ฝึกลูกอาบน้ำ | บ้านอุ่นรัก

ฝึกลูกอาบน้ำ | บ้านอุ่นรัก

ฝึกลูกอาบน้ำ

กระบวนการฝึกลูกอาบน้ำด้วยตนเองเป็นการฝึกช่วยตนในการทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญเพื่อการรักษาสุขอนามัยและความปลอดภัยของลูก ซึ่งในระยะแรกที่ลูกอาบน้ำเองไม่เป็น ผู้สอน (คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล) ต้องช่วยนำทางด้วยการแตะนำให้ลูกทำ ฝึกซ้ำ ๆ จนลูกเข้าใจแล้วค่อยปล่อยให้ทำเอง หากจำเป็นต้องช่วยเหลือ ให้ช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น เมื่อฝึกทุกวัน ลูกจะจดจำขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาบน้ำได้ ทำได้ดีขึ้นตามลำดับ และจะอาบน้ำได้เอง

กระบวนการฝึกที่เกี่ยวข้อง

  • ฝึกถอดเครื่องแต่งกาย เสื้อ กางเกง กระโปรง ชุดชั้นใน
  • ฝึกใส่ผ้าเช็ดตัวหลังการถอดเสื้อผ้า
  • ฝึกอาบน้ำ สระผม ถูสบู่ ล้างหน้า ล้างตัว เช็ดตัว
  • ฝึกใส่ผ้าเช็ดตัวหลังการอาบน้ำ โดยการถอดผ้าเช็ดตัวออก จะทำได้ต่อเมื่อลูกสวมใส่เสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

Picture Credit: http://www.animated-gifs.fr/category_kids/kids-bath/

 

สนุก (ที่บ้าน) | บ้านอุ่นรัก

สนุก (ที่บ้าน) | บ้านอุ่นรัก

การเล่นสนุกกับลูกหลานที่บ้านเป็นการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากส่งเสริมให้ทุกบ้านหมั่นหาเวลาสร้างบรรยากาศการเล่นสนุก ๆ ร่วมกัน โดยการเล่นสนุกนี้มีประโยชน์ คือ

  1. พ่อแม่ผู้ปกครองได้ส่งเสริมพื้นฐานทางอารมณ์ให้ลูกหลานเป็นเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์เชิงบวก ลูกหลานจึงเป็นเด็กที่มีความสุข
  2. พ่อแม่ผู้ปกครองได้สื่อให้เด็ก ๆ ที่บ้านรับรู้ความหมายของการได้อยู่ร่วมกันกับคนรอบข้างในครอบครัวว่าเป็นเวลาที่ดี มีความสุข และได้หัวเราะด้วยกันอย่างสนุกสนาน อันจะช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
  3. พ่อแม่ผู้ปกครองได้ตั้งเป้าหมายของตนเองว่าลูกหลานจะต้องสนุกเมื่อได้เล่นและได้อยู่ร่วมกันกับเรา เด็ก ๆ ต้องสนุกมากกว่าการเล่นอยู่กับของเล่นหรืออยู่ในโลกส่วนตัวตามลำพัง
  4. พ่อแม่ผู้ปกครองได้ใช้การเล่นสนุกในการช่วยปรับลดอารมณ์หงุดหงิดง่ายของลูกหลาน อีกทั้งได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้เป็นเชิงบวกมากยิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

เครดิตภาพ: <a href=”https://www.freepik.com/vectors/family-care“>Family care vector created by dooder – www.freepik.com</a>

เช็กพัฒนาการเด็กจากทักษะการเล่นบอล | บ้านอุ่นรัก

เช็กพัฒนาการเด็กจากทักษะการเล่นบอล | บ้านอุ่นรัก

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ฏ “บ้านอุ่นรัก” แนะนำให้คนที่บ้านฝึกเด็กเล่นบอลด้วยการโยนบอลและรับบอลบ่อย ๆ และต้องเป็นการฝึกทักษะอย่างมีเป้าหมาย ประกอบกับการสังเกตผลว่าเด็กทำได้ครบองค์ประกอบหรือไม่ กล่าวคือ

(1) เด็กสามารถรับบอลที่คนอื่นโยนให้ได้ และ

(2) เด็กสามารถผลักบอลออกจากตัวเพื่อส่งบอลออกไปได้

การรับบอล + การโยนบอลด้วยการผลักบอลออกจากตัวนั้น เด็กควรทำได้ในวัย 3 ขวบขึ้นไป แต่เด็กบางคนอาจทำได้เพียงการรับบอล แต่ผลักบอลโยนบอลออกจากตัวไปยังผู้อื่นไม่ได้ และสำหรับเด็กที่ยังผลักบอลออกจากตัวไม่ได้ ครูเก่ง (ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านการเคลื่อนไหวของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”) แนะนำให้คนที่บ้านฝึกเด็กในท่านั่งเป็นลำดับแรก โดยให้เด็กใช้มือสองข้างตะกุยบอลขึ้นจากพื้นเบา ๆ จากนั้นเมื่อเด็กทำได้ ก็ให้เด็กออกแรงผลักส่งมือขึ้นสูงเพื่อตะกุยบอลให้สูงขึ้น แล้วค่อยพัฒนาเป็นการผลักลูกบอลออกจากตัวในท่านั่งและท่ายืนต่อไป

กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กประจำบ้านเป็นกิจกรรมที่คนที่บ้านจะเข้ามามีบทบาทสร้างเสริมพัฒนาการและช่วยเหลือเด็กจนคลี่คลายหรือบำบัดอาการได้หลายประการ โดย

  • ใช้การย่อยงาน (Task Analysis) มาเป็นหลักในการฝึกเด็ก (ฝึกเป็นขั้นเป็นตอน ฝึกจากง่ายสู่ยากหรือซับซ้อนมากขึ้น)
  • ให้แบบฝึกหัดแก่เด็กเพื่อเด็กมีโอกาสได้ลงมือทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ระหว่างวันทุกวัน ๆ ละหลายรอบ จนเด็กคุ้นชินและทำได้เอง

ตัวอย่างทักษะลูกบอลที่เด็กควรทำได้ในวัย 3-5 ขวบ

  • รับบอลด้วยสองมือ
  • โยนบอลด้วยการผลักบอลออกจากตัว
  • เหวี่ยงขาเตะลูกบอลบนพื้น
  • ขว้างลูกบอลโดยยกแขนขึ้นเหวี่ยงไปข้างหลัง
  • ยืนโยนลูกบอลใส่ลงตะกร้าโดยยืนห่างจากตะกร้าในระยะ 1.5 เมตร

ซ้อมทักษะลูกบอลไว้ล่วงหน้าก่อนก็ดีนะคะ เพราะที่โรงเรียนอาจประเมินพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กจากทักษะเรื่องลูกบอลค่ะ

สอบถามเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 2-5 ขวบ (เด็กออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย) ติดต่อ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” สาขาที่ท่านสะดวกใช้บริการ

บ้านอุ่นรักสวนสยาม: โทร: 086 775 9656

บ้านอุ่นรักธนบุรี ถนนพุทธมณฑลสายสอง: โทร: 087 502 5261

วันและเวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ | 09.00 น. – 15.00 น.

เครดิตภาพ: freepik.com | pch.vector

“ดรีมทีม”  ผู้สนับสนุนการเติบโตของลูก | บ้านอุ่นรัก

“ดรีมทีม” ผู้สนับสนุนการเติบโตของลูก | บ้านอุ่นรัก

  1. ทีมแพทย์
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
  • แพทย์และบุคลากรฝ่ายจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
  • แพทย์ฝ่ายกาย
  1. ทีมกระตุ้นพัฒนาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสหวิชาชีพ เช่น
  • ครูฝึกพูด
  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักกระตุ้นพัฒนาการ
  • ครูผู้กระตุ้นทักษะการเคลื่อนไหว
  1. ทีมส่งเสริมการเรียนรู้และซ่อมเสริมวิชาการ เช่น
  • ครูประจำชั้น
  • ครูในโรงเรียน
  • ครูการศึกษาพิเศษ
  1. ทีมสมาชิกในครอบครัวที่สลับสับเปลี่ยนและช่วยกันดูแลและทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น
  • แทรกการกระตุ้นพัฒนาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตจริง
  • เตรียมการดำรงชีวิต เช่น ฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันตามวัย
  • ฝึกงานบ้าน ฝึกมารยาทและการเข้าสังคมตามวัย
  • หากิจกรรมที่เหมาะสมตามวัยเป็นงานอดิเรกยามว่าง
  1. ทีมฝึกอาชีพ เช่น
  • ครู อาจารย์ที่เกี่ยวข้องสายวิชาชีพ
  • สมาชิกในครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญในอาชีพที่จะพัฒนาทักษะทางอาชีพให้ลูกตามความสนใจและความถนัดของลูก
  1. สมาชิกในชุมชนและสังคม
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้การสนับสนุนจากคนรอบข้าง
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้รับประสบการณ์ในสังคมตามจริง
  1. ทีมสนับสนุนยามต้องการความช่วยเหลือ เช่น
  • ผู้ให้กำลังใจแก่พ่อแม่
  • ญาติพี่น้อง
  • ครูของลูก
  • เจ้านาย ลูกน้อง
  • เพื่อนบ้าน เพื่อน

Vector created by felicities | freepik.com

เจือความขัดแย้งให้จาง เพื่อสร้างทางแห่งรักให้มั่นคง | บ้านอุ่นรัก

เจือความขัดแย้งให้จาง เพื่อสร้างทางแห่งรักให้มั่นคง | บ้านอุ่นรัก

เนื่องในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอชวนคิดเรื่องความขัดแย้งบนเส้นทางแห่งความรัก เพราะความขัดแย้งเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ระดับความรักถดถอย ความสุขในชีวิตคู่ลดน้อยลง เป็นรักที่พบอุปสรรค เกิดความรู้สึกแย่ ถูกทำให้น้อยใจและเสียใจ ซึ่งในโลกความจริง ความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ เพราะไม่มีคู่รักคู่สมรสใดสมบูรณ์แบบ

ข้อคิด “เจือความขัดแย้งให้จาง เพื่อสร้างทางแห่งรักให้มั่นคง”

  • ตัวตั้งของการรักษาชีวิตคู่และชีวิตสมรส คือ เราทั้งคู่มีเป้าหมายและพันธสัญญาตั้งใจมั่นร่วมกันว่าจะรักษาสัมพันธภาพแบบคู่แท้ไปอย่างยาวนาน และเราอาจเป็นเพื่อนแท้กันตลอดไป
  • พันธสัญญาช่วยผลักดันให้เราทั้งสองฝ่ายมีแรงจูงใจที่จะใช้ความพยายามสูงสุดในการรักษาสัมพันธภาพต่อไป ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อมีเป้าหมายร่วมกัน สองพลังจะช่วยกันออกแรง แก้ไข และผ่านพ้นทุกข้อขัดแย้งไปได้ในที่สุด
  • เราต่างฝ่ายจะตั้งใจมั่นว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดในส่วนของตนเอง ลดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใคร เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ ยกเว้นคน ๆ นั้นต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง
  • บ่อยครั้งที่ปัญหาของคู่รักคู่สมรสไม่ได้เป็นผลจากข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่ง บางเหตุการณ์มีแนวโน้มที่คนเราจะมีวิธีตอบโต้กับปัญหาแบบเดิม แต่ในบางเหตุการณ์อาจแตกต่างออกไปแล้วแต่สถานการณ์ ดังนั้น คู่สมรสจำเป็นต้องรู้เท่าทันว่าปัญหาอาจเกิดจากวิธีการโต้ตอบซึ่งกันและกันในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ในการร่วมกันแก้ปัญหา คู่รักคู่สมรสจำเป็นต้องค้นหาวิธีการประนีประนอม เรียนรู้ที่จะยอมรับกันและกัน ในแบบที่ไม่มีใครเหมือนใคร และหาทางประนีประนอมจัดการกับความแตกต่าง หาทางแก้ปัญหาแบบที่ทั้งคู่ได้รับการตอบสนองอย่างเข้าใจ และได้รับการยอมรับกันและกันแบบวินวิน (Win Win) ทั้งสองฝ่าย
  • การบำบัดปัญหาความขัดแย้งแนวใหม่ไม่ได้มุ่งให้อีกฝ่ายพูดถึงข้อเสียที่ต้องการให้อีกฝ่ายแก้ไข เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบ และกำหนดผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องมุมมอง ซึ่งมี 2 ประเด็นที่สำคัญคือ
  1. มุมมองที่เรามีต่อฝ่ายตรงข้าม: ชวนให้ฝ่ายที่รู้สึกขัดแย้งใช้เวลาในการมองย้อนกลับไปว่าอีกฝ่ายมีคุณค่าอย่างไร มีความดีงามที่เคยทำให้และความดีงามที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างไร อาจเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ
  2. มุมมองในส่วนของตนเอง: สำรวจตนเองว่าจะมีส่วนปรับปรุงเพื่อร่วมรับผิดชอบความสัมพันธ์ในส่วนของตนเองได้อย่างไร
  • ทุกครั้งที่ขัดแย้งตลอดระยะการใช้ชีวิตคู่ แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องตั้งใจมั่นที่จะตรวจสอบและปรับปรุงในส่วนของตนเอง โดย
    1. ตระหนักว่าบ่อยครั้ง บุคลิกภาพ ความฝังใจในอดีต หรือความไม่เป็นกลางในความคิดของเรา อาจส่งผลต่อการเป็นคู่ชีวิตที่ดี ดังนั้น เมื่อขัดแย้งและมีเหตุการณ์สำคัญ เราต้องไม่ลืมที่จะสำรวจ ยอมรับ และปรับในส่วนของตนเอง
    2. นิ่งฟังมากขึ้น ลดการโต้ตอบแบบทันทีทันใด เพื่อพยายามจับประเด็นที่อีกฝ่ายสื่อสารความจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจับความรู้สึกที่อีกฝ่ายพยายามสื่อสารออกมา เพื่อให้คู่ของเรารู้สึกปลอดภัย ได้รับความเห็นอกเห็นใจ และรู้สึกเป็นที่ยอมรับ
    3. ปรับการใช้คำพูดและระดับน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ โดยเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้ง เราจะตั้งใจที่จะไม่เพิ่มความโกรธหรือแสดงความเป็นปรปักษ์
    4. นอกจากเราแต่ละฝ่ายจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ในระยะยาว เรายังจำเป็นต้องหาวิธีบำรุงรักษาความสัมพันธ์ โดยหาวิธีที่จะแสดงออก และแสดงออกบ่อยครั้งขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ชัดถึงความรัก ความเสน่หาที่ยังคงมีอยู่ตลอดไป
    5. เราจะมีความอบอุ่นใจเมื่อตระหนักถึงคุณค่าทั้งของตนเองและคู่รักที่เคียงข้างเราตลอดมา เราจะยอมรับกันและกันในแบบที่ไม่มีใครเหมือนใครมากขึ้น เราจะปรับปรุงวิธีคิด วิธีสื่อสาร และการแสดงออกเพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกปลอดภัยและเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมกันนั้น ตลอดเส้นทางชีวิตคู่ เราจะไม่ลืมจุดไฟความรักโรแมนติก ความสุข  ความสนุกสนานที่ได้สบตา มองหน้า และหัวเราะสนุกด้วยกัน เพื่อกลับคืนสู่ความสัมพันธ์แบบคู่แท้ที่ใกล้ชิดทางใจอย่างดีที่สุด

“บ้านอุ่นรัก” หวังว่าข้อคิดจากเราอาจมีประโยชน์ เป็นข้อคิดที่ใช้ได้ และคู่รักคู่สมรสได้นำไปใช้ เพื่อบำบัดความขัดแย้งได้ในบางเวลา จนก้าวผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน

Happy Valentine’s Day สุขสันต์วันแห่งความรัก