ว่าด้วยเรื่อง การฝึกเขียนของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

ว่าด้วยเรื่อง การฝึกเขียนของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

วันนี้ ขอวกมาตรวจการบ้านที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562 กันค่ะ

ก่อนจะฝึกลูกเขียนอักษรเป็นตัว ๆ เราควรถามตัวเราเองก่อนว่าลูกหมุนฝาขวดน้ำออกได้เองหรือยัง

การถามคำถามนี้ เพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตว่าการเขียนอักษรเป็นตัว ๆ เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็ก ๆ เพราะยังใช้มือไม่ถนัดนัก ดังนั้น การลากเส้นและตีโค้งอักษรแบบต่อเนื่องจนจบเป็นอักษรสักหนึ่งตัว จึงยากสำหรับเด็ก ๆ ค่ะ

ลองดูตัวอย่าง เช่น 2 3 5 8 P S D V หรือลูกอาจรู้สึกว่ายากจังในการลากหัวอักษร เช่น น ย ล ง อ

หากลูกยังหมุนข้อมือไม่ถนัด ผลคือตัวอักษรที่ลูกพยายามเขียน จะมีขนาดของตัวอักษรขนาดยักษ์ ล้นบรรทัด และตัวอักษรที่ปรากฏจะเป็นแบบไม่เก็บรายละเอียด ไม่มีรอยหยัก หรือเกิดอักษรที่ต่อเส้นเป็นท่อน ๆ

#Suggestions: ข้อเสนอแนะ

#ทำแบบฝึกลากเส้นของเราเอง

#ลากเส้นประขนาดใหญ่เต็มกระดาษขนาด A4 เพื่อฝึกลากเส้นฝึกมุมโค้งแบบต่อเนื่อง เช่น O C U D และเส้นต่าง ๆ อาจจะเป็นภาพวาดหรือเส้นแบบง่าย ๆ เท่าที่นึกออก เพื่อฝึกลูกตีโค้งในทิศทางต่าง ๆ

#ฝึกลูกลากเส้นประ ลากเส้นต่อเนื่องแบบหักศอก ตีมุม โดยลากเส้นประอักษรขนาดใหญ่เต็มกระดาษขนาด A4 เช่น เส้น L Z V J 1 2 7

พร้อมกับการฝึกเขียน #ฝึกการหมุนข้อมือลูกด้วยกิจกรรมสนุก ๆ เช่น ฝึกเปิดฝาขวดขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือลูก

ทั้งในแนวตั้ง คือ หันข้างฝาขวด แม่ถือไว้ ชวนให้ลูกหมุนขวดที่ลอยอยู่ในแนวตั้ง และหมุนฝาขวดที่ตั้งบนโต้ะในแนวนอน

#ฝึกลูกหมุนข้อมือแบบต่อเนื่อง เช่น ผูกเชือกติดไว้ ตรงกลางแกนทิชชูที่ใช้แล้ว โดยปล่อยให้ชายเชือกห้อย ยาว แล้วกระตุ้นให้ลูกหมุนเชือกพันแกนจนสุดเชือก

ทั้งแนวตั้ง คือ ถือแล้วหมุนกลางอากาศ แนวนอน คือ วางแกนทิชชูตั้งขึ้นบนโต๊ะและให้ลูกหมุนในแนวนอน และหลังจากลูกหมุนเชือกพันแกนทิชชูได้ถนัดแล้ว คือ ทำได้รวดเร็วขึ้น หมุนข้อมือได้ต่อเนื่องขึ้น

จากนั้นอาจจะลดขนาดแกนให้เล็กลง เช่น ผูกเชือกบนแกนกระดาษแฟกซ์ที่ใช้แล้วหรือหาหลอดชาไข่มุกที่มีความแข็ง ผูกเชือกห้อย แล้วฝึกลูกหมุนเชือกพันแกนจนสุด เพื่อฝึกการตีโค้งข้อมือในวงที่แคบลง

