5 เคล็ดลับการสอนเด็กออทิสติกให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่ดอกเตอร์ แบร์รี เอ็ม. พริแซนต์กล่าวไว้ในคลิปนี้ มีอะไรบ้างนะ เรามาพบคำตอบจากการชมคลิปความรู้นี้ไปด้วยกันค่ะ
Clip Credit:
• Barry M. Prizant, Ph.D., CCC-SLP. Director: Childhood Communication Services Adjunct Professor: Center for the Study of Human Development
• Simon & Schuster Books
—————
โดยสรุปจากคลิปนี้ ดอกเตอร์ แบร์รี เอ็ม. พริแซนต์ กล่าวถึงวิธีการสอนเด็กออทิสติกของคุณครูว่า “วิธีสอนเด็กออทิสติกที่คุณครูทำมีอยู่หลายวิธีที่ถูกต้อง และในบางกรณี เมื่อครูนำวิธีเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะรับประกันได้ว่าการสอนเด็กออทิสติกให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จะประสบผลสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยมอย่างแท้จริง”
—————
1. ใช้รูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับเด็กออทิสติก เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด
2. ให้โอกาสเด็กได้แสดงออกซึ่งความสามารถและศักยภาพในตัวตามที่เด็กมีอยู่
3. พูดคุยและแสดงทีท่ากับเด็กออทิสติกแบบให้เกียรติกันและกัน
4. ช่วยเด็กให้รู้ว่าจะเกิดอะไรในลำดับต่อไป
5. ให้การยอมรับว่าเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของชุมชน (โรงเรียน)
มาเริ่มกันที่ เคล็ดลับที่ 1 กันก่อนเลยค่ะ
#1. ใช้รูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับเด็กออทิสติก เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด
เรื่องวิธีการสอน ครูมีวิธีสอนเด็กให้เรียนรู้หลายแบบ ทั้งนี้ เพราะครูเข้าใจว่าเด็ก ๆ เองก็มีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันนั่นเอง
สำหรับเด็กออทิสติกนั้น เด็กจะเรียนรู้ได้ไม่ดีนัก ถ้าเด็กต้องใช้เวลาในการเรียนเรื่องนั้น ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ โดยที่ครูใช้การพูดและการบรรยายเป็นวิธีหลักในการสอน
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว เด็กออทิสติกจะเรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น หากได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ หรือ “การเรียนรู้ผ่านรูปแบบหลายมิติ (Multimodal Fashion)” กล่าวคือ เด็กได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัส ผสมผสานกับการได้มองเห็น ได้มีประสบการณ์ และได้ลงมือทำ ไม่ใช่เพียงแต่เรียนรู้ผ่านการฟังและประมวลผลสิ่งที่ครูบรรยายหรือสอนแต่เพียงรูปแบบเดียว
จากเคล็ดลับข้อที่ 1 เรื่องการใช้รูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับเด็กออทิสติกเพื่อทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดนั้น ที่ผ่านมา คุณครูที่เคยเข้าอบรมในหลักสูตร “การออกแบบการสอนเพื่อเด็กออทิสติกและเด็กที่เรียนรู้ช้า” ที่ทีมงานศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักได้จัดการอบรมมาทุกปี คงจะได้เข้าใจแนวทางการออกแบบการสอนตลอดจนได้ลงมือปฏิบัติจริงมาแล้ว
และเมื่อได้ลงมือทำ คุณครูจะได้สัมผัสกับความสุขและความมหัศจรรย์ใจที่คุณครูสามารถหาวิธีแก้ปัญหาจนลูกศิษย์เรียนรู้ในเรื่องยาก ๆ ได้ และหลังจากเปิดประตูการเรียนรู้บานแรกได้แล้ว หลังจากนั้น การสอนและการเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทั้งคุณครูและนักเรียนออทิสติก
ทีมบ้านอุ่นรักขอยืนยันจากการที่ได้ลงมือปฏิบัติงานจริงมาตลอด 26 ปี จากการที่เราได้ลงสนามการเรียนรู้แบบไม่ถอยร่วมกับลูก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยมัธยม จนพวกเราค้นพบและแน่ใจแล้วว่า “ถ้าเราให้โอกาสและพยายามคิดค้นหาและใช้วิธีการสอนได้อย่างเหมาะสม เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ทุกอย่างที่เราต้องการส่งมอบความรู้ให้กับเค้าได้จริง ๆ และหลังจากเด็ก ๆ เริ่มสนใจเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้น เขาจะเรียนรู้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ”
