โดย admin | บทความบ้านอุ่นรัก
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูบางท่านตั้งคำถาม
ๆ ครูบ้านอุ่นรักว่า “เรามีระบบการเตรียมความพร้อมให้ลูกออทิสติก
ลูกสมาธิสั้น และลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย อย่างไร ลูก ๆ
ของเราจึงสามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลได้อย่างมีความหมาย”
บ้านอุ่นรักปักหลักชัยในการเตรียมความพร้อม
2 ระยะ คือ ก่อนและหลังส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล
ก่อนส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล
- มีการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกให้ลูกวัย 2-6 ขวบแบบครบทุกด้านเพื่อแก้อาการเบื้องต้นที่ขัดขวางการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของลูก ๆ
- ช่วยลูกเตรียมความพร้อมก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล
- ให้ความสำคัญกับการประสานการเรียนร่วมกับโรงเรียนและคุณครูก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วม
หลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล
- ติดตามและประเมินผลการเข้าเรียนร่วม
- เป็นที่ปรึกษาให้กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ทีมบำบัด และโรงเรียนในการประเมินผลและปรับแผนการช่วยเหลือลูกให้สามารถเรียนร่วมในโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีความหมายที่แท้จริง
ระบบการเตรียมความพร้อมให้ลูกของบ้านอุ่นรักดังกล่าวข้างต้นแม้มีเพียง
2 ช่วง แต่เราจำต้องอาศัยระยะเวลาต่อเนื่องที่ยาวนานมากพอในการลงมือทำ
ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้ลูก ๆ นี้มีแง่มุมต่าง ๆ ที่บ้านอุ่นรักลงมือทำและได้ผล และเราเชื่อว่าเรื่องต่าง
ๆ หลายเรื่องที่เราลงมือทำ
เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองสามารถทำที่บ้านได้เองเช่นกัน ซึ่งเราจะทยอยนำข้อมูลต่าง
ๆ มาเผยแพร่ผ่าน Website | Facebook | YouTube | คอร์สออนไลน์
ของเรา
เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ครอบครัวของลูก ๆ ตลอดจนคุณครูของเด็ก ๆ ติดตามและเรียนรู้ร่วมไปกับเรา เพื่อท้ายที่สุด พวกเราจะไปถึงหลักชัยที่แท้จริง คือ สามารถช่วยลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตในอนาคตได้ด้วยตนเอง
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษาหรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมินเพื่อปรึกษาวางแนวทางการดูแลได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ
โดย admin | บทความบ้านอุ่นรัก
บทความที่น่าสนใจในวันนี้ ขอนำเสนอในหัวข้อ 5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก โดยครูนิ่ม บ้านอุ่นรักค่ะ
หลายต่อหลายครั้ง ที่รู้สึกเหมือนโชคชะตาไม่เป็นใจ หรือรู้สึกเหมือนกำลังโดนฟ้า หรือใครกลั่นเกล้งเราอยู่ เราก็อาจจะยังไม่รู้สึกเสียใจ ท้อแท้ใจ ห่อเหี่ยวใจ มากไปกว่า วินาทีที่เราได้รับการยืนยัน หรือทราบข่าวแน่ชัดแล้วว่า ลูกรักของเรามีอาการผิดปกติทางด้านพัฒนาการ หรือเป็นโรคออทิสติก
บ้านอุ่นรักและครูนิ่มเอง
จากประสบการณ์ที่ดูแลพบปะกับเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมาตลอดระยะเวลากว่า 26
ปี เราเข้าใจในจุดๆนี้ ของคุณพ่อคุณแม่ดีค่ะ
ว่าการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
เป็นเรื่องที่ยากลำบากกับความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก
แต่ครูนิ่มขอบอกเลยนะคะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเราจะโศกเศร้าเสียใจ หรือตีโดยตีพายขนาดไหนก็ตาม สิ่งๆ นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ค่ะ แต่ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีอยู่ นั่นก็คือ เราสามารถเตรียมตัวและรับมือ กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ค่ะ
1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง ไม่โทษตนเองหรือโชคชะตาที่ลูกเป็นโรคนี้ เปิดใจยอมรับธรรมชาติที่ลูกเป็น ลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เรารัก ลูกของเราไม่ใช่เด็กที่บุบสลาย และยังคงมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเหมือน ๆ กับเด็กทุกคน เพียงแต่เป็นเด็กที่มีวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง การสอนและเลี้ยงดูลูกออทิสติกนั้นอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรืออาจใช้เวลามากกว่าในระยะแรก ดังนั้นรีบเริ่มต้นเรียนรู้ให้เร็วว่า เราจะเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้อย่างไร แล้วทำทุกวันให้ดีที่สุด พร้อม ๆ ไปกับการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขให้ได้ ด้วยทัศนคติทางบวกเช่นนี้ พ่อแม่จะมีพลังกายและใจในการนำพาลูกสู่เส้นทางการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพอย่างแน่นอน
2. ปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัด หาความรู้เรื่องแนวทางการบำบัด ทำความเข้าใจเรื่องอาการของลูก และเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง คู่ขนานไปกับการบำบัดรักษาจากนักบำบัดมืออาชีพ ซึ่งการเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก โดยรับคำแนะนำจากแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ที่สถาบันที่เกี่ยวข้องกับโรคออทิสติก รวมทั้งทีมบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้จัดทำโปรแกรมเผยแพร่ความรู้ไว้หลายรูปแบบเพื่อเป็นเครื่องมือนำทางให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง หากพ่อแม่สืบค้นก็จะพบคอร์สต่าง ๆ ที่น่าเรียนรู้เพื่อบำบัดรักษาอาการของลูกเองที่บ้าน และนี่ก็คือก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำพาพ่อแม่สู่การเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้ในที่สุดซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการรอรับบริการจากภายนอก เพียงทางเดียว ซึ่งทางบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้มีบริการจัดอบรมคอร์สต่างๆ เหล่านี้โดยครูนิ่มด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจก็ติดต่อกับทางบ้านอุ่นรักเข้ามาได้ค่ะ
3. ปรับเปลี่ยนสมาชิกในบ้านให้เป็นทีมบำบัด จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าการกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมลูกออทิสติกนั้นต้องทำให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการเกิดในชีวิตจริงที่บ้าน และทำอย่างต่อเนื่องใช้เวลาที่ยาวนานมากพอ สมาชิกทุกคนในบ้านจึงเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่า Keyman หากพ่อแม่ พี่น้อง และสมาชิกในบ้านแทคทีมจับมือกันเป็นทีมบำบัด และจัดแบ่งหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมให้ลูกออทิสติก โดยพุดคุยตกลงกันว่าใครสามารถทำสิ่งใดได้ ในเวลาใด เช่น แม่รับหน้าที่ฝึกลูกเรื่องทักษะการสานต่อการสนทนาและการทำกิจวัตรประจำวันเรื่องการตื่นนอน การทานอาหาร พ่อชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์นอกบ้าน พี่ชวนน้องออทิสติกเตะฟุตบอลหรือขี่จักรยานร่วมกันยามเย็น คุณยายช่วยฝึกหลานให้ช่วยเหลือตนเองในการอาบน้ำและแต่งกาย ฯลฯ หากทุกคนร่วมมือกันลงมือทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีทิศทาง ในที่สุด ลูกออทิสติกจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของ (พวก) เราเอง
4. ปรับเปลี่ยนการจัดสรรเวลาเพื่อหาเวลาเฉพาะกันไว้ให้ลูก เช่น พ่ออาจต้องตื่นให้เช้าขึ้นสักครึ่งชั่วโมงและก่อนพ่อออกไปทำงานในตอนเช้า จัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพูดคุยชวนลูกสบตาและสานต่อบทสนทนาระหว่างอาหารมื้อเช้า แม่อาจลดภาระงานบ้านลงบางส่วนเพื่อจัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพาลูกเข้านอน เล่านิทาน ชวนลูกสรุปความจากนิทานที่ได้ฟังไป การจัดเวลาเฉพาะไว้ให้ลูกนี้ เราขอแนะนำว่าต้องใช้เวลาแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที ให้ได้วันละหลายๆรอบ ดังนั้น แม้การทำแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่เสียเวลาส่วนตัวไปบ้าง แต่จะได้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กับลูกเพิ่มเติม การกันเวลาที่มีค่าเฉพาะไว้เพื่อลูกในทุก ๆ วันเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนของขวัญที่พ่อและแม่ได้มอบให้กับลูก และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมไปด้วยรักและอบอุ่นสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง
5. ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในแง่การทำใจยอมรับความช่วยเหลือยามจำเป็น เราไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือพร้อมรับมือตลอดเวลา โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูลูกที่ใช้พลังกาย ใจ มากกว่าการเลี้ยงตามปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้นในบางเวลาเราจำเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์พ่อแม่ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองไปสียทั้งหมด ลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วจะพบคนที่ปรารถนาดีรอให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เขาทำได้อยู่รายรอบ เช่น คุณน้าข้างบ้านที่อาสาดูแลลูกให้เราสักครึ่งชั่วโมงในขณะที่เราไปซื้อของที่ตลาด เพื่อนของเราที่จะช่วยดูแลลูกในขณะวันที่เราไม่สบาย เพื่อนของพ่อที่เป็นเพื่อนเล่นฟุตบอลกับลูกของเราพร้อม ๆ ไปกับลูกของเขา เป็นต้น เพียงเรายอมรับว่าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ เราเปิดใจให้ลูกได้เป็นตกเป็นสมบัติสาธารณะตามควรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุด เพื่อนบ้านของเรา เพื่อนของเรา ญาติพี่น้องของลูก หรือแม้แต่พี่พนักงานขายของที่ร้านสะดวกซื้อ จะเปิดใจรับลูก ทำความรู้จักกับลูก มองเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของลูก และอ้าแขนรอกอดลูกออทิสติกผู้น่ารักของเรา
ครูนิ่ม และพวกเราชาวบ้านอุ่นรักทุกคน จะยืนอยู่ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งกำลังใจ มีรอยยิ้ม อ้อมกอดที่จริงใจ และพร้อมจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ในเรื่องที่เราทำได้ค่ะ
โดย admin | บทความบ้านอุ่นรัก
ความในใจของครูปั่น 🌷💕(คุณเปรมวดี ธรรมสา ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักธนบุรี อายุงาน 13 ปี)
เราลองนึกย้อนวันเวลากลับไปที่จุดเริ่มต้น ก็นึกแปลกใจว่าอะไรที่ดลใจให้เราอยากมาทำงานที่บ้านอุ่นรักธนบุรีในวันนั้น
😁😁😁😁😁😁😁