บทความที่ครูนิ่มเขียนเรื่องความพร้อมในการฝึกเขียนของลูกนี้ ครูเขียนในฐานะคนที่มีหน้าที่กระตุ้นพัฒนาการเด็กและพบว่าคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลว่าทำไมลูกไม่ชอบเขียน คุณพ่อคุณแม่ซื้อแบบฝึกเขียนมาให้ลูกแล้ว แต่ลูก ๆ ก็ยังเขียนไม่ได้สักที และคุณพ่อคุณแม่รายแล้วรายเล่าได้มาสมัครเข้ารับบริการฝึกการเขียนกับศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักของเรา

ครูจึงพยายามจำลองภาพเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของความพร้อมในการฝึกเขียนของลูก ๆ ว่า ณ จุดเริ่มต้นที่ลูก ๆ เริ่มเขียน สำหรับลูก ๆ แล้วการเขียนไม่ได้ง่ายนัก

หลังการลงบทความมาหลายตอนเพื่ออธิบายว่าทำไมเรื่องนี้จึงยากสำหรับลูก ๆ ครูนิ่มขอทิ้งท้ายองค์ประกอบอื่น ๆ ไว้เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้จบครบทุกด้าน

ครูหวังว่าบทความทุกตอนของเรื่องนี้จะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูที่สนใจ ดังนี้ค่ะ

องค์ประกอบและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

ชี้ชวนลูกและนำให้ลูกจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ ทั้งนี้ต้องทำให้ได้ระยะเวลาต่อเนื่องและคงสมาธิได้พอสมควรตามวัย

การชี้ชวนลูกทำเรื่องนี้ไปด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่ ในตอนเริ่มต้นยังไม่ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นการเขียน แต่ชวนให้ลูกสนุกที่จะทำเรื่องนี้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น

ให้ลูกได้สนุกไปกับการลากเส้นอิสระ เพลินไปกับการระบายสีเล่นโดยไม่ต้องมีรูปแบบ

เริ่มจาก 5 นาที 10 นาที 15 นาที หรือนานเท่าที่ลูกสนใจในระดับเหมาะสม

เตือนหรือนำให้ลูกใช้มือ 2 ข้างทำงานร่วมกันแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ในระยะแรกอาจช่วยจับนำได้

มือข้างหนึ่งจับดินสอ มืออีกข้างหนึ่งจับขอบกระดาษด้านตรงข้าม รวมทั้งฝึกใช้มือสองข้างในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น มือข้างที่ถนัดหยิบสิ่งของ มืออีกข้างหนึ่ง จับภาชนะ ขณะหยิบของใส่ในภาชนะนั้น

เริ่มที่ให้ลูกได้จับดินสอในท่าทางที่ลูกถนัด ในแบบของตนเองตามขั้นของพัฒนาการไปก่อนระยะหนึ่ง (เริ่มจากท่ากำดินสอ คีบดินสอด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้งจนถึงจุดที่จีบนิ้วจับดินสอ) แล้วจึงค่อย ๆ จับนำให้ลูกจับดินสอที่ถูกท่าเป็นระยะจนลูกจับได้ถนัด

เตือนให้ลูกคงสายตา และมองตามมือในขณะที่ขีดเขียน หรือทำกิจกรรมการใช้มือต่าง ๆ เพื่อเตรียมให้ลูกมีการทำงานประสานกันได้ดีของมือ-นิ้ว-สายตา

ช่วยจัดท่านั่งของลูกให้ถนัด ให้อยู่ในท่าที่พร้อมและเหมาะสมกับการเขียน

ระยะแรกยังไม่จำเป็นต้องเน้นคุณภาพ ทุกอย่างสามารถพัฒนาขึ้นได้ตามลำดับ ตามความถี่ของการฝึกฝน และการที่ลูกได้รับประสบการณ์.

ที่กล่าวข้างต้นคือองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านที่สนับสนุนการเขียนของลูก

ตั้งทัศนคติให้ถูกต้องว่าการขีดเขียนและการระบายสีเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เราได้ทำและได้ใช้เป็นช่วงเวลาสนุก ๆ ร่วมกันกับลูก

เมื่อลูกได้รับโอกาสฝึกฝนที่มีความถี่พอสมควรและเมื่อลูกมีประสบการณ์มากพอ คุณภาพในสิ่งที่ลูกทำจะพัฒนาได้เองตามลำดับ ซึ่งนี่คือวิถีการเรียนรู้ที่วิเศษสุดที่ลูก ๆ ทุกคนมีตามธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ

7 เรื่องต้องรู้ว่าจริงๆแล้ว ออทิสติกคืออะไร | บ้านอุ่นรัก

7 เรื่องต้องรู้ว่าจริงๆแล้ว ออทิสติกคืออะไร | บ้านอุ่นรัก

บทความที่น่าสนใจในตอนนี้ นำเสนอเรื่อง 7 เรื่องต้องรู้ว่าออทิสติกจริง ๆ แล้วคืออะไร

ครูนิ่มเชื่อว่า ยังคงมีคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองอีกหลายท่าน ที่ยังสงสัยหรือไม่เข้าใจว่าออทิสติก จริง ๆ แล้วคืออะไร มีอาการอย่างไร รักษากันอย่างไร หรือรับมือกันอย่างไรดี ในบทความนี้ ครูนิ่มจะพาทุก ๆ ท่านไปทำความรู้จักกันหน่อยว่า จริง ๆ แล้ว โรคออทิสติกคืออะไรกันแน่ค่ะ

1. ทุก ๆ ประชากร 1000 คน จะพบผู้ที่มีอาการออทิสติก 6 คน

จากการเปิดเผยของอธิบดีกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนกรกฏาคม 2560 พบสถิติที่น่าตกใจว่าเด็กไทยมีอาการออทิสติกประมาณ 3 แสนคน (หรือมีอาการออทิสติกได้ 6 คนในประชากรทุก ๆ 1,000 คน) และในอนาคต ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะมีอัตราความชุกของโรคนี้ทวีคูณมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก หากพบว่าลูกมีร่องรอยของอาการจะได้รีบปรึกษาแพทย์และนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

สำหรับที่มาข้อมูล คลิกชมได้ที่นี่ค่ะ

2. ถ้าสังเกตดี ๆ จะสามารถพบอาการได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

หากสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ดี ครอบครัวจะพบร่องรอยของอาการออทิสติกได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก อย่างไรก็ตาม อาการออทิซึมจะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ กล่าวคือ เด็กจะมีพัฒนาการไม่สมวัยด้านการสานต่อปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคล  มีความล่าช้าด้านภาษา  มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ แปลกเฉพาะตัว โดยพัฒนาการที่ไม่สมวัยนี้จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น ครอบครัวต้องรู้ลำดับขั้นของพัฒนาการเด็กเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการสังเกตพัฒนาการของลูกหลานว่ามีความปกติหรือไม่ อย่างไร

ซึ่งนั่นหมายความว่า ยิ่งเรารู้ตัวเร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถทำการบำบัดอาการของลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อาการของลูกน้อยก็จะสามารถทุเลาลงได้

3. การเข้าถึงบริการสำหรับผู้มีอาการ ยังน้อยมาก ประมาณ 10% เท่านั้น

จากสถิติผู้มีอาการออทิสติกข้างต้นตามข้อ 1 กรมสุขภาพจิตพบว่ามีคนที่เข้าถึงบริการน้อยมาก คือ ประมาณร้อยละ 10  หรือปีละเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานหรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดรักษามีจำกัด อีกทั้งการบำบัดรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก ครอบครัวของบุคคลออทิสติกจึงพบปัญหาและอุปสรรคในการพาไปบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นพัฒนาการหรือการปรับพฤติกรรมบางด้านให้บุคคลออทิสติก ครอบครัวสามารถทำได้เองที่บ้าน ครอบครัวจึงควรเรียนรู้เรื่องการเป็นนักบำบัดประจำบ้าน เพื่อช่วยลูกหลานให้มีอาการทุเลาลงได้รวดเร็วและเห็นผลชัดเจนขึ้น อีกทั้งจะสามารถประหยัดค่าใช้การในการเข้ารับบริการบางส่วนลงได้

บ้านอุ่นรักเอง ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของบ้านอุ่นรัก ไม่ว่าจะเป็น Facebook Fan Page, Youtube, Website หรือแม้แต่ Instagram เอง ก็จะสามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ผู้ป่วย หรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของบ้านอุ่นรักได้ง่ายขึ้นนะคะ

สำหรับที่มาของข้อมูล คลิกชมได้ที่นี่ค่ะ

4. อาการออทิสติกมีการดำเนินของอาการตลอดชีวิต

อาการออทิสติกมีการดำเนินอาการตลอดชีวิต แม้รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถบำบัดรักษาอาการให้ทุเลาเบาบางลงได้ ดังนั้น หากมีการบำบัดรักษาอาการของโรคออทิสติกที่ถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถช่วยลดอันตรายหรือความเสี่ยงๆ ต่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้นั่นเอง

5. อาการออทิสติก มีรูปแบบอาการที่หลากหลาย

อาการออทิสติกไม่ได้มีรูปแบบของโรคแบบใดเพียงแบบเดียว ทั้งนี้ บุคคคลออทิสติกแต่ละคนอาจมีความบกพร่องเรื่องพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องทางสังคม การใช้ภาษาเพื่อสื่อสารแบบไม่สมวัย ปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาด้านอารมณ์ ด้วยข้อเท็จจริงนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเรียนรู้ธรรมชาติและอาการของลูกเพื่อหาทางบำบัดรักษาได้อย่างตรงจุด  

6. กลุ่มคนที่สำคัญที่สุด คือครอบครัว

จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าพ่อแม่และคนในครอบครัวของลูกหลานออทิสติกเป็นกลุ่มคนสำคัญที่สุดในการช่วยบำบัดรักษาอาการนี้ให้ลูกหลานได้ ดังนั้น ทั้งแพทย์ นักวิชาการ และนักวิชาชีพที่ทำงานด้านนี้ จึงเน้นและสนับสนุนเรื่องครอบครัวบำบัดมาโดยตลอด

7. สูตรสู่การบำบัดให้สำเร็จ คือ รู้จริง-ทำจริง-ทำต่อเนื่อง

สูตรในการบำบัดรักษาบุคคลออทิสติกให้ประสบความสำเร็จ คือ

  1. รู้จริงเรื่องธรรมชาติและอาการที่มีรูปแบบเฉพาะตนในแต่ละคน เพื่อหาทางบำบัดรักษาผู้มีอาการแต่ละคนได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้อง
  2. ทำจริงในเรื่องการลงมือกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้บุคคลออทิสติกเติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต
  3. ทำต่อเนื่องยาวนานมากพอ กล่าวคือ มีความจำเป็นต้องทำซ้ำ ๆ เรื่องการกระตุ้นพัฒนาการและการปรับพฤติกรรม ต้องใช้เวลาในการสอนหรือฝึกฝนให้ลูกหลานพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และการสอนซ้ำ ๆ การให้เวลาต่อลูกหลานที่มีอาการในการเรียนรู้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ใจเย็น แม้จะเป็นเหมือนภารกิจเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เมื่อถึงยอดเขานั้นแล้ว เราจะพบความชื่นใจและภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของการเป็นครอบครัวบุคคลออทิสติก

คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ

5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

บทความที่น่าสนใจในวันนี้ ขอนำเสนอในหัวข้อ 5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก โดยครูนิ่ม บ้านอุ่นรักค่ะ

หลายต่อหลายครั้ง ที่รู้สึกเหมือนโชคชะตาไม่เป็นใจ หรือรู้สึกเหมือนกำลังโดนฟ้า หรือใครกลั่นเกล้งเราอยู่ เราก็อาจจะยังไม่รู้สึกเสียใจ ท้อแท้ใจ ห่อเหี่ยวใจ มากไปกว่า วินาทีที่เราได้รับการยืนยัน หรือทราบข่าวแน่ชัดแล้วว่า ลูกรักของเรามีอาการผิดปกติทางด้านพัฒนาการ หรือเป็นโรคออทิสติก

บ้านอุ่นรักและครูนิ่มเอง จากประสบการณ์ที่ดูแลพบปะกับเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมาตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี เราเข้าใจในจุดๆนี้ ของคุณพ่อคุณแม่ดีค่ะ ว่าการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากกับความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

แต่ครูนิ่มขอบอกเลยนะคะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเราจะโศกเศร้าเสียใจ หรือตีโดยตีพายขนาดไหนก็ตาม สิ่งๆ นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ค่ะ แต่ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีอยู่ นั่นก็คือ เราสามารถเตรียมตัวและรับมือ กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ค่ะ

1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง  ไม่โทษตนเองหรือโชคชะตาที่ลูกเป็นโรคนี้  เปิดใจยอมรับธรรมชาติที่ลูกเป็น ลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เรารัก ลูกของเราไม่ใช่เด็กที่บุบสลาย และยังคงมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเหมือน ๆ กับเด็กทุกคน เพียงแต่เป็นเด็กที่มีวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง  การสอนและเลี้ยงดูลูกออทิสติกนั้นอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรืออาจใช้เวลามากกว่าในระยะแรก  ดังนั้นรีบเริ่มต้นเรียนรู้ให้เร็วว่า  เราจะเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้อย่างไร แล้วทำทุกวันให้ดีที่สุด พร้อม ๆ ไปกับการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขให้ได้ ด้วยทัศนคติทางบวกเช่นนี้ พ่อแม่จะมีพลังกายและใจในการนำพาลูกสู่เส้นทางการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพอย่างแน่นอน

2. ปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัด หาความรู้เรื่องแนวทางการบำบัด ทำความเข้าใจเรื่องอาการของลูก และเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง  คู่ขนานไปกับการบำบัดรักษาจากนักบำบัดมืออาชีพ ซึ่งการเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก โดยรับคำแนะนำจากแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ที่สถาบันที่เกี่ยวข้องกับโรคออทิสติก รวมทั้งทีมบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้จัดทำโปรแกรมเผยแพร่ความรู้ไว้หลายรูปแบบเพื่อเป็นเครื่องมือนำทางให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง  หากพ่อแม่สืบค้นก็จะพบคอร์สต่าง ๆ ที่น่าเรียนรู้เพื่อบำบัดรักษาอาการของลูกเองที่บ้าน และนี่ก็คือก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำพาพ่อแม่สู่การเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้ในที่สุดซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการรอรับบริการจากภายนอก เพียงทางเดียว ซึ่งทางบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้มีบริการจัดอบรมคอร์สต่างๆ เหล่านี้โดยครูนิ่มด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจก็ติดต่อกับทางบ้านอุ่นรักเข้ามาได้ค่ะ

3. ปรับเปลี่ยนสมาชิกในบ้านให้เป็นทีมบำบัด จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าการกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมลูกออทิสติกนั้นต้องทำให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการเกิดในชีวิตจริงที่บ้าน และทำอย่างต่อเนื่องใช้เวลาที่ยาวนานมากพอ สมาชิกทุกคนในบ้านจึงเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่า Keyman  หากพ่อแม่ พี่น้อง และสมาชิกในบ้านแทคทีมจับมือกันเป็นทีมบำบัด และจัดแบ่งหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมให้ลูกออทิสติก โดยพุดคุยตกลงกันว่าใครสามารถทำสิ่งใดได้ ในเวลาใด เช่น แม่รับหน้าที่ฝึกลูกเรื่องทักษะการสานต่อการสนทนาและการทำกิจวัตรประจำวันเรื่องการตื่นนอน การทานอาหาร พ่อชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์นอกบ้าน พี่ชวนน้องออทิสติกเตะฟุตบอลหรือขี่จักรยานร่วมกันยามเย็น คุณยายช่วยฝึกหลานให้ช่วยเหลือตนเองในการอาบน้ำและแต่งกาย  ฯลฯ หากทุกคนร่วมมือกันลงมือทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีทิศทาง ในที่สุด ลูกออทิสติกจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของ (พวก) เราเอง

4. ปรับเปลี่ยนการจัดสรรเวลาเพื่อหาเวลาเฉพาะกันไว้ให้ลูก  เช่น พ่ออาจต้องตื่นให้เช้าขึ้นสักครึ่งชั่วโมงและก่อนพ่อออกไปทำงานในตอนเช้า จัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพูดคุยชวนลูกสบตาและสานต่อบทสนทนาระหว่างอาหารมื้อเช้า  แม่อาจลดภาระงานบ้านลงบางส่วนเพื่อจัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพาลูกเข้านอน เล่านิทาน ชวนลูกสรุปความจากนิทานที่ได้ฟังไป การจัดเวลาเฉพาะไว้ให้ลูกนี้ เราขอแนะนำว่าต้องใช้เวลาแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที ให้ได้วันละหลายๆรอบ  ดังนั้น แม้การทำแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่เสียเวลาส่วนตัวไปบ้าง แต่จะได้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กับลูกเพิ่มเติม การกันเวลาที่มีค่าเฉพาะไว้เพื่อลูกในทุก ๆ วันเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนของขวัญที่พ่อและแม่ได้มอบให้กับลูก และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมไปด้วยรักและอบอุ่นสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง

5. ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในแง่การทำใจยอมรับความช่วยเหลือยามจำเป็น  เราไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือพร้อมรับมือตลอดเวลา  โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูลูกที่ใช้พลังกาย ใจ  มากกว่าการเลี้ยงตามปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้า  ดังนั้นในบางเวลาเราจำเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง  พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์พ่อแม่ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองไปสียทั้งหมด ลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วจะพบคนที่ปรารถนาดีรอให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เขาทำได้อยู่รายรอบ เช่น คุณน้าข้างบ้านที่อาสาดูแลลูกให้เราสักครึ่งชั่วโมงในขณะที่เราไปซื้อของที่ตลาด เพื่อนของเราที่จะช่วยดูแลลูกในขณะวันที่เราไม่สบาย เพื่อนของพ่อที่เป็นเพื่อนเล่นฟุตบอลกับลูกของเราพร้อม ๆ ไปกับลูกของเขา เป็นต้น เพียงเรายอมรับว่าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ เราเปิดใจให้ลูกได้เป็นตกเป็นสมบัติสาธารณะตามควรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุด เพื่อนบ้านของเรา เพื่อนของเรา ญาติพี่น้องของลูก หรือแม้แต่พี่พนักงานขายของที่ร้านสะดวกซื้อ จะเปิดใจรับลูก ทำความรู้จักกับลูก มองเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของลูก และอ้าแขนรอกอดลูกออทิสติกผู้น่ารักของเรา

ครูนิ่ม และพวกเราชาวบ้านอุ่นรักทุกคน จะยืนอยู่ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งกำลังใจ มีรอยยิ้ม  อ้อมกอดที่จริงใจ  และพร้อมจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ในเรื่องที่เราทำได้ค่ะ

ความในใจของครูปั่น ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก กับประสบการณ์ 13 ปี ที่บ้านอุ่นรัก

ความในใจของครูปั่น ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก กับประสบการณ์ 13 ปี ที่บ้านอุ่นรัก

ความในใจของครูปั่น ??(คุณเปรมวดี ธรรมสา ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักธนบุรี อายุงาน 13 ปี)

เราลองนึกย้อนวันเวลากลับไปที่จุดเริ่มต้น ก็นึกแปลกใจว่าอะไรที่ดลใจให้เราอยากมาทำงานที่บ้านอุ่นรักธนบุรีในวันนั้น

???????

ที่จริง ในตอนนั้น เราเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่อยากหางานพิเศษทำเพื่อลดภาระที่บ้าน เราแค่เดินไปที่บอร์ดของมหาวิทยาลัยที่ติดประกาศรับสมัครงานและเจอข้อความเปิดรับสมัครงานครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่บ้านอุ่นรักธนบุรีนี้

??ในวันที่เข้ามาสัมภาษณ์งาน พี่นายถามเราว่าเรารู้จักเด็กพิเศษมั้ย เราก็ตอบไปว่าเราเคยได้ยินคำนี้แต่ไม่รู้ว่าน้อง ๆ เด็กพิเศษเป็นเด็กที่มีอาการอย่างไร พี่นายอธิบายถึงเรื่องเด็กพิเศษให้ฟังคร่าว ๆ และตั้งโจทย์ให้เรากลับไปคิดและให้เขียนแผนการสอนมาส่งว่าถ้าเราได้เป็นครูของเด็กพิเศษเราจะมีวิธีการสอนน้อง ๆ กลุ่มนี้อย่างไร

??จากแผนการสอนที่ลองเขียน พี่นายให้โอกาสเราเข้ามาทำงานที่นี่ ซึ่งในวันแรก ๆ เราจับต้นชนปลายไม่ถูก งง เพราะไม่รู้อะไรเลย จึงได้แต่เรียนรู้งาน ตามดู และทำตามพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ร่วมงาน เค้าให้ทำอะไร เราก็ทำ ซึ่งในช่วงแรก ๆ เราทำงานนี้ไปตามหน้าที่ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้คิดอะไรจริงจังหรือลึกซึ้งในเรื่องงานนี้มากนัก แต่ยิ่งทำก็ยิ่งพบว่าเราชอบทำงานนี้ เราเป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษที่ดีได้ การทำงานนี้ ยิ่งทำยิ่งได้รับมิตรภาพจากทุกคนที่เป็นพี่และเพื่อนร่วมงาน จากเด็ก ๆ และจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

??????

ในส่วนของการเรียนรู้งาน ครูรุ่นพี่ไม่เคยเร่งให้เราต้องเป็นงาน แต่พี่ ๆ จะค่อย ๆ สอน ให้เวลาเราได้เรียนรู้ ลองคิดและลองทำ จนตอนนี้ เราไม่รู้ว่าคำที่เราเคยบอกว่าเราแค่ทำงานตามหน้าที่มันหายไปไหนและหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ?? มารู้ตัวอีกที เรากลายเป็นครูปั่นที่ทำงานด้วยใจ ทำเพราะรักที่จะทำ ทำงานนี้ด้วยความรู้สึกหวังดีที่มีให้กับเด็ก ๆ และพ่อแม่ผู้ปกครอง มารู้ตัวอีกที เรากับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ครูบ้านอุ่นรัก ก็ได้นั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องการเรียนการสอนเด็ก ๆ น้อง ๆ ในทุก ๆ เย็น

มารู้ตัวอีกที เราในตอนนี้กลายเป็นครูที่คิดและวางแผนว่าเราจะสอนน้อง ๆ เด็ก ๆ ให้รู้เรื่องโน้นนี้นั้นได้อย่างไร มารู้ตัวอีกที เรากลายเป็นครูปั่นที่คาดหวังว่าน้อง ๆ เด็ก ๆ จะทำเรื่องนั้นนี้โน้นได้ในสักวัน

วันแล้ววันเล่าที่ได้เป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความสุข ความทุกข์ การทำถูก และการทำเรื่องผิดพลาด

ครูปั่นมีทั้งช่วงเวลาที่สุขภาพแข็งแรงดีและสุขภาพพัง
เวลาร่างพัง ครูก็กลายเป็นคนไข้ที่เดินเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล หมดหวังและท้อใจ
แต่วันแล้ววันเล่าที่รู้สึกหมดหวังและท้อใจ พี่ ๆ เพื่อน ๆ เด็ก ๆ และครอบครัวของเด็ก ๆ ได้หยิบยื่นมิตรภาพ ความจริงใจ และความหวังดีมาให้ ไม่ต่างจากที่เราเคยได้รับในวันแรก และมีแต่เพิ่มพูนมากขึ้นในทุก ๆ วัน ??

บ้านอุ่นรักนี้จึงเป็นที่ ๆ ทำให้เราผ่านพ้นความเจ็บปวดหลาย ๆ เรื่องมาได้

เป็นที่ ๆ เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้สัมผัสเด็กที่เราไม่เคยรู้จัก ได้ขัดเกลาตัวเอง ได้รับโอกาส และเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนที่อยากมอบและส่งต่อโอกาสแบบนี้ไปให้คนอื่น ๆ ในโอกาสต่อ ๆ ไปบ้าง

ความในใจ ❤ ที่เราอยากบอกในวันนี้ คือ อยากบอกพี่ ๆ เพื่อน ๆ เด็ก ๆ และครอบครัวของเด็ก ๆ ว่าครูปั่นมีความสุขที่ได้เป็นครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ครูขอขอบคุณ และตั้งใจจะทำงานนี้ให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน เพื่อตอบแทนพระคุณของทุก ๆ ท่านค่ะ?

โทรเลย