ทฤษฏี ABA (Applied Behavior Analysis หรือการวิเคราะห์พฤติกรรมประยุกต์) กับการปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก/เด็กสมาธิสั้น

———-
ในปัจจุบัน มีการนำทฤษฎีหลายทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาเด็กออทิสติก/เด็กสมาธิสั้น และประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต้องวางแผนในการบำบัดรักษาเด็กสองกลุ่มนี้ คือ ต้องมีการปรับพฤติกรรมของเด็ก ๆ เพื่อลดข้อจำกัดที่กำลังขัดขวางการดำรงชีวิตตามปกติสุขและปิดกั้นการเรียนรู้ของพวกเขา ซึ่งหากจะให้เกิดผลดี เราอาจจะต้องนำแนวทางการปรับพฤติกรรมจากหลาย ๆ ทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกันอย่างมีศาสตร์และศิลป์
———-
ในตอนนี้ จะกล่าวถึงทฤษฏี ABA (Applied Behavior Analysis) หรือ ทฤษฏีการวิเคราะห์พฤติกรรมประยุกต์ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยอิแวน โลวาส (Ivan Lovass) และได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในแง่การปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก/เด็กสมาธิสั้น 
———-
ทฤษฎี ABA เชื่อว่า “พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการวิเคราะห์กระบวนการที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะเป็นรายบุคคลว่าในกระบวนการเกิดพฤติกรรมจะมีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีสิ่งเร้ามากระทบทำให้เกิดพฤติกรรม และมีแรงเสริมบางอย่างที่จะมีผลให้พฤติกรรมนั้น ๆ เกิดเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงในอนาคต จากนั้น จะนำผลการวิเคราะห์ที่ได้ มาวางแผนและปรับกระบวนการทางพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อปรับลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือเพิ่มพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์” 
———-
เพื่อให้เพื่อน ๆ เห็นภาพการประยุกต์ใช้ทฤษฎี ABA ในทางปฏิบัติได้ชัดเจนขึ้น เราจึงนำตัวอย่างการจำลองภาพการปรับพฤติกรรมแบบ ABA (หนึ่งเหตุการณ์ แต่ดำเนินเรื่องในสองลักษณะ) มาให้เพื่อน ๆ รับชมตามคลิปนี้ 
———-

———-
Changing Behavior – Autism Therapy Video
วีดีโอแสดงตัวอย่างแนวทางการปรับพฤติกรรมแบบ ABA 
———-
เหตุการณ์แบบที่ 1:
-> เด็กใช้คอมพิวเตอร์อยู่ 
-> ครูเดินมาบอกว่าหมดเวลาการใช้คอมพิวเตอร์แล้ว 
-> เด็กโวยวายตะโกนยืนกรานว่าตนเองต้องได้ใช้คอมพิวเตอร์ต่อ 
-> ครูอนุโลมให้เด็กนักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์ต่อไปอีกห้านาที

#แรงเสริม คือ ครูยอมอนุโลมให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เด็กต้องการ ทั้ง ๆ ที่หมดเวลาแล้ว
———-
คำถาม: 
จากแรงเสริมที่ครูยอมอนุโลมให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ต่อทั้ง ๆ ที่หมดเวลาแล้วนั้น คุณคิดว่า ในอนาคต แนวโน้มที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมตะโกนโวยวายยืนกรานว่าตนต้องได้ทำตามที่ตนต้องการจะเป็นเช่นไร (#เพิ่มขึ้นหรือลดลง
———-
คำตอบ: 
เด็กมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ต่อไป (หากเด็กอยากได้อะไรก็จะตะโกนโวยวายยืนกรานที่จะทำตามที่ตนต้องการ) และมีพฤติกรรมรูปแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ หากถูกขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
———-
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เดียวกันนี้อาจต่างออกไปได้ คือ
———-
เหตุการณ์แบบที่ 2:
-> เด็กใช้คอมพิวเตอร์อยู่ 
-> ครูเดินมาบอกว่าหมดเวลาการใช้คอมพิวเตอร์แล้ว 
-> เด็กโวยวายตะโกนตอบยืนกรานว่าตนเองต้องการใช้คอมพิวเตอร์ต่อ 
-> ครูพูดย้ำว่าหมดเวลาแล้ว ครูปิดคอมพิวเตอร์ ครูไม่ยอมให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์อีกต่อไป

#แรงเสริม คือ ครูพูดย้ำว่าหมดเวลาแล้ว ครูปิดคอมพิวเตอร์ ครูไม่ยอมให้เด็กได้ใช้คอมพิวเตอร์ต่อตามที่เด็กต้องการ
———-
คำถาม: 
จากแรงเสริมที่ครูไม่ยอมให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ต่อเพราะหมดเวลาแล้วนั้น คุณคิดว่า ในอนาคต แนวโน้มที่เด็กจะมีพฤติกรรมตะโกนโวยวายยืนกรานว่าตนต้องได้ทำตามที่ตนต้องการจะเป็นเช่นไร (#เพิ่มขึ้นหรือลดลง) 
———-
คำตอบ: 
เด็กมีแนวโน้มที่จะลดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นี้ลง เพราะทำแล้วก็ไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ (มีพฤติกรรมตะโกนโวยวายยืนกรานว่าตนต้องได้ทำตามที่ตนต้องการลดลง)
———-

จากคลิปตัวอย่างในวันนี้เรื่องการใช้ทฤษฏี ABA ในการปรับพฤติกรรมเด็ก เราหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้เห็นภาพเรื่องการให้แรงเสริมในรูปแบบที่ต่างกันอันจะส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดพฤติกรรมหนึ่ง ๆ ของเด็ก ๆ ได้ชัดเจนขึ้น 
———-
จริง ๆ แล้ว การเลี้ยงลูกออทิสติก/ลูกที่สมาธิสั้น ก็คือการที่เราเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเหมือนเด็กคนอื่น ๆ เราจึงสามารถใช้วิถีการเลี้ยงสามัญธรรมดา เพียงแต่ลูก ๆ สองกลุ่มนี้ของเราจะมีพฤติกรรมบางด้านที่เราจะต้องสังเกตเห็นและหาทางแก้ไขอย่างจริงจังมากกว่าการเลี้ยงลูกตามปกติ
———-
เราซึ่งเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัวของเด็กสามารถใช้สัญชาตญาณ ความรัก ความปรารถนาดีที่ตั้งอยู่บนขอบเขตที่เหมาะสมมาใช้ในการเลี้ยงลูกที่น่ารักคนนี้ได้อย่างดีอยู่แล้ว 
———-
แต่ในบางกรณีที่เกิดการติดขัด คิดไม่ตก หรือแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูก ๆ ไม่ได้ เราอาจลองค้นคว้าเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาจากแนวทางทฤษฎีต่าง ๆ ที่มีคนเคยทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดผลสำเร็จมาประยุกต์ใช้ดูบ้าง ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยให้เราเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกได้อย่างมีทิศทางมากขึ้น และจะได้มีกำลังใจว่าจริง ๆ แล้วทุกปัญหาที่เกิดกับลูกมีทางออก 
———-
มีเด็กจำนวนมากเดินในเส้นทางนี้มาก่อนและมีคนพยายามคิดค้นแนวทางรอไว้ให้เราเรียนรู้อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องค้นคว้าและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างรอบคอบและจะต้องทำอย่างเกิดสมดุลตามแบบฉบับเฉพาะตัวของครอบครัวเราและเหมาะกับลูกของเรา
———-
ขอให้มีความมั่นใจและมีกำลังใจในการเลี้ยงลูกนะคะ
———-
Clip Credit: www.behaviorfrontiers.com