กรณีตัวอย่าง: ปัญหาลูกโมโหรุนแรง ไม่ทำตามข้อตกลง จะแก้ไขอย่างไรกันดี | บ้านอุ่นรัก

กรณีตัวอย่าง: ปัญหาลูกโมโหรุนแรง ไม่ทำตามข้อตกลง จะแก้ไขอย่างไรกันดี | บ้านอุ่นรัก

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้รับคำถามในประเด็น “ทำอย่างไรดี ถ้าลูก……” จากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองอยู่เสมอ

ในตอนนี้ เรามีกรณีตัวอย่างที่คุณแม่ท่านหนึ่งได้ถามมา และท่านอนุญาตให้เราแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ต่อไป

คำถามของคุณแม่:

คุณแม่กำหนดกติกาให้ลูกอายุ 5.9 ขวบว่า “อีก 10 นาทีต่อจากนี้ไป ลูกต้องอาบน้ำและแปรงฟันให้เสร็จ จากนั้น ลูกจึงจะได้ดูคลิปวีดีโอสัตว์น่ารัก 1 ตอน” แต่ลูกโอ้เอ้จนเลยเวลา คุณแม่จึงไม่ให้ลูกดูคลิปวีดีโอดังกล่าว ผลก็ คือ ลูกโมโหรุนแรง ทำท่าจะเข้ามาผลัก ตี และใช้คำพูดรุนแรง เช่น จะเอาปืนมายิงแม่ ควรทำอย่างไรดี คุณแม่เครียดมากเลยค่ะ

คำตอบของ “บ้านอุ่นรัก”:

เนื่องจาก “บ้านอุ่นรัก” ไม่ทราบพฤติกรรมของน้องในภาพรวม ตลอดจนไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้อง เช่น วิธีการเลี้ยงดู และระดับอาการของน้อง เราจึงขออนุญาตให้แนวทางการรับมือกว้าง ๆ ว่า คุณแม่ควรแยกพฤติกรรมของน้องเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง: การอาบน้ำและแปรงฟัน และ สอง: การแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง

ประเด็นที่หนึ่ง : การอาบน้ำและแปรงฟัน

สิ่งที่คุณแม่จำเป็นต้องพิจารณา คือ

(1) เวลาที่ลูกจะอาบน้ำเสร็จด้วยตัวเองตามความเป็นจริง

(2) หากคุณแม่คิดว่าลูกควรอาบได้เสร็จภายใน 10 นาที จำเป็นต้องค้นหาว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้ลูกไม่สามารถอาบน้ำเสร็จภายใน 10 นาที เพื่อหาทางจัดสภาพกับสิ่งนั้น แล้วค่อยทำข้อตกลงกับลูกใหม่

(3) แรงจูงใจที่คุณแม่จะนำมาใช้ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ลูกได้รับอยู่แล้วเป็นประจำ หรือไม่ควรเป็นสิ่งที่ลูกสามารถหามาทำได้ด้วยตัวของลูกเอง หากแรงจูงใจเดิมยังไม่เหมาะสม ในระยะแรกของการปรับพฤติกรรมใหม่ ๆ อาจจะเริ่มมองหาแรงจูงใจใหม่ที่เป็นสิ่งที่ลูกชอบแต่เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกไม่ได้รับเป็นประจำในชีวิตประจำวันก่อน ซึ่งอาจจะช่วยลดความขัดแย้งในกรณีที่ลูกทำไม่ได้ตามที่กำหนด

ประเด็นที่สอง : การแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง

การที่ลูกแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ลูกพยายามแสดงความรู้สึกไม่พอใจ ความรู้สึกปฏิเสธ และความรู้สึกหงุดหงิดออกมา

คุณแม่ไม่ควรแปลความหมายสิ่งที่ลูกพูดตามคำพูด 100% เพราะจะทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของลูก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรพยายามลดโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้คำเหล่านั้น และหากลูกพูดคำเหล่านั้นออกมา คุณแม่จะเพิกเฉย ไม่ไปจดจ่อกับความหมายของคำพูดนั้น แต่ให้เบี่ยงเบน ดึงความสนใจออก โดยคุณแม่พูดสั้น ๆ พูดกระชับ และพูดระบุให้ลูกรู้ว่าลูกควรทำพฤติกรรมหรือสิ่งใดแทน

ประเด็นที่สำคัญ คือ คุณแม่ต้องไม่สนใจคำพูดที่รุนแรงของลูกเลย หรืออาจเสนอประโยคที่เหมาะสมที่ลูกควรพูดในสถานการณ์นั้น ๆ เป็นการทดแทน

“บ้านอุ่นรัก” ต้องขอโทษที่ตอบคำถามของคุณแม่แบบกว้าง ๆ เนื่องจากเราไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานระดับอาการและความเป็นมาของการเลี้ยงดูค่ะ

การปรับพฤติกรรมให้สำเร็จ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ทำต่อเนื่องล่วงเลยมานาน ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณแม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูก โดยไม่ใช้ถ้อยคำหรือท่าทีที่รุนแรง ค่อย ๆ ปรับโดยคำนึงถึงกติกาตามวัยพร้อมกับความรู้สึกของลูกด้วยครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ หากคุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาพฤติกรรมในระดับที่คุณแม่เริ่มกังวลใจ ควรไปขอคำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์ที่ดูแลลูกค่ะ เพราะหลังจากวัยนี้ผ่านพ้นไป ลูกจะถึงวัยที่มีอารมณ์หงุดหงิดรุนแรงขึ้นด้วยระดับฮอร์โมน และการปรับตัวด้านพัฒนาการทางเพศค่ะ

ทั้งนี้ หากปัจจุบัน ลูกเข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการอยู่แล้ว คุณแม่ควรหาโอกาสพูดคุยและปรึกษาครูกระตุ้นพัฒนาการของลูกบ่อย ๆ เพื่อขอความเห็นและข้อแนะนำ จากนั้นก็นำความเห็นและคำแนะนำของคุณหมอและครูกระตุ้นพัฒนาการมาทดลองทำที่บ้าน เพื่อจะได้กลับไปพูดคุยกับคุณหมอหรือคุณครูต่อเนื่องอีก โดยเฉพาะเมื่อทดลองทำแล้วแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จในครั้งเดียว เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถมในลำดับถัดไป คุณแม่ควรจะเริ่มใช้กติกาและการคุยทำข้อตกลงร่วมกันให้มากขึ้น และฝึกให้ลูกดูแลตนเอง และลดการแยกตัวที่จะหมกมุ่นกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ลูกสนใจนานเกินไปหรือมากเกินไป ไม่ควรปล่อยผ่านหรือไว้เช่นนั้น เพราะในอีกไม่นาน ลูกจะไม่ยอมทำตามการชี้นำหรือไม่ร่วมมือในการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะหงุดหงิดเมื่อถูกขัดจังหวะค่ะ

ในท้ายนี้ ทีมครูบ้านอุ่นรักขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่นะคะ

เครดิตภาพ: Halanna Halila | Unsplash

3 ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาใช้ยารักษาในเด็กออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

3 ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาใช้ยารักษาในเด็กออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

เด็กออทิสติกไม่จำเป็นต้องรับประทานยารักษาทุกคน และการใช้ยาไม่ได้มุ่งการแก้ไขอาการออทิสติกโดยตรง ทั้งนี้เพราะการแก้ไขอาการออทิสติกโดยตรง คือ การกระตุ้นพัฒนาการและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาเพื่อแก้ไขอาการผิดปกติบางประการของเด็ก เพื่อสนับสนุนให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างข้อบ่งชี้ ข้อพิจารณาในการใช้ยารักษาในเด็กออทิสติก มีดังนี้ คือ

หนึ่ง: มีอาการผิดปกติทางด้านพฤติกรรมเฉพาะอย่างที่ขัดขวางการดำรงชีวิต ขัดขวางการปรับตัว หรือเป็นอุปสรรคต่อการฝึกอย่างชัดเจน แพทย์จึงพิจารณาใช้ยาเพื่อแก้ไขอย่างมีวัตถุประสงค์ เช่น ลูกมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือกระตุ้นตนเองมาก ๆ ลูกมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง มีปัญหาด้านอารมณ์รุนแรง มีปัญหาด้านการนอน มีพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุขไม่อยู่นิ่งในระดับที่ควบคุมตนเองได้ยาก เป็นต้น

สอง: มีอาการของโรคลมชัก

สาม: มีอาการของโรคทางจิตเวช อาการนี้อาจพบได้ในช่วงประถมหรือวัยรุ่น เช่น อาการทางจิต หูแว่ว ประสาทหลอน หรือซึมเศร้า

ในเรื่องของการใช้ยารักษาลูกออทิสติกนี้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองไม่ควรซื้อยาให้ลูกทานเอง แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อแพทย์จะได้ดูแล ปรับขนาดของยาตามน้ำหนัก และอาการของลูกเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด หากในระหว่างการใช้ยา มีกรณีพบผลข้างเคียงจากการใช้ยา คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรรีบประสานเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ แต่ไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อเด็กได้

เครดิตภาพ: Pina Messina | Unsplash

บรรยากาศการเลี้ยงดูแบบไหน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกได้ | บ้านอุ่นรัก

บรรยากาศการเลี้ยงดูแบบไหน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกได้ | บ้านอุ่นรัก

สำหรับลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ลูกมักมีความซุกซน อยู่ไม่สุข และบางครั้งก็แสดงออกซึ่งพฤติกรรมบางประการ ที่ส่งผลให้ทั้งเราและคนรอบข้างที่รักและหวังดีต่อลูก อดไม่ได้ที่จะบ่น ว่ากล่าว หรือแม้กระทั่งดุลูก จนลูกเสียเซลฟ์ (Self) รู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี และสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง

ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา เราก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม โดยไม่ลืมที่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ แก้ไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพร้อม ๆ กันไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะตั้งเป้าหมายซ้อนเข้าไปอีกชั้นว่า ลูกจะต้องยังรู้สึกดีต่อตนเอง และคงความภาคภูมิใจในตนเอง (Self Esteem) ไว้ได้ด้วย

ในตอนนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มีแนวทางการแก้ไขปัญหามาฝากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งเราขอเน้นที่ “บรรยากาศการเลี้ยงดูที่บ้าน” ที่จะสามารถช่วยทั้งลูกและเราให้ร่วมทางกระบวนการเรียนรู้ แก้ไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปด้วยกันโดยลูกจะยังคงรู้สึกดีและภาคภูมิใจในตนเอง ดังนี้ คือ

บรรยากาศการเลี้ยงดูแบบไหน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกได้?

หนึ่ง: ยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น การยอมรับนี้เท่ากับเป็นการบอกลูกให้มีความนับถือตนเองที่ไม่ต้องเหมือนใคร แต่เป็นการยอมรับบนเงื่อนไขว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไข ส่วนจะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกันอย่างไร “บ้านอุ่นรัก” เคยนำเสนอแนวทางไปบ้างแล้ว และเราจะนำมาเสนอทบทวนซ้ำอีกครั้งในโอกาสต่อไป

สอง: สอนให้ลูกรู้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เพราะคนทุกคนทำสิ่งผิดพลาดได้เสมอ แต่เมื่อทำผิดพลาดไปแล้ว ลูกต้องเรียนรู้ เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบผลการกระทำของตนเอง ตลอดจนหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ ๆ ในโอกาสต่อ ๆ ไป

สาม: เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เราจำเป็นต้องตักเตือน โดยพูดกับลูกสั้น ๆ ระบุพฤติกรรมที่ลูกควรทำในครั้งต่อไป พูดให้ลูกมองเห็นภาพ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวโทษสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

สี่: ให้โอกาสลูกได้แสดงความรู้สึกของตนเอง รับฟังและใส่ใจความรู้สึกของลูกด้วยความจริงใจ

