การดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”

การดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”

ทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” คำนึงถึงอาการหลักของเด็กออทิสติก คือ ความหมกมุ่นและชอบอยู่ในโลกของตนเอง มาเป็นหลักในการวาง “3 แนวทางกระตุ้นพัฒนาการ” อันนำไปสู่การบำบัดรักษา คือ

  1. การมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างนักเรียนและทีมครู เพื่อให้เด็กสัมผัสรักผ่านสัมพันธภาพดี ๆ ความสนุก การเล่น พร้อม ๆ ไปกับการแทรกวินัยตามจำเป็นตามวัยเพื่อนำทางและต่อยอดทางพัฒนาการให้เด็กสามารถเจริญเติบโตและยืนหยัดอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความหมาย
  2. การแทรกแซงและจัดสภาพการดำรงชีวิตประจำวันให้เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่ครอบคลุมแบบบูรณาการทุกด้าน
  3. การปรับแต่งพฤติกรรมที่ขัดขวางการดำรงชีวิตของเด็ก เช่น พฤติกรรมหงุดหงิด ยึดติดรูปแบบ แยกตัว และหมกมุ่นสนใจสิ่งของหรือกิจกรรมเฉพาะอย่างจนขาดความสนใจในเรื่องอื่น ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ “บ้านอุ่นรัก” ยังให้ความสำคัญกับ “การกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก (Early Intervention)” เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อมให้เด็กวัย 2-5 ขวบ (วัยก่อนเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล) โดย

  1. กระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกมีเป้าหมายในการแก้ไขอาการและธรรมชาติของเด็กออทิสติกที่ยังขัดขวางพัฒนาการ เช่น
  • เพิ่มความใส่ใจต่อบุคคลและสร้างเสริมทักษะการสานต่อปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง
  • กระตุ้นการเลียนแบบให้มีมากขึ้น
  • เพิ่มความสนใจต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างมีความหมาย
  • เพิ่มทักษะทางภาษา ซึ่งหมายรวมถึงการขยายศัพท์ การฟังเข้าใจ และกระตุ้นการพูดเพื่อการสื่อสาร
  • เพิ่มช่วงการคงสมาธิ
  • ปรับความสมดุลการเคลื่อนไหวและระบบการรับสัมผัส
  • ปรับพฤติกรรมที่ขัดขวางการดำรงชีวิต
  1. เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน (School Readiness) โดย
  • สร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยตนเอง
  • เพิ่มระดับการตอบสนองและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมตามตารางกิจวัตรประจำวันอย่างมีความหมายมากขึ้น
  • เตรียมการดำรงชีวิต ประกอบด้วยการควบคุมตนเองในด้านพฤติกรรม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ขัดขวางการดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกับบุคคลรอบข้าง
  • เพิ่มทักษะพื้นฐานในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน
  1. เตรียมความพร้อมด้านทักษะการเรียนรู้และพื้นฐานวิชาการ
  2. ประเมินความพร้อมของเด็กก่อนเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน

ในการทำงานของทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของ “บ้านอุ่นรัก” เราเน้นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเด็ก ๆ ตลอดจนการร่วมใจกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งบ้าน ทีมบำบัด และโรงเรียนของเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กที่พร้อมเข้าเรียนร่วมสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตในโรงเรียนและได้นำศักยภาพของตนเองมาใช้ในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มความสามารถ จนถึงระดับที่เกิดการเรียนร่วมอย่างมีความหมายต่อไป

อันที่จริงแล้ว แนวทางของเราทำได้ไม่ยาก และเราสนับสนุนให้คนที่บ้านทำแบบเดียวกันนี้คู่ขนานไปกับเรา ทั้งนี้เพราะ เมื่อทีมกระตุ้นพัฒนาการและคนที่บ้านร่วมใจกันทำตามแนวทางข้างต้น เด็กจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เราร่วมใจกันทำ

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการทราบข้อมูลเรื่องการบริการของเราหรือจะส่งลูกหลานวัย 2-5 ขวบที่มีอาการออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย มากระตุ้นพัฒนาการ ปรับแต่งพฤติกรรม และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล ท่านสามารถติดต่อเราได้หลายช่องทางเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เครดิตภาพ: Unsplash | @bakutroo | SlidesCarnival

