by admin | Video, บทความบ้านอุ่นรัก |
EP 6: กิจกรรมเคาะจังหวะ
สำหรับการทำกิจกรรมเคาะจังหวะนี้ เราต้องให้เด็กนั่งเก้าอี้ตรงกันข้ามกับผู้สอน ให้เด็กถือเครื่องเคาะทีละชิ้น และฝึกเคาะ เขย่า บีบ ประกอบเสียงเพลงที่ผู้สอนร้องให้เป็นจังหวะ อย่างไรก็ตาม เราควรมีการสลับเครื่องเคาะ 2-3 อย่างต่อการฝึก แต่ก็ไม่ควรสลับเครื่องเคาะมากชิ้นจนเกินไป
เมื่อได้ชม EP 6 นี้ เราก็จะได้เกร็ดความรู้หลาย ๆ อย่าง เช่น
…ในช่วงแรก ๆ ของการฝึก เราอาจต้องจับมือเด็กเพื่อหัดให้เด็กถือเครื่องเคาะ และอาจปล่อยให้เด็กได้เคาะ ตี เขย่า เครื่องเล่นแบบต่าง ๆ ตามใจชอบบ้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความสนุก
…ในขณะเคาะจังหวะ ผู้สอนต้องกระตุ้นเรียกชื่อเด็กเป็นระยะ ๆ ตลอดจนมีการออกเสียงเรียกชื่ออุปกรณ์ และยื่นอุปกรณ์หรือเครื่องเคาะให้เด็กทีละอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เด็กพยายามออกเสียงตามในการเรียกชื่อเครื่องดนตรีด้วย
…การสลับหรือแลกอุปกรณ์เครื่องเคาะ จะแลกกับผู้สอนหรือแลกกับเพื่อนที่เรียนอยู่ด้วยกันในกลุ่มก็ได้
…ผู้สอนพยายามยกอุปกรณ์การสอนให้อยู่ในระดับสายตาและเรียกชื่อเด็กเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นการสบตาและกระตุ้นความสนใจของเด็ก
การทำกิจกรรมพื่อพัฒนาทักษะให้กับเด็ก ๆ ขอให้เราเน้นการฝึกฝนที่สม่ำเสมอเป็นสำคัญด้วยนะคะ
มาชม EP 6 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=Zl10KuZdoiw
บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
Credit ภาพ: | Hatice Yardim | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก |
EP 5: ใช้เวลาร่วมกับลูกในการกดคีย์บอร์ดกันค่ะ
เราชมวีดีโอชุดนี้ถึง EP 5 “กิจกรรมกดคีย์บอร์ด” กันแล้วนะคะ ในตอนนี้ บ้านอุ่นรักขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองช่วยเช็คอีกรอบว่าเราได้ติดสติ๊กเกอร์ชื่อตัวโน้ตบนแป้นคีย์บอร์ดกันเรียบร้อยแล้วหรือยัง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราจะมาเรียนรู้วิธีสอนลูกกดคีย์บอร์ดกันได้เลยค่ะ
วิธีการสอนโดยสรุป คือ
การเตรียมความพร้อมเรื่องการออกเสียง (โด เร มี ฟา ซอล) ทำได้ด้วยการชวนลูกออกเสียงของตัวโน้ต ออกทั้งเสียงยาว ๆ และสั้น ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับตัวโน้ตก่อนเริ่มกดคีย์บอร์ด
การนั่งของลูกและเรา ลูกนั่งบนเก้าอี้ ลูกหันหน้าเข้าหาคีย์บอร์ด ส่วนเราซึ่งเป็นผู้สอนนั่งด้านขวามือของลูก
ตำแหน่งการวางมือของลูกสำหรับกดคีย์บอร์ด คือ นิ้วโป้ง-โด | นิ้วชี้-เร | นิ้วกลาง-มี | นิ้วนาง-ฟา | นิ้วก้อย-ซอล
การกดตัวโน้ต ในช่วงแรก ๆ ให้กดตัวโน้ตทีละตัวและกดแค่ 3 ตัวโน้ต คือ โด เร มี ไปก่อน กดซ้ำสัก 4 ครั้ง กดไล่ขึ้นลง (โด เร มี : มี เร โด) จนกว่าลูกจะทำได้คล่องและทำได้เอง จากนั้น ค่อยเพิ่มการกดตัวโน๊ตอีก 2 ตัว คือ ฟาและซอล
การเพิ่มทักษะการออกเสียง ระหว่างกดตัวโน้ต เราสามารถเพิ่มทักษะการออกเสียงให้ลูกด้วยการให้ลูกออกเสียงตามตัวโน้ต กระตุ้นให้ลูกออกเสียงและพูดในทุก ๆ ครั้งที่กดตัวโน้ต และในขณะกดคีย์บอร์ด เรากระตุ้นเรียกชื่อลูกเป็นระยะ ๆ ให้โต้ตอบและออกเสียงตัวโน้ต
