อาการออทิสติก (Autistic Disorder) เป็นอาการที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการหลายด้านของเด็ก คือ ความบกพร่องทางสังคมและปฎิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลรอบข้าง ความล่าช้าหรือความบกพร่องทางภาษาและการสื่อความหมาย พฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กออทิสติก โดยเริ่มสังเกตเห็นอาการตั้งแต่ก่อนอายุ 2-3.6 ขวบ
ในวันนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักมีบทความมานำเสนอ เรื่อง “5 สัญญาณบอกความเสี่ยงว่าลูกเข้าข่ายการเป็นออทิสติก” เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้คอยระวัง เฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยค่ะ
1 ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง
เด็กขาดความสนใจที่จะเข้าไปคลุกคลีหรือสานต่อกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเด็กในวัยเดียวกัน เช่น เลี่ยงการสบตา แยกตัว ชอบเล่นคนเดียว ขาดการพยักพเยิด ไม่ออดอ้อน ไม่ชี้ชวน ไม่สนใจเลียนแบบหรือทำตามแบบ ไม่สนใจเข้ามาพูดคุยหรือมีท่าทีชวนเล่น สานต่อ หรือชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนรอบข้าง
2 พูดช้า ไม่สมวัย
เด็กพูดช้า หรือแม้พูดได้ แต่พูดแบบมีพัฒนาการทางด้านภาษาไม่สมวัย ทั้งในแง่การพูด การฟัง โดยไม่สนใจที่จะตอบสนองต่อคำสั่งง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่หันตามเสียงเรียกชื่อ เมื่อถึงวัย 1-2 ขวบ ยังไม่เริ่มพูด บางรายคล้ายพูดภาษาต่างดาวแบบตนเอง หรือบางรายเคยพูดแล้วมาหยุดชะงัก หรือพัฒนาการทางการพูดถดถอย บางรายพูดได้แต่พูดในเรื่องที่ตนสนใจสั้น ๆ ได้วงจำกัด เช่น พูดคำศัพท์สั้น ๆ คำเดิม ๆ ท่องตัวอักษร พูดวลีที่ตนเองสนใจซ้ำ ๆ กับตนเอง ไม่ใช่การพูดเพื่อสื่อสารกับคนอื่น ไม่สนใจที่จะสานต่อบทสนทนาแบบต่อเนื่อง
3 การแสดงออกไม่ชัดเจน
การแสดงออกทางแววตาของเด็ก รวมถึงสีหน้า ท่าทาง ไม่ชัดเจนแบบเด็กวัยเดียวกัน
4 ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ย้ำคิดย้ำทำ
เด็กมีความชอบรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ ถ้าเปลี่ยนแปลงหรือขัดใจจะหงุดหงิด ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง บางรายพฤติกรรมซ้ำ ย้ำคิดย้ำทำ เช่น ทานอาหารแบบเดิมได้ไม่กี่ชนิด ใส่เสื้อผ้าแบบเดิม ถ้าเปลี่ยนเส้นทางเดินทางจากที่คุ้นเคยจะหงุดหงิด ฯลฯ
5 วิธีการเล่นมีรูปแบบเฉพาะตัว
วิธีการเล่นของเด็กมีรูปแบบเฉพาะตัว มีการเล่นแบบเดิมซ้ำ ๆ ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว มักไม่ค่อยเข้าไปสำรวจ ทดลอง หรือนำของเล่นมาเล่นประกอบจินตนาการ เหมือนเด็กวัยเดียวกัน โดยเด็กออทิสติกมักจะหมกมุ่นกับสิ่งของเฉพาะอย่าง เล่นแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะเวลานาน บางรายชอบเล่นในแบบกระตุ้นระบบการรับสัมผัส เช่น เรียงของเพื่อเพ่งมอง เล็งระนาบ ชอบดูของที่หมุนได้ เคาะของเล่นเพื่อฟังเสียง บางรายพบการเคลื่อนไหวอวัยวะซ้ำ เช่น สะบัดมือ หมุนตัว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย วิตกกังวลสูง ดูเหมือนปรับตัวยาก อารมณ์กวัดแกว่ง การรับรู้ไว ตื่นตัวถูกรบกวนจากประสาทสัมผัสได้ง่าย เช่น กลัวและเลี่ยงหนี หรือทางกลับกัน บางรายอาจจะหมกมุ่นกับสิ่งของบางอย่างบางเรื่องเป็นพิเศษ หากถูกขัดขวางจะหงุดหงิด
ผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกอาจมีอาการเข้าข่ายเด็กออทิสติก ควรรีบพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อรับคำวินิจฉัย อย่าครุ่นคิดสงสัย กังวลใจนานเกินไปนะคะ เพราะพัฒนาการของลูกรอไม่ได้ ถ้าลูกมีอาการอะไร จะได้รีบหาทางบำบัดรักษา ถ้าลูกไม่เป็นอะไร จะได้สบายใจ ไม่ต้องเก็บความวิตกกังวลคิดวนซ้ำอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะเกิดอะไรทุกอย่างมีทางแก้นะคะ ยิ่งแก้ไขเร็ว ยิ่งลดความสูญเสีย พวกเราได้นำเสนอความรู้และแนวทางการแก้ไขไว้หลายรูบแบบ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก สามารถมาพูดคุยกับพวกเราได้ค่ะ ตามช่องทางที่ท่านสะดวกค่ะ