จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 6) | บ้านอุ่นรัก

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 6) | บ้านอุ่นรัก

ตอน: ภาพตัวอย่างกิจกรรมฝึกคงสมาธิที่ “บ้านอุ่นรัก”

สำหรับตอนนี้ เราขอแชร์ภาพกิจกรรมฝึกคงสมาธิที่เด็กนักเรียนของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้ทำจริง ๆ ที่ “บ้านอุ่นรัก” มาให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เห็นเพื่อเป็นแนวทางค่ะ

 

 

สำหรับลูกที่มีอาการซน อยู่ไม่สุข ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าท่านช่วยลูกได้ ทั้งนี้ ขอให้เน้นที่การปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ 5 ประการ คือ (1) เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซนอยู่ไม่สุข (2) จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น (3) เริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก (4) ลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัว และ (5) แทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธิค่ะ

คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนที่บ้าน ค่อย ๆ นำทางลูกด้วยใจเบิกบานนะคะ เราทุกคนช่วยลูกได้และที่สำคัญ คือ “ลูกก็ทำได้ดี” ค่ะ ขอให้ตั้งใจทำ พยายามทำอย่างไม่ลดละ และทำสิ่งที่ดีเพื่อลูกทุก ๆ วัน ในอีกไม่ช้าไม่นาน ลูกจะเก่งกว่าที่เราเห็นในวันนี้อีกหลายเท่าค่ะ

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 5) | บ้านอุ่นรัก

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 5) | บ้านอุ่นรัก

ตอน: แทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธิ

การแทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธินับเป็นการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่อีกประการหนึ่งที่จะส่งผลให้ลูกที่เคยซน อยู่ไม่สุข วิ่งวุ่นไป ๆ มา ๆ ทั้งวันแบบไร้รูปแบบ ไร้ทิศทาง และขาดการคุมตน มีอาการดีขึ้นได้

เวลาอยู่กับลูก ๆ ที่บ้าน คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองควรเพิ่มโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่อาศัยการลงมือทำแบบรวดเดียวจบให้เหมาะสมตามวัย โดยการตั้งเป้าหมายสิ่งที่ลูกทำได้ตามวัยของลูกเป็นหลัก เช่น ลูกวัย 2 ขวบ เราตั้งเป้าให้ทำกิจกรรมคงสมาธิให้ได้ 5-7 ชิ้น ลูกวัย3 ขวบ 7-10 ชิ้น และลูกวัย 4 ขวบ 10-15-20 ชิ้น ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำแบบรวดเดียวจบ

นอกจากนั้น เราต้องเลือกแทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธิที่ใช้การลงมือทำที่เรามั่นใจว่าง่ายและลูกทำได้แน่ ๆ ไม่ใช่ลูกไม่ทำเพราะทำยากจนลูกไม่อยากทำ ซึ่งกิจกรรมที่เรามั่นใจว่าลูกทำได้แน่ ๆ ขอให้เน้นที่จำนวนชิ้นงานที่ลูกควรทำได้ต่อรอบ โดยกิจกรรมต้องหลากหลาย (ไม่ใช่เลือกเฉพาะกิจกรรมที่ลูกชอบทำ) เพื่อเราสามารถชักชวนและกระตุ้นให้ลูกร่วมทำกิจกรรมง่าย ๆ ที่ใช้การลงมือทำทีละ 5-7 ชิ้น ให้ได้สัก 10 อย่างสลับกันไปมาในแต่ละวัน

ตัวอย่างกิจกรรมฝึกคงสมาธิที่หลากหลาย เช่น หยอดกระปุกออมสิน ปักหมุดใหญ่ลงแท่น ต่อบล็อกขึ้นสูงด้านบน เสียบลูกปัดใหญ่ครอบลงบนตะเกียบ ใส่บล้อครูปทรงง่าย ๆ เช่น วงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ไม่มีเหลี่ยมมุมมากนัก เป็นต้น

การที่เราเลือกกิจกรรมที่ลูกจะทำได้แน่ ๆ เพราะเราต้องการตัดประเด็นว่าถ้ากิจกรรมยากเกินไป ลูกอาจหมดสนุกและละความสนใจกลางคัน

สำหรับการทำกิจกรรมในวันแรก ๆ คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองควรนั่งประกบ สังเกต ตลอดจนนับตามในใจว่าลูกทำกิจกรรมต่อเนื่องได้คราวละกี่ชิ้นก่อนที่ลูกจะหยุดหรือละความสนใจ ทั้งนี้ เพื่อประเมินฐานเดิมของช่วงการคงสมาธิของลูก เช่น ลูกอายุ 3 ขวบ ทำได้ทีละ  4 ชิ้นแล้วหยุด เราก็จะนำทางและกระตุ้นลูกด้วยการที่เราส่งหมุดต่อเนื่องให้ลูกปักหมุดจนครบ 10 ชิ้นต่อ ๆ กัน และพอลูกเริ่มกลับมาลงมือทำได้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง เราก็จะหยุดส่งหมุดให้ลูก แต่จะวางหมุดไว้ แล้วปล่อยให้ลูกทำต่อเอง โดยลดการช่วย ซึ่ง “บ้านอุ่นรัก” ขอเน้นว่าต้องทำแบบนี้บ่อย ๆ ทำทุกวัน ทำวันละหลาย ๆ รอบ ต้องเปลี่ยนกิจกรรมให้หลากหลาย และควรหากิจกรรมในบ้านที่มีอุปกรณ์อยู่แล้ว เช่น ตักข้าวสารใส่ถ้วยรอบละอย่างน้อย 10 ช้อน หยิบเมล็ดถั่วแดงใส่ขวด 10 เม็ด ระบายสีคราวละ 10 ทีแปรง (ไม่ใช่ระบายสีได้เพียง 3  เส้นแล้วหยุดทำ) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

กิจกรรมคงสมาธิที่เราให้เด็ก ๆ นักเรียนของเราทำจริงที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มีมากมายและหลากหลายกว่านี้ แต่ในที่นี้ เราหยิบยกมาเพียงบางอย่างที่เราเห็นว่าคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง และสมาชิกในบ้าน พอจะทำเองได้ที่บ้าน ทำได้จริง และทำแล้วได้ผลค่ะ

กิจกรรมที่เราให้เด็ก ๆ ทำ นอกจากจะสร้างความสนุกให้กับเด็ก ๆ และเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จักและลงมือทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว เรายังมีเป้าหมายในใจในการลดอาการที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความซน อยู่ไม่สุข เหม่อ ละความสนใจกลางคัน หรือสมาธิสั้น พร้อม ๆ ไปกับการสร้างเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็ก ๆ อย่างรอบด้านด้วยค่ะ

ขอให้ลองทำนะคะ และ “บ้านอุ่นรัก” ขอเป็นหน่วยสนับสนุนทั้งด้านข้อมูล คำแนะนำ และให้กำลังใจทุกบ้าน ในการนำทางลูกสู่ความสำเร็จสมดังเป้าหมายต่าง ๆ ที่ได้วางไว้ค่ะ

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 4) | บ้านอุ่นรัก

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 4) | บ้านอุ่นรัก

ตอน: ลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัว

เพื่อลดอาการซนอยู่ไม่สุข  เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญในการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่บางประการ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกการออกกำลังกาย การจัดสภาพการเคลื่อนไหว การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ การเริ่มสร้างกฎกติกาตามวัย และในตอนนี้ เราจะเน้นเรื่องการลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นภาวะตื่นตัว ซึ่งถือเป็นการจัดการสภาพทางร่างกายอีกทางหนึ่ง

กล่าวคือ เราต้องลดอาหารรสหวาน อาหารทีมีสารคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ หรืออาหารที่เราสังเกตว่าเมื่อลูกทานแล้ว ลูกตื่นตัว หรือลูกบางรายเกิดอาการแพ้ และทำให้ไม่สบายตัว

เรื่องที่เกี่ยวกับอาหารของลูกนี้ โดยเฉพาะบ้านที่มีสมาชิกหลายคน ช่วยกันดูแลและเลี้ยงดูลูก ยิ่งมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น

  • ต้องมีการส่งต่อข้อมูลเรื่องอาหารและขนมที่ลูกรับประทานให้ดี
  • ต้องหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เราต่างคนต่างให้ลูกทานขนมหรือของหวานมากเกินไปแบบไม่รู้ตัว
  • ถ้ามีขนม ของหวาน ไอศรีม นมรสหวาน น้ำหวาน และของหวานในตู้เย็น ยิ่งต้องระมัดระวังและช่วยกันจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้ลูกวิ่งเปิด-ปิดตู้เย็นทั้งวัน จนลูกมีภาวะตื่นตัวสูง

การลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัวของลูก ต้องทำควบคู่ไปกับการเน้นให้ลูกได้ทานอาหารมื้อหลัก ๆ ให้อิ่ม ส่วนการทานขนมหรือของหวาน ขอให้มีเพียงน้อยพอให้ลูกชื่นใจ และไม่ปล่อยให้ลูกทานได้ตามสบายแบบไร้ขีดจำกัด
หากเราสามารถลดขนมและของหวานที่ลูกทานลงได้มากกว่าครึ่งจากปัจจุบัน เราทุกคนที่บ้านจะพบผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจและชื่นใจว่าลูกจอมซนอยู่ไม่สุข ดูนิ่งมากขึ้น หุ่นดีขึ้น และมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 3) | บ้านอุ่นรัก

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 3) | บ้านอุ่นรัก

ตอน: จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น + เริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก

สำหรับอาการ “ซนอยู่ไม่สุข” แม้จะมีรายละเอียดของอาการบางประการที่ต่างจากอาการ “สมาธิสั้น” ที่ทำให้เราต้องแยกอาการสองอย่างนี้ออกจากกัน แต่การจับลูกซนอยู่ไม่สุขมาปรับพฤติกรรมโดยอาศัยการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประการที่ 2 และ 3 คือ (ประการที่ 2) มีการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น และ (ประการที่ 3) เริ่มสร้างกติกาบางอย่างตามวัย จะมีแนวคิดและการจัดการในลักษณะเดียวกันกับการรับมือลูกสมาธิสั้น

กล่าวคือ จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเพื่อตัดวงจรสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมวุ่นวาย หรือเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่าง เช่น การลดจำนวนของเล่นที่วางไว้ตามมุม เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะรื้อค้นจนของเล่นเกลื่อนกระจาย เล่นของเล่นเสร็จ ชวนลูกช่วยเก็บให้เรียบร้อย เมื่อทำแบบนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ลูกจะค่อย ๆ เคยชินและกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ลูกทำได้ด้วยตนเองต่อไป เก็บขวดแชมพู ขวดแป้ง ที่ลูกชอบเทเล่น หรือสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายไว้ในที่สูงจนพ้นมือลูก หรือย้ายโต๊ะ เก้าอี้ หรือโซฟา ออกจากจุดที่ลูกเคยชินที่จะกระโดดเล่นหรือปีนป่ายเป็นประจำออกไป เป็นต้น

ส่วนการเริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก ก็จะช่วยให้ลูกซนอยู่ไม่สุข (และลูกสมาธิสั้น) ได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งในตอนที่อยู่ที่บ้านหรือที่อื่น ๆ ให้ปกติสุขมากขึ้นได้

การตั้งกติกาตามวัย เช่น คุยทำข้อตกลงกับลูกในทุกสถานการณ์ที่ทำได้ เช่น ข้อตกลงก่อนไปร้านสะดวกซื้อ (จะซื้ออะไรบ้าง ซื้อได้กี่ชิ้น ราคาเท่าไร) ก่อนไปเล่นสนามเด็กเล่น (รอคอยคิว ไม่แซงคิว ไม่วิ่งสวนทางคนอื่น) ก่อนไปเดินเล่น (เดินข้างแม่ ไม่วิ่งออกนอกเส้นทาง) หรือก่อนไปขี่จักรยานนอกบ้าน (ขี่ตามเส้นทาง ขี่ได้กี่รอบ กี่นาที) เป็นต้น นอกจากนี้ คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ควรฝึกการรอคอยแทรกในทุกสถานการณ์ด้วย เช่น ฝึกให้นั่งรอแม่สักครู่ก่อนออกไปเดินเล่น นับเลขรอแม่ขณะแม่ชงนมให้ ยืนรอขณะแม่ทำเครื่องดื่มให้ โดยไม่รีบให้ทันที ทั้งนี้ ลูกอาจมีมีพฤติกรรมปฏิเสธกิจกรรมหรือเลี่ยงกติกา ซึ่งเราสามารถลดพฤติกรรมปฏิเสธกิจกรรมหรือเลี่ยงกติกาของลูกได้ด้วยการแตะนำหรือเบี่ยงเบนก่อนนำให้ลูกลงมือปฏิบัติตามกติกา โดยเราต้องเลี่ยงและลดการพูดใช้คำสั่ง และหากเห็นว่าลูกแสดงพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ เราจะไม่ปล่อยผ่าน แต่จะค่อย ๆ นำลูกให้ทำพฤติกรรมที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ตลอดจนมีการคุยกันหลังเหตุการณ์สงบ เพื่อลูกเรียนรู้ที่จะร่วมรับผิดชอบผลที่ตนกระทำไป และช่วยให้ลูกยอมรับกติกาตามวัยในครั้งต่อ ๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับบทความของ “บ้านอุ่นรัก” ในเรื่องนี้และในตอนนี้ เรามุ่งเน้นให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เห็นความจำเป็นว่าเราต้องช่วยแก้ไข ลดความเคยชินที่ลูกจะทำพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุข และตัดวงจรพฤติกรรมวุ่นวายนี้ให้ได้โดยเร็ว เพราะพฤติกรรมที่ไม่สมวัยนี้เป็นเรื่องที่ลูกไม่ควรทำ ทั้งนี้ การจะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีความหมายต้องอาศัยบทบาทของแม่ พ่อ และผู้ปกครองที่มองเห็นปัญหา และตระหนักรู้  ตลอดจนลุกมาลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อจัดการและจัดสภาพ หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของลูกไม่มากก็น้อย

การที่ปัญหาของลูกจะคลี่คลายลงไปได้หรือลูกจะเก่งและน่ารักสมวัยได้ บางครั้งไม่ใช่จากการเติบโตตามธรรมชาติทั้งหมด แต่มีบางเรื่อง บางสถานการณ์ที่เราจะต้องลงไปช่วยจัดการและจัดสภาพที่จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของลูกค่ะ

ในส่วนของคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เมื่อได้จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นระเบียบและเอื้อต่อการลดอาการซนอยู่ไม่สุขของลูก ๆ กันแล้ว ก็อย่าลืมให้ความรัก ความเอาใจใส่ ให้เวลา และให้โอกาสลูก ๆ ในการเรียนรู้และฝึกฝนจนลูกจอมซนอยู่ไม่สุข สามารถซนน้อยลง….และซนน้อยลงอีกได้…ในที่สุดค่ะ

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

รับมือลูกหงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง | ตอน : 6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง | บ้านอุ่นรัก

รับมือลูกหงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง | ตอน : 6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง | บ้านอุ่นรัก

ในตอนที่แล้ว บ้านอุ่นรักได้แชร์ 5 สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง กันไปแล้ว ส่วนในตอนนี้ เราจะมาดูข้อมูลเพิ่มเติมของ “การปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” กันว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร

6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง มีดังนี้ คือ

1: เบี่ยงเบนด้วยอารมณ์ขันหรือการทำกิจกรรมที่ลูกสนใจ

  • อารมณ์ขัน หรือสร้างความสนุกแทน เช่น จั้กจี้ลูกจนลูกเผลอปล่อยของที่ติดมือ
  • เปลี่ยนความสนใจด้วยการเสนอให้ลูกเล่นหรือทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ตามที่ลูกสนใจ เช่น ร้อยลูกปัด หยอดกระปุกออมสิน ฟังเพลง

2: ใช้ Time In หรือ Time Out ให้เป็นประโยชน์

  • Time In คือ ปล่อยให้ลูกอยู่กับตนเอง โดยมีพ่อแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ แบบเงียบ ๆ อย่างเมตตา
  • Time Out คือ แยกลูกและพ่อแม่ออกจากกัน หรืองดกิจกรรมหรือการให้ลูกเข้าร่วมทำกิจกรรมแบบต่าง ๆ

3: พาลูกเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยพ่อแม่ใช้เวลากับลูกนานพอสมควรในขณะที่ลูกได้เปลี่ยนอิริยาบถจนคลายอารมณ์ลงได้ เช่น พาไปล้างหน้า ล้างมือ เดิน วิ่ง จับลูกกระโดด หรือพาเดินขึ้น-ลงบันได

4: เปลี่ยนความโกรธของลูกมารับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น นั่งโยกบนบอลยิมนาสติก นวดลงน้ำหนักสม่ำเสมอที่ไหล่ นวดมือ นวดช้า ๆ ไล่จากต้นแขนลงไปยังปลายนิ้วมือ ลูบหลังหรือตบเบา ๆ ที่ฝ่ามือของลูก

5: เพิกเฉย ในกรณีที่ใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลและลูกยังไม่คลายจากอารมณ์โกรธ แต่ลูกเริ่มมีพฤติกรรมเรียกร้องรุนแรงหรือพบว่าลูกเริ่มแสดงอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ควรเริ่มใช้วิธีเพิกเฉย แล้วค่อยกลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

  • เพิกเฉยโดยปล่อยลูกอยู่กับตนเองตรงนั้น โดยพ่อแม่ใช้วิธีนิ่งเงียบ ไม่พูดด้วย ไม่มอง ไม่ให้ความสนใจ หรือพ่อแม่อาจเดินเลี่ยงออกมาเงียบ ๆ แล้วเดินกลับเข้าไปหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 1-3 นาที
  • เพิกเฉยด้วยการแยกลูกออกจากตรงนั้น (Time Out) เพื่อไปหามุมสงบอื่นให้ลูกได้อยู่คนเดียวเพื่อสงบอารมณ์ แล้วพ่อแม่กลับเข้าหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก 1-3 นาที ทั้งนี้ หากเข้าไปหาแล้วลูกยังไม่สงบ พ่อแม่จะเดินออกมาใหม่รอบละ 1-3 นาที โดยไม่ปล่อยลูกอาละวาดรุนแรงคนเดียวนานเกินไป
  • กลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหมาะสม

6: หลังลูกสงบ พ่อแม่จึงสอนวิธีจัดการกับปัญหาด้วยการสอนให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ของตนเองและเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น นำเหตุการณ์ที่ผ่านมา ๆ พูดคุยเพื่อสอนวิธีรับมือว่าถ้าลูกพบกับสถานการณ์แบบเดิม ลูกควรจะพูดจาสื่อสาร ควรแสดงท่าทาง หรือจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไรในครั้งต่อไป

  • กรณีที่ลูกพูดไม่ได้: พ่อแม่กล่าวสะท้อนอารมณ์โดยพูดให้ลูกฟังสั้น ๆ เช่น ลูกโกรธใช่มั้ยที่พี่เดินเตะของเล่นของลูก
  • กรณีที่ลูกพูดได้: พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกพูดแสดงอารมณ์ + ความจริง (เหตุการณ์) เช่น ลูกโกรธเพราะแม่เก็บของเล่น

ไม่ว่าจะเป็น “5 สิ่งที่ต้องทำ เมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง” หรือ “6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” ล้วนเป็นวิธีรับมือที่เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้เรียนรู้กันล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมให้กับลูก ๆ ซึ่งนับเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะมีชีวิตได้อย่างปกติสุขและปลอดภัยในอนาคตได้ค่ะ

Photo Credit: Ninety Eyes | Unsplash