น้องเป็ดน้อยมอมแมม ชวนลูกคีบน้องลงอาบน้ำในกะละมัง | บ้านอุ่นรัก

น้องเป็ดน้อยมอมแมม ชวนลูกคีบน้องลงอาบน้ำในกะละมัง | บ้านอุ่นรัก

อุปกรณ์

– ตุ๊กตาเป็ดน้อย (ปรับเปลี่ยนเป็นลูกบอลพลาสติกเล็ก หรือตุ๊กตาสัตว์อื่น ๆ หรือของเล่นชิ้นโปรดขนาดเล็กที่เด็กสามารถคีบได้ เป็นต้น)

– ที่คีบอาหาร (ที่คีบขนาดใหญ่สำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถคีบได้ หรือที่คีบขนาดเล็กลงสำหรับเด็กที่พอจะคีบได้ หรือตะเกียบสำหรับเด็กที่คีบได้ดีมากแล้ว ทั้งนี้ หากเด็กยังคีบเองไม่ได้ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นให้เด็กใช้มือ-นิ้วหยิบตุ๊กตา ลูกบอลเล็ก หรือของเล่นที่เตรียมไว้ทดแทนก่อนได้)

– กะละมังขนาดเล็ก

– เก้าอี้ โต๊ะ หรือที่วางของ

วัตถุประสงค์

– ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก

– ฝึกการคงสายตา

– ฝึกการนำพาตนเองและการควบคุมตนเอง0

– ฝึกการตอบสนอง

– ฝึกสหสัมพันธ์

– ฝึกกระบวนการคิด

วิธีสอน

– ผู้สอนเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และวางกะละมังในระยะใกล้-ไกล สูง-ต่ำ ปรับเปลี่ยนได้ตามศักยภาพของเด็ก ทั้งนี้ ควรจัดวางในระยะหรือความสูงที่เด็กสามารถทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง)

– ผู้สอนเริ่มกิจกรรมจากการวางกะละมังในระยะใกล้ ๆ โดยให้เด็กคีบตุ๊กตาเป็ดน้อยที่วางเตรียมไว้ ให้เด็กเดินไปในระยะทางใกล้-ไกลตามที่เตรียมไว้ ให้เด็กใส่ตุ๊กตาเป็ดน้อยลงไปในกะละมัง ทั้งนี้ ผู้สอนสามารถสาธิต ทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างก่อนได้

– เมื่อเด็กเริ่มทำได้ดีขึ้น ผู้สอนปรับเปลี่ยนจากการวางกะละมังในระดับต่ำเป็นการยกให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มการยกระดับการคงสายตา

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะหมั่นเลือกเฟ้นกิจกรรมสนุก ๆ มาฝาก เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ได้เล่นสนุกร่วมกันอย่างมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างเสริมพัฒนาการ สำหรับกิจกรรมนี้ เด็ก ๆ สนุกแน่ แถมเจ้าลูกเป็ดน้อยหน้ามอมก็จะสะอาดเอี่ยมหลังได้ลงอาบน้ำในกะละมังอีกด้วยค่ะ

เครดิตภาพ: Unsplash | Giacomo Lucarini

 

กิจกรรมกลิ้งลูกเทนนิส (บอลเล็ก) | บ้านอุ่นรัก

กิจกรรมกลิ้งลูกเทนนิส (บอลเล็ก) | บ้านอุ่นรัก

“การเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก” เป็นเป้าหมายอีกประการหนึ่งของการทำงานของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ดังนั้น ในบทความนี้ “บ้านอุ่นรัก” ก็มีอีกหนึ่งกิจกรรมง่าย ๆ แต่สนุก แถมยังช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้อีกประการหนึ่ง
.
อุปกรณ์
ลูกเทนนิสหรือบอลเล็ก
.
วิธีเล่น:
• กลิ้งลูกเทนนิสไปหาเด็กและกระตุ้นให้เด็กกลิ้งกลับมา
• แทรกการสบตาโดยเรียกชื่อหรือเคาะบอลให้เด็กมองสบตาเราก่อนที่จะกลิ้งลูกเทนนิสให้
• แทรกการออกเสียงโดยชูลูกเทนนิสระดับสายตาให้เด็กออกเสียงก่อนที่จะกลิ้งลูกเทนนิสให้เด็ก
• แทรกการรับลูกเทนนิสสลับข้างซ้าย-ขวา
.
ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ
• ปฏิสัมพันธ์
• กล้ามเนื้อมัดเล็ก
• การฟัง
• การกะระยะทางสายตาและระยะทาง
• การคงสายตา
.
Photo Credit: Unsplash | Nathan Dumlao
.
ควรทำอย่างไร? หากลูกออทิสติกชอบพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ | บ้านอุ่นรัก

ควรทำอย่างไร? หากลูกออทิสติกชอบพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ | บ้านอุ่นรัก

การพูดกับตัวเองเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวเราเอง เราก็อาจเผลอพูดคนเดียวในบางครั้ง แต่สำหรับลูกออทิสติก พฤติกรรมนี้อาจเกิดบ่อยมากและมีความต่างจากกรณีทั่ว ๆ ไปตรงที่ลูกจะพูดคำซ้ำ ๆ เดิม ๆ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยลูกอาจไม่ได้รับรู้ว่าพฤติกรรมนั้น ๆ เป็นพฤติกรรมที่แปลกแตกต่าง และไม่ได้เตือนตนเองให้ควบคุมหรือหยุดตนเองเหมือนที่เราทำ บางครั้งพฤติกรรมนี้ของลูกจึงมีผลกระทบบางประการเมื่อลูกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
.
สาเหตุที่ลูกออทิสติกชอบพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ มีหลายประการ เช่น
(1) การพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ เป็นพฤติกรรมกระตุ้นตนเองรูปแบบหนึ่ง
(2) ลูกออทิสติกพูดในสิ่งที่กำลังคิด หรือเราจะเรียกว่าลูกเป็นคนที่ “คิดดัง”
(3) ลูกอาจพูดคนเดียวหรือพูดซ้ำ ๆ ในสถานการณ์พิเศษ เช่น เครียด วิตกกังวล หรือต้องการปฏิเสธอะไรบางอย่าง
.
เมื่อเราพบว่าลูกพูดกับตนเองหรือพูดซ้ำ ๆ เราจะช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร?
.
(1) ตอบสนองและดึงลูกสู่ปัจจุบัน
หากพบว่าลูกเริ่มพูดหรือถามซ้ำ เราควรเข้าแทรกเพื่อตอบรับหรือชวนคุยและสอบถามลูกเพิ่มเติมเผื่อเป็นกรณีที่ลูกต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง หรือต้องการความช่วยเหลือ แต่หากเราพบว่าลูกพูดวนซ้ำเกินสามครั้งหลังจากเราพยายามตอบสนองแล้ว ควรรีบดึงลูกกลับสู่ปัจจุบันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดตรงหน้า เช่น ถามว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกกำลังทานอะไร หรือเตือนให้ลูกกลับมาสนใจทำกิจกรรมตรงหน้า
.
(2) เพิ่มกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่มีรูปแบบเหมาะสมกับวัย (ไม่ทำกิจกรรมวนซ้ำจนหมกมุ่น)
ลูกอาจพูดซ้ำ ๆ มากขึ้นในเวลาว่างหรือในเวลาที่ลูกได้แยกตัวคนอยู่เดียวนาน ๆ เช่น ในเวลาที่พ่อแม่หรือคนในบ้านติดภารกิจอื่น ๆ ดังนั้น สมาชิกในบ้านควรร่วมกันวางแผนการทำกิจวัตรประจำวันด้วยการดึงลูกให้เข้ามาทำภารกิจร่วมกันกับสมาชิกในบ้านเป็นระยะ ๆ เพื่อดึงความสนใจของลูกสู่บุคคลและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ในระยะแรกควรตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะสอนทักษะการเล่นที่เหมาะสมกับวัย เพิ่มความสนใจของลูกกับของเล่นที่หลากหลายมากขึ้น (เพื่อป้องกันการหมกมุ่นกับบางกิจกรรมมากเกินไป) และสาธิตการเล่นอย่างถูกวิธี (สอนให้ลูกเล่นให้เป็น) หรือทำกิจกรรมยามว่างที่หลากหลาย เช่น ชวนลูกวาดรูป ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน เล่นของเล่น เป็นต้น และเมื่อลูกเล่นได้หลากหลาย เล่นถูกวิธี และเรียนรู้วิธีใช้เวลาอย่างอิสระอย่างรูปแบบและเหมาะสมกับวัยได้แล้ว จึงปล่อยให้ลูกเล่นเองอย่างอิสระ
.
(3) ทำข้อตกลง
ในบางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องสอนให้ลูกตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและกำหนดกติกา เช่น ทำข้อตกลงตามวัยและตามลำดับความเข้าใจของลูก เช่น เราจะไม่พูดในลิฟท์ เราจะไม่พูดโพล่งในโบสถ์หรือในห้องเรียน หรือฝึกให้ลูกสังเกตบรรยากาศที่คนอื่นร่วมกิจกรรมแบบเงียบ ๆ
.
(4) สอนลูกจัดการกับสถานการณ์พิเศษ
ลูกอาจจะมีชุดคำพูดเฉพาะที่มักพูดกับตัวเองในสถานการณ์ที่มีความเครียด วิตกกังวล ประหม่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ความตื่นเต้นจากระบบประสาทสัมผัสที่ไวจึงถูกรบกวนง่ายจากสิ่งเร้ารอบข้าง การพบคนแปลกหน้า หรือในบางกรณีลูกอาจใช้คำพูดเพื่อปฏิเสธ พูดเพื่อหลีกเลี่ยงการกิจกรรม ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรจับสังเกตท่าทีและคำพูดที่ลูกมักใช้ในสถานการณ์พิเศษเพื่อเข้าแทรกและช่วยนำให้ลูกจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยใช้คำพูดหรือสาธิตอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและบอกขั้นตอนทีละลำดับ เช่น ช่วยจับนำ ช่วยบอกบทสนทนา หรือบอกวิธีให้ลูกรับรู้อย่างเป็นรูปธรรมว่าจะจัดการกับความเครียด ลูกจะผ่อนคลายหรือเบี่ยงเบนความสนใจอย่างไร เป็นการสอนทักษะให้ลูกรู้วิธีรับมือกับสิ่งกระตุ้นใหม่ ๆ และตอบสนองกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม และก่อนที่ลูกจะไปเผชิญบุคคล สถานที่ สถานการณ์ใหม่ ๆ หรือเข้าไปในบรรยากาศที่อาจมีสิ่งเร้าที่รบกวนระบบการรับสัมผัสของลูก เช่น มีแสงจ้า มีเสียงดัง ฯลฯ ควรบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าจะเจออะไรและบอกวิธิว่าลูกจะเผชิญอย่างไร เช่น วิ่งมาจับมือแม่ เอามืออุดหูไว้ กอดตุ๊กตาแน่น ๆ เป็นต้น
.
ในกรณีที่ลูกออทิสติกมีปัญหาด้านพฤติกรรม ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอให้กำลังใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในการค่อย ๆ หาทางช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ เราจะคอยเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูล เพื่อท่านมีแนวทางในการนำทางลูก ๆ ต่อไป
.
เครดิตภาพ: Unsplash | Nurpalah Dee
.
การสนับสนุนหัวใจของพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

การสนับสนุนหัวใจของพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

ประเด็นพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกออทิสติก (หรือพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกที่มีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษแบบอื่น ๆ เช่น สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น) เป็นประเด็นสำคัญที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากส่งกำลังใจมายังพ่อแม่ผู้ปกครองของลูก ๆ ว่า “ท่านสามารถเลี้ยงดูลูกที่มีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษควบคู่ไปกับพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกเพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนเจริญเติบโตไปด้วยกันเป็นอย่างดีได้” โดย “บ้านอุ่นรัก” ขอเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนหัวใจของเด็ก ๆ ดังนี้ คือ

(1) พ่อแม่ผู้ปกครองทำใจยอมรับว่าในกระบวนการการเติบโตของพี่ ๆ น้อง ๆ ของลูกออทิสติก พี่ ๆ น้อง ๆ ย่อมได้รับผลกระทบบางอย่างในขณะที่กำลังเติบโตไปพร้อม ๆ กันไม่น้อยไปกว่าลูกออทิสติก แต่ในเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ในฐานะพ่อแม่ “เราจะตั้งใจดูแลลูกทุกคนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างดีที่สุดให้ได้”

(2) พ่อแม่ผู้ปกครองอธิบายความหมายของคำว่า “ออทิสติก” ให้พี่ ๆ น้อง ๆ ฟัง

– เริ่มจากการถามว่าพี่ ๆ น้อง ๆ ว่า “สังเกตเห็นไหมว่าลูกออทิสติกแตกต่างจากพี่น้องหรือไม่ อย่างไร”

– อธิบายเพิ่มเติมสั้น ๆ ใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจได้ตามวัยของเด็ก โดยในเด็กเล็กอาจเน้นเน้นพฤติกรรมเด่น ๆ ที่พี่น้องจะประสบหรืออาจได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กออทิสติกอาจมีวิธีเล่น-คิด-พูดที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น หรือเด็กออทิสติกอาจต้องการให้พี่น้องดูแลสนับสนุนในบางเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่เด็กออทิสติกทำได้ดีเช่นกัน

– อธิบายให้มากขึ้นทีละน้อยตามวัยหรืออาจใช้ตัวช่วยอื่น ๆ เช่น ให้อ่านบทความ ดูสารคดี ชมภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือ

– หาโอกาสให้พี่น้องได้ไปร่วมในการพบแพทย์ในระหว่างการบำบัดรักษา หรือร่วมทำกิจกรรมที่ได้เห็นครอบครัวอื่น ๆ ที่มีสมาชิกออทิสติกในครอบครัว เพราะจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่อีกหลายครอบครัวก็กำลังดำเนินชีวิตแบบนี้เช่นเดียวกัน

(3) หาโอกาสให้พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันเป็นช่วงสั้น ๆ บ่อย ๆ โดยหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ และควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กโดยมีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อประสานให้ทุกคนสามารถสนุกสนานและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง วิ่งเล่น ขี่จักรยาน  ว่ายน้ำ  ทานอาหารนอกบ้าน   เล่นเกมส์บอร์ด  ทำกิจกรรมในกิจวัตรประจำวันร่วมกันโดยพ่อแม่เป็นคนกลางร่วมทำด้วย เป็นต้น

(4) ตั้งกติกาของครอบครัว เน้นความยุติธรรมและสม่ำเสมอสำหรับลูก ๆ ทุกคน ซึ่งความยุติธรรมมีความสำคัญสูงสุดต่อจิตใจของลูก ๆ คนอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาชัดเจนในบางเรื่องที่ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน เช่น การไม่ยอมให้ลูกออทิสติกมีอภิสิทธิ์เหนือพี่น้อง พี่น้องไม่จำเป็นต้องเสียสละในส่วนของตนที่ต่างได้รับเหมือนกัน การไม่ยอมปล่อยผ่าน และมีการตอบสนองที่ชัดเจนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อลูกออทิสติกมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือทำร้ายจิตใจพี่น้อง

(5) กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในหน้าที่ประจำวัน เน้นให้ลูกทุกคนรวมทั้งลูกออทิสติกฝึกช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด และต่างมีส่วนต้องมีส่วนร่วมในงานส่วนรวมของครอบครัวตามวัย เพราะการใช้ชีวิตตามปกติของพ่อแม่ที่มีลูกที่ต้องการการดูแลพิเศษย่อมมีภาระหน้าที่เพิ่มกว่าปกติ ลูกทุกคนจำเป็นต้องถูกปลูกฝังให้ดูแลตนเอง และมีส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

(6) เมื่อใดที่ต้องการให้พี่น้องช่วยเหลือดูแลลูกออทิสติก ควรถามความพร้อมของพี่น้องก่อนทุกครั้ง (แม้บางครั้งจำเป็นต้องให้ช่วยเหลือ) แต่ควรถามความพร้อมก่อนขอร้องให้ลูก ๆ ทำ ไม่ใช่การสั่งหรือคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

(7) ช่วยลูก ๆ จัดการกับความรู้สึกด้านลบ จำเป็นต้องยอมรับความจริงและยอมให้ลูกแสดงความรู้สึกทางลบได้ เพราะการที่ลูกออทิสติกมีปัญหาในการสื่อสาร และขาดทักษะทางสังคม ย่อมมีผลให้การอยู่ร่วมกันในพี่น้องไม่ปกติสุขนัก และบ่อยครั้งลูก ๆ อาจรู้สึกว่าเหมือนกำลังถูกแย่งความสนใจของพ่อแม่ อาจรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือสับสนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพี่น้องออทิสติก หรือผลกระทบต่าง ๆ ในครอบครัว และบ่อยครั้งที่ลูก ๆ อาจรู้สึกสับสน ต่อสู้กับใจตนเอง ระหว่างความต้องการปกป้องพี่น้อง โกรธถ้าคนอื่นมาล้อเล่นพี่น้องของตนเอง พร้อมไปกับรู้สึกอายที่คนจ้องมองพฤติกรรมพี่น้องออทิสติก อย่าปฏิเสธ อย่าด่วนสอนเรื่องจริยธรรม เพราะลูก ๆ กำลังรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ หากพ่อแม่สังเกตเห็น ควรหาโอกาสพูดคุย โดย

– กระตุ้นให้ลูกได้พูดถึงความรู้สึกด้านลบอย่างไม่ปิดกั้น เปิดโอกาสให้ลูกมีโอกาสระบาย

– สรุปทวนความรู้สึกและเหตุการณ์ที่ลูกประสบให้ลูกฟังว่าพ่อแม่เข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากที่ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจว่าลูกกำลังเผชิญอะไรอยู่

– แสดงการยอมรับว่าความรู้สึกนั้นเกิดได้เป็นธรรมดาโดยไม่จำเป็นต้องสอนในแง่ศีลธรรมหรือความรักระหว่างพี่น้องในเวลานั้น เพราะยังมีอีกหลายโอกาสในบรรยากาศดี ๆ อีกมากมายที่เราสามารถแทรกคำสอนเรื่องความรักได้

– กอดลูกแน่น ๆ

– ขอบคุณที่ลูกได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว

– ถามว่ามีอะไรที่พ่อแม่จะช่วยลูกได้

– จบการพูดคุยด้วยการปรึกษาหาความเห็นร่วมกัน เพื่อช่วยให้ลูกรู้วิธีจัดการกับสถานการณ์เดิม ที่อาจเกิดขึ้นอีก ว่าควรจะหาทางออกอย่างไร

(8) ในวันดี ๆ บรรยากาศดี ๆ ชวนลูกคุย

– ถึงความรักที่เรามีกันในครอบครัว โอกาสดีที่ลูก ๆ ได้ดูแลกันและกัน

– ชี้ให้ลูก ๆ สังเกตเห็นจุดแข็ง ความสามารถ การช่วยเหลือ  สิ่งดี ๆ ที่พี่น้องออทิสติกทำได้

(9) ในกิจวัตรประจำวันทำตัวอย่างให้ดู ทำไปพร้อมกับพ่อแม่ หรือหาโอกาสนำให้ลูก ๆ ดูแลกันอย่างเป็นธรรมชาติแบบไม่ยัดเยียด เน้นการช่วยเหลือกัน ทั้งนำพี่น้องช่วยเหลือและนำให้ลูกออทิสติกมีส่วนดูแลหรือแบ่งปันพี่น้องในสิ่งที่ทำได้ และกล่าวขอบคุณลูก ๆ เมื่อพบว่าพี่น้องมีความเห็นอกเห็นใจ มีความห่วงใย การรับรู้ถึงสิ่งดีงาม อย่างสม่ำเสมอนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง

(10) หาโอกาสพิเศษ (แบบเป็นประจำ) ให้พี่น้องได้มีเวลาแบบตัวต่อตัวกับพ่อแม่ โดยมีผู้อื่นมาดูลูกออทิสติกชั่วคราว เช่น พาลูกคนอื่นไปทำกิจกรรม โดยไม่ต้องพ่วงลูกออทิสติกไปด้วยทุกครั้ง (เพราะครอบครัวที่มีลูกพิเศษหรือลูกเล็กมักทำให้พี่น้องคนอื่น ๆต้องปรับแผนของตนเองมาเป็นลูกที่ต้องการการดูแลพิเศษเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งลูก ๆ มักจะคิดว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้น ทำใจปล่อยให้ลูกออทิสติกอยู่กับคนอื่นที่เราไว้วางใจ ให้คน ๆ นั้นมาช่วยดูแลช่วงสั้น ๆ ในวันหยุด หรือวันที่เหมาะสม หรือพ่อแม่จัดเวลาเฉพาะเพื่ออ่านนิทาน สอนการบ้านพี่น้องแบบตัวต่อตัว

(11) หาโอกาสให้พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ปลีกตัวออกไปใช้เวลาเป็นตัวของตนเองในบางเวลา (พ่อแม่ก็ควรปลีกตัวไปใช้เวลาส่วนตัวด้วยเช่นกัน) เช่น ไปทำกิจกรรมที่ชอบกับกลุ่มเพื่อน ไปค้างบ้านญาติในวัยเดียวกัน ไปเข้าค่ายที่สนใจ

