by admin | บทความทั่วไป |
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ฏ “บ้านอุ่นรัก” แนะนำให้คนที่บ้านฝึกเด็กเล่นบอลด้วยการโยนบอลและรับบอลบ่อย ๆ และต้องเป็นการฝึกทักษะอย่างมีเป้าหมาย ประกอบกับการสังเกตผลว่าเด็กทำได้ครบองค์ประกอบหรือไม่ กล่าวคือ
(1) เด็กสามารถรับบอลที่คนอื่นโยนให้ได้ และ
(2) เด็กสามารถผลักบอลออกจากตัวเพื่อส่งบอลออกไปได้
การรับบอล + การโยนบอลด้วยการผลักบอลออกจากตัวนั้น เด็กควรทำได้ในวัย 3 ขวบขึ้นไป แต่เด็กบางคนอาจทำได้เพียงการรับบอล แต่ผลักบอลโยนบอลออกจากตัวไปยังผู้อื่นไม่ได้ และสำหรับเด็กที่ยังผลักบอลออกจากตัวไม่ได้ ครูเก่ง (ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านการเคลื่อนไหวของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”) แนะนำให้คนที่บ้านฝึกเด็กในท่านั่งเป็นลำดับแรก โดยให้เด็กใช้มือสองข้างตะกุยบอลขึ้นจากพื้นเบา ๆ จากนั้นเมื่อเด็กทำได้ ก็ให้เด็กออกแรงผลักส่งมือขึ้นสูงเพื่อตะกุยบอลให้สูงขึ้น แล้วค่อยพัฒนาเป็นการผลักลูกบอลออกจากตัวในท่านั่งและท่ายืนต่อไป
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กประจำบ้านเป็นกิจกรรมที่คนที่บ้านจะเข้ามามีบทบาทสร้างเสริมพัฒนาการและช่วยเหลือเด็กจนคลี่คลายหรือบำบัดอาการได้หลายประการ โดย
- ใช้การย่อยงาน (Task Analysis) มาเป็นหลักในการฝึกเด็ก (ฝึกเป็นขั้นเป็นตอน ฝึกจากง่ายสู่ยากหรือซับซ้อนมากขึ้น)
- ให้แบบฝึกหัดแก่เด็กเพื่อเด็กมีโอกาสได้ลงมือทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ระหว่างวันทุกวัน ๆ ละหลายรอบ จนเด็กคุ้นชินและทำได้เอง
ตัวอย่างทักษะลูกบอลที่เด็กควรทำได้ในวัย 3-5 ขวบ
- รับบอลด้วยสองมือ
- โยนบอลด้วยการผลักบอลออกจากตัว
- เหวี่ยงขาเตะลูกบอลบนพื้น
- ขว้างลูกบอลโดยยกแขนขึ้นเหวี่ยงไปข้างหลัง
- ยืนโยนลูกบอลใส่ลงตะกร้าโดยยืนห่างจากตะกร้าในระยะ 1.5 เมตร
ซ้อมทักษะลูกบอลไว้ล่วงหน้าก่อนก็ดีนะคะ เพราะที่โรงเรียนอาจประเมินพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กจากทักษะเรื่องลูกบอลค่ะ
สอบถามเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 2-5 ขวบ (เด็กออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย) ติดต่อ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” สาขาที่ท่านสะดวกใช้บริการ
บ้านอุ่นรักสวนสยาม: โทร: 086 775 9656
บ้านอุ่นรักธนบุรี ถนนพุทธมณฑลสายสอง: โทร: 087 502 5261
วันและเวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ | 09.00 น. – 15.00 น.
เครดิตภาพ: freepik.com | pch.vector
by admin | บทความทั่วไป |
Vision Therapy ช่วยแก้ไขปัญหาลูกออทิสติกชอบเอียงคอมอง เหล่ตามอง ได้อย่างไร?
