สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการสอนลูกที่มักจะเคยชินที่จะพูดตามแบบอัตโนมัติ โดยยังไม่พยายามคิดคำตอบด้วยตนเองนั้น บ้านอุ่นรักมี 3 ขั้นตอนการสอนลูกมาแนะนำค่ะ

3 ขั้นตอนตามแบบของเรา คือ

1: ยอมรับ

2: เข้าใจ

3: แก้ไข

มาดูกันว่าการยอมรับ เข้าใจ และแก้ไข จะทำให้เราสอนลูกได้อย่างไรค่ะ

1: ยอมรับ

เรายอมรับว่าลูกมีข้อจำกัดทางพัฒนาการที่ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ทางภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกไม่สามารถพัฒนาให้สมวัยได้ตามธรรมชาติ

2: เข้าใจ

เราเข้าใจ 4 ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับลูก ดังนี้ คือ

(1): ณ จุดเริ่มต้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกที่จะทำได้เช่นนั้น ความเข้าใจในข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้เรายิ้มรับกับปัญหาตามความเป็นจริง จากนั้นเราก็จะใจเย็น และสามารถค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ นำลูกพูด ด้วยใจเมตตาได้ค่ะ

(2): ลูกยังไม่เข้าใจการสื่อสารแบบสองทาง ดังนั้น ลูกจึงไม่รู้ว่าเมื่อมีคนตั้งคำถามกับลูก ลูกก็ควรเป็นคนพูดตอบ

(3): ลูกยังพูดสื่อสารโต้ตอบเองไม่ได้เพราะลูกมีทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสารที่จำกัด

(4): เมื่อลูกเริ่มสนใจเรียนรู้ภาษาจากคนรอบข้าง ลูกยังเคยชินที่จะพูดตามแบบอัตโนมัติ ลูกจึงยังไม่พยายามคิดที่จะหาคำตอบด้วยตนเอง

3: แก้ไข

การแก้ไขปัญหานี้ของลูก มีอยู่หลายวิธีที่บ้านอุ่นรักอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ได้ลองทำ คือ

(1): กรณีลูกพูดตาม ให้เราถามนำ โดยพูดเสียงเบา ๆ เมื่อเราตั้งคำถาม แล้วบอกบทคำตอบต่อท้ายคำถามนั้นในทันทีด้วยเสียงที่ดังกว่าเสียงที่เราใช้ในการตั้งคำถาม จากนั้น กระตุ้นให้ลูกพูด โดยเราจะทำเช่นนั้น (ถาม-ตอบ) ทวนซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกพูดเองไม่ได้ เราจะถามนำและบอกบทซ้ำ ๆ ให้บ่อยยิ่งขึ้น

(2): ผู้สอนลูกพูด จะบอกบทคำตอบด้วยคำสั้น ๆ ต่อในทันที โดยผู้สอนทำรูปปากนำหรือพูดออกเสียงทีละคำ บอกบทนำแบบไม่เต็มเสียง เช่น “ทานข้าวกับอะไร” ตอบ “กับ ขะ (ไข่)” ชี้ให้ลูกมองปาก แล้วกระตุ้นลูกให้พูดต่อคำหรือพูดตาม และทวนถามซ้ำ ๆ

(3): ในระยะแรกที่ลูกยังเคยชินที่จะพูดตาม ควรตั้งคำถามที่มีคำตอบให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อผู้สอนสามารถชี้ให้เห็นสิ่งของหรือภาพที่เป็นคำตอบวางอยู่ตรงหน้าเป็นการช่วยชี้นำ

(4): ที่บ้านอุ่นรัก เราใช้เทคนิควิธีของ PECS (The Picture Exchange Communication System) มาประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมสนุก ๆ ทั้งในรูปแบบการสอนกลุ่มและการสอนเดี่ยวรายบุคคล เพื่อกระตุ้นการพูดให้กับเด็ก ๆ โดยการใช้ภาพเป็นตัวช่วยฝึกเด็กในการพูด การตอบคำถาม และการคิดเป็นประโยค ทั้งนี้ การกระตุ้นการพูด เป็น 1/11 กิจกรรมหลักที่บ้านอุ่นรักนำมาสอดแทรกให้เกิดขึ้นจริงในการจัดโครงสร้างในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ที่มาเข้ากลุ่มที่บ้านอุ่นรักค่ะ

เรามายอมรับ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาการพูดของลูก ๆ ไปด้วยกันนะคะ เพื่อลูกของเราสามารถที่จะเริ่มคิดคำตอบ ตลอดจนสามารถที่จะพูดจาโต้ตอบกับคู่สนทนาได้ด้วยตนเองค่ะ

Photo Credit: Nikolay Hristov | Unsplash