“การกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกออทิสติกด้วยตนเองที่บ้าน” เป็นเรื่องที่คนที่บ้านทุกบ้านทำได้ แม้ทำไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากจนเกินกำลัง ส่วนจะทำได้ง่ายหรือยากแค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ระดับของอาการของลูก
  2. ความร่วมมือตลอดจนลีลาของสมาชิกแต่ละคนในบ้านในการนำทาง ฝึกทักษะ และกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก

สำหรับระดับอาการของภาวะออทิซึมก็เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บกลุ่มอื่น ๆ คือ มีกลุ่มอาการ 3 ระดับ จากอาการน้อย (Mild) อาการปานกลาง (Moderate) จนกระทั่งถึงอาการรุนแรง (Severe) ทั้งนี้ ระดับอาการรุนแรงแม้จะพบได้น้อย แต่ก็มีความซับซ้อนเพราะลูกมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการไม่สมดุลอย่างมากของการประมวลผลและการจัดการระบบการรับรู้และการรับสัมผัส (Sensory Integration) เป็นต้น

ประเด็นการวินิจฉัยอาการและระดับอาการของลูก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กจะเป็นแพทย์ผู้วินิจฉัยและประเมินอาการ เมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการและระดับของอาการแล้ว แพทย์จะให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องแนวทางการบำบัดรักษา ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องการพาลูกไปฝึกทักษะหรือไปกระตุ้นพัฒนาการกับทีมบำบัดมืออาชีพควบคู่กันไปตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละกรณี

จากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ ลูกจะได้รับโอกาสในการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธี ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะมีทั้งแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูลและให้แนวทางในการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกที่บ้านในขณะเดียวกันด้วย

ภาพรวมของประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรขอคำแนะนำจากทีมแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพก่อนลงมือกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก ๆ ที่บ้าน ไม่ว่าอาการของลูกจะอยู่ในระดับใด มีดังนี้ คือ

  • คนที่บ้านควรกระตุ้นพัฒนาการด้านใดให้ลูกคู่ขนานไปกับทีมงานมืออาชีพ เช่น กระตุ้นทักษะด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ทักษะทางสังคม การควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นต้น
  • คนที่บ้านไม่ควรทำสิ่งใด เพราะอะไร เช่น เรื่องที่ทำแล้วยิ่งไปย้ำให้อาการของลูกซึมลึกมากขึ้น หรือทำแล้วเท่ากับผลักให้ลูกชอบอยู่ในโลกส่วนตัวมากยิ่ง ๆ ขึ้น เป็นต้น
  • คนที่บ้านควรมีขั้นตอนการฝึกลูกที่บ้าน หรือใช้เทคนิคใดเป็นตัวช่วยในการลงมือทำ เช่น เทคนิคการย่อยงาน (Task Analysis) หรือการใช้ภาพเพื่อสอนและสื่อสารกับลูก (PECS หรือ Picture  Exchange  Communication System) เป็นต้น
  • คนที่บ้านต้องเตรียมรับมือความยากง่ายในการนำทางลูกอย่างไร มีอุปสรรคปัญหาใดที่ควรรู้ และจะใช้แนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
  • ระดับอาการของลูกน่าจะส่งผลให้ลูกร่วมมือต่อการฝึกในระดับไหน คนที่บ้านจะจูงใจให้ลูกร่วมมือมากขึ้นได้อย่างไร
  • ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละขั้นคืออะไร และพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนคนที่บ้านจะต่อยอดเป็นความสำเร็จเพิ่มเติมได้อย่างไร
  • คนที่บ้านต้องใช้ระยะเวลาในการนำทางและกระตุ้นพัฒนาการยาวนานแค่ไหนจึงจะเห็นผลในแต่ละขั้นตอน

สำหรับการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกออทิสติกที่บ้านไม่ว่าจะง่ายหรือยาก ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอสนับสนุนให้คนที่บ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้คำแนะนำของทีมแพทย์หรือทีมบำบัดมืออาชีพ ทั้งนี้เพราะอาการออทิสติกของลูกจะบรรเทาเบาบางลงได้ ก็ต่อเมื่อ

  1. ลูกได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและฝึกทักษะรอบด้านอย่างต่อเนื่อง ยาวนานมากพอ ทำอย่างเหมาะสม ทำถูกวิธี ต้องมีการแทรกบทฝึกทักษะและการกระตุ้นพัฒนาการในชีวิตประจำวันของลูกตามวิถีชีวิตจริงบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เช่น ฝึกลูกทำกิจวัตรต่าง ๆ ฝึกลูกมีส่วนรับผิดชอบตนเองตามวัยตามวีถีชีวิตประจำวันจริง ฝีกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การวางแผนการเคลื่อนไหว การสานสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด กระตุ้นการเลียนแบบ ขยายคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน ฝึกการฟัง-เข้าใจ และการทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เป็นต้น
  2. ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก (โดยเฉพาะลูกออทิสติกและลูกสมาธิสั้น) เพื่อให้ลูกสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและไม่ขัดขวางการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในอนาคต ทั้งนี้ พฤติกรรมมีผลต่อการดำรงชีวิตของลูกเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตัวอย่างของพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่น พฤติกรรมยึดติด ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง พฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ลูกชอบทำอันเกิดจากระบบการประมวลผลและการจัดการระบบการรับรู้และการรับสัมผัสที่ไม่สมดุล เป็นต้น

ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เวลา เศรษฐกิจ ความรักความเข้าใจ “ทีมครอบครัว” จึงเป็นทีมยืนหนึ่งเรื่องการใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกอย่างยาวนานมากพอที่จะสอนลูกในเรื่องต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตจริง ได้ฝึกลูกบ่อย ๆ ในระหว่างวันโดยไม่ต้องทุ่มทุนจนเกินกำลัง ได้ฝึกลูกต่อเนื่องตามวัยในขณะที่ลูกเจริญเติบโต นอกจากนี้ ทีมครอบครัวรู้จักลูกดีกว่าใคร จึงรู้ดีว่าลูกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดบ้างจึงจะช่วยให้ลูกสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างปกติสุขในสังคมต่อไป

ไม่ว่าการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกด้วยตนเองที่บ้านจะยากหรือง่ายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ ขอเพียงพ่อแม่ผู้ปกครองและสมาชิกในบ้านมีกรอบแนวคิดและข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ถูกต้องทั้งเรื่อง “ระดับอาการของลูก” ตลอดจนได้รับ “คำแนะนำเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการที่บ้านให้ลูกด้วยตนเองจากทีมแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพ” ก่อนการลงมือกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก ๆ ที่บ้าน คนที่บ้านก็จะสามารถช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูกได้โดยไม่ยากจนเกินกำลัง เมื่อคนที่บ้านทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีทิศทางและยั่งยืน ผลลัพธ์ทางบวกก็คือพัฒนาการดี ๆ ที่จะคงอยู่คู่กับลูกตลอดชีวิตได้ต่อไป

ลงมือทำที่บ้าน

ยิ่งทำ เรื่องที่เคยว่ายาก ก็จะค่อย ๆ คลาย กลายเป็นง่ายขึ้น

ที่สำคัญ ยิ่งทำ ลีลาการนำทางลูก จะยิ่งเฉียบคม ลูกจึงได้เรียน ได้ฝึก และได้สนุกกับการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าร่วมกับคนในครอบครัว

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดเรื่องการสร้างทีมครอบครัว

เรามาช่วยกันเพื่อทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง