การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด?

หัวใจสำคัญของการส่งเริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด คือ

  • การกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นลูกให้พูดบอกความต้องการเสียก่อนจึงจะให้การช่วยเหลือหรือให้สิ่งของที่ลูกต้องการ ทั้งนี้ หากลูกยังพูดเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถพูดบอกบทนำและกระตุ้นให้ลูกพูดตาม โดยต้องกระตุ้นถามทวนซ้ำสัก 3-5 รอบ เช่น น้อง จะไปไหน : น้อง-ไป-ฉี่ หรือ น้องจะทำอะไร: น้อง-ดื่มน้ำ เป็นต้น
  • การเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อสื่อสารตามสถานการณ์นั้น ๆ หากลูกใช้ภาษาท่าทางไม่สมวัย พ่อแม่สามารถเริ่มจากจากการจับนำให้ลูกใช้ท่าทางประกอบการสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น จับมือฝึกลูกชี้สิ่งที่ต้องการแทนพฤติกรรมการดึงพ่อแม่ไปโดยไม่สื่อสารอย่างชัดเจน หรือฝึกการผงกหัวรับเพื่อสื่อความหมายว่า “เอา” “ใช่” หรือส่ายหน้าแทนคำว่า “ไม่เอา” “ไม่ใช่” เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ลูกต้องเน้นการรวมพลังของบุคคล 3 ฝ่ายเพื่อช่วยลูกให้ถูกวิธี ซึ่งประกอบด้วย (1) แพทย์ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก) (2) ผู้เชี่ยวชาญ (นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด) และ (3) คนที่บ้าน (คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและทุกคนที่บ้านที่เกี่ยวข้องกับลูก) นอกจากนี้ การใช้ “ภาพ” นับเป็นสื่อการสอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการฝึกลูก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านควรรู้วิธีฝึกลูก ตลอดจนมีการกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน และควรเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อลูกสามารถใช้ท่าทางในการสื่อสารตามสถานการณ์ให้ได้ด้วย

ปัญหาความล่าช้าทางพัฒนาการทางภาษาและการพูดในลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ไม่ว่าจะตั้งต้นอยู่ที่ระดับใด ตั้งแต่ลูกไม่พูดเลยหรือลูกพูดได้แต่คุณภาพการพูดไม่สมวัย คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาได้ และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะช่วยสนับสนุนข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Hulki Okan Tabak | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร?

เมื่อลูกเริ่มออกเสียงตาม “ภาพ” ได้แล้ว เราจะเพิ่มศักยภาพทางภาษาให้ลูกผ่านการฝึกตอบคำถามและลดการพูดทวนตาม โดยมีวิธีฝึก ดังนี้

  1. ถามคำถามตามภาพ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพและพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว)
  2. ถามซ้ำและชี้ภาพคำตอบ โดยผู้สอนงดการพูดนำคำท้ายลงทีละคำ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพ และพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | …ทั้งนี้ ผู้สอนไม่ต้องพูดนำว่า “ข้าว” แต่ผู้สอนชี้ที่ “ภาพข้าว” เพื่อให้ลูกตอบเอง) สำหรับขั้นตอนนี้ ผู้สอนจำเป็นต้องอดใจรอให้ลูกพยายามตอบเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อย จนถึงขั้นที่ผู้สอนสามารถลดการพูดนำลงไปทีละน้อยได้
  3. กรณีที่ลูกยังตอบคำถามเองไม่ได้ ผู้สอนจะบอกบทและกระตุ้นให้ลูกพูด (คำตอบ) ตามสัก 3 รอบ จากนั้น ต้องมีการถามซ้ำอีกรอบทันที  พร้อมกับกระตุ้นให้ลูกมองภาพคำศัพท์นั้น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
  4. กรณีถามหลายครั้ง แต่ลูกยังตอบไม่ได้หรือ พูดทวนคำถาม ให้ผู้สอนถามคำถามด้วยเสียงเบาพอได้ยิน และพูดคำตอบในลักษณะการบอกบท พูดนำคำตอบต่อคำถามทันทีด้วยเสียงที่ดังขึ้น และกระตุ้นให้ลูกพูดคำตอบตาม

บทความของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะบอกหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถช่วยลูกสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป

เครดิตภาพ: Julian Larcher | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

“ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร?