การจับนำให้ทำและการให้ลูกกดแป้นเองตามใจ ในระยะแรก ๆ เราอาจต้องจับนิ้วของลูกเพื่อกดตัวโน้ตไปก่อน หมั่นสอนลูกจนกว่าลูกจะทำได้เอง ทั้งนี้ ในการฝึก 2-3 ครั้งแรก เราอาจให้ลูกกดตัวโน้ตตามใจได้บ้างเพื่อสร้างความรู้สึกดีที่ลูกจะมีต่อการฝึกในครั้งต่อ ๆ ไป
การจัดการลูกที่อยู่ไม่นิ่งหรือวุ่นวายกับอุปกรณ์ เรานั่งชิดกับลูก ใช้แขนซ้ายโอบตัวลูกไว้ จับมือซ้ายของลูกวางแนบขาซ้ายของลูก ส่วนมือขวาของเรา จับนิ้วมือขวาของลูกกดแป้นคีย์บอร์ด
ในระยะแรก ๆ ลูกอาจยังกดคีย์บอร์ดเองไม่ได้ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองก็จับนำให้ลูกทำอย่างสม่ำเสมอไปก่อนนะคะ ซึ่งบ้านอุ่นรักเชื่อมั่นว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จะค่อย ๆ ช่วยลูก ๆ ให้ทำกิจกรรมนี้ได้อย่างคืบหน้าและสนุกสนาน และในที่สุด พัฒนาการที่คืบหน้าของลูกจะนำความภาคภูมิและความสุขใจมาสู่เราทุกคนได้ค่ะ
มาชม EP 5 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=KCJrXbaRP2U
บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
Credit ภาพ: | Paige Cody | Unsplash
by admin | กำลังใจ, บทความบ้านอุ่นรัก |
ตอน: แนวทางที่ 11 ถึง 15 และสิ่งที่คุณแม่อยากบอกกับทุกบ้าน…
11: เลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่ออาการของลูกให้มากที่สุด จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบ (ปัจจุบันลูกทานอาหารได้ทุกอย่างแล้ว)
12: หาข้อมูลคนที่เป็นโรคนี้แต่สามารถสื่อสารได้แล้วว่าทำไมตอนเด็กเค้าถึงมีพฤติกรรมแปลก ๆ เพื่อให้เราเข้าใจเวลาลูกทำพฤติกรรมแปลก ๆ และจะถามลูกเสมอว่าอะไรคือเหตุผลที่เค้าทำ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด
13: พาลูกไปสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เค้า สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมที่ต้องตักเตือนมั๊ย ไม่ปล่อยพฤติกรรมผิดกาลเทศะให้ผ่านไป ต้องพยายามอธิบายซ้ำ ๆ หรือหาวิธีให้ลูกเข้าใจ (ลูกจะเข้าใจเมื่อลูกพร้อม)
14: ให้ลูกเล่นดนตรีและกีฬาที่เค้าสามารถเล่นได้
15: ศึกษาแนวทางรักษาลูกให้ดีขึ้นโดยไม่เป็นอันตราย เพราะเราเชื่อว่า การรักษาลูกไม่มีเส้นทางเดียว ถ้าทำทุกอย่างที่ทำได้ ลูกน่าจะดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย … อันนี้ตอบไม่ได้จริง ๆ ว่าลูกดีขึ้นด้วยสิ่งเหล่านี้มั๊ย แต่ตัดสินใจแล้วว่าจะทำทุกอย่าง และลูกก็ดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจจริง ๆ
สิ่งที่อยากบอกกับทุกบ้าน
- สำหรับตัวเอง ถือว่าเป็นความโชคดีมาก ๆ ที่ลูกได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านอุ่นรัก ที่บอกว่าโชคดี คงไม่ใช่แค่เพราะมีคุณครูที่คอยดูแลช่วยฝึกพัฒนาการให้ลูก แต่เพราะแม่เองก็ต้องการผู้นำทางที่แสนยากลำบากนี้เหมือนกัน ตลอดเวลา 8 ปีของการทำหน้าที่แม่โดยได้รับคำชี้แนะจากบ้านอุ่นรักส่งผลที่น่าชื่นใจคุ้มค่าเกินกว่าคำบรรยาย
- อยากให้กำลังใจกับทุกบ้านให้อดทนกับความเหนื่อยยากที่ต้องเจอ ตอนนี้ต้องถือว่าทุกบ้านได้เจอเส้นทางลัดที่บ้านอุ่นรักได้เตรียมให้จากประสบการณ์ที่บ้านอุ่นรักเก็บสะสมมาแล้ว ขอให้เชื่อมั่น และทำตาม เพื่อลูกของเรา