เด็กออทิสติกจำนวนมากมีรูปแบบการมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เด็กออทิสติกมักจะเอียงคอแบบเหล่มอง ขาดการมองตามวัตถุที่หลุดพ้นออกจากลานสายตา มีอาการตาลอยเคว้งคว้าง หรือแม้แต่เพ่งมองแบบทะลุผ่าน ซึ่งรูปแบบการมองเหล่านี้ดูเหมือนจะส่งผลต่อสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดจนมีผลต่อการสบตากับบุคลลรอบข้างไปด้วยโดยปริยาย ทั้งนี้ เราจึงพบบ่อยว่าเด็กออทิสติกเลี่ยงการสบตา
สืบเนื่องจากปัญหารูปแบบการมองแบบดังกล่าวของเด็กออทิสติก ในปัจจุบัน จึงมีการนำหลักการของ “Vision Therapy หรือ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา” มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำ Vision Therapy ตามหลักวิชาการไว้เช่นเดิม คือ
• เพื่อแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวลูกตาและกล้ามเนื้อตาในการเพ่งมอง
• เพื่อรวมเป็นการมองเห็นภาพของลูกตาทั้งสองข้างร่วมกัน และ
• เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำ Vision Therapy เพื่อการบำบัดนี้ มีตัวอย่างที่ Timoty Turner ซึ่งเป็นบุคคลออทิสติก (ผู้เขียนเรื่อง Tim is fine) ยืนยันว่าเขาได้รับอานิสงค์และประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในด้านพัฒนาการจากการที่เขาได้รับจากการฝึกการมองเห็นหรือ Vision Therapy อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเล็ก
ที่ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี” ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของเราก็นำหลักการ Vision Therapy มาใช้ในกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกศิษย์วัย 2-5 ขวบของเราที่มีอาการออทิสติกด้วยเช่นกัน แต่การทำ Vision Therapy นี้ ไม่จำเป็นต้องทำที่ “บ้านอุ่นรัก” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะคนที่บ้านก็สามารถลงมือทำเพื่อช่วยเด็ก ๆ ในขณะที่เด็กอยู่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งวิธีทำ Vision Therapy แบบง่าย ๆ ที่บ้าน มีดังนี้ คือ
(1) กิจกรรมแกว่งบอลตรงหน้าระดับสายตาของผู้สอนและเด็ก
– รอบที่ 1 กระตุ้นจบบอล ต่อเนื่อง 10 ครั้ง
– รอบที่สอง เริ่มย้ายบอลไปในทิศทางต่าง ๆ พร้อมทำเสียงสนุก ๆ ขณะเด็กตีบอล แทรกการหยุดรอ สบตา จึงแกว่งย้ายตำแหน่งช้า ๆ ไปซ้าย-ขวา-บน-ล่าง ให้เด็กตามตบบอล
(2) กิจกรรมไม้คฑาวิเศษ (อุปกรณ์ สิ่งของ หรือของเล่นที่มีด้ามยาวแบบไม้คฑา แต่ต้องมีความปลอดภัยและเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ)
– แตะไม้คฑาที่หว่างคิ้วของเด็กเพื่อเรียกความสนใจ
– จากนั้น เลื่อนไม้ช้า ๆ ระดับสายตาผู้สอนและเด็ก เคลื่อนไม้ให้เด็กมองตามไปทางซ้าย-ขวา-ขึ้น-ลง-เข้า-ออก พร้อมกับนับหรือทำเสียงสนุกไป อย่างน้อยรอบละ 10 ครั้ง
(3) กิจกรรมหุ่นนิ้วใส่ในนิ้วผู้สอน
– รอบที่ 1 ใช้หุ่นนิ้วใส่ในมือผู้สอนแล้วคุยทักทาย หรือนับ กระตุ้นการสบตา เมื่อเด็กสนใจ จึงยกนิ้วที่ใส่หุ่นกระดิกระดับสายตาเด็กนับในใจ 1-10 เพื่อให้เด็กมองจดจ่อ
