6 เรื่องต้องเข้าใจ ว่าทำไมการส่งเสริมการพัฒนาการเด็กช่วง 2-5 ขวบ จึงสำคัญ

จะว่าไปแล้ว  ระหว่างช่วงอายุ   0-6 ปี  ถือเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวของเด็กๆจริงๆนะคะ   เพราะร่างกาย สมอง และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก   จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะวัย 2-5 ขวบ ที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้โลกด้วยตนเองได้บางส่วน    โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือหรือควบคุมจากพ่อแม่ทุกขั้นตอนแบบวัยทารก   ระหว่างนี้จึงเกิด กระบวนการสำคัญ เป็นรากฐานเริ่มต้นสำคัญของชีวิต     ส่วนหนึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ  และอีกส่วนได้รับการพัฒนาจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู  วันนี้ครูนิ่มเลยชวนมาคุยกันในประเด็น  6 เรื่องต้องเข้าใจ ว่าทำไมการส่งเสริมการพัฒนาการเด็กช่วง 2-5 ขวบ จึงสำคัญ

  1. เป็นช่วงพัฒนาโครงสร้างทางร่างกาย ในที่นี้ครอบคลุมทั้งด้านสมอง การรับรู้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  การเคลื่อนไหว และการใช้มือ-นิ้ว  ในวัยนี้จึงเป็นวัยสำคัญที่เด็กๆ ควรได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มากพอ  ที่จะเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กใช้พัฒนาศักยภาพของตนเอง    จากกิจกรรมในบ้าน และการออกไปสำรวจโลกนอกบ้าน   และอีกด้านคือการได้ทดลองเล่น ได้ใช้ มือและนิ้ว  ทำงานประสานกันในการ รื้อ ค้น  เล่น ดึง กด แกะ ประกอบ สิ่งรอบตัว   ซึ่งประสบการณ์ เหล่านี้    จะช่วยให้ เด็กๆ บังคับร่างกายของตนเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  และเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆจากการทดลองทำ จึงส่งผลทั้งแง่การเจริญเติบโตทางกาย    ความแข็งแรง  ความถนัดในงานที่ใช้การลงมือทำ   และยังส่งผลถึงความรู้สึกต่อตนเอง  เช่น  ความกล้า  ความมั่นใจ ที่จะเผชิญสิ่งใหม่ๆ   การลองผิดลองถูกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

  1. เป็นช่วงที่เด็กกำลังเรียนรู้ภาษา ในวัยนี้ เด็กจะเรียนรู้ภาษาอย่างรวดเร็ว  จดจำคำศัพท์  และพยายามสื่อสารทั้งทางการพูด  แววตา  ใช้ภาษาท่าทาง   การสื่อสารเป็นกระบวนการสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสติปัญญา   ทักษะต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต  ทั้งยังช่วยในการสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง  และเป็นเครื่องมือใน การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น  ในวัยนี้คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องแทรกการชวนลูกพูดคุย   กระตุ้นให้ลูกแสดงความคิดเห็น  และใช้โอกาสนี้ปรับแต่ง ต่อเติมโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับลูก

 

  1. เป็นช่วง สำรวจ ทดลอง ผ่านการเล่นและเรียนรู้เป็นที่มาของพัฒนาการด้านสติปัญญา ในวัยนี้เด็กๆ จะสนใจเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งโดยการตั้งคำถามบ่อย ๆและสนใจค้นหาสำรวจสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการด้านนี้พัฒนามาจากสองส่วนคือ การเล่น  (ทั้งเล่นแบบสำรวจและเล่นเชิงสร้างสมาธิ) และอีกส่วนมาจากการเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ    ในวัยนี้เด็กๆ จะทดสอบสิ่งต่างๆ และดูผลของการกระทำ  ดังนั้นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือการจัดสถานการณ์ต่างๆ  จัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์   การพาเด็กไปยังสถานที่แปลกใหม่   ส่งเสริมให้เด็กๆได้เล่นได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย  จะมีส่วนในการวางรากฐานแรงจูงใจ ความกระตือรือร้นที่เด็กๆจะสนใจการเรียนรู้ในอนาคต

 

  1. เป็นวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะสมดุลตนเองด้านอารมณ์ ตามที่เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า วัยเด็กเล็กชั้นอนุบาลจะเข้าสู่ช่วง  “วัยต่อต้าน” “วัยปฏิเสธ”   ในวัยนี้นอกจากจะเป็นวัยที่เด็กๆ กำลังจะพัฒนาความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์อย่างแน่นเฟ้นกับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด  ผ่านการพูดคุย การเล่นสนุกร่วมกัน และการสัมผัส  โอบกอดแล้ว    ในวัยนี้ยังเป็นวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะสมดุลอารมณ์ของตนเอง  โดยยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง   พ่อแม่จำเป็นต้องมีหลักการ ในการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง  ที่นอกจากจะให้ความรักแล้ว  ยังจำเป็นต้องแทรกการฝึกตามสถานการณ์จริง  ให้เด็กๆทนต่อความขัดใจในเรื่องที่สมเหตุสมผล  ได้เจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ  และผิดหวังตามควร   เป็นโอกาสที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ และพัฒนาการจัดการและควบคุมอารมณ์ของตน    พร้อมกับสอดแทรกการพูดคุยให้เด็กยอมรับกติกาง่ายๆ  ตามวัย   ตลอดจนนำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มาสะท้อนให้เด็กสามารถรับรู้ เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น   เพื่อให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัว  ควบคุมอารมณ์ในการแสดงออกของตนเอง   ให้เหมาะสมก่อนวัย 7 ขวบ

 

  1. เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวในด้านสังคมและการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนรอบตัว การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด คลุกคลี  และมีปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับเด็กๆ  พร้อมไปกับการสอดแทรกระเบียบวินัย มารยาทตามวัย   และกติกาการอยู่ร่วมกัน จะช่วยสร้างประสบการณ์ตรงให้เด็กๆ เรียนรู้การแบ่งปัน  รู้จักการให้    เรียนรู้ที่จะปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม  นอกจากนี้ในวัยเด็กยังเป็นวัยที่สำคัญในการวางรากฐานให้เด็กมีน้ำใจ  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น

 

  1. เป็นช่วงที่ดีในการปลูกฝังให้เด็กสามารถนำพาตนเองและมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง เด็กเริ่มอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน   สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่รอดสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง  คือการฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง  มีทัศนคติต่อตนเองว่าตนสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้  ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะปลูกฝังการนำพาตนเองและช่วยเหลือตนเองตั้งแต่วัยที่ลูกสนุกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยสอดแทรกตามวัย ตามความสนใจ และนำพาให้ลูกทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย  โดยเมื่อเด็กเริ่มมีความพร้อมทางพัฒนาการทางร่างกาย โดยธรรมชาติเด็กๆจะเริ่มพยายามมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน  ทำทุกอย่างที่เคยทำหรือเห็นพ่อแม่ทำให้   เช่น การทานอาหาร การแปรงฟัน  แต่งตัวด้วยตัวเอง   รวมทั้งเริ่มสนุกที่จะเล่นทำงานบ้านในแบบที่เคยเห็นสมาชิกในบ้านทำ  เช่น  เล่นกวาดบ้าน  เล่นฟองขณะซักผ้า   ทดลองฉีดน้ำเช็ดกระจก   ฯลฯ  ในวัยนี้พ่อแม่ควรเริ่มนำพาให้ลูกมีส่วนร่วมดูแลตนเองและทำงานบ้านตามวัย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และงานบ้านง่ายๆ  เช่น  เล่นของเล่นแล้วเก็บเข้าที่  ช่วยเตรียมโต๊ะอาหาร  ฯลฯ  แล้วเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปตามความเหมาะสม   เป็นการเพิ่มความรู้สึกความภาคภูมิใจ และความเชื่อมั่นในตัวเองให้ลูก  ทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้ลูกภูมิใจว่าพ่อแม่เชื่อมั่นว่าลูกสามารถรับผิดชอบตนเองได้ และลูกยังเป็นสมาชิกที่มีค่าของครอบครัว