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ใช้ “ภาพที่เป็นรูปธรรม” ในการสอนลูกศิษย์ออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ให้พูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้น ทั้งนี้เพราะ “ภาพ” เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ครูกระตุ้นพัฒนาการกำลังพูด กำลังสอน หรือต้องการสื่อสารในสถานการณ์นั้น ๆ ได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้ง “ภาพ” เป็นตัวช่วย (Cue) ให้เด็กเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้

โดยทั่วไป ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นในการใช้ “ภาพ” ในการสอน ดังนี้

  • ช่วยให้เด็ก ๆ พูดได้ยาวขึ้น
  • กระตุ้นให้เด็ก ๆ พยายามออกเสียงออกมาเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อยจนถึงขั้นที่ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) สามารถลดการพูดนำลงได้ทีละน้อย

ส่วนวิธีใช้ “ภาพ”เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด มีขั้นตอนดังนี้

  1. แปลงคำพูดในประโยค ให้เป็น “คำ”
  2. แปลงคำทุกคำให้เป็น “รูปภาพ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. นำภาพมาเรียงเป็นช่องตามจำนวนคำในประโยคนั้น
  4. ผู้สอนพูดสั้น ๆ เป็นคำ ๆ ตามภาพ โดยพูดนำช้า ๆ ใช้คำพูดสั้น ๆ เป็นคำที่ตรงตามภาพ และจับนิ้วเด็กร่วมชี้ไปตามภาพอย่างช้า ๆ พร้อมกับพูดนำ โดยผู้สอนจะทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ สัก 3-5 รอบ
  5. กระตุ้นให้เด็กชี้และพูดตามสัก 3-5 รอบ ซึ่งอาจต้องรอเวลาชั่วครู่เพื่อให้เด็กพูดตาม
  6. เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยที่จะพูดตามเป็นประโยค ผู้สอนจะชี้ภาพทีละพยางค์ เริ่มลดการพูดนำ เพียงแค่ชี้ไปที่ภาพแทนการพูดนำ เพื่อให้เด็กพยายามออกเสียงพูดออกมาด้วยตนเอง
    • กรณีเด็กยังพูดเองไม่ได้ ให้ใช้วิธีข้างต้นซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ทุกวัน หรือให้เด็กพยายามต่อคำ
    • กรณีเด็กออกเสียงได้ แต่ยังไม่มั่นใจ หรือยังไม่เข้าใจ ผู้สอนจะชี้ภาพและออกเสียงพูดนำโดยลดเสียงลง เช่น ประโยค “น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว”
  1. ทำซ้ำบ่อย ๆ ชวนเด็กชี้และพูดตามภาพ และลดการพูดนำ รอเวลาชั่วครู่ให้เด็กพยายามคิดและพูดเอง โดยสามารถชี้นำด้วยการชี้ที่ภาพคำตอบ

เนื่องจาก “ภาพ” เป็นสื่อที่ใช้ได้ดีในการสื่อความหมายให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการสอนได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับเด็ก ๆ ได้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จึงได้จัดทำ “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” เพื่อจัดจำหน่าย โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านที่ต้องการใช้ “ภาพ” ในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก ๆ ในขณะที่ลูกอยู่บ้านต่อไป

ชมตัวอย่าง “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” กดลิงก์ข้างล่างนี้

https://www.facebook.com/255269831707213/posts/852651015302422/

บทความ เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ยังมีอีก 2 ตอนซึ่ง “บ้านอุ่นรัก” ฝากทุกท่านโปรดติดตามอ่านเพื่อได้ข้อมูลและแนวทางเพิ่มเติมในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Quokkabottles | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 1: ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้ | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 1: ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้ | บ้านอุ่นรัก

ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้?

ความล่าช้าทางพัฒนาการทางภาษาและการพูดในลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ลูกอาจไม่พูดเลย หรือแม้จะพูดได้ก็มักพูดไม่เป็นภาษา คุณภาพการพูดไม่สมวัย พูดด้วยคำพูดพยางค์เดียว พูดตาม พูดทวนคำถาม พูดเป็นประโยคยาว ๆ ไม่ได้ หรือพูดสานต่อบทสนทนาไม่ได้ เป็นต้น

สำหรับลูก ๆ ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและการพูด บุคคล 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้ คือ คนที่ช่วยลูกได้

1: แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก

การบำบัดรักษาปัญหาพัฒนาการทุกรูปแบบของลูกต้องเริ่มต้นจากการที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองพาลูกไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์ในที่นี้ หมายถึง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก ทั้งนี้ แม้แพทย์ไม่มีบทบาทโดยตรงในการสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด แต่แพทย์จะวินิจฉัยอาการเพื่อระบุปัญหาในภาพรวมและวางแผนการบำบัดรักษาให้ถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างการบำบัดรักษา แพทย์จะประเมินและติดตามผลการบำบัดรักษา ตลอดจนปรับแผนการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกเป็นระยะ ๆ ด้วย

2: นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด

นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทหลักในการสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก นอกจากนี้ นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดจะให้คำแนะนำและแนวทางเรื่องการส่งเสริมทักษะด้านนี้แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง เพื่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองนำไปปรับใช้เพื่อช่วยลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้านควบคู่กันไป ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกได้ฝึกทักษะการพูดและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนลูกสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ได้ดีขึ้นในวิถีชีวิตจริง

3: คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้าน

เมื่อนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดให้คำแนะนำเรื่องวิธีฝึกลูกที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็จะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ลูกที่บ้านควบคู่ไปกับผู้เชี่ยวชาญได้ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรแบ่งปันข้อมูลและวิธีฝึกลูกให้คนที่บ้านทุกคนที่เกี่ยวข้องกับลูกได้ทราบร่วมกันด้วย เพื่อนำไปใช้ในทิศทางเดียวกันและแทรกการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดได้บ่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติตามจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเริ่มคุ้นเคยที่จะพูด พูดอย่างมีคุณภาพสมวัยขึ้น พูดได้ยาวขึ้น และสามารถพูดสานต่อบทสนทนากับคู่สนทนาได้ดียิ่งขึ้น

 

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก ๆ ในลักษณะการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ (1) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก (2) นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด และ (3) คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้าน เป็นวิธีช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดที่คืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว  อีกทั้งยังช่วยแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนนักบำบัด และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการพาลูกไปรับการบำบัดรักษานอกบ้านได้อีกประการหนึ่ง

สำหรับบทความเรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” นี้ยังมีอีก 3 ตอน ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองติดตามอ่านให้ครบทุกตอน เพื่อท่านได้รู้แนวทางการสร้างเสริมทักษะด้านนี้ให้กับลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้าน จนสามารถช่วยลูกควบคู่ไปกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

เครดิตภาพ: Ricke 76 | Unsplash | Slidesgo

ตัวอย่างปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวและกิจกรรมเพื่อช่วยแก้ไข | บ้านอุ่นรัก

ตัวอย่างปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวและกิจกรรมเพื่อช่วยแก้ไข | บ้านอุ่นรัก

1: ปัญหาการทรงตัว

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อแก้ไขปัญหา: เดิน วิ่ง คลาน กระโดด เดินขึ้น-ลงบันได  วิ่ง-กระโดด-เคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง

2: ปัญหาการสมดุลตนเอง ล้มบ่อย เบรกตนเองไม่ทัน

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อแก้ไขปัญหา: กิจกรรมที่มีอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มทักษะการทรงตัว เช่น กระดานโยกเยก ถาดทรงตัว

3: ปัญหาการใช้อวัยวะสองส่วนร่วมกัน

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อแก้ไขปัญหา: กิจกรรมยืดหยุ่น โยคะ ท่าออกกำลังกาย กายบริหาร ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ

4: ปัญหาการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะรีบร้อน รนรีบ ไม่ระวังอันตราย ไม่มีจังหวะจะโคน

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อแก้ไขปัญหา: กิจกรรมที่มีอุปกรณ์เป็นสิ่งกีดขวางเพื่อให้เด็กระมัดระวัง คุมตนเองมากขึ้น ไม่รีบร้อน เช่น เดินสะพานทรงตัว เดิน-วิ่งผ่านกรวยยาง เดินข้ามสิ่งกีดขวาง กระโดดบนรอยเท้า

5: ปัญหาซน อยู่ไม่สุข หรือในทางตรงข้ามคือเฉื่อยช้า

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อแก้ไขปัญหา: กิจกรรมที่ใช้พลังงาน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด เต้นประกอบเพลง และกิจกรรมเคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง