พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพูดช้า ลูกปากหนักเป็นปกติ หรือจำเป็นต้องไปรับการรักษา

สำหรับ Clip ความรู้เบื้องต้นนี้ ครูนิ่มโฟกัสเรื่องปัญหาการพูดของลูก ๆ เด็ก ๆ ที่มีอายุมากกว่าสองขวบครึ่งแต่ยังไม่พูดสื่อความต้องการหรือพูดได้น้อยจนผิดปกติ

ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปเด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. เด็กปกติที่พัฒนาการทางการพูดช้ากว่าวัย (แม้พูดช้า แต่พยายามเปล่งเสียง พยายามใช้ท่าทางสื่อความหมาย ส่งสายตาเว้าวอน)

2. เด็กที่พูดช้าเพราะมีปัญหาพัฒนาการที่ซับซ้อน (เด็กที่มีพัฒนาการภาพรวมล่าช้าเกือบทุกด้าน เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น)

เรื่องพัฒนาการทางการพูดของลูกนี้ เราต้องทราบเกณฑ์เส้นฐานของเด็กปกติก่อน คือ

– เด็ก 1 ขวบจะเริ่มพยายามสื่อความหมายด้วยการพูดคำหนึ่งพยางค์ง่าย ๆ เช่น หม่ำ ไป แม่

– เด็ก 2 ขวบพูดสองพยางค์ เช่น หม่ำข้าว หาแม่

– เด็ก 3 ขวบพูดสามพยางค์ โดยพูดได้คละหมวดคำ

– เด็ก 4-5 ขวบใช้ประโยคสั้น ๆ ได้ ใจความที่พูดค่อนข้างสมบูรณ์ พูดสื่อสิ่งที่ต้องการได้อย่างเข้าใจความหมาย สานต่อการสนทนาได้และเป็นไปในทิศทางเดียวกับเนื้อหาของคู่สนทนา

นอกจากเกณฑ์เส้นฐานทางการพูดแล้ว พ่อแม่ควรต้องสังเกตด้วยว่าลูกพูดสื่อความต้องการและมีท่าทางประกอบการพูด มีการชี้ชวน และสบตาเว้าวอนเพื่อสื่อความหมายร่วมด้วยหรือไม่

พัฒนาการทางการพูดของลูกมีความสำคัญ และจะบ่งบอกระบบการประมวลข้อมูลของลูก บอกความสามารถในการเลียนแบบ การสานต่อปฎิสัมพันธ์กับผู้คน และยังนำสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องตามวัยได้อีก ดังนั้น ครูนิ่มจึงชวนเชิญให้พ่อแม่มาสังเกตเรื่องการพูดของลูก และหากพบว่าการพูดของลูกไม่เกิดตามขั้นอายุ พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์พัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กเพื่อวินิจฉัยอาการและขอแนวทางการแก้ไขปัญหา อย่าปล่อยปัญหาเรื่องการพูดให้ล่วงเลยไปกว่านี้ เพราะกระบวนการแก้ไขการพูดนั้นต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่ง ต้องมีการส่งต่อจากแพทย์สู่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือครูฝึกพูด และพ่อแม่ต้องช่วยฝึกลูกต่อที่บ้านอีกด้วย

การแก้ไขปัญหาเรื่องการพูดเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำเพื่อเตรียมลูกให้พร้อมก่อนส่งลูกไปเรียนร่วมในชั้นเรียนอนุบาล ทั้งนี้ หากไม่รีบแก้ไข ปัญหาพัฒนาการของลูกจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก