by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
แนวทางการรับมือลูกหงุดหงิด อาละวาด
- ตั้งสติ ไม่ตกใจ ไม่รน
- มีทัศนคติเชิงบวก
- พูดสั้น พูดให้เห็นภาพ พูดเชิงบวก
- เลี่ยงคำพูดกระตุ้นอารมณ์
- คาดการณ์ล่วงหน้า ไวต่อการตอบสนอง
- หยุดการสูญเสีย เก็บสิ่งอันตราย
- ถ้าพฤติกรรมรุนแรง มีระยะห่างไม่ให้เข้าถึงตัว
- เริ่มปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง
- เบี่ยงเบน: ใช้การสร้างความสนุกเข้ามาแทนที่
- ใช้กิจกรรมที่สนใจ
- ชวนลูกเปลี่ยนอิริยาบถ
- เพิกเฉย: นิ่ง ไม่พูด ไม่มอง ไม่ให้ความสนใจ
- กลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหมาะสม
- Time In: อยู่ข้าง ๆ ลูกแบบเงียบ ๆ อย่างเมตตา
- Time Out: แยกออกไปเพื่อสงบ (แยกผู้ใหญ่ออก | แยกเด็ก | งดกิจกรรม)
- เปลี่ยนความโกรธด้วยการทำให้ลูกหันมารับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย
- หลังลูกสงบ ค่อยสอนลูกเรื่องวิธีจัดการกับปัญหา
- สอนให้รู้อารมณ์
- พูดแสดงความเข้าใจ
- พูดกระชับ ๆ เกี่ยวกับความจริง (เหตุการณ์ ) และความรู้สึกของลูก
- สอนให้ลูกรู้วิธีรับมือว่า “หากมีเหตุการณ์เช่นนี้อีก ในครั้งต่อไป ลูกควรจะทำอย่างไรดี”
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
เทคนิคการสอนลูกจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- สอนอย่างเป็นขั้นตอน
- ซักซ้อมด้วยการสร้างบทบาทสมมุติ ใช้นิทานในการสอน หรือจำลองสถานการณ์ซ้ำ ๆ ให้เป็นแบบฝึกหัด ที่ลูกได้ลองฝึกซ้อมซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อลูกได้มีประสบการณ์ตรงบ่อย ๆ จนลูกสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วและทำได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
- ชวนลูกสรุปทวนความ เพื่อตรวจสอบการรับรู้ การฟัง การทำความเข้าใจของลูก ว่าเมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้ง ลูกถูกน้องแย่งของ หรือลูกเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำรงชีวิต ลูกเข้าใจวิธีแก้ปัญหาที่ได้เรียนรู้และซักซ้อมมาชัดเจนมากน้อยขนาดไหน ยังมีจุดใดที่ต้องสอนและให้ลูกได้ซักซ้อม ทวนความเพิ่มเติมอีกบ้าง
ในส่วนของลูก เมื่อได้เรียนรู้ ซักซ้อม และทวนความ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะพอดูออกว่าลูกจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เองหรือไม่ จากนั้น จะได้สอนและฝึกลูกเพิ่มเติมให้ตรงตามกรณีของลูกแต่ละคนต่อไป
ลูกที่พอจะแก้ไขปัญหาได้เอง
- สอนวิธีที่ลูกควรใช้ในการพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
- สอนวิธีที่ลูกควรใช้ในการหยุดความโกรธและความรุนแรง
- สอนคำพูดและท่าทางที่ลูกควรใช้ในการแสดงออกเพื่อแก้ไขสถานการณ์และขอความช่วยเหลือ
ลูกที่แก้ไขปัญหาเองไม่ได้
- สอนวิธีที่ลูกควรใช้เพื่อขอความช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือท่าทาง
- สอนให้ลูกรู้ว่าลูกควรไปขอความช่วยเหลือจากใคร ไปหาใคร คนที่ 1 2 3 ตามลำดับ
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
“การกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกออทิสติกด้วยตนเองที่บ้าน” เป็นเรื่องที่คนที่บ้านทุกบ้านทำได้ แม้ทำไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากจนเกินกำลัง ส่วนจะทำได้ง่ายหรือยากแค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- ระดับของอาการของลูก
- ความร่วมมือตลอดจนลีลาของสมาชิกแต่ละคนในบ้านในการนำทาง ฝึกทักษะ และกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก
สำหรับระดับอาการของภาวะออทิซึมก็เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บกลุ่มอื่น ๆ คือ มีกลุ่มอาการ 3 ระดับ จากอาการน้อย (Mild) อาการปานกลาง (Moderate) จนกระทั่งถึงอาการรุนแรง (Severe) ทั้งนี้ ระดับอาการรุนแรงแม้จะพบได้น้อย แต่ก็มีความซับซ้อนเพราะลูกมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการไม่สมดุลอย่างมากของการประมวลผลและการจัดการระบบการรับรู้และการรับสัมผัส (Sensory Integration) เป็นต้น
ประเด็นการวินิจฉัยอาการและระดับอาการของลูก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กจะเป็นแพทย์ผู้วินิจฉัยและประเมินอาการ เมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการและระดับของอาการแล้ว แพทย์จะให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องแนวทางการบำบัดรักษา ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องการพาลูกไปฝึกทักษะหรือไปกระตุ้นพัฒนาการกับทีมบำบัดมืออาชีพควบคู่กันไปตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละกรณี
จากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ ลูกจะได้รับโอกาสในการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธี ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะมีทั้งแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูลและให้แนวทางในการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกที่บ้านในขณะเดียวกันด้วย
ภาพรวมของประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรขอคำแนะนำจากทีมแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพก่อนลงมือกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก ๆ ที่บ้าน ไม่ว่าอาการของลูกจะอยู่ในระดับใด มีดังนี้ คือ
- คนที่บ้านควรกระตุ้นพัฒนาการด้านใดให้ลูกคู่ขนานไปกับทีมงานมืออาชีพ เช่น กระตุ้นทักษะด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ทักษะทางสังคม การควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นต้น
- คนที่บ้านไม่ควรทำสิ่งใด เพราะอะไร เช่น เรื่องที่ทำแล้วยิ่งไปย้ำให้อาการของลูกซึมลึกมากขึ้น หรือทำแล้วเท่ากับผลักให้ลูกชอบอยู่ในโลกส่วนตัวมากยิ่ง ๆ ขึ้น เป็นต้น
- คนที่บ้านควรมีขั้นตอนการฝึกลูกที่บ้าน หรือใช้เทคนิคใดเป็นตัวช่วยในการลงมือทำ เช่น เทคนิคการย่อยงาน (Task Analysis) หรือการใช้ภาพเพื่อสอนและสื่อสารกับลูก (PECS หรือ Picture Exchange Communication System) เป็นต้น
- คนที่บ้านต้องเตรียมรับมือความยากง่ายในการนำทางลูกอย่างไร มีอุปสรรคปัญหาใดที่ควรรู้ และจะใช้แนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
- ระดับอาการของลูกน่าจะส่งผลให้ลูกร่วมมือต่อการฝึกในระดับไหน คนที่บ้านจะจูงใจให้ลูกร่วมมือมากขึ้นได้อย่างไร
- ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละขั้นคืออะไร และพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนคนที่บ้านจะต่อยอดเป็นความสำเร็จเพิ่มเติมได้อย่างไร
- คนที่บ้านต้องใช้ระยะเวลาในการนำทางและกระตุ้นพัฒนาการยาวนานแค่ไหนจึงจะเห็นผลในแต่ละขั้นตอน
สำหรับการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกออทิสติกที่บ้านไม่ว่าจะง่ายหรือยาก ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอสนับสนุนให้คนที่บ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้คำแนะนำของทีมแพทย์หรือทีมบำบัดมืออาชีพ ทั้งนี้เพราะอาการออทิสติกของลูกจะบรรเทาเบาบางลงได้ ก็ต่อเมื่อ
- ลูกได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและฝึกทักษะรอบด้านอย่างต่อเนื่อง ยาวนานมากพอ ทำอย่างเหมาะสม ทำถูกวิธี ต้องมีการแทรกบทฝึกทักษะและการกระตุ้นพัฒนาการในชีวิตประจำวันของลูกตามวิถีชีวิตจริงบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เช่น ฝึกลูกทำกิจวัตรต่าง ๆ ฝึกลูกมีส่วนรับผิดชอบตนเองตามวัยตามวีถีชีวิตประจำวันจริง ฝีกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การวางแผนการเคลื่อนไหว การสานสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด กระตุ้นการเลียนแบบ ขยายคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน ฝึกการฟัง-เข้าใจ และการทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เป็นต้น
- ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก (โดยเฉพาะลูกออทิสติกและลูกสมาธิสั้น) เพื่อให้ลูกสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและไม่ขัดขวางการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในอนาคต ทั้งนี้ พฤติกรรมมีผลต่อการดำรงชีวิตของลูกเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตัวอย่างของพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่น พฤติกรรมยึดติด ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง พฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ลูกชอบทำอันเกิดจากระบบการประมวลผลและการจัดการระบบการรับรู้และการรับสัมผัสที่ไม่สมดุล เป็นต้น
ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เวลา เศรษฐกิจ ความรักความเข้าใจ “ทีมครอบครัว” จึงเป็นทีมยืนหนึ่งเรื่องการใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกอย่างยาวนานมากพอที่จะสอนลูกในเรื่องต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตจริง ได้ฝึกลูกบ่อย ๆ ในระหว่างวันโดยไม่ต้องทุ่มทุนจนเกินกำลัง ได้ฝึกลูกต่อเนื่องตามวัยในขณะที่ลูกเจริญเติบโต นอกจากนี้ ทีมครอบครัวรู้จักลูกดีกว่าใคร จึงรู้ดีว่าลูกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดบ้างจึงจะช่วยให้ลูกสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างปกติสุขในสังคมต่อไป
ไม่ว่าการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกด้วยตนเองที่บ้านจะยากหรือง่ายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ ขอเพียงพ่อแม่ผู้ปกครองและสมาชิกในบ้านมีกรอบแนวคิดและข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ถูกต้องทั้งเรื่อง “ระดับอาการของลูก” ตลอดจนได้รับ “คำแนะนำเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการที่บ้านให้ลูกด้วยตนเองจากทีมแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพ” ก่อนการลงมือกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก ๆ ที่บ้าน คนที่บ้านก็จะสามารถช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูกได้โดยไม่ยากจนเกินกำลัง เมื่อคนที่บ้านทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีทิศทางและยั่งยืน ผลลัพธ์ทางบวกก็คือพัฒนาการดี ๆ ที่จะคงอยู่คู่กับลูกตลอดชีวิตได้ต่อไป
ลงมือทำที่บ้าน
ยิ่งทำ เรื่องที่เคยว่ายาก ก็จะค่อย ๆ คลาย กลายเป็นง่ายขึ้น
ที่สำคัญ ยิ่งทำ ลีลาการนำทางลูก จะยิ่งเฉียบคม ลูกจึงได้เรียน ได้ฝึก และได้สนุกกับการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าร่วมกับคนในครอบครัว
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดเรื่องการสร้างทีมครอบครัว
เรามาช่วยกันเพื่อทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
ความรู้ความเข้าใจมีความสำคัญ
สำหรับศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” เราให้ความสำคัญกับด่านแรก คือ การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองโดยการพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาการและระดับอาการของลูกให้มากพอจนสามารถจับประเด็นแก่นแท้ของอาการและระดับอาการของลูกให้ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางการเลี้ยงดูที่ถูกต้องซึ่งต้องทำต่อเนื่องยาวนานมากพอเพื่อช่วยให้ระดับอาการของลูกบรรเทาเบาบางลงและลูกมีพัฒนาการรอบด้านที่ดีมากขึ้นได้ตามลำดับ
อย่าปล่อยลูกออทิสติกให้โตไปตามธรรมชาติ
พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจเข้าใจผิดว่าท่านก็เลี้ยงดูลูกออทิสติกไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อลูกโตขึ้น อาการของลูกจะดีขึ้นเองตามวัยโดยปริยาย แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาการของโรคออทิซึมจะไปขัดขวางการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของลูก ดังนั้น หากท่านปล่อยลูกให้เติบโตไปตามธรรมชาติ ลูกจะเติบโตโดยชอบเลี่ยงและชอบแยกตัวออกจากผู้คนไปใช้เวลานาน ๆ ในการหมกมุ่นอยู่ในโลกของตนเอง ลูกจะชอบทำกิจกรรมซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมยึดติด ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จนปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ ๆ และยังจะเกิดการสะสมพฤติกรรมแปลก ๆ จนพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มรู้สึกว่าเข้าถึงลูกได้ยากและเลี้ยงดูลูกในชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ
ต้องเลี้ยงดูให้ถูกต้อง
ลูกออทิสติกที่เริ่มต้นด้วยอาการดีในระดับ High Function ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าลูกจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้เพราะตัวกำหนดที่สำคัญคือการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และในทางกลับกัน ลูกที่ดูเหมือนมีอาการออทิซึมชัดเจนเต็มรูปแบบแต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง อาการของลูกกลับคลี่คลายและใช้ชีวิตได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นตามลำดับ
ใช้การเข้าแทรกแซง (Intervention) เป็นกลยุทธในการนำทางลูก
การเข้าแทรกแซงลูกอย่างถูกหลักวิชาการและถูกวิธีจะช่วยแก้ไขอาการต่าง ๆ ของลูกได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาใช้การเข้าแทรกแซงลูกเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับอาการออทิซึม
วิธีการเข้าแทรกแซง
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจับประเด็นอาการของลูกให้ได้ว่าลูกมีอาการใดบ้างจากอาการ 4 กลุ่มหลัก คือ ภาษา สังคม อารมณ์ และพฤติกรรม จากนั้นจะได้หาทางคลี่คลายอาการตามแนวทางที่ “บ้านอุ่นรัก” นำเสนอกรอบแนวคิด คือ
- สร้างสัมพันธภาพทางบวก กระตุ้นการสบตา หัวเราะ เล่นสนุก คลุกคลีกับลูกมากขึ้น
- จัดสภาพการดำรงชีวิตของลูกเสียใหม่โดยทุก ๆ 30-60 นาที โดยต้องมีการเข้าแทรกแซงและกระตุ้นพัฒนาการให้ครบทุกด้าน
- มีการปรับพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้และดำรงชีวิตของลูก ต้องค่อย ๆ แปลงสภาพพฤติกรรมยึดติดโดยฝึกให้ลูกดำรงชีวิตให้ได้ตามจริง ดึงความหมกมุ่นของลูกแปลงสภาพมาเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์
การเข้าแทรกแซงเพื่อกระตุ้นพัฒนาการแม้ทำไม่ได้ง่าย ๆ แต่ถ้าเรายอมรับลูกตามความเป็นจริง เข้าใจอาการของลูก มีแนวทางการเข้าแทรกแซงและกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้อง เราพร้อมสู้โดยใช้ความรักความปรารถนาดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีให้ลูก เมื่อฮึดสู้สุดใจ ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ และยังไง ๆ ลูกเราต้องรอดและอาการออทิซึมของลูกจะคลี่คลายลงได้ค่ะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยู่ตรงนี้และทำงานกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกมาเกือบ 30 ปีแล้วจึงได้เห็นภาพของเด็ก ๆ ที่ค่อย ๆ เติบโต ก้าวหน้า และเก่งขึ้นจนเรามั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับขึ้นอยู่กับแรงฮึดที่เราพยายามจริง ๆ
สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด ถ้าเราสู้ขาดใจ ยังไง ๆ ลูกเราก็รอดค่ะ
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
ตีลูกครั้งใดเหมือนเราตีลงไปที่หัวใจตัวเอง แล้วเราจะทำอย่างไรดี?
ก่อนจะตีหรือทำโทษลูก ขอให้ลองพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- บางครั้ง ลูกอาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงว่าตนทำพฤติกรรมใดที่ไม่หมาะสมจึงถูกตี แต่กลับรับรู้ถึงความโกรธของพ่อแม่ และรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง
- การตีหรือลงโทษอาจได้ผลให้ลูก “หยุดพฤติกรรม” ขณะนั้น เพราะลูกตกใจหรือเจ็บปวด แต่อาจจะไม่ได้ผลให้เกิดการเรียนรู้เสมอไป
- การตีที่อาจจะได้ผลเชิงการเรียนรู้ เพราะมี “คำสอน” หลังการตี ดังนั้น หากพ่อแม่ตีลูก แต่ไม่มีการสอนต่อ การตีนั้นก็จะสูญเปล่า ลูกเจ็บตัวฟรี
- ลูกก็เหมือนเรา ลูกจะซึมซับคำสอนต่าง ๆ ได้ดี ในบรรยากาศที่ใจเปิดรับ
- มีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากที่จะหยุดพฤติกรรมของลูก โดยที่ทั้งลูกและพ่อแม่จะไม่เจ็บปวด
2 ขั้นตอนที่นำมาฝากนี้ เป็นทางเลือกสำคัญที่จะหยุดพฤติกรรมของลูกได้
1. หยุดพฤติกรรมตรงหน้าที่ไม่เหมาะสมให้ได้เร็วที่สุดโดยไม่ปล่อยผ่าน โดย
– สบตาลูกพร้อมระบุ “หยุด…(พูดสั้น ๆ ชัด ๆ ระบุพฤติกรรมที่ต้องหยุดทำ)” ด้วยน้ำเสียงจริงจัง
– ถ้าลูกไม่หยุด เข้าไปสัมผัสตัว เช่น จับไหล่ จับมือ หรือนวดให้ผ่อนคลาย
2. เมื่อลูกหยุดพฤติกรรมแล้ว รอเวลาสักครู่จนลูกสงบแล้วจึงสอนด้วยคำพูดสั้น ๆ ตรงประเด็นว่า “ลูกควรพูดหรือกระทำ….(พูดสั้น ๆ ชัด ๆ ระบุพฤติกรรมเหมาะสมที่ควรทำ)”
เราเป็นเพียงมนุษย์พ่อแม่ตัวเล็ก ๆ ที่ทำผิดพลาดกับลูกเสมอ แต่เราจะตั้งมั่นในใจว่าเราจะเริ่มต้นใหม่ เราจะไม่ทำพลาดอีก เราจะไม่ปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบพาเราไป จนเราเผลอทำร้ายคนที่เรารักที่สุดแบบหมดหัวใจ