เล่นกับลูก ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง แต่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับลูกน้อย และการกระตุ้นพัฒนาการของลูกเป็นอย่างมาก
วันนี้ บ้านอุ่นรัก มี 7 วิธีการเล่นกับลูก เพื่อการเสริมพัฒนาการลูกน้อย ให้มีประสิทธิภาพมาบอกเล่าให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองได้ทราบกันค่ะ
- เล่นสนุก หัวเราะร่วมกันโดยไม่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ เป็นการใช้เวลาร่วมกัน ให้ลูกสัมผัสความรู้สึกสนุก หัวเราะ ร่วมกัน เป้าหมายคือให้ลูกสนุกที่จะเล่นร่วมกับบุคคล มากกว่าแยกตัวคนเดียว เช่น วิ่งไล่จับ จั๊กจี๋ ให้ขี่ขาแบบนั่งเครื่องบิน เล่นขี่ม้า เล่นจ๊ะเอ๋ผ่านผ้าห่ม ฯลฯ
- การเล่นเพื่อกระตุ้นการสบตา โดยเริ่มจากสร้างแรงจูงใจ ชวนลูกเล่นของเล่นง่ายๆที่มีจำนวนชิ้นมาประกอบกัน โดยเลือกของเล่นที่ลูกสนใจ แต่พ่อแม่เก็บชิ้นส่วนของนั้นไว้กับตัว แล้วค่อยๆส่งของให้ลูกเล่นทีละชิ้น โดยยกของระดับสายตา ยกรอลูกสบตา 3-5 วินาที ก่อนจึงส่งของให้
- การเล่นเพื่อกระตุ้นการพูด หรือเล่นประกอบบทสนทนา ในลูกที่ยังไม่พูดอาจนำของเล่นมาประกอบเพื่อกระตุ้นการออกเสียง เช่น “ไถรถ เสียงรถแล่นดัง บรื้น ๆ ๆ ๆ” “กล้องถ่ายรูป ถ่ายรูปดัง แชะ ๆ ๆ ๆ” ลูกที่พูดได้แล้ว นำการเล่นรอบตัว มาประกอบการสร้างบทสนทนาง่าย ๆ ระหว่างเล่น เช่น เล่นหม้อข้าวหม้อแกงแล้วชวนลูกคุยแบบแม่ค้าคุยกับลูกค้า
- สอนลูกเล่นของเล่นให้เป็น ชวนลูกเล่นโดยนำของเล่น แต่ละชิ้นมาเล่นให้ตรงตามรูปแบบและเล่นอย่างมีความหมาย ตามลักษณะของเล่นชิ้นนั้นๆ เพื่อลดการเล่นของลูกในแบบซ้ำๆ ในลักษณะหมกมุ่นกับประสาทสัมผัสตนเอง เช่น แทนที่จะปล่อยให้เด็กเรียงรถยนต์เป็นแถวยาวซ้ำไปซ้ำมา เปลี่ยนเป็นชวนเด็กเล่นอย่างมีความหมาย เช่น นำรถมาไถ ขึ้นรถปีนขึ้นสะพานไม้ รถเข้าจอด
- เล่นสำรวจและทดลองทำ โดยนำของเล่นมาฝึกให้ลูกทดลองเล่นแบบ ค้นคว้า สำรวจ หรือใช้จินตนาการ โดยของหนึ่งชิ้น สามารถชวนลูกเล่นหลาย ๆ แบบ เช่น นำขวดมาเปิดปิดฝา นำมากลิ้งเล่น เตะขวดเก่าเล่น นำของมาใส่ปิดฝาแล้วเขย่า กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ
- เล่นจินตนาการแบบแสร้งทำ เช่น นำตุ๊กตามาแต่งตัวและพูดคุยเหมือนกำลังเลี้ยงน้อง เล่นหม้อข้าวหม้อแกงแบบกำลังขายของ เล่นตัวทหารแบบกำลังเล่นต่อสู้ โดยการเล่นจินตนาการ ในลูกรายที่สามารถเข้าใจได้ อาจเล่นแสร้งทำโดย ไม่จำเป็นต้องมีของประกอบ เช่น ทำท่าหวีผม แต่งตัว ทำท่าทานขนม
- การเล่นเพื่อสร้างสมาธิ เลือกของเล่นที่ได้ลงมือทำสัก 5-10 อย่างมาหมุนเวียนให้ลูกเล่น โดยเลือกของเล่นที่มีจำนวนชิ้นในการลงมือทำมากพอสมควร และเป็นของเล่นที่มั่นใจว่าลูกทำได้เอง เช่น ปักหมุดลงแท่น ต่อเลโก้ขนาดใหญ่ หยอดกระปุกออมสิน หยิบเมล็ดพืชใส่ขวด หนีบไม้หนีบบนกระดาษแข็ง ใส่บล็อกง่ายๆลงช่อง กรอกทรายใส่ขวด กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ เป้าหมายเพื่อชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมให้ได้จำนวนชิ้นเพิ่มจากเดิมอย่างต่อเนื่องมากขึ้นโดยไม่ละความสนใจกลางคันแบบขาดสมาธิโดยเริ่มตั้งเป้าหมายจากน้อยชิ้น 5-7-10 ชิ้น แล้วจึงเพิ่มขึ้นทีละน้อย อาจใช้กิจกรรมศิลปะ ลีลามือ เช่น ระบายสีน้ำ ระบายสี ติดเศษกระดาษบนภาพ ลากเส้นง่ายๆ ฯลฯ โดยตั้งเป้าหมายให้ลุกลงมือทำได้ในพื้นที่สมวัย เช่น ระบายสีน้ำอย่างน้อยครึ่งหรือสามเต็มส่วนของภาพบนกระดาษ A4
เวลามีค่านะคะ รีบตักตวงเวลาแห่งความสุขกับลูก นะคะ ❤ คลุกคลี หัวเราะ สบตา พูดคุย นำทางและสอนลูกให้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน สู้ ๆ ค่ะ พวกเราชาวบ้านอุ่นรักเอาใจช่วยนะคะ
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