มาถึงตรงนี้ ท่านก็ได้อ่านแนวทางของคุณแม่ท่านนี้กันจนครบถ้วนแล้ว และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกและทุกครอบครัวต่อไป
ส่วนเรา เราจะอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองทุกท่านเสมอ ในกรณีที่ท่านมีคำถาม ข้อสงสัย หรือมีความกังวลใจ ท่านสามารถติดต่อเราได้ค่ะ
นอกจากนี้ เราจะทำสิ่งดี ๆ อย่างเต็มฝีมือในทุก ๆ วันในการขึ้นรูปพัฒนาการพื้นฐานสำคัญ ๆ ให้กับลูก ๆ ของท่าน พร้อม ๆ ไปกับการขึ้นรูปข้อมูลและความรู้ให้กับท่าน เพื่อท่านสามารถสานต่อ ดูแล และเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้ต่อไป
สู้นะคะ ในเมื่อคุณแม่ท่านนี้ทำได้สำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และทีมครอบครัวของทุกบ้านโปรดมั่นใจว่า “ท่านก็สามารถทำเช่นนี้ได้เหมือนกันค่ะ”
เครดิตข้อความ: คุณแม่ท่านหนึ่งของนักเรียนของเรา
by admin | กำลังใจ, บทความบ้านอุ่นรัก |
ตอน: แนวทางที่ 6 ถึง 10 ที่คุณแม่ใช้…
6: สื่อสารกับคนในบ้านให้เข้าใจว่าต้องดูแลลูกยังไงตามแนวทางที่เราต้องการ (จากประสบการณ์ ไม่มีใครทำได้อย่างที่เราต้องการ ต้องยอมรับความจริงว่าทุกคนในบ้านมีข้อจำกัด ทุกคนในบ้านรักลูกเรา และทุกคนทำดีที่สุดในส่วนของตัวเองแล้ว)
7: การแสดงความรักกับลูกมาก ๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ลูกพร้อม จากแววตาที่เฉยเมย การสนใจแต่วัตถุ แสงเงา ความเงียบของลูกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แววตาของลูก การแสดงความรักของลูก ลูกเลียนแบบทุกอย่างที่เราเคยทำกับเค้า
8: คอยสังเกตลูกว่ามีเรื่องอะไรต้องช่วยบ้าง (เปรียบเทียบกับพัฒนาการและความสามารถของเด็กทั่วไปตามวัย) และหาวิธีแก้ไขสิ่งนั้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนลูกค่อย ๆ ชินและสามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น การเหยียบหญ้า กระโดดขาเดียว ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ใช้ตะเกียบ ฯลฯ ไม่ว่าลูกจะมีปัญหาเรื่องไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีเราอยู่ข้าง ๆ ลูก คอยให้กำลังใจและพร้อมช่วยลูกเสมอ
9: การทำงานเป็นทีมของครอบครัวสำคัญมาก จากประสบการณ์ตัวเอง แม่ต้องทำหน้าที่คิดว่าจะดูแลลูกอย่างไร นำคำแนะนำที่ได้มาปรับใช้กับลูกอย่างไร ต้องหาหมอที่ไหน ต้องฝึกลูกที่ไหน จัดตารางกิจกรรมลูก หา ร.ร. ให้ลูกยังไง เลือกครูให้ลูกยังไง ต้องจัดการเรื่องที่ ร.ร. เวลามีปัญหายังไง เมื่อแม่วางแผนแล้ว จะขอให้คนในครอบครัวช่วยทำให้ทุกอย่างสำเร็จตามที่ต้องการ
10: หาตัวช่วยจากคุณพ่อคุณแม่ผู้มีประสบการณ์จริงและลูกโตกว่าลูกเรา ศึกษาเพื่อให้รู้สถานการณ์ล่วงหน้าว่าเราจะเจออะไรในอนาคต สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวให้ลูกในแต่ละช่วง แต่ละวัย เก็บรายละเอียด และเอามาวางแผนในการพัฒนาลูก
…ในตอนถัดไป เราจะมาพบกับแนวทางที่ 11-15 ของคุณแม่ท่านนี้กันต่อ จากนั้น ค่อยจบท้ายบทความเรื่องนี้กันที่ “สิ่งที่…คุณแม่ท่านนี้…อยากบอกกับทุกบ้าน” ค่ะ โปรดติดตามอ่านไปด้วยกันกับเรานะคะ
