ในตอนที่แล้ว บ้านอุ่นรักได้แชร์ 5 สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง กันไปแล้ว ส่วนในตอนนี้ เราจะมาดูข้อมูลเพิ่มเติมของ “การปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” กันว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร
6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง มีดังนี้ คือ
1: เบี่ยงเบนด้วยอารมณ์ขันหรือการทำกิจกรรมที่ลูกสนใจ
- อารมณ์ขัน หรือสร้างความสนุกแทน เช่น จั้กจี้ลูกจนลูกเผลอปล่อยของที่ติดมือ
- เปลี่ยนความสนใจด้วยการเสนอให้ลูกเล่นหรือทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ตามที่ลูกสนใจ เช่น ร้อยลูกปัด หยอดกระปุกออมสิน ฟังเพลง
2: ใช้ Time In หรือ Time Out ให้เป็นประโยชน์
- Time In คือ ปล่อยให้ลูกอยู่กับตนเอง โดยมีพ่อแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ แบบเงียบ ๆ อย่างเมตตา
- Time Out คือ แยกลูกและพ่อแม่ออกจากกัน หรืองดกิจกรรมหรือการให้ลูกเข้าร่วมทำกิจกรรมแบบต่าง ๆ
3: พาลูกเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยพ่อแม่ใช้เวลากับลูกนานพอสมควรในขณะที่ลูกได้เปลี่ยนอิริยาบถจนคลายอารมณ์ลงได้ เช่น พาไปล้างหน้า ล้างมือ เดิน วิ่ง จับลูกกระโดด หรือพาเดินขึ้น-ลงบันได
4: เปลี่ยนความโกรธของลูกมารับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น นั่งโยกบนบอลยิมนาสติก นวดลงน้ำหนักสม่ำเสมอที่ไหล่ นวดมือ นวดช้า ๆ ไล่จากต้นแขนลงไปยังปลายนิ้วมือ ลูบหลังหรือตบเบา ๆ ที่ฝ่ามือของลูก
5: เพิกเฉย ในกรณีที่ใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลและลูกยังไม่คลายจากอารมณ์โกรธ แต่ลูกเริ่มมีพฤติกรรมเรียกร้องรุนแรงหรือพบว่าลูกเริ่มแสดงอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ควรเริ่มใช้วิธีเพิกเฉย แล้วค่อยกลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- เพิกเฉยโดยปล่อยลูกอยู่กับตนเองตรงนั้น โดยพ่อแม่ใช้วิธีนิ่งเงียบ ไม่พูดด้วย ไม่มอง ไม่ให้ความสนใจ หรือพ่อแม่อาจเดินเลี่ยงออกมาเงียบ ๆ แล้วเดินกลับเข้าไปหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 1-3 นาที
- เพิกเฉยด้วยการแยกลูกออกจากตรงนั้น (Time Out) เพื่อไปหามุมสงบอื่นให้ลูกได้อยู่คนเดียวเพื่อสงบอารมณ์ แล้วพ่อแม่กลับเข้าหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก 1-3 นาที ทั้งนี้ หากเข้าไปหาแล้วลูกยังไม่สงบ พ่อแม่จะเดินออกมาใหม่รอบละ 1-3 นาที โดยไม่ปล่อยลูกอาละวาดรุนแรงคนเดียวนานเกินไป
- กลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหมาะสม
6: หลังลูกสงบ พ่อแม่จึงสอนวิธีจัดการกับปัญหาด้วยการสอนให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ของตนเองและเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น นำเหตุการณ์ที่ผ่านมา ๆ พูดคุยเพื่อสอนวิธีรับมือว่าถ้าลูกพบกับสถานการณ์แบบเดิม ลูกควรจะพูดจาสื่อสาร ควรแสดงท่าทาง หรือจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไรในครั้งต่อไป
- กรณีที่ลูกพูดไม่ได้: พ่อแม่กล่าวสะท้อนอารมณ์โดยพูดให้ลูกฟังสั้น ๆ เช่น ลูกโกรธใช่มั้ยที่พี่เดินเตะของเล่นของลูก
- กรณีที่ลูกพูดได้: พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกพูดแสดงอารมณ์ + ความจริง (เหตุการณ์) เช่น ลูกโกรธเพราะแม่เก็บของเล่น
ไม่ว่าจะเป็น “5 สิ่งที่ต้องทำ เมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง” หรือ “6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” ล้วนเป็นวิธีรับมือที่เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้เรียนรู้กันล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมให้กับลูก ๆ ซึ่งนับเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะมีชีวิตได้อย่างปกติสุขและปลอดภัยในอนาคตได้ค่ะ
Photo Credit: Ninety Eyes | Unsplash