การพูดกับลูกเพื่อ “ทำข้อตกลง” เป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองและเข้าใจล่วงหน้าว่าลูกควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ

เราจะพูดทำข้อตกลงกับลูกในสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าลูกอาจเกิดพฤติกรรมวุ่นวายบางอย่าง หรือใช้ในกรณีเดิมที่เคยเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหามาก่อนแล้ว เช่น ก่อนไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ก่อนลงสระว่ายน้ำ ก่อนไปเล่นในสนามเด็กเล่น ก่อนเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อขนม หรือก่อนเริ่มกิจกรรมที่สนุกตื่นตัวจนลูกอาจวิ่งเตลิด เป็นต้น

การพูดทำข้อตกลงมี 3 ขั้นตอน คือ (1) สบตาลูกก่อนพูด (2) นิ่งชั่วครู่ก่อนพูด และ (3) พูดสั้น ๆ ว่าลูกมีข้อควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนวิธีพูด พ่อแม่ต้องพูดชัดเจนระบุพฤติกรรมที่ถูกต้องที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกทำ เช่น ลูกจะหยิบขนมเพียงหนึ่งชิ้น ลูกจะเดินช้า ๆ ไม่วิ่งแซงคิว ลูกจะหยุดวิ่งเมื่อได้ยินเสียงนกหวีด

ประเด็นการพูดกับลูกเพื่อทำข้อตกลงนี้ พ่อแม่ต้องระลึกไว้เสมอว่าในระยะแรกลูกอาจยังไม่เข้าใจและยังไม่พร้อมที่จะทำตามข้อตกลง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ลูกสนใจ ชอบ และตื่นเต้นอย่างมาก การอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ลูกยากที่จะควบคุมตนเองได้ในระยะแรก ๆ พ่อแม่จึงต้องอดทน ใจเย็น และพูดกับลูกเพื่อทำข้อตกลงเดิมซ้ำ ๆ อีกสักหน่อย ให้ลูกได้มีประสบการณ์อีกนิดจนมากพอ ในขณะที่ลูกยังทำตามข้อตกลงไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่ทำความเข้าใจด้วยเมตตาว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นแบบฝึกหัดดี ๆ ที่ลูกกำลังค่อย ๆ เรียนรู้ และพ่อแม่พร้อมที่จะอยู่กับลูกเพื่อช่วยนำทางลูกให้มีประสบการณ์

การพูดทำข้อตกลงกับลูกนี้ขอให้เน้นเรื่องที่ลูกควรได้เรียนรู้และทำได้ตามวัย โดยพ่อแม่แทรกข้อตกลงบ่อย ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไม่เลิกล้ม แม้ลูกจะยังทำตามข้อตกลงไม่ได้ แต่การที่พ่อแม่ไม่เลิกล้มและทำสม่ำเสมอ ลูก ๆ ก็จะค่อย ๆ เข้าใจสิ่งนั้นได้เอง

วันเวลาและการไม่เลิกล้มของพ่อแม่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กแสนซนเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองจนสามารถทำตามกติกาการอยู่ร่วมในสังคมได้ค่ะ

ยิ้มสู้ต่อไปนะคะคุณพ่อคุณแม่

เครดิตภาพ: Freepik.com