– รอบที่ 2 โบกมือ หรือนิ้ว เคลื่อนตำแหน่งไปบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา-เข้า-ออก โดยยังคงตรึงการสบตากันไว้
(4) กิจกรรมมองความแวววาว (เนื่องจากเด็กออทิสติกมักชอบมองภาพ หรือสิ่งแวววาว ผู้สอนอาจนำภาพที่แวววาวหรือสติกเกอร์ที่แวววาวติดที่นิ้วผู้สอน หรือเพื่อความประหยัด ผู้สอนสามารถติดสติ้กเกอร์แวววาวไว้ที่ถุงมือเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ในการสอนซ้ำได้อีก)
– รอบที่ 1 ร้องเพลงหรือนับ พร้อมกระดิกนิ้วระดับสายตาให้เด็กมองต่อเนื่อง
– รอบที่ 2 เริ่มเคลื่อนที่มือไปทางซ้าย-ขวา-บน-ล่าง-เข้า-ออก ช้า ๆ เพื่อฝึกการมองคงสายตาอย่างต่อเนื่อง
(5) การกระตุ้นให้เด็กคงสายตามองตามตลอดระยะเวลาในการทำกิจกรรม โดยมองตามภาพ สิ่งเร้า หรือของเล่นในระนาบต่าง ๆ แบบกลุ่มอย่างน้อย 10-20 หน่วย เช่น มองตามภาพ 10-20 หน่วยในแนวนอนหรือแนวตั้งหรือเรียงของแบบกลุ่ม ให้เด็กลากบล้อคสีต่าง ๆ ตามแนวเส้นที่เราวาดไว้ (เส้นตรง วงกลม เส้นซิกแซก เป็นต้น) ให้เด็กลากนิ้ว จับดินสอลากเส้น หรือจับบล็อค ตุ๊กตาสัตว์ โมเดล เคลื่อนตามเส้นแบบต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายของการทำ คือ การทำให้เด็กคงสายตามองอย่างต่อเนื่อง กรอกตา-เคลื่อนตามองตามการเคลื่อนที่ และมองภาพรวมพร้อมกันของลูกตาทั้งสองข้าง
กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านอาจจบการทำกิจกรรมด้วยการปล่อยให้เด็กเล่นเองในตอนจบ (เพื่อสลับบทบาทให้เด็กเป็นคนนำการเล่น หรือทำหน้าที่กระตุ้นให้เราร่วมเล่นด้วย) ซึ่งเราจะแกว่งหรือเขย่าของเล่นในลักษณะเดิม พร้อมนับ 1-5 หรือ 1-10 ให้เด็กรอ จากนั้นค่อยปล่อยให้เด็กได้เล่นเองต่อไป
สำหรับบ้านที่ไม่มีของเล่น ไม่มีอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ยังไม่พร้อม คนที่บ้านสามารถเปลี่ยนมาเล่นไต่นิ้วกับเด็ก เล่นจิ้มนิ้วกัน เมื่อเด็กเข้าใจวิธีเล่น จึงเคลื่อนนิ้ว ให้เด็กตามจิ้มปลายนิ้วไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และตรึงการสบตาไว้ ทำรอบละอย่างน้อย 10 ครั้ง
การทำแบบฝึก Vision Therapy ยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถค้นหาตัวอย่างการฝึกเพิ่มเติมได้จากยูทูปและนำมาประยุกต์ใช้ต่อไปได้ และ “บ้านอุ่นรัก” อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านลองใช้หลักการทำ Vision Therapy กับลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านบ่อย ๆ และทุก ๆ วัน โดยทำให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 5-10 นาที เพื่อเรียกรอยยิ้ม จากนั้นเด็ก ๆ จะสบตาใสแจ๋วจนท่านลุ่มหลง ลืมเวลา และมัวเล่นเพลินจนเกินเวลา 5-10 นาทีที่ว่านั้นก็เป็นได้ค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Elizaveta Dushechkina
by admin | บทความทั่วไป, บทความบ้านอุ่นรัก |
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า “ทำไมลูกออทิสติกจึงไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกที่ลูกได้ยิน?”
