การเลี้ยงดูให้ลูกรับรู้ความรัก คู่กับการฝึกให้ลูกมีวินัยตามวัย | บ้านอุ่นรัก

การเลี้ยงดูให้ลูกรับรู้ความรัก คู่กับการฝึกให้ลูกมีวินัยตามวัย | บ้านอุ่นรัก

  1. แสดงความรักผ่านคำพูดเชิงบวก แววตาที่เมตตา และสัมผัสด้วยรัก
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ทิ้งร่องรอยและไม่ทำร้ายอารมณ์ของลูก
  3. ใช้เหตุผลด้วยท่าทีหนักแน่นจริงจัง
  4. เคารพตัวตนของลูกด้วยการให้โอกาสลูกได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึก
  5. ให้ความสนใจและแรงเสริมต่อพฤติกรรมที่เหมาะสม
  6. ตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ปล่อยผ่าน
  7. ปฎิบัติตนให้ดูเป็นแบบอย่าง ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้เลี้ยงดูจำเป็นต้องระวังคำพูดและการกระทำของตนเอง

เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลและนำทางลูกด้วยความเมตตาและหนักแน่น ลูกก็จะรับรู้ว่าตนนั้นเป็นที่รัก ตลอดจนมีโอกาสได้เรียนรู้ที่จะฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นคนที่มีวินัยตามวัยได้ต่อไป

ดูแลหัวใจลูกเมื่อถูกบูลลี่ | บ้านอุ่นรัก

ดูแลหัวใจลูกเมื่อถูกบูลลี่ | บ้านอุ่นรัก

ลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า หรือแม้แต่ลูก ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกบางประการไม่ว่าจะเป็นลักษณะเด่นหรือด้อยที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น ความสูง  สีผิว รูปร่าง หน้าตา ทรงผม น้ำเสียง บุคลิกภาพที่แตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกที่เรียบร้อย เด็กเนิร์ด ลูกที่เรียนอ่อน ลูกที่เรียนเก่ง ลูกที่เงียบขรึม ลูกที่ชอบโวยวาย ลูกที่เป็นเด็กที่ครูกล่าวถึงบ่อย ๆ  ลูกที่เข้ากับกลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่ไม่ได้และมีแนวโน้มที่จะแยกตัวหรือไปจับกลุ่มกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ และหากเป็นเด็กผู้ชาย ก็อาจต้องไปรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่ยอมรับลูกเข้ากลุ่ม ลักษณะต่าง ๆ ของลูก ๆ ดังที่กล่าวมา จึงเป็นประเด็นที่เพื่อนอาจหยิบยกมาล้อเลียนลูกได้

สำหรับลูกที่ถูกบูลลี่ ถูกล้อเลียน ถูกตัดสิน หรือถูกแกล้ง ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะขอเน้นประเด็นต่าง ๆ ที่พ่อแม่และผู้ปกครองพอจะช่วยลูกได้ ดังนี้ คือ

  • ไม่เติมเชื้อไฟไปในจิตใจของลูก (และเรา) ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เราจำเป็นต้องตั้งสติ รับรู้ ย้อนคิดถึงเราในวัยเด็กว่าในช่วงประถมจนกระทั่งถึงมัธยม การบูลลี่ในกลุ่มเพื่อน ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งนี้เพราะช่วงวัยนั้นเป็นช่วงวัยที่เด็กพร้อมจะล้อเล่นกัน แซวกันได้ทุกเรื่อง และมักทำทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ไปบูลลี่เด็กคนอื่นจะเป็นเด็กที่มีจิตใจเลวร้ายเสมอไป
  • เมื่อเราตั้งสติได้แล้ว เราควรกระตุ้นให้ลูกได้พูดระบายความรู้สึกออกมาว่าลูกรู้สึกอย่างไรและลูกเจอกับสถานการณ์ใดบ้าง โดยเราจะรับฟังลูกอย่างไม่รีบตัดบท ไม่รีบสอนให้ลูกแข็งแกร่ง และไม่รีบปลอบใจ
  • เราจะกล่าวให้ลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรและลูกต้องเผชิญกับอะไร การที่เราทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกเกิดความอบอุ่นใจว่าเราเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดกับลูกเป็นเรื่องสำคัญของลูกและเรื่องที่ลูกเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องเล็ก (เพราะบางครั้ง ในสายตาของผู้ใหญ่อาจมองว่าเรื่องการบูลลี่ในกลุ่มเพื่อนเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเด็ก เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เพราะเด็กต้องการ ๆ ยอมรับจากเพื่อน เมื่อไม่ได้รับการยอมรับแต่กลับถูกกลั่นแกล้ง จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและกระทบจิตใจของเด็กมากพอสมควร)
  • ย้ำให้ลูกรู้ว่าลูกสามารถสื่อสารกับเพื่อนได้อย่างสุภาพว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ลูกไม่ชอบ
  • สร้างความเข้าใจกับลูกว่าสิ่งที่เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ บูลลี่ ล้อเลียน ตัดสิน หรือนำมาเป็นประเด็นเพื่อกลั่นแกล้ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้ ลูกมีคุณค่าในตัวเองในแบบที่ลูกเป็น และในสายตาของพ่อแม่ รวมทั้งคนรอบข้างของลูก ลูกมีค่ามากพอ
  • ถ้าสถานการณ์ยังคงอยู่ยาวนาน ลูกสามารถขอความช่วยเหลือจากครู หรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ได้เสมอ
  • ในระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามชี้ให้ลูกรับรู้จุดเด่นของตนเองในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจและปลูกฝังทัศนคติทางบวกที่ถูกต้องให้ลูกรู้ว่าคนทุกคนต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน และคุณค่าของคนแต่ละคนขึ้นอยู่กับมุมมองของคน ๆ นั้น ซึ่งบางครั้งแม้แต่ตัวลูกเองก็ยังมองเห็นสิ่งนั้นต่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คนรอบข้าง หรือเพื่อน ๆ ดังนั้น ลูกจึงไม่สามารถใช้คำพูดของผู้อื่นมาตัดสินคุณค่าของตัวเองและคนอื่น
  • พ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยผ่อนคลายความรู้สึกของลูกได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือต้องถือเป็นข้อดีที่ลูกได้เผชิญความกดดันในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถตามไปพิทักษ์ปกป้องทุกข์สุขในชีวิตของลูกได้ทั้งหมด การเกิดแบบฝึกหัดบางอย่างในชีวิตของลูกในขณะที่พ่อแม่ยังอยู่เคียงข้างจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ให้ข้อคิดและแนวทางเรื่องการใช้ชีวิต ตลอดจนการหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสมร่วมกัน ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรปรับมุมมองว่าอุปสรรคที่ลูกพบเจอเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่มีค่าที่จะช่วยให้จิตใจของลูกได้ผ่านแรงเสียดทานต่าง ๆ ในชีวิตจนแข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับได้

แม้เราทำได้เพียงการดูแลความรู้สึกของลูกแค่ครึ่งเดียวเมื่อลูกถูกบูลลี่ แต่การดูแลหัวใจของลูกนี้จะช่วยให้ลูกรับรู้ความรักที่พ่อแม่ผู้ปกครองมอบให้ อีกทั้งลูกได้เรียนรู้คุณค่าของตนเองไปพร้อม ๆ กับการสร้างเสริมกำลังใจอันจะก่อให้ลูกเกิดความมั่นใจว่าลูกยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองและคนรอบข้างที่รักและเข้าใจลูกด้วยความจริงใจ

ฟังในสิ่งที่เด็กพูด | บ้านอุ่นรัก

ฟังในสิ่งที่เด็กพูด | บ้านอุ่นรัก

  • ให้ความสำคัญกับการฟังสิ่งที่เด็กพูดและพยายามสื่อออกมาให้มากขึ้น
  • ฟังเด็กด้วยดี โดยเฉพาะในเหตุการณ์พิเศษ เช่น เด็กทำของเสียหาย เด็กอาละวาด เด็กร้องไห้เสียใจ ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์แรกที่เด็กประสบ หรือจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • รับฟังอย่างแท้จริงให้ดีก่อน โดยไม่รีบตัดบท ไม่รีบพูดแทรก ไม่มองหาจังหวะจับผิด ไม่รีบสั่งสอน
  • จับสัญญานจากนัยและภาษาท่าทางที่เด็กพยายามสื่อ เพื่อทำความเข้าใจ และตอบรับความรู้สึกของเด็กให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์พิเศษที่ใหม่สำหรับประสบการณ์ของเด็ก

Photo Credit: Unsplash | Emiliano Vittoriosi

ให้โอกาสเด็กที่ทำพลาด | บ้านอุ่นรัก

ให้โอกาสเด็กที่ทำพลาด | บ้านอุ่นรัก

  • แม้เด็กทำพลาด แต่เรายังชื่นชมในความพยายามของเด็กได้
  • ให้คำแนะนำ แทนการตำหนิ ไม่ตอกย้ำความผิดพลาด แต่แนะนำเพื่อครั้งต่อไป
  • ให้กำลังใจ ติดตามดูต่อไป
  • สร้างทัศนคติว่าทุกคนทำผิดได้ แต่ต้องร่วมรับผิดชอบ
  • เมื่อผิดพลาด สามารถแก้ไขใหม่ได้เสมอ
  • มองเหตุการณ์ตามมาตรฐานของเด็กและให้อภัย เพราะเด็กขาดประสบการณ์จึงทำผิดได้
  • ไม่กล่าวโทษ หรือทำโทษในความผิดที่เด็กไม่ได้ตั้งใจ

Photo credit: Unsplash | Lucas Metz 

คุยกับลูกวัยรุ่น | บ้านอุ่นรัก

คุยกับลูกวัยรุ่น | บ้านอุ่นรัก

ถ้าคุณคือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่น แต่ไม่ค่อยได้ชวนลูกพูดคุย เพราะรู้สึกว่าลูกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ลูกชอบอยู่ในโลกส่วนตัว  ลูกไม่ชอบแบ่งปันเรื่องราวใด ๆ กับพ่อและแม่ หรือแม้จะได้คุยกัน ก็จะคุยกันแบบไม่ค่อยเข้าใจ เพราะลูกและคุณสนใจเรื่องราวที่แสนจะแตกต่างกัน…ถ้านี่คือคุณ…ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” มั่นใจว่าบทความนี้คือบทความที่คุณต้องอ่าน

อันที่จริง ก็จริงอยู่ว่าสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ค่อยได้คุยกับลูกวัยรุ่น หากจู่ ๆ จะชวนลูกคุย ก็คงดูแปลก ๆ และทำได้ค่อนข้างยาก…แต่เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด และการได้พูดคุยกันก็เป็นพื้นฐานของการสร้างและสานความรักและความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและลูก ดังนั้น แม้การชวนลูกวัยรุ่นคุยจะทำได้ยากเย็นแค่ไหน ก็คุ้มค่าที่เราทุกคนต้องพยายาม

เทคนิคการคุยกับลูกวัยรุ่น

  1. สร้างความเคยชิน

เพื่อให้ลูกเกิดความเคยชินที่จะคุยกับเรา เราต้องเป็นคนเริ่มต้นพูดคุยกับลูกให้ได้ทุกวัน ๆ ละ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย โดยต้องเลือกหัวข้อการพูดคุยให้ถูกต้องและเหมาะสมกับความสนใจของลูก เพื่อไม่ให้ลูกผละจากไปทันที

  1. เรื่องที่จะคุย

ในระยะแรก ๆ ของการชวนลูกวัยรุ่นคุย เราต้องเน้นการชวนคุยในเรื่องที่ลูกไม่ต้องระวังตัว เช่น เรื่องทั่ว ๆ ไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง เรื่องที่ไม่ลงลึก เรื่องที่อยู่ในกระแสแต่ไม่จำเป็นต้องมีสาระจริงจัง คุยเรื่องไกลตัว เรื่องการเดินทาง ซีรีย์ที่ลูกชอบดู หนังสือที่ลูกชอบอ่าน เกมส์และกีฬาที่ลูกชอบเล่น หรืออาหารที่ลูกชอบทำ จากนั้น เมื่อลูกเริ่มรู้สึกสบายใจและเคยชินเวลาที่คุยกับเรา ลูกจะค่อย ๆ หลุดไหลพูดคุยกับเราถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เจาะลึก เฉพาะเจาะจง และเกี่ยวข้องกับชีวิตของลูกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน อัตลักษณ์และตัวตนของลูก ข้อสงสัยเรื่องความรักและความรู้สึก หรือแม้แต่เรื่องที่ลูกหนักใจและมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน

  1. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

ในการพูดคุยกับลูก เราจะไม่เน้นการสอน ไม่พูดตัดบท ไม่พูดปลอบใจในทันที แต่จะเน้นการจับความรู้สึกว่าลูกรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และลูกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาอะไร แล้วตอบรับให้ลูกรับรู้ให้ได้ว่าเราเข้าใจทั้งความรู้สึกและสถานการณ์ที่ลูกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตามที

ตามที่เกริ่นไปแล้วว่า ในขณะที่คุยกับลูก เราต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกและหาวิธีนำทางให้ลูกรู้จักสะท้อนและจัดการความรู้สึกของตนเองให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยพูดให้ข้อคิดหรือแนวทางที่จะช่วยให้ลูกเข้าใจประเด็นว่าลูกจะสามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร ส่วนการสอนลูก เราค่อยสอนหลังจากลูกเปิดใจรับฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของเราได้อย่างสงบ ทั้งนี้เพื่อลูกไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านความเห็นของพ่อแม่ในแบบที่ลูกวัยรุ่นทั่วไปมักจะทำ

การที่เราใส่ใจ รับฟัง ทำความเข้าใจ สนใจ และเห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกกำลังพูดให้เราฟัง ตลอดจนการแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าเรายินดีที่ได้รับฟัง  ยินดีที่จะช่วยสนับสนุน อยู่ข้างๆ เพื่อช่วยให้ข้อคิดเห็น หรือคำแนะนำที่ช่วยนำทางลูกได้ จะทำให้ลูกเคยชินและไว้ใจที่จะพูดคุยกับเรามากยิ่ง ๆ ขึ้น และลูกจะเปิดใจ แบ่งปันความรู้สึก และอยากเล่าเรื่องราวทุกข์สุขให้เราฟังด้วยความสบายใจ ดังนั้น ในยามที่ลูกมีปัญหา พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะกลายเป็นคนแรก ๆ ที่ลูกกล้าพูดเพื่อขอความช่วยเหลือ

…เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด ดังนั้น การชวนลูกวัยรุ่นคุย แม้อาจดูยาก แต่คุ้มค่าและเราต้องพยายามทำ