7 วิธีกระตุ้นลูก ๆ ให้พูด
ปัญหาเรื่องลูกออทิสติกไม่ยอมพูดนี้ เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง มีความวิตกกังวลใจเป็นอย่างมาก จึงต้องพยายามหาวิธีต่าง ๆ นานาเพื่อช่วยบุตรหลานแก้ไขปัญหานี้
หากเรากังวลว่าลูกหลานของพวกเราอาจมีปัญหาดังกล่าว เราควรรีบพาพวกเขาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อแพทย์วินิจฉัยอาการ ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องแนวทางการบำบัดรักษาต่อไป ทั้งนี้ หากแพทย์แนะนำให้เราพาลูกหลานไปฝึกพูดกับครูฝึกพูด เราต้องทำตามคำแนะนำนั้น เพราะครูฝึกพูดเป็นนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการด้านภาษาได้
นอกเหนือจากความช่วยเหลือของแพทย์และครูฝึกพูดแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองอาจสงสัยว่า “เราซึ่งเป็นพ่อ แม่ และสมาชิกในครอบครัวของเด็ก ๆ จะทำอะไรควบคู่ได้บ้างหรือไม่ เพื่อช่วยเด็ก ๆ แก้ปัญหาการไม่ยอมพูดหรือไม่ก็ช่วยให้เด็ก ๆ ค้นและพบกับ “เสียง” ของตนเองได้”
สำหรับศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก หากเราได้รับคำถามเรื่องต่าง ๆ จากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูของเด็ก ๆ เรายินดีเป็นเพื่อนคู่คิด ผู้คอยแบ่งปันข้อมูลและความรู้เพื่อประโยชน์ที่ปลายทางคือลูก ๆ ของพวกเราเติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง
ในเรื่องข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ นี้ แม้บ้านอุ่นรักทำงานด้านการกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก ๆ ออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัยมานานถึง 26 ปี แต่เราไม่เคยหยุดการเรียนรู้ เรามีทีมงานวิชาการของศูนย์ ฯ ที่คอยค้นคว้าและสืบค้นความรู้เรื่องต่าง ๆ ในหลาย ๆ แง่มุม เพื่อทีมทำงานของพวกเราได้เรียนรู้เพิ่มเติม ตลอดจนนำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ มาใช้กระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกศิษย์ของพวกเรา นอกจากนี้ หากข้อมูลใดที่ได้จากการสืบค้นน่าจะมีประโยชน์ต่อครอบครัวและคุณครู เราก็จะแปลและนำข้อมูลมาเรียบเรียงเพื่อสะดวกต่อการอ่าน จากนั้น จึงจะเผยแพร่ข้อมูลความรู้นั้น ๆ ผ่านเวบไซต์และเฟสบุ๊คของเราต่อไป
ปัญหาเรื่อง “เราจะช่วยลูกที่ไม่ยอมพูด ให้พูด ได้อย่างไร” นี้ ทีมวิชาการของบ้านอุ่นรักอ่านเจอบทความดี ๆ ชิ้นหนึ่ง เรื่อง “7 วิธีช่วยลูกที่ไม่ยอมพูด ให้พูด” ซึ่งองค์กร Autism Speaks ได้ทำการเผยแพร่ผ่านเวบไซด์ขององค์กรเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556
บทความนี้มีความน่าสนใจในหลายประการ คือ เนื้อหามีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ หากเรานำวิธีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่เราอยู่ร่วมกับเด็ก ๆ ก็จะมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมและซ่อมแซมพัฒนาการด้านภาษาและการพูดให้พวกเขาได้
นอกจากนี้ องค์กร Autism Speaks ผู้เผยแพร่บทความต้นฉบับได้ระบุว่าบทความนี้เป็นบทความเชิงแนะแนวขององค์กรที่ได้รับความนิยมสูงสุดบทความหนึ่งและได้รับการแชร์ไปแล้วมากถึง 15,000 ครั้ง อีกทั้งผู้เขียนบทความนี้ทั้งสองท่านยังเป็นแพทย์และนักจิตวิทยาคลีนิกเด็กผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กออทิสติก จนได้รับการยอมรับนับถือเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมวิชาการของบ้านอุ่นรักจึงแปลและเรียบเรียงบทความนี้ใหม่ เพื่อเราได้อ่านโดยสะดวกไปด้วยกัน
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ที่ต้องการอ่านบทความต้นฉบับ ท่านสามารถอ่านได้ตามลิ้งค์ข้างล่างนี้ค่ะ
https://www.autismspeaks.org/expert-opinion/seven-ways-help-your-nonverbal-child-speak
Credit เจ้าของบทความ
องค์กร Autism Speaks ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยคุณ Bob และคุณ Suzanne Wright ผู้มีหลานเป็นเด็กออทิสติก ต่อมา ท่านได้ทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำเรื่องโรคออทิสติกอีก 3 แห่ง คือ Autism Coalition for Research and Education (ACRE) | the National Alliance for Autism Research (NAAR) | และ Cure Autism Now (CAN) ในนาม Autism Speaks และให้สำคัญเรื่องการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจโรคออทิสติก การวิจัย การดูแล และส่งเสริมให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลออทิสติกและครอบครัว
Credit ผู้เขียนบทความ
- ดอกเตอร์ Geraldine Dawson นักจิตวิทยาคลินิกเด็กชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคออทิสติก ท่านเคยดำรงตำแหน่งประธานบริหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์คนแรกขององค์กร Autism Speaks ในปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สมองของมหาวิทยาลัยดุ๊ก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา
- ดอกเตอร์ Lauren Elder นักจิตวิทยาคลินิกผู้ซึ่งเป็นทั้งแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และนักวิจัยผู้มีประสบการณ์กว่า 15 ปีในการฝึกอบรมให้กับครอบครัวและคลินิกทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ
Credit ภาพ
Irena Carpaccio from Unsplash
Seven ways to help your nonverbal child speak | เจ็ดวิธีช่วยลูกที่ไม่พูดของคุณ ให้พูด
จากการที่นักวิจัยหลายท่านได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่นำมาซึ่งความหวังว่า “แม้ลูก ๆ จะอยู่ในวัยเกิน 4 ขวบแล้ว เราก็ยังมีวิธีช่วยลูกให้ค่อย ๆ สร้างเสริมพัฒนาการด้านภาษาได้” ทำให้ทั้งครอบครัวและคุณครูของเด็ก ๆ ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ เกิดความอยากรู้ว่า “เราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้กับลูก ๆ ที่ยังไม่ยอมพูด ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาพัฒนาการด้านการพูดให้กับลูก ๆ ออทิสติกที่เป็นเด็กวัยรุ่นได้”