ทำไมจึงต้องออกแบบการสอน | บ้านอุ่นรัก

ทำไมจึงต้องออกแบบการสอน | บ้านอุ่นรัก

“การออกแบบการสอน” ของทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะมาในรูปของกิจกรรมสนุก ๆ ที่ทีมครูวางแผนการสอนมาเป็นอย่างดี เพื่อช่วยสนับสนุนให้เด็กเข้าใจ และสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่

การช่วยให้เด็กที่ขาดสมาธิ เด็กที่เรียนรู้ได้ล่าช้า หรือเด็กที่มีทักษะทางภาษายังไม่สมวัย ครูผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน และนำองค์ความรู้เรื่องการออกแบบการสอน มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรม

สำหรับทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของ “บ้านอุ่นรัก” เรานำหลักการจากหลายแนวคิดทฤษฎีมาประยุกต์และปรับใช้เป็นวิธีการสอน โดยเน้นการออกแบบสื่อและแบบฝึกหัดที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล และต้องเหมาะกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กทั้ง 3 ระดับพร้อม ๆ กันไปด้วย คือ (1) เด็กที่เรียนรู้เร็ว (2) เด็กที่เรียนรู้ระดับปานกลาง และ (3) เด็กที่เรียนรู้ช้า

ที่ “บ้านอุ่นรัก” เรามีวิธีการสอนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่เรียนรู้ได้ล่าช้า และขาดสมาธิ ดังนี้

  1. เน้นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสหลายมิติ หรือเรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรม
  2. นำกิจกรรมเคลื่อนไหวมาช่วยเพิ่มความสนใจในการเรียนรู้
  3. ใช้หลักการย่อยงาน หรือ Task Analysis โดยนำเนื้อหาวิชาที่ยาก ซับซ้อน มาแปลงสภาพให้เด็กเข้าใจได้โดยง่าย
  4. ใช้ภาษาสั้น ๆ ตรงความหมาย เป็นรูปธรรมชัดเจน
  5. เพิ่มสื่อที่เป็นรูปธรรมให้เด็กเรียนรู้ผ่านการมองเห็น หรือ Visual Learning เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจเป็นรูปธรรม
  6. ในกิจกรรมที่ยากหรือซับซ้อน เราจะเริ่มด้วยกิจกรรมที่คาดว่าเด็กจะทำได้เอง 80 %

ทีมครูกระตุ้นพัฒนาการเด็กของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ออกแบบการสอนอย่างไร ลองชมตัวอย่างกันสักหน่อยดีไหมคะ?

  • ออกแบบอย่างเป็นรูปธรรม
  • จัดเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการมองเห็น (Visual Learning) เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น
  • ใช้สื่อหลายรูปแบบ เช่น ภาพ ตัวเลข ตัวอักษร สี สัญลักษณ์ บัตรคำ โมเดล การ์ดภาพ การวาดภาพประกอบ หรือเขียนคำ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถจดจำหรือเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นเมื่อต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียนรู้เชิงแนวความคิด (Concept) การเรียนรู้เชิงมิติสัมพันธ์ หรือการจัดแยกประเภท

 

ทีมครูของ “บ้านอุ่นรัก” มั่นใจในการออกแบบการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ เรายังมั่นใจด้วยว่าเรารับมือเด็กได้ทุกรูปแบบ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานมาเรียนรู้ กระตุ้นพัฒนาการ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับเรา สามารถคลายความวิตกกังวลได้ค่ะ เราสัญญาจะทำเต็มที่ ทำอย่างถูกหลักการ และทำอย่างสุดความสามารถทุกวันเพื่อลูกหลานของทุกท่านและลูกศิษย์ของเราค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย หากสนใจส่งลูกหลานมาเรียนที่ “บ้านอุ่นรัก” หรือจะสั่งซื้อสื่อการเรียนการสอนเพื่อไปสอนเด็ก ๆ ที่บ้าน หรือต้องการลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ที่ “บ้านอุ่นรัก” จัดทำขึ้นและเหมาะกับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู หรือต้องการให้ทีมครูของเราเป็นที่ปรึกษาในการสร้างทีมครอบครัวบำบัด ท่านสามารถติดต่อทีมกระตุ้นพัฒนาการของ “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี” ผ่านไลน์ได้ค่ะ

เครดิตภาพ: freepik.com | vectors | photographeeasia

ทำไมนะ แม้เราจะทุ่มเทนำลูกไปฝึกกับผู้เชี่ยวชาญบ่อยครั้งขนาดไหน แต่ลูกอาการไม่ดีขึ้นดังที่คิด | บ้านอุ่นรัก

ทำไมนะ แม้เราจะทุ่มเทนำลูกไปฝึกกับผู้เชี่ยวชาญบ่อยครั้งขนาดไหน แต่ลูกอาการไม่ดีขึ้นดังที่คิด | บ้านอุ่นรัก

เหตุผลที่ลูกอาการไม่ดีขึ้นดังที่คิดเกิดจากข้อจำกัด 2 ประการ

  1. เราไม่เข้าใจว่ากลุ่มอาการออทิซึมเป็นกลุ่มอาการพัฒนาการล่าช้าแบบแผ่ขยาย ดังนั้น หากเรามุ่งลงน้ำหนักการกระตุ้นพัฒนาการไปเน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรากังวลเป็นพิเศษ โดยไม่ได้แก้ไขพัฒนาการด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน อาจเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุดหรือไม่ครอบคลุมมากพอที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าของพัฒนาการในภาพรวม ดังนั้น การแก้ไข คือ เราจำเป็นต้องแก้ไขพัฒนาการแบบบูรณาการพร้อมกันไปในทุกด้าน เพราะปัญหาพัฒนาการบางเรื่องจะส่งผลถึงพัฒนาการด้านอื่น ๆด้วย ทั้งในแง่ที่จะทำให้อาการแย่ลงหรือดึงให้พัฒนาการทุกด้านก้าวหน้าในทางดีขึ้น
  2. ประเด็นที่พบบ่อย คือ หากที่บ้านไม่ได้นำแนวทางที่ทีมบำบัดจัดการกระตุ้นพัฒนาการมาประยุกต์ให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน จึงไม่เกิดความซ้ำ หรือลูกไม่เกิดประสบการณ์ตรงมากพอ ในภาพรวมลูกมักจะไม่ดีขึ้น หรือพัฒนาการก้าวหน้าช้ากว่าที่ควรหรือลูกอาจจะดีขึ้นเฉพาะกับครูผู้ที่ได้คลุกคลีลงมือทำจริงจังกับลูกเท่านั้น ดังนั้น การแก้ไข คือ เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเรียนรู้แนวทางที่ทีมบำบัดจัดการกระตุ้นพัฒนาการและนำมาประยุกต์ให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน นำมาสร้างบรรยากาศในบ้านให้เกิดการกระตุ้นพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอและมากพอที่ลูกจะเกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ ๆ

เครดิตภาพ: freepik.com | pch-vector

ชวนลูกเล่น Flashlight | บ้านอุ่นรัก

ชวนลูกเล่น Flashlight | บ้านอุ่นรัก

ลูกออทิสติก สมาธิสั้น จำนวนหนึ่งมีระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ลูกจึงแสดงพฤติกรรมที่พอจะมองเห็นได้หลายรูปแบบ เช่น

  • หมกมุ่นสนใจเป็นพิเศษกับการรับรู้ทางสายตา จึงชอบเพ่งมองภาพซ้ำ ๆ มองตัวอักษร สี สัญลักษณ์ ยี่ห้อสินค้า ธงชาติ ชอบมองสิ่งที่มีพื้นผิวมันวาว สิ่งที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เข็มนาฬิกา หรือมองแนวกระเบื้องที่พื้นหรือฝาผนัง มองตามเสาไฟฟ้า มองป้ายโฆษณาขณะนั่งรถ
  • แต่ลูกบางคนอาจมีการหลบเลี่ยงการมองบางประเภท เช่น ไวต่อแสง ไม่ชอบเมื่อมีคนถ่ายภาพแล้วมีแสงเฟรช ไม่ชอบไฟกระพริบ ไม่ชอบแสงจ้า
  • หรือลูกบางคนมักจะมองอะไรแบบละสายตาโดยง่าย มองแบบไม่จดจ่อ มองไม่ต่อเนื่อง เหม่อมองแบบไม่โฟกัสสายตา สอดส่ายสายตาไปมา หรือตาลอยแบบมองทะลุผ่าน

จากปัญหาระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ทีมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกและสมาธิสั้นจึงมักจะจัดกิจกรรมให้ลูกศิษย์ได้เล่น Flashlight เล่นฉายไฟ เล่นไฟกระพริบ ที่เด็ก ๆ ได้มองตามแสงไฟ เพื่อ

  • กระตุ้นการรับรู้ทางสายตา (Visual Perception)
  • การมองตามสิ่งเคลื่อนไหว (Eye Tracking) และการกรอกตาตามวัตถุที่เคลื่อนที่
  • การฝึกคงสายตาจดจ่ออย่างต่อเนื่อง เพิ่มการคงสมาธิ
  • ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ เวลาที่ลูกหงุดหงิด

ตัวอย่างอุปกรณ์การเล่นที่นำมาประยุกต์ได้ เช่น ไฟฉาย ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก) ไฟเธค ไฟกระพริบ

ไฟฉาย

แบบที่ 1: ปิดไฟในห้อง ปิดม่านให้ห้องมืด แล้วเปิดไฟฉาย ใช้ไฟฉายส่องเคลื่อนที่ไปตามจุดต่าง ๆ ช้า ๆ ให้เด็กมองตาม  การเคลื่อนที่ของแสงในรูปแบบอิสระ

แบบที่ 2: ฉายไฟแบบระนาบที่ต่อเนื่องเพื่อฝึกมองแบบคงสายตา เช่น ฉายไฟย้ายตำแหน่งต่อกันเป็นเส้นทางที่ต่อเนื่อง อาจนับในใจ 1 ถึง 20 จุด โดยเคลื่อนที่ไฟฉายช้า ๆ ต่อเนื่องเป็นแนว เช่น ทางยาว ส่องไฟจากบนลงล่างแบบแนวตั้ง  ส่องแนวนอน  แนวเฉียงต่อกัน  ส่องเป็นแนวรูปสี่เหลี่ยม

แบบที่ 3: ส่องไฟและสอนคำศัพท์ เช่น ติดภาพคำศัพท์ที่ต้องการสอน จะติดแบบอิสระ หรือจะติดเป็นแนวระนาบ หรือสลับรูปแบบก็ได้ จากนั้นส่องไฟไปยังภาพคำศัพท์เพื่อกระตุ้นการพูด  หรือหากทำจนลูกจำคำศัพท์ได้แล้ว อาจรอให้ลูกพูดก่อนจึงส่องภาพถัดไป

แบบที่ 4: ปิดไฟมืด แล้วฉายไฟฉายบนโต๊ะ หรือบนพื้นให้ลูกไล่ตบแสง ในรูปแบบส่องไฟอิสระ หรือส่องตามแนวระนาบ  และอาจสลับบทบาทให้ลูกเป็นคนส่องแสงไฟ แล้วพ่อแม่ตามตบแสงเพื่อเล่นสนุกร่วมกัน

ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก)

วิธีเล่น: ปิดไฟให้มืด แล้วส่องไฟฉายแบบเคลื่อนที่ให้เกิดแสงสะท้อนในมุมต่าง ๆ เริ่มจากส่องแบบเคลื่อนที่แนวระนาบช้า ๆ ให้ลูกมองต่อเนื่อง จากนั้น ส่ายไฟฉายแบบเร็ว ๆ ย้ายจุดไปมา ให้เกิดแสงกระทบ ให้ลูกมองตาม

ไฟเธค ไฟกระพริบ (ขนาดเล็ก)

