by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
การปรับพฤติกรรมของลูกหลานเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมบางอย่าง เรา “ปล่อยผ่านไม่ได้จริง ๆ” เช่น พฤติกรรมทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง หมกมุ่น ยึดติด หรือไม่เคารพกติกาหรือข้อตกลงที่เคยทำไว้ร่วมกัน เป็นต้น
การปรับพฤติกรรมของลูกหลานนั้น ขอเพียงเราได้รู้แนวทางและลงมือนำแนวทางที่รู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เราก็จะประสบความสำเร็จในการลงมือทำ
บ้านอุ่นรักหวังว่าแนวทางการปรับพฤติกรรมที่เราให้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และผู้ที่สนใจทุกท่าน ตลอดจนส่งผลดีต่อลูกหลานที่จะได้มีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดีขึ้นได้ในท้ายที่สุด
by admin | บทความทั่วไป
เรื่องการบำบัดรักษาอาการลูกออทิสติกนั้น นอกจากการบำบัดรักษาจากผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง
แล้วคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้และ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการออทิสติกให้มากพอ
เมื่อมีความรู้เรา จะเกิดความมั่นใจ มีกำลังใจ ไม่กลัวในสิ่งที่เราจินตนาการเกินจริง
และเกิดความเชื่อมั่นว่าขอเพียงรู้แนวทาง ปัญหาอุปสรรคทุกอย่างแก้ไขได้ แน่นอนค่ะ
พวกเราชาวบ้านอุ่นรัก
มีความตั้งใจว่านอกจากงานกระตุ้นพัฒนาการเด็กๆในศูนย์ฯแล้ว พวกเราจะเป็นเพื่อนคู่คิด จัดหาให้ข้อมูลและข่าวสาร ในรูปแบบต่างๆ
ที่มีประโยชน์ต่อการช่วยลูก ๆ ออทิสติกของพ่อแม่ผู้ปกครองทุก ๆ บ้านค่ะ
วันนี้พวกเราพบบทความที่น่าสนใจเรื่อง “20
คำศัพท์ที่ต้องรู้เมื่อพูดถึงออทิสติก”
หรือ
“20 Words to Know When Discussing Autism (Vocab)”
ซึ่งโพสต์โดย We Rock the Spectrum Kid’s Gym ทีมงานบ้านอุ่นรักจึงแปลสรุปความมาแชร์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านไปด้วยกัน
ส่วนข้อมูลต้นฉบับ สามารถอ่านได้จากลิ้งค์ข้างล่างนี้นะคะ
(หมายเหตุ: We
Rock the Spectrum Kid’s Gym เป็นโรงยิมออกกำลังกายสำหรับเด็ก
ตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอมเริกา โรงยิมแห่งนี้ต้องการให้เด็ก ๆ ได้รับประโยชน์จากการใช้อุปกรณ์ประสาทสัมผัส
จึงมีการออกแบบอุปกรณ์เหล่านี้มาโดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านการประมวลผลทางประสาทสัมผัส)
20 คำศัพท์ที่ต้องรู้เกี่ยวกับอาการของลูกออทิสติก
1 Echolalia
คือ อาการที่ลูกเปล่งเสียงซ้ำ ๆ พูดคำซ้ำ ๆ
หรือพูดประโยคซ้ำ ๆ แต่การออกเสียง เอ่ยคำ หรือพูดวลีซ้ำ ๆ นั้น ลูกไม่ได้ใช้ในการสื่อความหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
หรือลูกไม่ได้ทำเพื่อแสดงออกในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ลูกคิด ลูกแค่เปล่งเสียงตามที่เคยรู้หรือได้ยินมา
หรือลูกเพียงพูดเลียนแบบ เช่น เมื่อเราตั้งคำถามให้ลูกตอบ ลูกก็จะพูดทวนคำถามที่ลูกได้ยิน
แต่ลูกจะไม่ตอบคำถามนั้น ๆ เป็นต้น
2 Scripting
เป็นอาการที่ลูกออทิสติกมักพูดคำซ้ำ ๆ หรือพูดประโยคเดิม
ๆ ลูกมีการออกเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ซ้ำไปซ้ำมา หรือลูกพูดตามถ้อยคำของคนอื่นที่ลูกได้เห็นหรือได้ยินมา
ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินมาจากการชมภาพยนต์ ได้ฟังมาจากคำพูดของคนอื่น หรือได้อ่านมาจากหนังสือเล่มโปรด
ทั้งนี้ บางครั้งเราจะพบว่ามีการใช้คำว่า Scripting
และ
Echolalia ในความหมายที่คล้าย ๆ กันในการพูดถึงโรคออทิซึมค่ะ
3 Perseveration
คือ อาการหรือพฤติกรรมที่ลูกติดอยู่ หรือยังคงเพียรพยายามทำซ้ำ