“บ้านอุ่นรัก” หวังว่าแนวทางข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ อีกทั้งช่วยสนับสนุนใจลูก ๆ ทุกคนในครอบครัวได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ

ในเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ในฐานะพ่อแม่ เราจะดูแลลูก ๆ ทุกคนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างดีที่สุดให้ได้ค่ะ

เครดิตภาพ: Unsplash | Jess Zoerb

ลูกออทิสติกและ Vision Therapy | บ้านอุ่นรัก

ลูกออทิสติกและ Vision Therapy | บ้านอุ่นรัก

Vision Therapy ช่วยแก้ไขปัญหาลูกออทิสติกชอบเอียงคอมอง เหล่ตามอง ได้อย่างไร?
เด็กออทิสติกจำนวนมากมีรูปแบบการมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เด็กออทิสติกมักจะเอียงคอแบบเหล่มอง ขาดการมองตามวัตถุที่หลุดพ้นออกจากลานสายตา มีอาการตาลอยเคว้งคว้าง หรือแม้แต่เพ่งมองแบบทะลุผ่าน ซึ่งรูปแบบการมองเหล่านี้ดูเหมือนจะส่งผลต่อสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดจนมีผลต่อการสบตากับบุคลลรอบข้างไปด้วยโดยปริยาย ทั้งนี้ เราจึงพบบ่อยว่าเด็กออทิสติกเลี่ยงการสบตา
สืบเนื่องจากปัญหารูปแบบการมองแบบดังกล่าวของเด็กออทิสติก ในปัจจุบัน จึงมีการนำหลักการของ “Vision Therapy หรือ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา” มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำ Vision Therapy ตามหลักวิชาการไว้เช่นเดิม คือ
• เพื่อแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวลูกตาและกล้ามเนื้อตาในการเพ่งมอง
• เพื่อรวมเป็นการมองเห็นภาพของลูกตาทั้งสองข้างร่วมกัน และ
• เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำ Vision Therapy เพื่อการบำบัดนี้ มีตัวอย่างที่ Timoty Turner ซึ่งเป็นบุคคลออทิสติก (ผู้เขียนเรื่อง Tim is fine) ยืนยันว่าเขาได้รับอานิสงค์และประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในด้านพัฒนาการจากการที่เขาได้รับจากการฝึกการมองเห็นหรือ Vision Therapy อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเล็ก
ที่ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี” ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของเราก็นำหลักการ Vision Therapy มาใช้ในกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกศิษย์วัย 2-5 ขวบของเราที่มีอาการออทิสติกด้วยเช่นกัน แต่การทำ Vision Therapy นี้ ไม่จำเป็นต้องทำที่ “บ้านอุ่นรัก” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะคนที่บ้านก็สามารถลงมือทำเพื่อช่วยเด็ก ๆ ในขณะที่เด็กอยู่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งวิธีทำ Vision Therapy แบบง่าย ๆ ที่บ้าน มีดังนี้ คือ
(1) กิจกรรมแกว่งบอลตรงหน้าระดับสายตาของผู้สอนและเด็ก
– รอบที่ 1 กระตุ้นจบบอล ต่อเนื่อง 10 ครั้ง
– รอบที่สอง เริ่มย้ายบอลไปในทิศทางต่าง ๆ พร้อมทำเสียงสนุก ๆ ขณะเด็กตีบอล แทรกการหยุดรอ สบตา จึงแกว่งย้ายตำแหน่งช้า ๆ ไปซ้าย-ขวา-บน-ล่าง ให้เด็กตามตบบอล
(2) กิจกรรมไม้คฑาวิเศษ (อุปกรณ์ สิ่งของ หรือของเล่นที่มีด้ามยาวแบบไม้คฑา แต่ต้องมีความปลอดภัยและเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ)
– แตะไม้คฑาที่หว่างคิ้วของเด็กเพื่อเรียกความสนใจ
