลองหรือ ใช้จินตนาการ
  • สนใจและตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างจำกัด
  • ระดับการเคลื่อนไหวไม่สมดุล  (ซนอยู่ไม่สุข/ เฉื่อย ไม่ชอบเคลื่อนไหว)

4. อารมณ์   

  • ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงง่าย วิตกกังวลสูง อารมณ์กวัดแกว่ง หงุดหงิดรุนแรง เพราะการรับรู้ไว  ตื่นตัวถูกรบกวนจากประสาทสัมผัส กลัว/เลี่ยงหนีหรือเข้าหา หมกมุ่นกับสิ่งเร้าบางอย่างเป็นพิเศษ

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ

7 เรื่องต้องรู้ว่าจริงๆแล้ว ออทิสติกคืออะไร | บ้านอุ่นรัก

7 เรื่องต้องรู้ว่าจริงๆแล้ว ออทิสติกคืออะไร | บ้านอุ่นรัก

บทความที่น่าสนใจในตอนนี้ นำเสนอเรื่อง 7 เรื่องต้องรู้ว่าออทิสติกจริง ๆ แล้วคืออะไร

ครูนิ่มเชื่อว่า ยังคงมีคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองอีกหลายท่าน ที่ยังสงสัยหรือไม่เข้าใจว่าออทิสติก จริง ๆ แล้วคืออะไร มีอาการอย่างไร รักษากันอย่างไร หรือรับมือกันอย่างไรดี ในบทความนี้ ครูนิ่มจะพาทุก ๆ ท่านไปทำความรู้จักกันหน่อยว่า จริง ๆ แล้ว โรคออทิสติกคืออะไรกันแน่ค่ะ

1. ทุก ๆ ประชากร 1000 คน จะพบผู้ที่มีอาการออทิสติก 6 คน

จากการเปิดเผยของอธิบดีกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนกรกฏาคม 2560 พบสถิติที่น่าตกใจว่าเด็กไทยมีอาการออทิสติกประมาณ 3 แสนคน (หรือมีอาการออทิสติกได้ 6 คนในประชากรทุก ๆ 1,000 คน) และในอนาคต ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะมีอัตราความชุกของโรคนี้ทวีคูณมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก หากพบว่าลูกมีร่องรอยของอาการจะได้รีบปรึกษาแพทย์และนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

สำหรับที่มาข้อมูล คลิกชมได้ที่นี่ค่ะ

2. ถ้าสังเกตดี ๆ จะสามารถพบอาการได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

หากสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ดี ครอบครัวจะพบร่องรอยของอาการออทิสติกได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก อย่างไรก็ตาม อาการออทิซึมจะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ กล่าวคือ เด็กจะมีพัฒนาการไม่สมวัยด้านการสานต่อปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคล  มีความล่าช้าด้านภาษา  มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ แปลกเฉพาะตัว โดยพัฒนาการที่ไม่สมวัยนี้จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น ครอบครัวต้องรู้ลำดับขั้นของพัฒนาการเด็กเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการสังเกตพัฒนาการของลูกหลานว่ามีความปกติหรือไม่ อย่างไร

ซึ่งนั่นหมายความว่า ยิ่งเรารู้ตัวเร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถทำการบำบัดอาการของลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อาการของลูกน้อยก็จะสามารถทุเลาลงได้

3. การเข้าถึงบริการสำหรับผู้มีอาการ ยังน้อยมาก ประมาณ 10% เท่านั้น

จากสถิติผู้มีอาการออทิสติกข้างต้นตามข้อ 1 กรมสุขภาพจิตพบว่ามีคนที่เข้าถึงบริการน้อยมาก คือ ประมาณร้อยละ 10  หรือปีละเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานหรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดรักษามีจำกัด อีกทั้งการบำบัดรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก ครอบครัวของบุคคลออทิสติกจึงพบปัญหาและอุปสรรคในการพาไปบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นพัฒนาการหรือการปรับพฤติกรรมบางด้านให้บุคคลออทิสติก ครอบครัวสามารถทำได้เองที่บ้าน ครอบครัวจึงควรเรียนรู้เรื่องการเป็นนักบำบัดประจำบ้าน เพื่อช่วยลูกหลานให้มีอาการทุเลาลงได้รวดเร็วและเห็นผลชัดเจนขึ้น อีกทั้งจะสามารถประหยัดค่าใช้การในการเข้ารับบริการบางส่วนลงได้

บ้านอุ่นรักเอง ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของบ้านอุ่นรัก ไม่ว่าจะเป็น Facebook Fan Page, Youtube, Website หรือแม้แต่ Instagram เอง ก็จะสามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ผู้ป่วย หรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของบ้านอุ่นรักได้ง่ายขึ้นนะคะ

สำหรับที่มาของข้อมูล คลิกชมได้ที่นี่ค่ะ

4. อาการออทิสติกมีการดำเนินของอาการตลอดชีวิต

อาการออทิสติกมีการดำเนินอาการตลอดชีวิต แม้รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถบำบัดรักษาอาการให้ทุเลาเบาบางลงได้ ดังนั้น หากมีการบำบัดรักษาอาการของโรคออทิสติกที่ถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถช่วยลดอันตรายหรือความเสี่ยงๆ ต่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้นั่นเอง

5. อาการออทิสติก มีรูปแบบอาการที่หลากหลาย

อาการออทิสติกไม่ได้มีรูปแบบของโรคแบบใดเพียงแบบเดียว ทั้งนี้ บุคคคลออทิสติกแต่ละคนอาจมีความบกพร่องเรื่องพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องทางสังคม การใช้ภาษาเพื่อสื่อสารแบบไม่สมวัย ปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาด้านอารมณ์ ด้วยข้อเท็จจริงนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเรียนรู้ธรรมชาติและอาการของลูกเพื่อหาทางบำบัดรักษาได้อย่างตรงจุด  

6. กลุ่มคนที่สำคัญที่สุด คือครอบครัว

จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าพ่อแม่และคนในครอบครัวของลูกหลานออทิสติกเป็นกลุ่มคนสำคัญที่สุดในการช่วยบำบัดรักษาอาการนี้ให้ลูกหลานได้ ดังนั้น ทั้งแพทย์ นักวิชาการ และนักวิชาชีพที่ทำงานด้านนี้ จึงเน้นและสนับสนุนเรื่องครอบครัวบำบัดมาโดยตลอด

7. สูตรสู่การบำบัดให้สำเร็จ คือ รู้จริง-ทำจริง-ทำต่อเนื่อง

สูตรในการบำบัดรักษาบุคคลออทิสติกให้ประสบความสำเร็จ คือ

  1. รู้จริงเรื่องธรรมชาติและอาการที่มีรูปแบบเฉพาะตนในแต่ละคน เพื่อหาทางบำบัดรักษาผู้มีอาการแต่ละคนได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้อง
  2. ทำจริงในเรื่องการลงมือกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้บุคคลออทิสติกเติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต
  3. ทำต่อเนื่องยาวนานมากพอ กล่าวคือ มีความจำเป็นต้องทำซ้ำ ๆ เรื่องการกระตุ้นพัฒนาการและการปรับพฤติกรรม ต้องใช้เวลาในการสอนหรือฝึกฝนให้ลูกหลานพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และการสอนซ้ำ ๆ การให้เวลาต่อลูกหลานที่มีอาการในการเรียนรู้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ใจเย็น แม้จะเป็นเหมือนภารกิจเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เมื่อถึงยอดเขานั้นแล้ว เราจะพบความชื่นใจและภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของการเป็นครอบครัวบุคคลออทิสติก

คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