ๆ ต่อเนื่องอยู่ แม้สิ่งเร้าที่ทำให้ลูกเกิดอาการหรือแสดงพฤติกรรมนั้น ๆ ได้จบลงไปแล้วก็ตามที
อาการที่ลูกติดอยู่กับบางเรื่องบางอย่างนี้ ส่งผลให้ลูกไม่สามารถปรับใจหรือยากที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง
4 Applied Behavioral Analysis Therapy
เรียกย่อ ๆ ว่า ABA เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อนำผลที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาต่อไป
ทฤษฎีนี้ใช้หลักของการเรียนรู้ หลักการใช้แรงจูงใจ อันจะส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรม
ทั้งนี้ นักบำบัดหลาย ๆ ท่านได้ใช้ทฤษฎี ABA นี้ในการบำบัดรักษาลูก
ๆ ออทิสติก ในแง่การเพิ่มทักษะการสื่อสาร การเล่น การเข้าสังคม
การเรียนรู้ด้านวิชาการ หรือแม้แต่การดูแลช่วยเหลือตนด้วยค่ะ
5 504 Plan
หรือ แผน 504 เป็นแผนที่รับประกันว่านักเรียนผู้มีความบกพร่องหรือความพิการ
ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ
จะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกในการขอรับความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาเล่าเรียนจนกว่าจะเรียนจบ
ทั้งนี้ แผนนี้เป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยก็มีกฏหมายสำคัญ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันค่ะ
6 Individualized education program
เรียกย่อ ๆ ว่า IEP หรือแผนการศึกษารายบุคคล
แผนการศึกษาแบบนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ที่มีความต้องการพิเศษได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีรูปแบบสอนเฉพาะแบบที่เหมาะสมเฉพาะตนกับเด็ก
อีกทั้งเด็กต้องได้รับบริการที่เกี่ยวเนื่องในด้านต่าง ๆ อันจะส่งผลให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7 Transition
หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน
ที่เปลี่ยนผ่านจากสภาพแวดล้อมหรือกิจกรรมหนึ่งไปยังสภาพแวดล้อมหรือกิจกรรมอื่น สำหรับลูกออทิสติก
ก่อนการเปลี่ยนผ่านระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนที่เกี่ยวข้องควรบอกหรือเตือนให้ลูกรู้ล่วงหน้าก่อน
เพื่อลดความสับสน หรือความวิตกกังวลให้ลูก ๆ ค่ะ
8 Meltdown
เป็นอาการของลูกออทิสติกที่แสดงออกทางอารมณ์ ไม่ว่าจะแสดงออกมาอย่างเกรี้ยวกราดหรือทำแบบเงียบ
ๆ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นวิธีที่ลูกแสดงปฏิกริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ลูกรู้สึกว่าสับสนหรือมีตัวกระตุ้นที่ท่วมท้นมากมายจนเกินไปนั่นเอง
9 Stimulatory Behavior (Stimming)
หรือพฤติกรรมซ้ำ ๆ ของลูก ไม่ว่าจะเป็นการหมุนสิ่งของ
การเปล่งเสียงแบบเลียนแบบ การทำอากัปกริยาซ้ำไปซ้ำมา ทั้งนี้
การที่ลูกทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ
เพราะลูกใช้มันในการลดหรือบรรเทาความเครียดจากการที่ลูกได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้ารอบตัวที่มากจนเกินไปนั่นเอง
10 Visual Schedule
หรือตารางภาพกิจวัตรที่ช่วยให้ลูกออทิสติกรู้ลำดับของกิจวัตรหรือเรื่องที่ลูกต้องทำตามลำดับล่วงหน้าก่อน
ทั้งนี้ การที่ลูกได้รู้ลำดับของกิจวัตรที่จะเกิดตามลำดับจากการดูตารางภาพกิจวัตรจะเป็นตัวช่วยลดความสับสนและวิตกกังวลสำหรับลูกออทิสติกค่ะ
11 Elopement
หรือการแยกตัว
ทั้งนี้ลูกออทิสติกมักแยกตัวไปโดยไม่บอกกล่าว ไม่ขออนุญาตก่อนที่จะไป และไม่บอกว่าจะไปไหน
การแยกตัวในลักษณะนี้นับเป็นพฤติกรรมที่น่ากังวลและต้องหาทางป้องกันหรือแก้ไขค่ะ
12 Savant
หรือการเป็นผู้รู้ กล่าวคือ
ลูกออทิสติกมีลักษณะการเป็นผู้รู้นี้ ลูกจะมีความรู้อย่างละเอียดลออในเรื่องที่ลูกสนใจค่ะ
13 Splinter skill
หรือการที่มีลูกมีทั้งทักษะที่ดีและด้อยกว่าระดับปกติผสมผสานกันไป
กล่าวคือ ลูกออทิสติกจะมีทักษะบางอย่างที่ดีมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ลูกก็จะมีทักษะหรือความสามารถในเรื่องอื่น
ๆ ที่ด้อยกว่าคนอื่น ๆ ด้วยค่ะ
14 Sensory Processing Disorder
หรือ SPD เป็นความผิดปกติของระบบประมวลผลการรับสัมผัสทางประสาทสัมผัส
เมื่อสภาวะของระบบประสาทรับสัมผัส การประมวลผลการรับสัมผัสขาดประสิทธิภาพ
ลูกออทิสติกจึงตอบสนองต่อการรับสัมผัสนั้น ๆ แบบผิดปกติก เช่น ลูกออทิสติกที่มีการประมวลผลทางประสาทสัมผัสไวกว่าปกติ
จะรู้สึกไวเมื่อสัมผัสกับผิวของผ้าบางชนิดหรือลูกอาจรู้สึกไวต่อพื้นผิวของอาหารบางแบบที่ลูกสัมผัสเมื่อได้ทานเข้าไป
เป็นต้น
15 Vestibular System
หรือระบบการทรงตัว ตามปกตินั้น ระบบประสาทสัมผัสที่สมดุล
ทำให้เรามีการเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ ที่สอดประสานกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวนั้น ๆ แต่สำหรับลูกออทิสติกแล้ว ลูกจะมีปัญหาเรื่องการทรงตัว
การเคลื่อนไหวของลูกมักมีลักษณะไม่สมดุลและขาดการสอดประสานกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง ลูกจึงมีท่าเดินและจังหวะการเดินที่ผิดไปจากปกตินะคะ
16 Comorbidity
คือ ภาวะที่ลูกจะมีอาการของความเจ็บป่วยสองโรคคู่กันไป
เช่น ลูกจะเป็นโรคลมชักและโรคย้ำคิดย้ำทำคู่กันไป เป็นต้น
17 Joint Attention
เป็นสภาวะที่เรามีความสนใจร่วมกันกับคนอื่น ๆ เรื่องความสนใจร่วมกันนี้เป็นทักษะทางสังคมที่พัฒนาตั้งแต่ลูกยังเล็กค่ะ
ความสนใจร่วมกันนี้รวมความไปถึงการชี้ชวน แบ่งปันเรื่องที่สนใจ และการมองตามคนอื่น
ๆ ด้วย เช่น ในขณะที่เด็ก ๆ เล่นด้วยกันนั้น เด็ก ๆ มักชอบพูดว่า “ดูฉันสิ”
หรือชอบชี้ให้คนอื่นมองตามสิ่งที่เด็กเห็น
แต่ลูกออทิสติกจะมีความสนใจร่วมกันกับคนอื่นในระดับที่ต่ำมากจนกระทั่งถึงไม่มีความสนใจร่วมกับคนอื่นเลยค่ะ
18 Prosody
หรือจังหวะของเสียงที่เปล่งออกมาเป็นภาษาพูด
เวลาที่เราพูด เราจะมีระดับเสียงสูง-ต่ำตามการผันคำ
มีการกำหนดระดับเสียง มีการเน้นเสียง มีการเปลี่ยนเสียงสูง-ต่ำ
และมีท่วงทำนองของเสียงที่เราพูด แต่ลูกออทิสติกจะมีโทนเสียงที่ต่างจากปกติ
กล่าวคือ ลูกอาจพูดเสียงเดียวราบเรียบแบบไม่มีเสียงสูงหรือเสียงต่ำเลย หรือในอีกกรณีคือ
ลูกจะพูดเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เหมือนกำลังร้องเพลง เป็นต้นค่ะ
19 Discrete Trial
หรือการแยกย่อยส่วนงาน เป็นโครงสร้างของการสอนงานลูก
ๆ ออทิสติกที่มีการย่อยงานออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจงานที่ละส่วนได้โดยง่าย
งานแต่ละอย่างที่จะสอนให้ลูกทำ จะถูกแยกย่อยออกเป็นขั้นตอนจากต้นจนจบ การบำบัดแบบ ABA
ก็ใช้การย่อยงานในการบำบัดรักษาด้วยเช่นกันค่ะ
(สำหรับการย่อยงานนี้ บ้านอุ่นรักก็ใช้หลักการนี้ในการสอนลูก ๆ ออทิสติกเช่นกัน
แต่เราใช้คำว่า Task Analysis ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า
Discrete Trial นะคะ)
20 Cognitive Behavioral Therapy
หรือ CBT หรือการบำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดอันส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนตาม
การบำบัดแบบนี้เป็นรูปแบบจิตบำบัดที่จะเปลี่ยนชุดความคิดในทางลบที่บุคคลมีต่อตนเองและต่อโลก
กล่าวคือ เมื่อความคิดที่เรามีอยู่เปลี่ยนไป พฤติกรรมของเราที่จะแสดงออกก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
รูปแบบการบำบัดนี้ใช้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือบำบัดความผิดปกติทางอารมณ์
เช่น โรคซึมเศร้า ส่วนกรณีของลูกออทิสติกที่มีความวิตกกังวลสูงและมีภาวะซึมเศร้า พบว่า
การบำบัดแบบนี้ช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และบรรเทาความรู้สึกต่าง ๆ ทางลบได้ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและการรับรู้ที่ลูกมีต่อเรื่องต่าง
ๆ ค่ะ
(ข้อมูลเพิ่มเติมที่ทีมงานหามา พบว่าแนวทางในการบําบัดแบบ
CBT นี้ คือ ถ้าเราสามารถประเมิน (evaluate)
ความคิดให้ถูกต้อง
ตามความเป็นจริงหรืออยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ (realistic)
อาการเกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรมของเราก็จะดีขึ้น
ทั้งนี้ มีขั้นตอน คือ การทําให้เราเข้าใจก่อนว่าความคิดใดที่มีไม่สมเหตุสมผล
ไม่สมเหตุสมผลอย่างไร ให้เราประเมิณและแก้ไขความคิดให้ดีขึ้นต่อไป
– ที่มาของข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thaidepression.com/www/56/CBTdepression.pdf )
คำที่เกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกยังมีอีกมากมายค่ะ
ไว้เราจะทยอยลงในบทความอื่น ๆ ต่อไปนะคะ
ทีมงานบ้านอุ่นรัก ขอขอบพระคุณ
คุณจินตวีร์
สายแสงทอง
ผู้แปลและเรียบเรียงบทความนี้ มา ณ
ที่นี้ด้วยค่ะ
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
หากเราทำความเข้าใจอย่างแท้จริง และมีการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง อาการออทิสติก ไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด
หากมีความเข้าใจในโรคและอาการของโรคนี้มากเพียงพอ ก็จะสามารถรับมือและหาวิธีการอยู่ร่วม รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลปกติทั่วไปได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือ การค้นพบอาการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเริ่มต้นการบำบัดอาการให้ทุเลาลง ซึ่งวันนี้ บ้านอุ่นรัก ขอนำเสนอ 4 วิธีการง่ายๆ ในการตรวจเช็คเบื้องต้น สำหรับการสังเกตอาการและข้อบ่งชี้อาการออทิสติกของลูกน้อย โดยหากพบมากกว่า 2 ด้าน !!!!! ควรรีบไปปรึกษาแพทย์นะคะ
1. ความไม่สมวัยด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง
เลี่ยงการสบตา ไม่สนใจสานต่อปฎิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคล ทั้งกับบุคคลใกล้ชิด และเด็กวัยเดียวกัน มักจะแยกตัว ชอบเลี่ยงออกไปเล่นคนเดียวในแบบของตนเอง ขาดการชี้ชวนออดอ้อนพยักพเยิด ไม่สานต่อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางอารมณ์กับบุคลใกล้ชิด ไม่สนใจเลียนแบบท่าทาง การกระทำ หรือการพูดจากบุคคลรอบตัว
2. ภาษา/การสื่อความหมาย : ลักษณะการพูดและการสื่อความหมายไม่สมวัย
เริ่มพูดเพื่อสื่อความต้องการ ได้ช้ากว่าวัย (พูดช้ากว่า 2 ขวบ) สานต่อ การสนทนา ไม่ได้ การแสดงออกทางแววตา/สีหน้า/ท่าทาง สื่อความหมายได้จำกัด
3. พฤติกรรม
ติดรูปแบบในการดำรงชีวิต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง บางรายมีการเคลื่อนไหวอวัยวะซ้ำ (กระตุ้นระบบการรับสัมผัส) หมกมุ่นกับสิ่งของเฉพาะอย่างเป็นพิเศษ เล่นเป็นรูปแบบซ้ำๆ หรือมีวิธีเล่นเฉพาะตัว ขาดการเล่นแบบสำรวจทดลองหรือ ใช้จินตนาการ สนใจและตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างจำกัด ระดับการเคลื่อนไหวไม่สมดุล (ซนอยู่ไม่สุข/ เฉื่อย ไม่ชอบเคลื่อนไหว)
4. อารมณ์
ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงง่าย วิตกกังวลสูง อารมณ์กวัดแกว่ง หงุดหงิดรุนแรง เพราะการรับรู้ไว ตื่นตัวถูกรบกวนจากประสาทสัมผัส กลัว/เลี่ยงหนีหรือเข้าหา หมกมุ่นกับสิ่งเร้าบางอย่างเป็นพิเศษ
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