– จากนั้น เลื่อนไม้ช้า ๆ ระดับสายตาผู้สอนและเด็ก เคลื่อนไม้ให้เด็กมองตามไปทางซ้าย-ขวา-ขึ้น-ลง-เข้า-ออก พร้อมกับนับหรือทำเสียงสนุกไป อย่างน้อยรอบละ 10 ครั้ง
(3) กิจกรรมหุ่นนิ้วใส่ในนิ้วผู้สอน
– รอบที่ 1 ใช้หุ่นนิ้วใส่ในมือผู้สอนแล้วคุยทักทาย หรือนับ กระตุ้นการสบตา เมื่อเด็กสนใจ จึงยกนิ้วที่ใส่หุ่นกระดิกระดับสายตาเด็กนับในใจ 1-10 เพื่อให้เด็กมองจดจ่อ
– รอบที่ 2 โบกมือ หรือนิ้ว เคลื่อนตำแหน่งไปบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา-เข้า-ออก โดยยังคงตรึงการสบตากันไว้
(4) กิจกรรมมองความแวววาว (เนื่องจากเด็กออทิสติกมักชอบมองภาพ หรือสิ่งแวววาว ผู้สอนอาจนำภาพที่แวววาวหรือสติกเกอร์ที่แวววาวติดที่นิ้วผู้สอน หรือเพื่อความประหยัด ผู้สอนสามารถติดสติ้กเกอร์แวววาวไว้ที่ถุงมือเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ในการสอนซ้ำได้อีก)
– รอบที่ 1 ร้องเพลงหรือนับ พร้อมกระดิกนิ้วระดับสายตาให้เด็กมองต่อเนื่อง
– รอบที่ 2 เริ่มเคลื่อนที่มือไปทางซ้าย-ขวา-บน-ล่าง-เข้า-ออก ช้า ๆ เพื่อฝึกการมองคงสายตาอย่างต่อเนื่อง
(5) การกระตุ้นให้เด็กคงสายตามองตามตลอดระยะเวลาในการทำกิจกรรม โดยมองตามภาพ สิ่งเร้า หรือของเล่นในระนาบต่าง ๆ แบบกลุ่มอย่างน้อย 10-20 หน่วย เช่น มองตามภาพ 10-20 หน่วยในแนวนอนหรือแนวตั้งหรือเรียงของแบบกลุ่ม ให้เด็กลากบล้อคสีต่าง ๆ ตามแนวเส้นที่เราวาดไว้ (เส้นตรง วงกลม เส้นซิกแซก เป็นต้น) ให้เด็กลากนิ้ว จับดินสอลากเส้น หรือจับบล็อค ตุ๊กตาสัตว์ โมเดล เคลื่อนตามเส้นแบบต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายของการทำ คือ การทำให้เด็กคงสายตามองอย่างต่อเนื่อง กรอกตา-เคลื่อนตามองตามการเคลื่อนที่ และมองภาพรวมพร้อมกันของลูกตาทั้งสองข้าง
กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านอาจจบการทำกิจกรรมด้วยการปล่อยให้เด็กเล่นเองในตอนจบ (เพื่อสลับบทบาทให้เด็กเป็นคนนำการเล่น หรือทำหน้าที่กระตุ้นให้เราร่วมเล่นด้วย) ซึ่งเราจะแกว่งหรือเขย่าของเล่นในลักษณะเดิม พร้อมนับ 1-5 หรือ 1-10 ให้เด็กรอ จากนั้นค่อยปล่อยให้เด็กได้เล่นเองต่อไป
สำหรับบ้านที่ไม่มีของเล่น ไม่มีอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ยังไม่พร้อม คนที่บ้านสามารถเปลี่ยนมาเล่นไต่นิ้วกับเด็ก เล่นจิ้มนิ้วกัน เมื่อเด็กเข้าใจวิธีเล่น จึงเคลื่อนนิ้ว ให้เด็กตามจิ้มปลายนิ้วไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และตรึงการสบตาไว้ ทำรอบละอย่างน้อย 10 ครั้ง
การทำแบบฝึก Vision Therapy ยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถค้นหาตัวอย่างการฝึกเพิ่มเติมได้จากยูทูปและนำมาประยุกต์ใช้ต่อไปได้ และ “บ้านอุ่นรัก” อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านลองใช้หลักการทำ Vision Therapy กับลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านบ่อย ๆ และทุก ๆ วัน โดยทำให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 5-10 นาที เพื่อเรียกรอยยิ้ม จากนั้นเด็ก ๆ จะสบตาใสแจ๋วจนท่านลุ่มหลง ลืมเวลา และมัวเล่นเพลินจนเกินเวลา 5-10 นาทีที่ว่านั้นก็เป็นได้ค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Elizaveta Dushechkina