9 พฤติกรรมของลูกหลานที่ไม่ควรปล่อยผ่าน | บ้านอุ่นรัก

9 พฤติกรรมของลูกหลานที่ไม่ควรปล่อยผ่าน | บ้านอุ่นรัก

9 พฤติกรรมของลูกหลานที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

  1. พฤติกรรมต่อต้าน ไม่ร่วมมือในกิจกรรมที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน       ไม่ร่วมกิจกรรมที่จำเป็นทางสังคม
  2. พฤติกรรมทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง เช่น ตี หยิก กัด แย่งของ
  3. พฤติกรรมทำลายของ รวมถึงขว้างปาสิ่งของหรือเข้าไปวุ่นกับสิ่งของรอบตัวแบบไม่เหมาะสม
  4. อารมณ์กวัดแกว่ง รุนแรง ขัดใจไม่ได้ (ในเรื่องที่จำเป็น)
  5. การพึ่งพิงทางอารมณ์ ยึดติดคน ใกล้ชิดแบบไม่สมวัย
  6. หมกมุ่น ยึดติด สิ่งของจนขัดขวางการเรียนรู้ใหม่ ๆ หรือกระทบความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ
  7. พฤติกรรมรบกวนทางสังคม เช่น เข้าหาคนมากเกินควร เข้าไปจัดการ จัดสภาพการแต่งกาย      ความเป็นอยู่การเล่นของคนอื่น วุ่นกับสิ่งของคนอื่น แย่งของ ไม่แบ่งปันสิ่งที่เป็นส่วนรวม        ใช้สิ่งสาธารณะแบบไม่เหมาะสม
  8. ไม่ยอมรับกฎกติกาหรือข้อตกลงตามวัย
  9. ไม่เข้าใจมารยาทพื้นฐานตามวัย

Photo Credit: Allef Vinicius | Unsplash

ปัจจัยที่จะส่งผลให้การปรับพฤติกรรมประสบความสำเร็จ | บ้านอุ่นรัก

ปัจจัยที่จะส่งผลให้การปรับพฤติกรรมประสบความสำเร็จ | บ้านอุ่นรัก

การปรับพฤติกรรมของลูกหลานเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมบางอย่าง เรา “ปล่อยผ่านไม่ได้จริง ๆ” เช่น พฤติกรรมทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง หมกมุ่น ยึดติด หรือไม่เคารพกติกาหรือข้อตกลงที่เคยทำไว้ร่วมกัน เป็นต้น

การปรับพฤติกรรมของลูกหลานนั้น ขอเพียงเราได้รู้แนวทางและลงมือนำแนวทางที่รู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เราก็จะประสบความสำเร็จในการลงมือทำ

บ้านอุ่นรักหวังว่าแนวทางการปรับพฤติกรรมที่เราให้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และผู้ที่สนใจทุกท่าน ตลอดจนส่งผลดีต่อลูกหลานที่จะได้มีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดีขึ้นได้ในท้ายที่สุด

ทำอย่างไรให้เด็กอนุบาลในชั้นเรียนของครูมีทักษะทางสังคมมากขึ้น | บ้านอุ่นรัก

ทำอย่างไรให้เด็กอนุบาลในชั้นเรียนของครูมีทักษะทางสังคมมากขึ้น | บ้านอุ่นรัก

 

 

ชวนกันถาม ร่วมกันหาคำตอบ 

คำถามจากคุณครู 

เด็กนักเรียนอายุ 5 ขวบคนหนึ่งในชั้นเรียนอนุบาลของครู พูดสื่อสารได้ แต่พูดได้ไม่ดีเท่าเพื่อนในวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นักเรียนคนนี้ชอบที่จะซักถามครูว่านั่นสีอะไร นี่คืออะไร เป็นต้น 

เด็กนักเรียนคนนี้รู้เรื่องทุกอย่าง แต่ไม่เล่นและไม่เข้ากลุ่มเพื่อร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนนักเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกัน แม้ครูให้เพื่อนชวนเด็กเข้ากลุ่ม แต่เด็กก็ยังไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ๆ แต่จะเดินเลี่ยงออกไปนั่งอยู่คนเดียวโดยไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ เลยค่ะ 

ครูต้องทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนคนนี้ที่เรียนในชั้นเรียนอนุบาลของครู มีทักษะทางสังคมมากขึ้นค่ะ

คำตอบ

เมื่อเด็กวัยอนุบาลยังยอมไม่เล่นกับเพื่อน ในทางพัฒนาการจะถือว่าเด็กมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของเด็กวัยอนุบาลนั้น เด็กอยู่ในวัยที่ต้องการเพื่อนและต้องการเข้ากลุ่มเป็นอย่างมาก หากเราไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ก่อนวัยประถม เด็กจะปรับตัวและเข้าสังคมยากขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนอื่น เรามาพิจารณาสาเหตุที่เด็กไม่เข้ากลุ่มกับเพื่อนกันก่อนว่าสาเหตุคืออะไร เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีแนวทางที่ถูกต้องต่อไป

โดยทั่วไป สาเหตุที่เด็กวัยอนุบาลไม่เข้ากลุ่มเพื่อน มี 2 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 เด็กปกติแต่ไม่มีทักษะทางสังคม เด็กจึงไม่รู้วิธีขอเข้ากลุ่ม ข้อสังเกตของเด็กกลุ่มนี้ คือ เด็กให้ความสนใจเพื่อน เด็กนั่งจับตามองไปยังจุดที่เพื่อน ๆ เล่นแบบนิ่ง ๆ นาน ๆ เด็กเข้าไปมอง เด็กเข้าไปดูใกล้ ๆ จุดที่เพื่อน ๆ เล่น แต่เราจะเห็นท่าทีรีรอของเด็กที่จะขอเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ หรือเมื่อเด็กเข้ากลุ่มไปเล่นกับเพื่อน ๆ แล้ว เด็กหลุดออกมาจากกลุ่มค่อนข้างเร็ว

ขั้นตอนหรือกระบวนการที่ครูจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ คือ

  1. ครูพาเด็กเข้ากลุ่มและสอนเด็กให้พูดประโยคที่เขาจะพาตัวเองเข้ากลุ่มได้เองในครั้งต่อไป เช่น เราขอเล่นด้วยคนนะ ขอเล่นด้วยคนได้มั๊ย เป็นต้น
  2. หลังการพาเด็กเข้ากลุ่ม ในระยะแรก ๆ ครูคอยจับตามองเด็กอยู่ห่าง ๆ และเมื่อครูพบว่าเด็กขาดทักษะใดในการร่วมกลุ่ม ครูค่อยเข้าแทรกไปสาธิตหรือบอกบทเป็นระยะ ๆ
  3. หากิจกรรมที่จะเชื่อมให้เด็กสนใจทำกิจกรรมนั้น ๆ ร่วมกันกับเพื่อน เช่น แบ่งบล็อกคนละกอง แต่ชวนมาประกอบด้วยกัน ให้เด็กจับคู่เล่นเกมส์บอร์ดด้วยกัน หรือให้เด็กจับคู่เล่นโยนรับลูกบอลด้วยกัน
  4. สร้างความคุ้นเคยที่เด็กจะได้อยู่ร่วมกับกับเพื่อน ๆ ผ่านกิจกรรมบ่อย ๆ เช่น มอบหมายให้เด็กจับคู่โยนรับบอลคู่ละ 20 ครั้งหรือให้เด็กจับคู่และช่วยกันกรอกน้ำลงขวด เป็นต้น
  5. จัดกิจกรรมบัดดี้ในห้องเรียนของเด็ก โดยจับกลุ่ม ๆ ละ 3 ถึง 4 คน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาในช่วงรอยต่อของวันร่วมกันหรือมีการสร้างสถานการณ์ให้เด็ก ๆ รู้ว่าพวกเขาจะต้องดูแลสมาชิกในกลุ่มเล็ก ๆ ของเขาเอง เช่น ดูแลและช่วยกันเก็บของใช้ ไปห้องน้ำพร้อมกัน เล่นมุมด้วยกัน ชวนเพื่อนพูดคุย หรือทานข้าวด้วยกันในกลุ่ม การจับกลุ่มนี้อาจให้เด็กจับกลุ่มกันเองตามสมัครใจและขอเพิ่มเด็กคนนี้เข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่ม โดยเลือกบัดดี้จากเด็กที่เราเห็นว่าเป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อน ให้คำแนะนำเพื่อนเป็น และรู้จักดูแลเพื่อน

ระดับที่ 2 เด็กมีปัญหาพัฒนาการ คือ เด็กที่เมื่อครูสังเกตทักษะการเข้าสังคมของเด็กซ้ำ ๆ ในหลาย ๆ เหตุการณ์ ครูพบภาพรวมว่าเด็กไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ากลุ่ม หรือไม่สนใจเพื่อน ๆ อย่างจริงจัง  เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางสังคมมักแยกตัวไปทำอะไรบางอย่างเพลิน ๆ อยู่ตามลำพัง หรือสนใจคนรอบข้างในระยะสั้น ๆ แบบแว่บ ๆ แต่ไม่สนใจอย่างจริงจัง