ห้า: ชื่นชมในความพยายามและทุกความตั้งใจดีของลูก โดยระบุความรู้สึกของผู้ชมและระบุการกระทำดี ๆ ที่ลูกได้ทำไป

หก: ให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น

เจ็ด: แสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่ถ้าสิ่งนั้นมีความหมายกับลูก สิ่งนั้นย่อมมีค่าเสมอ 

แปด: เปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นคว้า อนุญาตให้ลูกได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ลูกสนใจ

เก้า: บอกรักลูกเสมอ มองลูกด้วยแววตาแห่งรัก โอบกอดสัมผัสลูกอย่างนุ่มนวล พูดกับลูกอย่างให้เกียรติ บอกให้ลูกได้รู้ “ลูกของพ่อแม่คือสิ่งล้ำค่าสิ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิตการเป็นพ่อแม่

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” หวังว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่ได้อ่านบทความนี้ ตลอดจนบทความอื่น ๆ ของเรา จะเห็นภาพรวมของแนวทางการรับมือและการสร้างบรรยากาศดี ๆ ในการดูแลและเลี้ยงดูลูกที่จะส่งผลให้ท่านช่วยปรับเปลี่ยนและแก้ไขพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาของลูกได้สำเร็จ และเป็นการทำได้สำเร็จโดยละม่อม ราบรื่น และนุ่มนวลค่ะ  

แม้ลูกจะซุกซนเหลือเกิน

ถึงลูกมักอยู่ไม่สุขกับใครเขาเลย

และลูกมักแสดงพฤติกรรมที่ขัดหู เคืองตา และไม่ถูกใจมนุษย์พ่อแม่พี่ป้าน้าอาเอาเสียเลย

แต่เราจะยิ้มในใจ และเข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดหลายประการจากอาการของลูก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ลูกจึงทำเรื่องต่าง ๆ ที่ขัดหู ขัดตา และขัดใจเรา

แต่ลูกโชคดีที่มีเรา ซึ่งพร้อมจะนำทางลูกไปด้วยความรัก ความเมตตา และความหวังดี

เรามาสร้างบรรยากาศการเลี้ยงดูดี ๆ ที่บ้านเพื่อลูก ๆ รู้สึกดีต่อคนรอบข้างและตนเอง อีกทั้งเกิดความภาคภูมิใจในตนเองกันค่ะ

เครดิตภาพ: Roman Kraft | Unsplash

เด็ก ๆ จะทำอาชีพอะไรได้บ้างนะ (ตอนที่ 10) | บ้านอุ่นรัก

เด็ก ๆ จะทำอาชีพอะไรได้บ้างนะ (ตอนที่ 10) | บ้านอุ่นรัก

ตอนที่ 10: งานแบบที่ 4 สำหรับลูกที่มีอาการระดับกลาง ๆ

อาชีพที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพด้านการรับรู้ประสาทสัมผัส

ลูกออทิสติกมักมีความสนใจและหมกมุ่นกับระบบประสาทสัมผัสเป็นพิเศษ เราจึงสามารถต่อยอดความสนใจ นำสู่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาเป็นงานอดิเรก และนำสู่อาชีพได้ในที่สุด เช่น

  • สายตา: วาดภาพ ถ่ายภาพ คอมพิวเตอร์ พิมพ์งาน พิสูจน์อักษร
  • จมูก: ดมน้ำหอม ไวน์
  • ชิมรส: ทำอาหาร ทำขนม
  • หู: นักดนตรี ตั้งเสียงดนตรี
  • สัมผัส: งานปัก ถัก ทอ สาน
  • ความจำ: ค้นคว้าข้อมูล แยกสินค้า อะไหล่ สโตร์