มาเปิดใจทั้งดวง ให้โอกาสและลงมือทำ มานำทางเด็ก ๆ ด้วยกันอย่างจริงจังค่ะ
#2. ให้โอกาสเด็กได้แสดงออกซึ่งความสามารถและศักยภาพในตัวตามที่เด็กมีอยู่
—————
ครูผู้สอนต้องให้เด็กออทิสติกได้แสดงออกซึ่งศักยภาพที่มีอยู่ ดอกเตอร์ แบร์รี เอ็ม. พริแซนต์ ได้ยกตัวอย่างว่ามีครูสอนดนตรีท่านหนึ่งที่ไม่เคยเข้าฝึกอบรมพิเศษใด ๆ เรื่องวิธีสอนเด็กออทิสติก แต่ครูท่านนี้มีเด็กออทิสติกเรียนร่วมในชั้นเรียน และในการเรียนการสอนของครู ท่านต้องทำให้มั่นใจเสมอว่าเด็ก ๆ ทุกคนจะได้เข้ากลุ่มและร่วมทำสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กทำได้ดี
—————
จากการส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนได้ทำสิ่งที่ตนเองถนัดและทำได้ดีนี้ ครูพบว่ามีเด็กนักเรียนออทิสติกคนหนึ่งของเขามีระดับเสียงที่ดีเยี่ยมและร้องเพลงได้ไพเราะ ครูก็ต่อยอดความสามารถของเด็กด้วยการลงมือสอนเด็กคนนั้นเรื่องการขับร้องอย่างจริง ๆ จัง ๆ ต่อไป
—————
#3. พูดคุยและแสดงทีท่ากับเด็กออทิสติกแบบให้เกียรติกันและกัน
—————
ในกรณีที่ครูรู้ว่าเด็กมีปัญหาหรือความบกพร่อง ครูจะไม่พูดถึงเด็กในแง่ลบต่อหน้าเด็กคนอื่น ๆ ในชั้นเรียน ทั้งนี้เพราะ ที่จริงแล้ว เด็กออทิสติกเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่เราคิดว่าพวกเขาเข้าใจ
—————
บางครั้งอาจดูเหมือนว่าเด็กมองไปทางอื่น ไม่สนใจเรา หรือไม่ทีทีท่าว่าจะเข้าใจเรื่องที่เราพูด แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับกลายเป็นว่า เด็กกำลังคิดประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ที่ตนเองได้รับอยู่ต่างหาก ดังนั้น การพูดคุยและแสดงท่าทีให้เกียรติเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญมากอีกประการหนึ่งที่ต้องทำ
—————
#4. ช่วยบอกให้เด็กได้รู้ว่าจะเกิดอะไรในลำดับถัดไป
—————
การบอกให้เด็กออทิสติกรู้และคาดคะเนได้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อได้ทำ เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
—————
สำหรับเคล็ดลับข้อนี้ ดอกเตอร์ แบร์รี เอ็ม. พริแซนต์ กล่าวว่ามีงานเขียนหลายเรื่องที่ระบุว่าเมื่อบุคคลออทิสติกคาดคะเนหรือได้รู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในลำดับถัดไป นั่นจะช่วยพวกเขาได้เป็นอย่างมาก และแม้แต่เรา ๆ ซึ่งเป็นคนปกติ การได้รู้ล่วงหน้าก่อนเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตก็ช่วยเราได้มากเหมือนกัน
—————
#5. ให้การยอมรับว่าเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของชุมชน (โรงเรียน)
—————
เรื่องเด็กออทิสติกนี้ ไม่ได้มีแต่ครูผู้สอนเท่านั้นที่จะช่วยเด็กได้ ทั้งนี้ ดอกเตอร์ แบร์รี เอ็ม. พริแซนต์ กล่าวว่า หากผู้บริหารของสถานศึกษา (ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่หรือครูผู้ช่วยฝ่ายปกครอง) ให้การยอมรับว่าเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของโรงเรียน ตลอดจนมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกับเด็กแบบให้เกียรติกันและกัน การแสดงออกเช่นนี้จะ
(1) กลายเป็นต้นแบบการปฏิบัติสำหรับครูท่านอื่น ๆ
(2) ช่วยทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนของคนที่มีความรัก ความใส่ใจ และเข้าใจกันและกัน และ
(3) ช่วยให้ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ออทิสติก รู้สึกดีที่ลูก ๆ ของพวกเขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมและชุมชนที่ยอมรับว่าลูก ๆ ของพวกเขาเป็นเด็กที่มีคุณค่าได้อีกด้วย
—————
เราหวังว่าเคล็ดลับต่าง ๆ ที่เรานำมาแชร์จะมีประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคุณครู ตลอดจนผู้ที่สนใจทุกท่าน
—————
อ่านข้อมูล ความรู้ และบทความต่าง ๆ แล้ว เรามาลงมือทำกันอย่างต่อเนื่องและจริงจังกันนะคะ เพื่อลูก ๆ และลูกศิษย์ของพวกเราจะได้เติบโตและมีพัฒนาการที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นทุก ๆ วันค่ะ