วิธีช่วยเด็กกลุ่มนี้ คือ ครูสรุปข้อมูลภาพรวมที่ได้จากการสังเกต เพื่อนำไปพูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครองในขั้นต้นว่าผู้ปกครองอาจต้องพาเด็กกลุ่มนี้ไปพบจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับการวินิจฉัยและขอคำแนะนำจากแพทย์ ก่อนที่จะหาทางเพิ่มทักษะทางสังคมให้เด็กตามแนวทางที่แพทย์หรือทีมบำบัดวางไว้ให้ต่อไป

พัฒนาการของเด็กวัยอนุบาลไม่ว่าจะเป็นด้านใด เช่น ภาษา สังคม พฤติกรรม หรืออารมณ์ มีความสำคัญมากเพราะเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่จะต่อยอดสู่พัฒนาการในลำดับถัด ๆ ไปของเด็ก หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูสงสัยหรือกังวลใจว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ การรีบพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็กหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเป็นการแก้ปัญหาอันดับแรกที่ถูกต้องและต้องทำค่ะ หากแพทย์วินิจฉัยและพบว่าเด็กมีพัฒนาการปกติ เราจะได้สบายใจ แต่หากพบปัญหา เราจะได้รีบหาทางแก้ไขให้ถูกทางค่ะ

บ้านอุ่นรักอยากให้ชวนกันถามมาเยอะ ๆ เพื่อเราร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ 

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่ต้องการคำปรึกษาหรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อ นัดหมายเข้ามาพบ หรือพาลูกมาประเมินเพื่อปรึกษาวางแนวการดูแลได้ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ

 

บ้านอุ่นรักกับหลักชัยในการเตรียมลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ให้พร้อม ก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล | บ้านอุ่นรัก

บ้านอุ่นรักกับหลักชัยในการเตรียมลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ให้พร้อม ก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล | บ้านอุ่นรัก

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูบางท่านตั้งคำถาม ๆ ครูบ้านอุ่นรักว่า “เรามีระบบการเตรียมความพร้อมให้ลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย อย่างไร ลูก ๆ ของเราจึงสามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลได้อย่างมีความหมาย”

บ้านอุ่นรักปักหลักชัยในการเตรียมความพร้อม 2 ระยะ คือ ก่อนและหลังส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล

ก่อนส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล

  • มีการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกให้ลูกวัย 2-6 ขวบแบบครบทุกด้านเพื่อแก้อาการเบื้องต้นที่ขัดขวางการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของลูก ๆ
  • ช่วยลูกเตรียมความพร้อมก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล
  • ให้ความสำคัญกับการประสานการเรียนร่วมกับโรงเรียนและคุณครูก่อนส่งลูกเข้าเรียนร่วม

หลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล

  • ติดตามและประเมินผลการเข้าเรียนร่วม
  • เป็นที่ปรึกษาให้กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ทีมบำบัด และโรงเรียนในการประเมินผลและปรับแผนการช่วยเหลือลูกให้สามารถเรียนร่วมในโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีความหมายที่แท้จริง

ระบบการเตรียมความพร้อมให้ลูกของบ้านอุ่นรักดังกล่าวข้างต้นแม้มีเพียง 2 ช่วง แต่เราจำต้องอาศัยระยะเวลาต่อเนื่องที่ยาวนานมากพอในการลงมือทำ ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้ลูก ๆ นี้มีแง่มุมต่าง ๆ ที่บ้านอุ่นรักลงมือทำและได้ผล และเราเชื่อว่าเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องที่เราลงมือทำ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองสามารถทำที่บ้านได้เองเช่นกัน ซึ่งเราจะทยอยนำข้อมูลต่าง ๆ มาเผยแพร่ผ่าน Website | Facebook | YouTube | คอร์สออนไลน์ ของเรา

เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ครอบครัวของลูก ๆ ตลอดจนคุณครูของเด็ก ๆ ติดตามและเรียนรู้ร่วมไปกับเรา เพื่อท้ายที่สุด พวกเราจะไปถึงหลักชัยที่แท้จริง คือ สามารถช่วยลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตในอนาคตได้ด้วยตนเอง

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษาหรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมินเพื่อปรึกษาวางแนวทางการดูแลได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