การพัฒนางานต่าง ๆ ให้กลายเป็นอาชีพของลูก เป็นเรื่องของการเตรียมการที่เราจะต้องทำให้ดี ทำด้วยความรัก ความใกล้ชิด หมั่นคลุกคลีกับลูก สังเกตลูกเพื่อมองหาศักยภาพและความสนใจด้านต่าง ๆ ของลูก จากนั้น เราจะนำลูกทำกิจกรรม ตลอดจนหาทางฝึกฝนให้ลูกลงมือทำสิ่งต่าง ๆ จนกลายเป็นรูปแบบและเป็นกิจวัตรประจำวันของลูก แม้ต้องลองผิดลองถูกกันบ้าง ผิดหวังและล้มเหลวกันบ้าง แต่เราจะไม่ยอมแพ้และไม่มีวันถอดใจค่ะ

เส้นทางอาชีพสามารถเกิดได้จริงและสำเร็จได้

การปูทางอาชีพไม่ได้ยากจนเกินไป และลูกออทิสติกจำนวนมากประสบความสำเร็จมาแล้ว

เราจะเลี้ยงดู ดูแล และนำทางลูก บนความเป็นจริงว่าลูกมีอาการใด ระดับอาการแบบใด มีข้อจำกัดใดที่จะต้องหาทางบำบัดรักษาและแก้ไขให้ลดน้อยลง

เราจะใช้การประเมินความสามารถพื้นฐานและดูความสนใจพิเศษของลูกแต่ละคนเป็นหลักนำทางเบื้องต้น

จากนั้น เราจะค่อย ๆ วางฐานฝึกฝนไปทีละขั้น ย่อยขั้นการทำงาน หมั่นฝึกฝนทุกวันจนเป็นกิจวัตร ในที่สุด ลูกจะค้นพบรูปแบบ และได้มีอาชีพที่เหมาะกับตัวเองค่ะ

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ยังอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่าน ดังนั้น หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ ท่านสามารถติดต่อเราได้เสมอค่ะ

เครดิตภาพ: Slides Carnival

เด็ก ๆ จะทำอาชีพอะไรได้บ้างนะ (ตอนที่ 9) | บ้านอุ่นรัก

เด็ก ๆ จะทำอาชีพอะไรได้บ้างนะ (ตอนที่ 9) | บ้านอุ่นรัก

ตอนที่ 9: งานแบบที่ 3 สำหรับลูกที่มีอาการระดับกลาง ๆ

งานที่พัฒนาจากกิจกรรมที่ลูกมีความสนใจเป็นพิเศษ

ลูกออทิสติกมักมีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ และเมื่อลูกสนใจเรื่องใด ลูกก็จะฝักใฝ่หาความรู้จนมักจะรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตความสนใจของลูกเพื่อพัฒนาความสนใจให้กลายเป็นอาชีพในอนาคตต่อไป

  • ลูกชอบเล่นลำโพง: คุณพ่ออาจจะไปเรียนรู้วิธีการประกอบและซ่อมลำโพงแล้วค่อย ๆ ฝึกลูก จับลูกประกอบลำโพงตั้งแต่เล็ก ๆ สอนเป็นลำดับย่อย ๆ ด้วยทักษะการย่อยงานจากง่ายสู่ยาก ในที่สุดลูกก็จะทำสิ่งนั้นได้ไม่ยากนักจากการจดจำรูปแบบ
  • ลูกที่ชอบเล่นเชือก เล่นเส้นด้าย: คุณแม่อาจจะนำเชือกนั้นมาถักทอเป็นงานฝีมือ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายความสามารถ

มาถึงตอนนี้ เราได้ทำความรู้จักกับงาน 3 รูปแบบที่เราสามารถพัฒนาให้กลายเป็นอาชีพของลูกออทิสติกที่มีอาการระดับกลาง ๆ กันแล้ว คือ

(1) อาชีพที่พัฒนาขึ้นมาจากกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ถนัดและสอนลูกได้เอง

(2) ช่วยงานเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของครอบครัว และ

(3) งานที่พัฒนาจากกิจกรรมที่ลูกมีความสนใจเป็นพิเศษ

และในตอนหน้า เราจะมาทิ้งท้ายกันที่งานรูปแบบที่ 4 กันต่อ โปรดติดตามว่าลูก ๆ จะทำอาชีพอะไรได้บ้าง ในตอนต่อไปค่ะ

เครดิตภาพ: Slides Carnival

โทรเลย