ก่อนที่เราจะมาพบกับเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยกระตุ้นการพูดของลูก เราต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าลูกออทิสติกของพวกเราแต่ละคน ต่างมีกลุ่มอาการ ระดับความซับซ้อนของปัญหา และความบกพร่องที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีที่เราลองใช้แล้วได้ผลในลูกคนหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลดีในระดับที่เท่ากันในลูกคนอื่น ๆ นอกจากนี้ แม้ว่าลูก ๆ ออทิสติกของพวกเรามีความสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร แต่รูปแบบการสื่อสารที่พวกเขาทำ อาจไม่ได้ทำผ่านภาษาพูดในทุกกรณีไป สำหรับลูก ๆ ของพวกเรา ไม่ว่าเขาจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม พวกเขายังสามารถใช้ชีวิตในสังคมและสื่อสารกับเราได้ แต่อาจเป็นการสื่อสารผ่านตัวช่วยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะแผ่นภาพ หรือสื่อสารผ่านเทคโนโลยี เป็นต้น
จากข้อเท็จจริงเรื่องกลุ่มอาการ ระดับ และความซับซ้อนของปัญหาที่แตกต่างกันของลูกแต่ละคน ตลอดจนประสิทธิผลที่ได้การช่วยเหลือลูก ๆ ที่อาจแตกต่างกันได้นั้น เรามาพบกับกลยุทธ์เจ็ดอันดับยอดนิยมที่ผู้เขียนบทความนี้แนะนำให้เราลองใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาทางภาษาให้ลูก ๆ ที่ไม่ยอมพูด ตลอดจนน้อง ๆ วัยรุ่นออทิสติกที่มีความบกพร่องด้านการพูดกันเลยนะคะ
- ส่งเสริมการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการใช้ภาษาผ่านการละเล่น ยิ่งถ้าได้เล่นเชิงโต้ตอบ ก็นับเป็นโอกาสดีที่เราและลูกได้ทั้งสนุกร่วมกันและมีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กัน เวลาเล่นกับลูก เราลองเล่นในรูปแบบต่าง ๆ ที่ลูกชอบ หรือไม่ก็ชวนลูก ๆ ทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่สร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับพวกเขา เช่น ร้องเพลงไปด้วยกัน กล่อมลูกนอนด้วยเพลงกล่อมเด็ก หรือชวนลูกพูดคุยด้วยความอ่อนโยนและเมตตา ทั้งนี้ ในขณะที่เราและลูกเล่นด้วยกันหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน เรา (ตำแหน่งที่เราอยู่) ต้องอยู่ตรงหน้าลูก อยู่ใกล้ลูก อยู่ในระดับสายตา ทั้งนี้เพื่อลูก ๆ มองเห็นเราได้โดยง่ายและได้ยินสิ่งที่เราพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำนั่นเอง
- เลียนแบบสิ่งที่ลูกทำ
เราเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ลูกเปล่งออกมา หรือไม่ก็เลียนแบบพฤติกรรมการเล่นของลูก การเลียนแบบสิ่งที่ลูกทำนี้จะกระตุ้นให้ลูกออกเสียงและมีปฏิกริยาโต้ตอบมากขึ้น การเริ่มต้นที่เราเลียนแบบสิ่งที่ลูกทำ จะช่วยให้ลูกหันมาเลียนแบบในสิ่งที่เราทำได้ด้วยในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม เราต้องเลือกเลียนแบบเฉพาะพฤติกรรมทางบวกของลูกเท่านั้น เช่น เมื่อลูกเล่นเข็นหรือไถรถไป ๆ มา ๆ เราจะเลียนแบบท่าเล่นนั้น ๆ และเล่นไปกับลูก แต่ถ้าลูกขว้างปาของเล่น เราต้องไม่เลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวเพราะเป็นพฤติกรรมทางลบของลูก
- ให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบอวัจนภาษา
การสื่อสารแบบอวัจนภาษา คือ การสื่อสารที่ไม่ใช้ระบบคำและประโยค (ข้อมูลเสริมจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี | ผู้แปล) ตัวอย่างการสื่อสารแบบอวัจนภาษา เช่น สื่อสารด้วยการแสดงท่าทางแบบต่าง ๆ และการสบตา เป็นต้น
การสื่อสารแบบอวัจนภาษาสามารถสร้างพื้นฐานเรื่องพัฒนาการด้านภาษาให้ลูก ๆ ได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารรูปแบบนี้ และช่วยลูกกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาด้วยการทำตนเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ตลอดจนเราแสดงวิธีโต้ตอบพฤติกรรมแบบต่าง ๆ ให้ลูกดู ทั้งนี้ เราจะแสดงท่าทางต่าง ๆ ประกอบการสื่อสารกับลูก ๆ และเราต้องทำท่าทางประกอบต่าง ๆ นั้นแบบเกินจริง คือ ใช้ทั้งท่าทางประกอบและมีการพูดออกเสียงควบคู่กันไป เช่น เราอยากให้ลูกดูสิ่งใด เราจะยกแขนและชี้นิ้วไปยังสิ่งนั้นพร้อม ๆ กับการพูดคำว่า “ดู” หรือ เราพยักหน้าพร้อม ๆ กับพูดคำว่า “ใช่”
เราต้องเลือกแสดงท่าทางแบบง่าย ๆ ประกอบการสื่อสาร เช่น ตบมือ ผายมือ หรือเหยียดแขน เพื่อให้ลูกเกิดการเลียนแบบ นอกจากนี้ เราต้องสังเกตท่าทางที่ลูกทำ จากนั้น เราจะตอบสนองต่อท่าทางเหล่านั้นของลูก ๆ เช่น ลูกมองหรือชี้ไปที่ของเล่น หรือลูกแสดงทีท่าเป็นนัยยะให้เรารู้ว่าลูกอยากเล่นของเล่นชิ้นนั้น เราก็ตอบสนองด้วยการพูดบอกชื่อของเล่น (ข้อมูลเสริมจากวิธีที่บ้านอุ่นรักใช้ | ผู้แปล) ต่อด้วยการส่งของเล่นนั้น ๆ ให้ลูก ในทางกลับกัน เราสามารถทำแบบเดียวกับที่ลูกทำกับเราได้อีกด้วย เช่น เราทำท่าชี้ไปที่ของเล่นที่เราต้องการหยิบ เราพูดชื่อของเล่นนั้น (ข้อมูลเสริมจากวิธีที่บ้านอุ่นรักใช้ | ผู้แปล) จากนั้นเราค่อยไปหยิบของเล่นชิ้นนั้นมาเล่นกับลูกเป็นลำดับถัดไป เป็นต้น
- เปิดพื้นที่ให้ลูกมีโอกาสได้พูด
เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกอยากเติมคำตอบแทนลูกเสียเองในตอนที่เราตั้งคำถามให้ลูกตอบ แต่ลูกก็ไม่พูดตอบเราอย่างทันท่วงทีเสียสักที อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในการกระตุ้นทักษะการพูดให้ลูก ๆ คือ เราต้องเปิดพื้นที่ให้ลูกได้สื่อสารบ่อย ๆ ด้วยการกระตุ้นลูก ๆ ผ่านการตั้งคำถามเพื่อให้ลูกเป็นคนตอบ หรือหากเราเห็นว่าลูกอยากได้สิ่งใด เราจะหยุดรอสักครู่หนึ่ง มองจดจ่อไปที่ลูก วางเงื่อนไขว่าหากลูกอยากได้สิ่งใด ลูกต้องพยายามพูดชื่อสิ่งนั้นก่อนที่จะส่งสิ่งนั้นให้ลูก (ข้อมูลเสริมจากวิธีที่บ้านอุ่นรักใช้ | ผู้แปล) หากลูกเปล่งเสียงหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เราจะมองตามเสียงหรือการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ของลูก ก่อนที่จะแสดงการตอบสนองให้ลูกเห็น การตอบสนองที่เราทำให้ลูกเห็นนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกถึงพลังของการสื่อสาร พร้อม ๆ กับเรียนรู้และเลียนแบบวิธีการตอบสนองจากสิ่งที่เราทำเป็นต้นแบบได้ค่ะ (ข้อมูลเสริมจากวิธีที่บ้านอุ่นรักใช้ | ผู้แปล)
- ใช้ภาษาง่าย ๆ ในการสื่อสาร
การใช้ภาษาง่าย ๆ เมื่อพูดกับลูก จะช่วยให้ลูกสามารถทำตามสิ่งที่เราพูดได้ นอกจากนี้ ภาษาง่าย ๆ ของเราจะช่วยให้ลูกเลียนแบบคำพูดของเราได้ง่ายอีกประการหนึ่งด้วย หากลูกไม่ยอมพูด เราจะเริ่มพูดกับลูกด้วยคำ ๆ เดียว เช่น ในขณะที่ลูกกำลังเล่นลูกบอล เราพูดคำว่า “บอล” หรือ “กลิ้ง” ส่วนลูก ๆ ที่พูดคำ ๆ เดียวออกมาแล้ว เราจะพูดต่อยอดจากคำ ๆ นั้นให้เป็นประโยคสั้น ๆ เช่น กลิ้งบอล โยนบอล เราเรียกกฎข้อนี้ว่า “one-up หรือการทำเพิ่มไปอีกหนึ่งขั้น” ซึ่งขอให้เราทำตามกฎข้อนี้กันนะคะ และโดยทั่วไปแล้วก็คือการต่อยอดคำหนึ่งคำที่ลูกพูด ให้เป็นวลีหรือกลุ่มคำที่มีคำมากกว่าหนึ่งคำที่ลูกพูดออกมานั่นเองค่ะ
- ตามติดและต่อยอดการพูดจากสิ่งที่ลูกสนใจ
เวลาที่ลูกสนใจทำสิ่งใดอยู่ แทนที่เราจะไปขัดจังหวะลูก เราควรหันมาใช้คำที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นเพื่อพูดต่อยอดกับลูก ๆ ค่ะ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎ “one-up หรือการทำเพิ่มไปอีกหนึ่งขั้น” นั่นเองค่ะ เราสามารถต่อยอดด้วยการพูดเล่าเรื่องให้ลูกฟังว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ เช่น ลูกกำลังเล่นตัวต่อรูปทรงและหยิบตัวต่อรูปทรงบางตัวขึ้นมาเพื่อใส่ลงไปในช่อง เราก็จะพูดกับลูกว่า “ใส่” หากลูกเลือกหยิบตัวต่อรูปทรงแบบใดเพื่อจะนำไปใส่ในช่อง เราก็พูดถึงรูปทรงนั้น (เช่น วงกลม | ผู้แปล) ให้เราก็ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกเริ่มนำรูปทรงแบบใหม่มาเล่น การที่เราพูดเกี่ยวกับเรื่องที่ลูกสนใจจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เพิ่มเติมได้ค่ะ
- เลือกใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและตัวช่วยแบบต่าง ๆ ที่เป็นรูปภาพเพื่อกระตุ้นการพูดของลูก
อุปกรณ์และตัวช่วยที่เป็นรูปภาพนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูด และนับเป็นวิธีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการด้านการพูดและภาษาให้กับลูก ๆ ได้ เช่น ลูกใช้อุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นที่เป็นรูปภาพ เมื่อลูกสัมผัสภาพที่ลูกเห็น ก็จะมีคำที่เกี่ยวกับภาพ ๆ นั้นดังออกมาให้ลูกได้ยิน ตัวช่วยที่เป็นภาพนี้กินความรวมถึงภาพต่าง ๆ และกลุ่มรูปภาพที่ลูก ๆ จะใช้เพื่อบอกความต้องการและความคิดของพวกเขา
บ้านอุ่นรักอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลองประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ ข้างต้นในการกระตุ้นการพูดของลูก ๆ และเมื่อทำแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองอาจแบ่งปันข้อมูลกับทีมบำบัดหรือครูฝึกพูดของบุตรหลาน เพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าเราทำสิ่งใดไปแล้วและได้ผลดี หรือทำไปแล้วกลับพบอุปสรรคอะไร เพื่อทีมบำบัดและครูฝึกพูดให้คำแนะนำเพิ่มเติม การช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้บุตรหลานคู่ขนานไปกับทีมบำบัดนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่คืบหน้าไปอย่างรวดเร็วได้ค่ะ
การเรียนรู้เรื่องวิธีส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ เป็นเรื่องที่เราทุกคนเรียนรู้ได้ไม่มีวันหมด ขอเพียงเราเริ่มต้นการเรียนรู้และลงมือทำให้ถูกต้องเสียตั้งแต่วันนี้ ย่อมไม่มีคำว่าสายเกินไปนะคะ
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่ต้องการติดต่อ สอบถาม เสนอแนะ หรือให้ข้อคิดเห็นแก่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก ท่านสามารถติดต่อเราผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่นเวบไซต์ เฟสบุ๊ก ไลน์แอด หรือโทรติดต่อเราได้ยังสาขาที่ท่านสะดวกค่ะ