คำตอบ คือ ลูกออทิสติกมีอาการของความบกพร่องในการได้ยินและตอบรับเสียง หรือ Auditory Processing Disorder (APD) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ใช่หูหนวกหรือไม่เข้าใจภาษา
อาการ APD เช่น
- ฟังเสียงแล้วสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก
- สับสนกับเสียงที่ได้ยินซึ่งเป็นรายการต่อกัน
- ไม่สามารถจำลำดับของสิ่งที่ได้ยิน
- ไม่สามารถจำลำดับของคำสั่งได้
- แยกเสียงออกจากกันไม่ได้
- มีปัญหาในการบอกแหล่งกำเนิดเสียงและทิศทางของเสียง
- มีปัญหาในการแยกแยะเสียง
- มีปัญหาในการแยกความเหมือนและความต่างของเสียง หรือ
- มีปัญหาในการทำความเข้าใจเสียงที่รบกวน เป็นต้น
เมื่อลูกออทิสติกได้ยินเสียงเรียก เสียงเรียกที่ลูกได้ยินและเสียงอื่น ๆ รอบตัวจะพัวพันกันไปหมดจนลูกไม่สามารถแยกเจาะฟังเฉพาะเสียงที่มุ่งมาหาตนเองได้ ดังนั้น เมื่อเราส่งเสียงเรียกลูก ลูกจึงไม่ได้ยิน ไม่หันมามอง และไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกของเรา
ในกรณีที่ลูกมีความบกพร่องในการได้ยินและตอบรับเสียง (APD) พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยลูกได้ ดังนี้
- ส่งเสียงเรียกพร้อมการสบตาหรือแตะตัว เพื่อให้ลูกรู้ว่าเรากำลังพูดกับลูก หากลูกไม่สบตา เราใช้มือจับใบหน้าของลูกเบา ๆ ให้ลูกมองตรงมาที่เราในขณะที่เราพูดกับลูกโดยให้ระดับสายตาของลูกและเราอยู่ในระดับเดียวกัน
- พูดกับลูกด้วยคำกระชับสั้น ๆ บอกให้ชัดว่าลูกต้องทำอะไร ทั้งนี้ อาจต้องมีการพูดซ้ำหรือพูดทวนเพื่อให้ลูกเข้าใจได้ดีขึ้น
- ใช้การ์ดภาพช่วยในการสื่อสาร ทั้งนี้ แม้จะใช้การ์ดภาพ แต่เรายังต้องกระตุ้นการสานต่อแบบสองทางและการพูดของลูกควบคู่กันไปด้วย
- ใช้ตารางกิจวัตรประจำวันที่มีรูปแบบหรือเป็นภาพเข้าช่วยเพื่อให้ลูกคาดเดาและเข้าใจได้โดยง่ายว่าเรากำลังพูดกับลูกเกี่ยวกับเรื่องใด หากลูกมีปัญหาจะลำดับของคำสั่งไม่ได้ ตารางกิจวัตรประจำวันนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจและรู้ได้ง่ายขึ้นว่าเมื่อเกิดสิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรตามาเป็นลำดับถัดไป (อะไรเกิดก่อน-หลัง ตามลำดับ)
- กระตุ้นทักษะการใช้ภาษาพูดและภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร การขยายคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การสานต่อและสื่อสารแบบสองทาง การออกเสียงโต้ตอบกัน
- สร้างบรรยากาศการสื่อสารที่เป็นมิตร สื่อสารกับลูกด้วยความเมตตา ชมเมื่อลูกเข้าใจสิ่งที่เราพูด ชมเมื่อลูกสื่อสารโต้ตอบ ให้กำลังใจเมื่อลูกยังไม่เข้าใจ หรือแม้แต่ให้รางวัลเมื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามกิจวัตรประจำวันได้สำเร็จด้วยตนเอง เป็นต้น
- ฝึกลูกใส่ใจหันมองเดินมาหาตามเสียงเรียก
แม้อาการ APD จะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างบุคคลและการใช้ชีวิตประจำวันของลูกออทิสติก แต่การที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามทำความเข้าใจและหาทางช่วยเหลือบำบัดรักษาอาการของลูก จะทำให้ลูกมีโอกาสได้สร้างเสริมพัฒนาการของตนเองจนสามารถค่อย ๆ ลดอาการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้
เครดิตภาพ: มูลนิธิ ณ กิตติคุณ
เครดิตข้อมูล: มูลนิธิ ณ กิตติคุณ และ Brain and Life Center
by admin | บทความทั่วไป |
ในทันทีที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง รู้ว่าตนเองกำลังจะมีลูก ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในสมองแบบอัตโนมัติ นอกเหนือจากความยินดี ก็น่าจะเป็นการประเมินความพร้อมของตนเองและครอบครัว จากนั้นก็จะเริ่มต้นเตรียมความพร้อมทุกด้าน ให้ “พร้อมมากพอ” ยิ่งขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันว่าท่านจะสามารถเลี้ยงดูลูก ให้ลูกมีการศึกษาและอนาคตที่ดีด้วยมือของท่านเอง
เรื่อง “การเตรียมให้พร้อมมากพอ” นอกจากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ต้องเตรียมตนเองให้พร้อมทั้งด้านการเงินและการหาโรงเรียนที่เหมาะสมให้ลูกแล้ว ท่านจะต้องประเมินความพร้อมของลูก และเตรียมความพร้อมให้กับลูก เพื่อลูกวัยอนุบาลของท่านจะมีความพร้อมมากพอเช่นกัน ที่จะเริ่มต้นก้าวเดินเข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะลูกออทิสติกและลูกสมาธิสั้น ท่านยิ่งต้องรีบประเมินและหมั่นเสริมสร้างพัฒนาการและเตรียมความพร้อมรอบด้านให้กับลูก ทั้งนี้ เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้อาการของลูก กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้อย่างมีความหมายของลูกเมื่ออยู่ในชั้นเรียน
ในบทความนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” นำเช็คลิสต์ (Checklist) “10 เรื่องที่ต้องประเมิน ก่อนส่งลูกออทิสติก สมาธิสั้น เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล” มาฝาก เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ทราบข้อมูลเบื้องต้นและจะได้ช่วยลูกเตรียมตัวให้พร้อมกันได้ต่อไป
10 เรื่องที่ต้องประเมิน ก่อนส่งลูกออทิสติก สมาธิสั้น เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล
- แรงจูงใจและความสนใจของลูกในการเข้าร่วมและทำกิจกรรมที่หลากหลาย
- การเข้าใจความหมายของกิจกรรมตรงหน้าและสามารถตอบสนองต่อกิจกรรมอย่างมีทิศทาง
- การคงสมาธิเพื่อจดจ่อและทำกิจกรรมตรงหน้าจนสำเร็จ
- การควบคุมตนเองให้นั่งอยู่กับที่และร่วมทำกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ตรงหน้าในขณะนั้น ทั้งนี้ ลูกควรสามารถคุมตนเองและร่วมทำกิจกรรมได้อย่างน้อย 15-30 นาที
- การมีปฏิสัมพันธ์กับครูและสามารถยึดโยงครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ในห้องเรียน
- การมีปฏิสัมพันธ์และสานสัมพันธ์กับเพื่อน
- ความพร้อมด้านอารมณ์ในการร่วมทำกิจกรรมและทำตามคำสั่งในชั้นเรียนโดยไม่ขัดขืน
- ความเข้าใจภาษาและคำศัพท์ง่าย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตามวัยและชีวิตประจำวัน
- การช่วยเหลือตนเอง นำพาตนเอง และความสามารถในการการปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันที่โรงเรียน
- ลักษณะพฤติกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ขัดขวางการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในชั้นเรียน
จากเช็คลิสต์ข้างต้น ลูกควรมีความพร้อมในแต่ละด้านมากกว่าร้อยละ 50 จึงจะพร้อมมากพอที่จะเรียนร่วมในชั้นเรียนอนุบาลอย่างมีความหมาย ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ลองใช้เช็คลิสต์นี้ เป็นคู่มือเบื้องต้นประจำบ้านในการประเมินความพร้อม ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้กับลูก ๆ จน “พร้อมมากพอ” ให้ได้ต่อไป
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการเตรียมลูกออทิสติก สมาธิสั้น ให้พร้อม ก่อนส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล “ครูนิ่ม (คุณนิสิตา ปีติเจริญธรรม)” ได้เตรียมคอร์สออนไลน์ หัวข้อ “เตรียมลูกออทิสติกวัยอนุบาลให้พร้อม ก่อนเข้าโรงเรียน” ไว้ให้ท่านแล้ว เพียงท่านคลิกลิงก์ข้างนี้และเลือกลงทะเบียนเรียนผ่านตลาดความรู้ออนไลน์ ความรู้ดี ๆ ที่ครูนิ่มและทีมกระตุ้นพัฒนาการของ “บ้านอุ่นรัก” ได้ร่วมกันจัดทำ ก็จะส่งตรง มาถึงหน้าจอที่บ้านของท่านได้ในทันที
ลิงก์ Edumall Thailand
https://edumall.co.th/teacher/nisitaa-piitiecchriythrrm-8295
ลิงก์ SkillLane Thailand
https://www.skilllane.com/courses?utf8=%E2%9C%93&search=%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2