by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคนในครอบครัวของลูก ที่เพิ่งเริ่มต้นสอนลูกที่บ้านด้วยตนเองคู่ขนานไปกับการพาลูกไปพบแพทย์ ทีมบำบัด ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก หรือโรงเรียน ท่านอาจสงสัยว่าท่านต้องใช้วิธีการใดในการสอนลูกเพื่อให้การสอนที่บ้านประสบความสำเร็จ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอเสนอแนะ 5 แนวทางง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ ที่คนที่บ้านสามารถทำตามได้และช่วยให้ท่านรู้เทคนิคการสอนลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการที่บ้านได้อย่างรวดเร็วขึ้น
5 แนวทางที่ “บ้านอุ่นรัก” ขอแนะนำให้ใช้ เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคนที่บ้านเกิดการสั่งสมเทคนิคการสอน
- ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดรักษาลูกให้มากที่สุด การเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ท่านรู้เทคนิค ได้เคล็ดลับ และเข้าใจวิธีการสอนที่ทำได้ผลจริง ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมทำได้โดยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลบำบัดรักษาลูก เข้าร่วมสังเกตการณ์ในขณะที่ลูกเข้ารับบริการกระตุ้นพัฒนาการ เข้าร่วมประชุมกับทีมบำบัดมืออาชีพ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องความคืบหน้าของอาการตลอดจนวิธีการเพิ่มเติมที่ทีมมืออาชีพแนะนำให้ใช้ เป็นต้น
- ต้องใช้เวลาคลุกคลีกับลูกเพื่อทำกิจวัตรประจำวันทุกวัน การใช้เวลาร่วมกันเพื่อทำกิจวัตรประจำวันสามารถแทรกกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้เกิดขึ้นจริงในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ต้องทำบ่อย ๆ ในระหว่างวันและทำทุกวันจึงจะได้ผลจริง ทั้งนี้ เมื่อท่านคลุกคลีกับลูกบ่อย ๆ ลูกจะเกิดความเคยชินที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับท่าน ลดการแยกตัว เปิดใจรับ และเต็มใจเข้าร่วมทำกิจกรรมตรงหน้ากับท่านด้วยความสนุก ซึ่งจะส่งผลให้ท่านสอนลูกที่บ้านได้ง่ายขึ้นและได้ผลดีอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
- ต้องลงมือทำจริงตามหลักการที่ทีมบำบัดมืออาชีพแนะนำ การลงมือทำจริงเป็นการสั่งสมประสบการณ์การสอนผ่านการลองผิดลองถูกโดยไม่ย่อท้อ แต่หลักการที่ทีมบำบัดมืออาชีพแนะนำจะเป็นแกนกลางให้ท่านสอนลูกได้สำเร็จ ทั้งนี้ เมื่อมีข้อสงสัย ท่านสามารถขอคำแนะนำและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากทีมบำบัดมืออาชีพหรือจากเพื่อนผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน การปรึกษาหารือนี้ จะช่วยให้ท่านรู้ว่าสิ่งที่ลองผิดลองถูกนั้นมีข้อบกพร่องที่จุดไหน และรู้วิธีแก้ไขปัญหาตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้น ท่านยังได้เพื่อนผู้เปิดใจและเต็มใจรับฟังปัญหาของท่าน ซึ่งจะทำให้ท่านรู้สึกสบายใจขึ้นแม้จะพบโจทย์ยากหรือปัญหาใหม่ในระหว่างการลงมือทำ ก็จะไม่หมดกำลังใจที่จะค้นหาและปรับเปลี่ยนวิธีการจนพบวิธีการที่เหมาะสมกับธรรมชาติของลูกอย่างแท้จริง
- ต้องปรับแต่งเทคนิควิธีการให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตในบ้านอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การปรับแต่งวิธีการสอนเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสภาพชีวิตจริงในขณะที่ลูกอยู่ที่บ้านเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของทีมบำบัดมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ท่านควรแบ่งปันข้อมูลวิธีการสอนลูกที่บ้านที่ท่านค้นพบให้ทีมบำบัดมืออาชีพทราบ เพื่อทีมบำบัดมืออาชีพสามารถประเมินข้อดีข้อเสียตามหลักวิชาการ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสอนลูกต่อไป
- ต้องเปิดโอกาสให้ลูกลงมือทำซ้ำ เพราะการทำซ้ำ ทำบ่อย ๆ เป็นวิธีที่ดีในการสร้างเสริมทักษะและสอนลูกที่บ้าน การทำซ้ำทำให้ลูกมีโอกาสได้ฝึกฝน เข้าใจสิ่งที่ท่านสอนอย่างเป็นรูปธรรม ได้ลงมือทำในขณะดำเนินชีวิตประจำวันจริงที่บ้าน จนกระทั่งลูกทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยตัวของลูกเอง
กระบวนการสั่งสมเทคนิคการสอนเป็นเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคนที่บ้าน สามารถทำได้แม้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างทางของการสั่งสมเทคนิควิธีการสอนเพื่อปรับเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก “บ้านอุ่นรัก” มั่นใจว่าคนที่บ้านที่ใช้เวลาอยู่กับลูกย่อมจะได้รับความสุขและพลังใจจากแววตา เสียงหัวเราะ และอ้อมกอดที่ลูกมอบกลับคืนมาให้ ซึ่งวันเวลาร่วมกันบนเส้นทางการเจริญเติบโตของลูกนี้จะเป็นประสบการณ์ความสุขที่มีค่าสูงสุดในชีวิตของพ่อแม่ลูกอย่างแท้จริง
เครดิตภาพ: Unsplash | Yoann SiloIne
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
สืบเนื่องจากวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาเป็น “วันครูแห่งชาติ” พวกเราทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จึงอยาก Cheer Up สนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกแต่ละท่านในครอบครัวของลูก เกิดความมั่นใจและมีพลังใจตั้งใจมั่นว่าทุกท่านที่บ้านก็สามารถเป็น “ครูคนสำคัญและยังเป็นครูที่ดีที่สุดของลูกอีกด้วย” เพราะบทบาทของท่านในการทำงานคู่ขนานไปกับแพทย์ ทีมบำบัด ทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และโรงเรียนของลูก จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและพลิกชีวิตลูกได้เป็นอย่างดี
5 เหตุผลที่คนที่บ้านเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก
- รักของท่านเป็นรักแท้ จึงไม่คิดยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด
การดูแล เลี้ยงดู ฝึกทักษะ และสร้างเสริมพัฒนาการให้ลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการเป็นงานหนักที่ต้องอาศัยทั้งความรัก ความอดทน และความพยายามสูง อีกทั้ง ในระหว่างทางที่ลูกเจริญเติบโตจะมีเจอโจทย์ยาก ๆ และความท้าทายหลายรูปแบบมาทดสอบความตั้งใจทำและความอดทน นอกจากนี้ การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเป็นงานที่ต้องใช้การลงมือทำจริงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอจึงจะสำเร็จ และเป็นความสำเร็จไปทีละขั้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคนที่บ้านซึ่งรักลูกเต็มเปี่ยมอย่างไร้เงื่อนไขจึงเป็นครูที่ดีที่สุดที่จะใช้ทั้งความรัก ความปรารถนาดี ความอดทน และความพยายามในการฟันฝ่าอุปสรรคและผลักดันโครงการระยะยาวนี้ให้สำเร็จได้แบบไม่ย่อท้อและไม่ถอดใจ
- ลูกไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยที่สุดเมื่อได้อยู่กับท่าน
ลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัยมักปรับตัวยากเมื่อพบคนกลุ่มใหม่ อยู่ในสถานการณ์ใหม่ และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ดังนั้น การที่คนที่บ้านซึ่งลูกไว้วางใจและรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยที่ได้อยู่ด้วย เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสอน ดูแล กระตุ้นพัฒนาการ และบำบัดรักษา จะช่วยให้ลูกเปิดใจได้เร็ว ลดระยะเวลาการปรับตัวของลูก และส่งผลดีต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
- ท่านรู้จักลูกและธรรมชาติของลูกมากกว่าใคร
คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคนที่บ้านเป็นคนกลุ่มเดียวที่รู้อย่างถ่องแท้ว่าลูกมีบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ความชอบหรือไม่ชอบอย่างไร จึงสามารถบูรณาการวิธีการที่ได้เรียนรู้จากทีมบำบัดเพื่อประยุกต์ใช้ ปรับแต่งให้สอดคล้องกับธรรมชาติและตัวตนของลูกได้ดีที่สุด
- คนที่บ้านอยู่เคียงข้างลูกตลอดชีวิต
การคลี่คลายปัญหาด้านพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการต่อยอดพัฒนาการตามวัยแต่ละวัย ต้องฝึกฝนและหมั่นทำอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในวิถีชีวิตประจำวันของลูก ดังนั้น คนที่บ้านที่อยู่เคียงข้างลูกตลอดชีวิตจึงเป็นครูคนสำคัญที่ต้องมีทักษะการสอนเพื่อสามารถสอนลูกให้เรียนรู้สิ่งใหม่ในชีวิตประจำวันตามวัยได้สำเร็จ นอกจากนี้ ในขณะที่ลูกเจริญเติบโต ลูกจะพบโจทย์และเรื่องราวใหม่ ๆ ให้ต้องเรียนรู้และต่อยอด คนที่บ้านจึงเป็นครูที่ดีที่สุดเพราะสอนได้ต่อเนื่องยาวนานตามลำดับตามวัย การได้อยู่เคียงข้างและคอยสังเกตพัฒนาการจะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะการสอนของคนที่บ้านให้ทำได้ดียิ่งขึ้น จนในที่สุดคนที่บ้านก็จะสามารถย้อนคิดประสบการณ์ในอดีตและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นครูในชีวิตลูก
- คนที่บ้านเป็นจุดศูนย์รวมของข้อมูลและเทคนิควิธีการที่ได้เรียนรู้จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาลูก
ตลอดเส้นทางการเลี้ยงดูลูก คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในบ้านของลูกจะได้รับฟังและเรียนรู้แนวทางการบำบัดรักษา การดูแล และการเลี้ยงดูจากแพทย์ ทีมบำบัด ครูกระตุ้นพัฒนาการ โรงเรียน และเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน คนที่บ้านจึงสามารถประมวลทุกประสบการณ์และองค์ความรู้มาผสมผสานกับความเป็นตัวตนของลูกได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ด้วยคุณสมบัติทั้ง 5 ประการข้างต้น “บ้านอุ่นรัก” มองไม่เห็นว่าใครจะมีได้ครบเท่ากับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคนที่บ้าน เราจึงขอยกย่องให้คนที่บ้านเป็น “ครูที่ดีที่สุดของลูก” และจะสนับสนุนบทบาทนี้ของท่าน ด้วยการส่งต่อข้อมูลด้านการดูแลและเลี้ยงดูที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ท่านสามารถสร้างเสริมและต่อยอดพัฒนาการของลูกได้ตามวัยต่อไป
Photo Credit: Freepik | Vectors
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ
- เปิดใจยอมรับธรรมชาติตามที่ลูกเป็น ลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เรารัก ลูกของเราไม่ใช่เด็กที่บุบสลาย และยังคงมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเหมือน ๆ กับเด็กทุกคน
- ลูกเป็นเด็กที่มีวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง ดังนั้น การสอนและเลี้ยงดูลูกจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรืออาจใช้เวลามากกว่าปกติในระยะแรก
- ทำทุกวันให้ดีที่สุดสำหรับลูกพร้อมไปกับการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขให้ได้
2. ปรับตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัด
- หาความรู้เรื่องแนวทางการบำบัด ทำความเข้าใจเรื่องอาการของลูก และเริ่มต้นเรียนรู้ให้เร็วที่สุดว่าเราจะเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้อย่างไร
- เริ่มลงมือทำด้วยตนเองคู่ขนานไปกับการบำบัดรักษาจากนักบำบัดมืออาชีพ โดยรับคำแนะนำจากแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนเข้าร่วมคอร์สหรือเรียนรู้อาการของลูก
- ก้าวแรกที่สำคัญที่พ่อแม่ร่วมเป็นนักบำบัดจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการรอรับบริการจากภายนอกแต่เพียงทางเดียว
3. ปรับเปลี่ยนสมาชิกในบ้านให้เป็นทีมบำบัด
- จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าการกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมลูกออทิสติกนั้นต้องทำให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการเกิดในชีวิตจริงที่บ้าน สมาชิกทุกคนในบ้านจึงเป็น Keyman หรือบุคคลสำคัญที่จะทำให้ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ
- พ่อแม่และสมาชิกในบ้านพูดคุยกันและจัดแบ่งหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรม พุดคุยตกลงกันว่าใครสามารถทำสิ่งใดได้ ในเวลาใด เช่น แม่รับหน้าที่ฝึกลูกเรื่องทักษะการสานต่อการสนทนาและการทำกิจวัตรประจำวันเรื่องการตื่นนอน การทานอาหาร พ่อชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์นอกบ้าน พี่ชวนน้องกันเตะฟุตบอลหรือขี่จักรยานร่วมกันยามเย็น คุณยายช่วยฝึกหลานให้ช่วยเหลือตนเองในการอาบน้ำ แต่งกาย
- หากทุกคนร่วมมือกันลงมือทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีทิศทาง ในที่สุด ลูกจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของคนในครอบครัวเอง
4. ปรับการจัดสรรเฉพาะกันไว้ให้ลูก
- การจัดเวลาเฉพาะไว้ให้ลูกนี้ควรใช้เวลาแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที ทำให้ได้วันละหลาย ๆ รอบ แม้การทำแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่เสียเวลาส่วนตัวไปบ้าง แต่จะได้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กับลูก
- การกันเวลาที่มีค่าเฉพาะไว้เพื่อลูกเป็นเสมือนของขวัญที่พ่อและแม่ได้มอบให้กับลูก และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมไปด้วยรักและอบอุ่นสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง
5. ทำใจยอมรับความช่วยเหลือยามจำเป็น
- เราไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือพร้อมรับมือตลอดเวลา โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูลูกที่ใช้พลังกาย-ใจ มากกว่าการเลี้ยงดูตามปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้น ในบางเวลาเราจำเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง
- พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์พ่อแม่ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองไปสียทั้งหมด ลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วจะพบคนที่ปรารถนาดีรอให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เขาทำได้อยู่รายรอบ เช่น คุณน้าข้างบ้านที่อาสาดูแลลูกให้เราสักครึ่งชั่วโมงในขณะที่เราไปซื้อของที่ตลาด เพื่อนของเราที่จะช่วยดูแลลูกในขณะวันที่เราไม่สบาย เพื่อนของพ่อที่เป็นเพื่อนเล่นฟุตบอลกับลูกของเราพร้อม ๆ ไปกับลูกของเขา เป็นต้น
- เพียงเรายอมรับว่าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ เราเปิดใจให้ลูกได้เป็นเด็กที่น่ารักของคนรอบข้างที่รักและพร้อมมอบความปรารถนาดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุด เพื่อนบ้านของเรา เพื่อนของเรา ญาติพี่น้องของลูก หรือแม้แต่พี่พนักงานขายของที่ร้านสะดวกซื้อ จะเปิดใจรับลูก ทำความรู้จักกับลูก มองเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของลูกและอ้าแขนรอกอดลูกที่น่ารักของเรา
เราทุกคนที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจผู้มีรอยยิ้ม อ้อมกอดที่จริงใจ และพร้อมจะดูแลคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และเด็กๆ อย่างดีที่สุดที่เราทำได้ค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Edgar Chaparro
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
- แทรกการเล่นร่วมกันหลากหลายรูปแบบบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อ (1) ลดการอยู่กับตัวเอง และ (2) สร้างเสริมพัฒนาการที่รอบด้านให้กับเด็ก
- สอนเด็กเล่นของเล่นให้เป็นด้วยการสาธิต เล่นให้ดู จับมือนำเด็กให้เล่นตามวัตถุประสงค์ของ ๆ เล่นชิ้นนั้น ๆ เช่น หยอด ตัก หมุน ใส่ ปักลงไป เป็นต้น โดยไม่ปล่อยให้เด็กนำสิ่งนั้นมาเล่นหรือสร้างรูปแบบการทำบางอย่างซ้ำ ๆ ตามแบบเฉพาะตัวของตนเอง
- หาวิธีนำของเล่นชิ้นนั้น ๆ มาแปลงสภาพใหม่ ๆ ให้ได้อย่างน้อย 3-5 แบบ เช่น ลูกบอล ใช้เล่นโยนรับ-ส่ง แตะ ปาเป้า กลิ้ง นำไปแอบให้เด็กค้นหา พูดบอกสี-บอกรูปทรง เป็นต้น
- ต่อยอดการเล่นให้หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เช่น บล้อค นำมาเรียงเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือต่อเป็นรถไฟ สะพาน บ้าน โต๊ะ หรือดินน้ำมัน นำมาปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ปั้นเป็นอาหาร ดอกไม้ ตัวสัตว์ ปั้นเป็นถนน-สะพาน-ทางยกระดับ หรือวาดภาพวงกลมแล้วแปลงวงกลมเป็นภาพอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น เติมรัศมีเป็นพระอาทิตย์ เติมกลีบให้กลายเป็นดอกไม้ ลูกโป่ง ลูกชิ้นเสียบไม้ หรือลูกบอลที่มีลวดลายเพิ่มเติม เป็นต้น
- ผสมการเล่นบทบาทสมมุติประกอบในการเล่นของเล่นแต่ละชิ้น เช่น เล่นหม้อข้าว-หม้อแกง-จาน-ชาม-แก้วน้ำ ด้วยการทำท่าปรุงอาหาร ซื้อ-ขายอาหาร เล่นตุ๊กตา หวีผม-แต่งตัว-ชวนน้องตุ๊กตาพูดคุย เล่านิทานให้น้องตุ๊กตาฟัง
- เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับเด็กในระหว่างการเล่นด้วยการสบตา ชวนพูดคุย สร้างบทสนทนาที่เป็นเรื่องราวประกอบการเล่น สัมผัสศีรษะ โอบไหล่ เตะบ่าด้วยความนุ่มนวล ยิ้มและหัวเราะร่วมกัน
ว่างเมื่อไรก็เข้าไปเล่นกับเด็ก ๆ กันนะคะ ในระยะแรก เด็ก ๆ อาจไม่คุ้นเคย พยายามแยกตัว ขัดขืน ไม่เล่นร่วมกับเรา แต่เพราะเราใช้ความอดทน ใจเย็น เมตตา รอยยิ้ม และที่สำคัญคือการตื้อ เด็กจะค่อย ๆ คุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับเรา เล่นร่วมกับเรา สนุก เพลิดเพลิน สบตา ยิ้มและหัวเราะไปด้วยกันกับเรา ซึ่งจะเป็นวิธีส่งต่อพลังความรักที่เรามีให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ ตลอดจนเราเองก็จะได้รับพลังจากความน่ารัก สดใส และไร้เดียงสา เพื่อรดหัวใจเราให้ชุ่มชื่นได้อีกครั้งค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Marisa Howenstine
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
“การฝึกลูกศิษย์ให้เก็บของให้เรียบร้อย” เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ เรื่อง “การฝึกความเข้าใจชีวิตประจำวัน” ที่ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ใส่ไว้ในการเรียนการสอนให้กับลูกศิษย์ ซึ่งการฝึกนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถฝึกลูก ๆ เองต่อที่บ้านได้เช่นกัน ตามขั้นตอน คือ
- พ่อแม่ผู้ปกครอง (ผู้สอน) ล้มเก้าอี้พลาสติกตัวเล็ก ๆ ขนาดเบา ๆ ที่ลูกสามารถยกเองได้ด้วยความปลอดภัยทิ้งเกลื่อนกราดไว้บนพื้นสัก 10 ตัว
- ผู้สอนพูดสั้น ๆ ว่าเก้าอี้ล้ม ต้องเก็บให้เรียบร้อย (เป็นการพูดบอก (a) ปัญหาและ (b) การแก้ไขปัญหา)
- ผู้สอนสาธิตและทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง (พร้อมการพูดบอกวิธีทำด้วยคำพูดสั้น ๆ ที่กระชับและตรงประเด็น) ว่าวิธีเก็บเก้าอี้ให้เรียบร้อยมีขั้นตอนอย่างไร (เป็นการนำทางให้เด็กเห็นวิธีแก้ปัญหา) กล่าวคือ เมื่อเจอเก้าอี้ล้ม เก้าอี้วางไม่เรียบร้อย ต้องยกเก็บตามขั้นตอน คือ ผู้สอน (a) ใช้มือยกเก้าอี้ที่ล้ม (b) วางเก้าอี้ขึ้น (c) ยกเก้าอี้ไปเก็บเข้าที่ (เช่น เก็บที่มุมห้อง เก็บที่โต๊ะ)
- ผู้สอนทำขั้นตอนที่ 2 และ 3 ซ้ำ ๆ จนเก็บเก้าอี้ที่ล้ม เข้าที่ครบทั้ง 10 ตัว
- ผู้สอนจับนำให้เด็กทำด้วยความใจเย็นและให้โอกาสเด็กได้ทำซ้ำจนเข้าใจและทำได้เอง
สำหรับครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของ “บ้านอุ่นรัก” ครูจะแทรกหัวข้อการเรียนรู้หลายประการไว้ในการฝึกข้างต้น คือ
- ฝึกสมาธิ
- ฝึกการเคลื่อนไหวอย่างเป้าหมาย
- ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่
- ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- ฝึกการแก้ปัญหาและการคิดวางแผน
- ฝึกจังหวะการยก การวาง การกะแรง และการวางนำน้ำหนักเก้าอี้ให้สมดุล
- ฝึกการอยู่กับปัจจุบัน ณ ขณะ
- ฝึกสมาธิการฟัง
- ฝึกการเรียนรู้
ลองใช้กิจกรรม “การฝึกลูกเก็บของให้เรียบร้อย” เพื่อเข้าแทรกแซงการใช้เวลาระหว่างวันของลูก ๆ เมื่อลูกเรียนรู้วิธีเก็บเก้าอี้เข้าที่ให้เรียบร้อยเป็นแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเปลี่ยนเป็นการฝึกลูกเก็บสิ่งของอื่น ๆ ที่ลูกใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของเล่น หนังสือ ดินสอ ถุงท้า-รองเท้า ต่อไป
เครดิตภาพ: Unsplash | Junior REIS