ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉินที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือวิ่งวุ่น ปีนป่าย และซุกซน จนอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือบุคคลอื่นที่อยู่รอบข้าง คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง คงต้องใช้ “การยืนกรานด้วยความหนักแน่น” เป็นแนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้นให้จงได้

“การยืนกรานด้วยความหนักแน่น” ตามสไตล์ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เน้นความเป็นรุ่นใหญ่ที่ใจต้องนิ่ง แต่จะยืนกราน แบบรุ่นใหญ่ ใจต้องนิ่ง ได้อย่างไร “บ้านอุ่นรัก” ขอเชิญ “รุ่นใหญ่ทุกท่าน” มาอ่านแนวทางกันได้เลยค่ะ

3 วิธียืนกราน แบบรุ่นใหญ่ ใจต้องนิ่ง

1: พูดสั้นกระชับ ระบุพฤติกรรมที่ลูกจำเป็นต้องทำ

2: จับนำพาให้ทำ หลังพูดบอกไปสามครั้งแล้วแต่ลูกยังไม่ทำ

3: เฝ้าดูอยู่ตรงนั้นเพื่อให้ลูกทำจนสำเร็จ

1: พูดสั้นกระชับ ระบุพฤติกรรมที่ลูกจำเป็นต้องทำ

การพูดยืนกรานด้วยความหนักแน่นที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องพูดสั้นและกระชับ พูดให้เห็นภาพ และระบุพฤติกรรมที่เหมาะสมที่ควรเกิดในทางตรงข้ามอย่างชัดเจน เช่น ลูกขว้างปาสิ่งของ เราพูดสั้น ๆ แต่หนักแน่นว่า “เก็บ” ลูกปีนขึ้นที่สูง เราพูด “ลงมา” ลูกไม่ทานข้าว เราพูด “ทาน 5 คำ แล้วไปได้”

การพูดสั้น ๆ แบบยืนกราน ต้องไม่พร่ำสอนหรืออธิบายในเวลานั้น แต่หากจะสอนหรืออธิบายเพิ่มเติม เราต้องรอเวลาที่เหมาะสม ตอนลูกอารมณ์ดี ก็ยังไม่สายที่จะทำ

2: จับนำพาให้ทำ หลังพูดบอกไปสามครั้งแล้วแต่ลูกยังไม่ทำ

หากพูด 3 ครั้งแล้วลูกไม่ทำตาม เราจะหยุดนิ่งชั่วครู่ รอเวลา โดยไม่ต่อล้อต่อเถียงกับลูก เมื่อลูกเผลอหรือลดท่าทีต่อต้าน จึงจับนำ จับมือทำอย่างนุ่มนวล

3: เฝ้าดูอยู่ตรงนั้นเพื่อให้ลูกทำจนสำเร็จ

สำหรับบางสถานการณ์ เราอาจพบว่าปัญหาดูจะยืดเยื้อ หรือเป็นกรณีที่เราเพิ่งเริ่มกระบวนการปลูกฝังให้ลูกแสดงพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสม เราอาจจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้นกับลูก อยู่อย่างเมตตาเพื่อเตือนและเฝ้าดู จนกว่าลูกจะทำพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสมได้สำเร็จ

สำหรับการยืนกรานด้วยความหนักแน่น ในครั้งแรก ๆ เราอาจทำไม่สำเร็จ แต่ในฐานะ “รุ่นใหญ่” เราต้องมั่นใจว่า “เราทำได้” โดยอาศัยเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อทำให้ได้ เช่น ปรับและเตรียมใจให้พร้อม ปรับท่าทีให้หนักแน่น สบตาลูก และพูดนำทางให้สั้นกระชับ

เมื่อคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง และลูก ๆ ผ่านกระบวนการข้างต้นไปด้วยกันวันแล้ววันเล่า ท่านจะพบว่าลูกที่เคยขัดขืนและต่อต้านจะค่อย ๆ แพ้ทางพ่อแม่ที่หนักแน่น..แต่อ่อนโยนด้วยเมตตา

เครดิตภาพ: Ayo Ogunseinde | Unsplash