ที่จริง ในตอนนั้น เราเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่อยากหางานพิเศษทำเพื่อลดภาระที่บ้าน เราแค่เดินไปที่บอร์ดของมหาวิทยาลัยที่ติดประกาศรับสมัครงานและเจอข้อความเปิดรับสมัครงานครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่บ้านอุ่นรักธนบุรีนี้
🐣🐥ในวันที่เข้ามาสัมภาษณ์งาน พี่นายถามเราว่าเรารู้จักเด็กพิเศษมั้ย เราก็ตอบไปว่าเราเคยได้ยินคำนี้แต่ไม่รู้ว่าน้อง ๆ เด็กพิเศษเป็นเด็กที่มีอาการอย่างไร พี่นายอธิบายถึงเรื่องเด็กพิเศษให้ฟังคร่าว ๆ และตั้งโจทย์ให้เรากลับไปคิดและให้เขียนแผนการสอนมาส่งว่าถ้าเราได้เป็นครูของเด็กพิเศษเราจะมีวิธีการสอนน้อง ๆ กลุ่มนี้อย่างไร

🌟🗝จากแผนการสอนที่ลองเขียน พี่นายให้โอกาสเราเข้ามาทำงานที่นี่ ซึ่งในวันแรก ๆ เราจับต้นชนปลายไม่ถูก งง เพราะไม่รู้อะไรเลย จึงได้แต่เรียนรู้งาน ตามดู และทำตามพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ร่วมงาน เค้าให้ทำอะไร เราก็ทำ ซึ่งในช่วงแรก ๆ เราทำงานนี้ไปตามหน้าที่ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้คิดอะไรจริงจังหรือลึกซึ้งในเรื่องงานนี้มากนัก แต่ยิ่งทำก็ยิ่งพบว่าเราชอบทำงานนี้ เราเป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษที่ดีได้ การทำงานนี้ ยิ่งทำยิ่งได้รับมิตรภาพจากทุกคนที่เป็นพี่และเพื่อนร่วมงาน จากเด็ก ๆ และจากพ่อแม่ผู้ปกครอง
🦊🦊🦊🦊🦊🦊
ในส่วนของการเรียนรู้งาน ครูรุ่นพี่ไม่เคยเร่งให้เราต้องเป็นงาน แต่พี่ ๆ จะค่อย ๆ สอน ให้เวลาเราได้เรียนรู้ ลองคิดและลองทำ จนตอนนี้ เราไม่รู้ว่าคำที่เราเคยบอกว่าเราแค่ทำงานตามหน้าที่มันหายไปไหนและหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ 🎈🎈 มารู้ตัวอีกที เรากลายเป็นครูปั่นที่ทำงานด้วยใจ ทำเพราะรักที่จะทำ ทำงานนี้ด้วยความรู้สึกหวังดีที่มีให้กับเด็ก ๆ และพ่อแม่ผู้ปกครอง มารู้ตัวอีกที เรากับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ครูบ้านอุ่นรัก ก็ได้นั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องการเรียนการสอนเด็ก ๆ น้อง ๆ ในทุก ๆ เย็น
มารู้ตัวอีกที เราในตอนนี้กลายเป็นครูที่คิดและวางแผนว่าเราจะสอนน้อง ๆ เด็ก ๆ ให้รู้เรื่องโน้นนี้นั้นได้อย่างไร มารู้ตัวอีกที เรากลายเป็นครูปั่นที่คาดหวังว่าน้อง ๆ เด็ก ๆ จะทำเรื่องนั้นนี้โน้นได้ในสักวัน
วันแล้ววันเล่าที่ได้เป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความสุข ความทุกข์ การทำถูก และการทำเรื่องผิดพลาด
ครูปั่นมีทั้งช่วงเวลาที่สุขภาพแข็งแรงดีและสุขภาพพัง
เวลาร่างพัง ครูก็กลายเป็นคนไข้ที่เดินเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล หมดหวังและท้อใจ
แต่วันแล้ววันเล่าที่รู้สึกหมดหวังและท้อใจ พี่ ๆ เพื่อน ๆ เด็ก ๆ และครอบครัวของเด็ก ๆ ได้หยิบยื่นมิตรภาพ ความจริงใจ และความหวังดีมาให้ ไม่ต่างจากที่เราเคยได้รับในวันแรก และมีแต่เพิ่มพูนมากขึ้นในทุก ๆ วัน 💕💓
บ้านอุ่นรักนี้จึงเป็นที่ ๆ ทำให้เราผ่านพ้นความเจ็บปวดหลาย ๆ เรื่องมาได้
เป็นที่ ๆ เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้สัมผัสเด็กที่เราไม่เคยรู้จัก ได้ขัดเกลาตัวเอง ได้รับโอกาส และเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนที่อยากมอบและส่งต่อโอกาสแบบนี้ไปให้คนอื่น ๆ ในโอกาสต่อ ๆ ไปบ้าง
ความในใจ ❤ ที่เราอยากบอกในวันนี้ คือ อยากบอกพี่ ๆ เพื่อน ๆ เด็ก ๆ และครอบครัวของเด็ก ๆ ว่าครูปั่นมีความสุขที่ได้เป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ครูขอขอบคุณ และตั้งใจจะทำงานนี้ให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน เพื่อตอบแทนพระคุณของทุก ๆ ท่านค่ะ🙏