Vision Therapy ช่วยแก้ไขปัญหาลูกออทิสติกชอบเอียงคอมอง เหล่ตามอง ได้อย่างไร?
เด็กออทิสติกจำนวนมากมีรูปแบบการมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เด็กออทิสติกมักจะเอียงคอแบบเหล่มอง ขาดการมองตามวัตถุที่หลุดพ้นออกจากลานสายตา มีอาการตาลอยเคว้งคว้าง หรือแม้แต่เพ่งมองแบบทะลุผ่าน ซึ่งรูปแบบการมองเหล่านี้ดูเหมือนจะส่งผลต่อสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดจนมีผลต่อการสบตากับบุคลลรอบข้างไปด้วยโดยปริยาย ทั้งนี้ เราจึงพบบ่อยว่าเด็กออทิสติกเลี่ยงการสบตา
สืบเนื่องจากปัญหารูปแบบการมองแบบดังกล่าวของเด็กออทิสติก ในปัจจุบัน จึงมีการนำหลักการของ “Vision Therapy หรือ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา” มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำ Vision Therapy ตามหลักวิชาการไว้เช่นเดิม คือ
• เพื่อแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวลูกตาและกล้ามเนื้อตาในการเพ่งมอง
• เพื่อรวมเป็นการมองเห็นภาพของลูกตาทั้งสองข้างร่วมกัน และ
• เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำ Vision Therapy เพื่อการบำบัดนี้ มีตัวอย่างที่ Timoty Turner ซึ่งเป็นบุคคลออทิสติก (ผู้เขียนเรื่อง Tim is fine) ยืนยันว่าเขาได้รับอานิสงค์และประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในด้านพัฒนาการจากการที่เขาได้รับจากการฝึกการมองเห็นหรือ Vision Therapy อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเล็ก
ที่ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี” ครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของเราก็นำหลักการ Vision Therapy มาใช้ในกระบวนการกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกศิษย์วัย 2-5 ขวบของเราที่มีอาการออทิสติกด้วยเช่นกัน แต่การทำ Vision Therapy นี้ ไม่จำเป็นต้องทำที่ “บ้านอุ่นรัก” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะคนที่บ้านก็สามารถลงมือทำเพื่อช่วยเด็ก ๆ ในขณะที่เด็กอยู่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งวิธีทำ Vision Therapy แบบง่าย ๆ ที่บ้าน มีดังนี้ คือ
(1) กิจกรรมแกว่งบอลตรงหน้าระดับสายตาของผู้สอนและเด็ก
– รอบที่ 1 กระตุ้นจบบอล ต่อเนื่อง 10 ครั้ง
– รอบที่สอง เริ่มย้ายบอลไปในทิศทางต่าง ๆ พร้อมทำเสียงสนุก ๆ ขณะเด็กตีบอล แทรกการหยุดรอ สบตา จึงแกว่งย้ายตำแหน่งช้า ๆ ไปซ้าย-ขวา-บน-ล่าง ให้เด็กตามตบบอล
(2) กิจกรรมไม้คฑาวิเศษ (อุปกรณ์ สิ่งของ หรือของเล่นที่มีด้ามยาวแบบไม้คฑา แต่ต้องมีความปลอดภัยและเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ)
– แตะไม้คฑาที่หว่างคิ้วของเด็กเพื่อเรียกความสนใจ
– จากนั้น เลื่อนไม้ช้า ๆ ระดับสายตาผู้สอนและเด็ก เคลื่อนไม้ให้เด็กมองตามไปทางซ้าย-ขวา-ขึ้น-ลง-เข้า-ออก พร้อมกับนับหรือทำเสียงสนุกไป อย่างน้อยรอบละ 10 ครั้ง
(3) กิจกรรมหุ่นนิ้วใส่ในนิ้วผู้สอน
– รอบที่ 1 ใช้หุ่นนิ้วใส่ในมือผู้สอนแล้วคุยทักทาย หรือนับ กระตุ้นการสบตา เมื่อเด็กสนใจ จึงยกนิ้วที่ใส่หุ่นกระดิกระดับสายตาเด็กนับในใจ 1-10 เพื่อให้เด็กมองจดจ่อ
– รอบที่ 2 โบกมือ หรือนิ้ว เคลื่อนตำแหน่งไปบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา-เข้า-ออก โดยยังคงตรึงการสบตากันไว้
(4) กิจกรรมมองความแวววาว (เนื่องจากเด็กออทิสติกมักชอบมองภาพ หรือสิ่งแวววาว ผู้สอนอาจนำภาพที่แวววาวหรือสติกเกอร์ที่แวววาวติดที่นิ้วผู้สอน หรือเพื่อความประหยัด ผู้สอนสามารถติดสติ้กเกอร์แวววาวไว้ที่ถุงมือเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ในการสอนซ้ำได้อีก)
– รอบที่ 1 ร้องเพลงหรือนับ พร้อมกระดิกนิ้วระดับสายตาให้เด็กมองต่อเนื่อง
– รอบที่ 2 เริ่มเคลื่อนที่มือไปทางซ้าย-ขวา-บน-ล่าง-เข้า-ออก ช้า ๆ เพื่อฝึกการมองคงสายตาอย่างต่อเนื่อง
(5) การกระตุ้นให้เด็กคงสายตามองตามตลอดระยะเวลาในการทำกิจกรรม โดยมองตามภาพ สิ่งเร้า หรือของเล่นในระนาบต่าง ๆ แบบกลุ่มอย่างน้อย 10-20 หน่วย เช่น มองตามภาพ 10-20 หน่วยในแนวนอนหรือแนวตั้งหรือเรียงของแบบกลุ่ม ให้เด็กลากบล้อคสีต่าง ๆ ตามแนวเส้นที่เราวาดไว้ (เส้นตรง วงกลม เส้นซิกแซก เป็นต้น) ให้เด็กลากนิ้ว จับดินสอลากเส้น หรือจับบล็อค ตุ๊กตาสัตว์ โมเดล เคลื่อนตามเส้นแบบต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายของการทำ คือ การทำให้เด็กคงสายตามองอย่างต่อเนื่อง กรอกตา-เคลื่อนตามองตามการเคลื่อนที่ และมองภาพรวมพร้อมกันของลูกตาทั้งสองข้าง
กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านอาจจบการทำกิจกรรมด้วยการปล่อยให้เด็กเล่นเองในตอนจบ (เพื่อสลับบทบาทให้เด็กเป็นคนนำการเล่น หรือทำหน้าที่กระตุ้นให้เราร่วมเล่นด้วย) ซึ่งเราจะแกว่งหรือเขย่าของเล่นในลักษณะเดิม พร้อมนับ 1-5 หรือ 1-10 ให้เด็กรอ จากนั้นค่อยปล่อยให้เด็กได้เล่นเองต่อไป
สำหรับบ้านที่ไม่มีของเล่น ไม่มีอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ยังไม่พร้อม คนที่บ้านสามารถเปลี่ยนมาเล่นไต่นิ้วกับเด็ก เล่นจิ้มนิ้วกัน เมื่อเด็กเข้าใจวิธีเล่น จึงเคลื่อนนิ้ว ให้เด็กตามจิ้มปลายนิ้วไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และตรึงการสบตาไว้ ทำรอบละอย่างน้อย 10 ครั้ง
การทำแบบฝึก Vision Therapy ยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถค้นหาตัวอย่างการฝึกเพิ่มเติมได้จากยูทูปและนำมาประยุกต์ใช้ต่อไปได้ และ “บ้านอุ่นรัก” อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านลองใช้หลักการทำ Vision Therapy กับลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านบ่อย ๆ และทุก ๆ วัน โดยทำให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 5-10 นาที เพื่อเรียกรอยยิ้ม จากนั้นเด็ก ๆ จะสบตาใสแจ๋วจนท่านลุ่มหลง ลืมเวลา และมัวเล่นเพลินจนเกินเวลา 5-10 นาทีที่ว่านั้นก็เป็นได้ค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Elizaveta Dushechkina