เครดิตข้อความ: คุณแม่ท่านหนึ่งของนักเรียนของเรา
by admin | กำลังใจ, บทความบ้านอุ่นรัก |
ตอน: แนวทางที่ 1 ถึง 5 ของคุณแม่ท่านนี้…
1: อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เยอะมาก มีข้อมูลบอกว่า สมองของลูกจะพัฒนาสูงสุดตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี แปลว่าเวลาทองของลูกมีถึงแค่ 7 ขวบ เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เค้าโตขึ้นทุกวัน ๆ จะอยู่เฉย ๆ ปล่อยเวลาแต่ละวันผ่านไปไม่ได้ เพราะเรามีชีวิตลูกเป็นเดิมพัน หลายครั้งที่เหนื่อย ท้อ แต่เมื่อคิดว่าในวันที่เราไม่อยู่แล้วลูกจะเป็นอย่างไร จะช่วยเหลือตัวเองได้มั๊ย จะอยู่ในสังคมได้มั๊ย สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ยอมแพ้ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเค้าให้ได้มากที่สุด
2: หาหมอพัฒนาการเด็ก (เพื่อความมั่นใจ ต้องปรึกษาหมอพร้อมกัน 2-3 คน) แต่การหาหมอพัฒนาการหลายคน ทำให้เหนื่อยและเครียด รวมถึงตัวเองไม่สามารถทำได้ทั้งหมดตามที่หมอแนะนำ สุดท้ายตัดสินใจเลือกหมอเหลือคนเดียว ผลที่ได้คือ ทั้งบ้านเหนื่อยน้อยลง สามารถ Focus กับสิ่งที่หมอแนะนำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน ยังคงพบหมอพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เรารู้ว่าจะฝึกลูกเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอย่างไร
3: พาลูกตระเวนฝึกปรับพฤติกรรมทุกวัน โดยมีบ้านอุ่นรักเป็นหลัก และตาม ร.พ. ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลบ้าน พยายามเรียนรู้หลักการฝึกทั้งฝึกพฤติกรรมและฝึกพูด แล้วนำมาปรับใช้กับกิจกรรมที่อยู่กับลูกในชีวิตประจำวัน การฝึกตามทฤษฎีอาจจะไม่ใช่ทางสำหรับบ้านเรา เพราะทำให้เรายึดติดและคาดหวังกับลูกมากเกินไป เกิดภาวะเครียดในบ้าน สุดท้ายเราใช้ใจตัวเองเป็นหลักในการอยู่กับลูก ไม่ได้สนใจว่าเป็นวิธีอะไร แต่ใช้ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง ผลที่ได้คือ เราอยู่กับลูก เล่นกับลูกได้อย่างมีความสุข ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น (ยอมรับ แต่ไม่ปล่อยผ่าน เก็บไว้ในใจว่ามีอะไรต้องแก้ไข เมื่อมีโอกาส จะนำไปปรึกษาบ้านอุ่นรักหรือหมอว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร) ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ฝึกแก้ไขปัญหา
4: ตอนลูกยังเล็ก เราไม่เคยปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ต้องมีคนในบ้านอยู่เล่นกับลูกเสมอ (แปลว่าลูกได้รับการดึงออกจากโลกของตัวเองตลอดเวลา) จะต้องมีคนอ่านหนังสือ เล่นของเล่นกับลูก โดยงดเปิดทีวี/เล่นมือถือ จนเมื่อลูกโตพอรู้เรื่องแล้ว การดูทีวีและเล่นเกมส์จะให้เป็นเวลา (ปัจจุบันลูกสามารถมีเวลาของตัวเอง ดูทีวี และเล่นเกมส์ได้เหมือนเด็กทั่วไป)
5: ทำตัวให้พูดมากเวลาอยู่กับลูก คอยอธิบายสิ่งรอบตัวลูก เพิ่มคำศัพท์ให้ลูก
… คุณแม่ท่านนี้ยังมีแนวทางที่ 6-15 ในการช่วยพัฒนาลูกมาบอกกันต่อในลำดับถัด ๆ ไป โปรดติดตามอ่านกันให้ได้นะคะ…
เครดิตข้อความ: คุณแม่ท่านหนึ่งของนักเรียนของเรา