แบบที่ 1: ปิดไฟมืดแล้วเปิดแสงให้ลูกวิ่งเล่น หรือเปิดเพลงจังหวะเร้าใจสนุก ๆ แล้วชวนลูกเต้นรำ เคลื่อนไหวร่างกายด้วยกัน

แบบที่ 2: นำไฟกระพริบใส่ในเต็นท์ที่มีขนาดใหญ่พอควร ให้ลูกมุดไปนั่งเล่น

แบบที่ 3: ในสถานการณ์ที่ลูกหงุดหงิด ลองเปิดไฟนี้ให้ลูกได้ใช้เวลาสงบใจกับตนเอง ในลูกรายที่ไม่กลัวแสง หลังจากอยู่ในบรรยากาศของแสงไฟ ลูกจะเริ่มผ่อนคลายจากความหงุดหงิดภายใน  เพราะความสนใจถูกเบี่ยงเบนมายังสิ่งเร้าภายนอกคือแสงไฟ

คำเตือน

  • กรณีที่พบว่าลูกเลี่ยงหรือหวาดกลัว กลัวแสงไฟ โดยเฉพาะการใช้ไฟกระพริบหรือแสงจ้า ควรปรับระดับแสงให้สีนวล และเริ่มจากเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายเวลาให้นานขึ้น
  • ในทุกกิจกรรมเราจะไม่ปล่อยให้ลูกหมกมุ่นกับกิจกรรมใดนาน ๆ หรือซ้ำ ๆ ดังนั้นในแต่ละกิจกรรมควรใช้เวลาไม่เกิน 10-20 นาทีต่อรอบ เลือกทำในบางวันสลับกับการทำกิจกรรมอื่น หรือขึ้นอยู่กับปฎิกริยาตอบสนองของลูกว่าสนุก สนใจ และมีส่วนร่วมหรือไม่

เครดิตภาพ: https://www.freepik.com/rocketpixel

จิ๋วแจ่มแจ๋ว | บ้านอุ่นรัก

จิ๋วแจ่มแจ๋ว | บ้านอุ่นรัก

คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่เด็ก 3 ขวบควรทำได้? และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอบอกเพิ่มเติมว่าคุณครูในโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 ก็คาดหวังว่าผู้ปกครองได้เตรียมเด็ก ๆ ให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนเข้าโรงเรียนแล้ว

เด็ก 3 ขวบควรดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องเหล่านี้

  • ปัสสาวะในห้องน้ำได้เอง ไม่ปัสสาวะราด ไม่ใส่แพมเพิส

สำหรับบางบ้านที่ลูกยังใส่แพมเพสอยู่ที่บ้าน ต่อไปนี้ ต้องทำใจนิ่ง ๆ ยิ้มสู้ ตั้งรับภาระการซักกางเกงและการหมั่นถูพื้นเปียก เพื่อแลกกับการเติบโตสมวัยของลูก โดยทุก ๆ 30 นาที หมั่นพาลูกเข้าห้องน้ำ กระตุ้นให้ลูกกระตุกกางเกงลงเอง กระตุ้นให้ลูกเบ่งฉี่ ซึ่งอาจต้องร้องเพลงรอ รอ และรอนานสักหน่อย แต่ขอให้รออย่างใจเย็น ลองเปิดน้ำช่วยบิ้วท์อารมณ์ พร้อมพูดกับลูกว่า “ฉี่ ๆ ๆ”  จากนั้นก็รออีกจนกว่าลูกจะสามารถเบ่งฉี่ออกมาสำเร็จ

  • เลิกนมขวดในตอนกลางวัน (และเมื่อทำได้จึงเลิกนมขวดกลางคืนต่อไป)

บางบ้านอาจกังวลว่าลูกทานอาหารได้ไม่ดี จึงยอมให้ดื่มนมขวด โดยลืมไปว่าตราบใดที่ลูกเลือกที่จะอิ่มท้องด้วยนมได้ ลูกก็จะไม่พยายามทานอาหาร ซึ่งประเด็นลูกเลิกนมขวดได้แล้วหรือไม่นี้ บอกอะไรได้ค่อนข้างลึกล้ำ คือ บ้านที่ตัดใจ ตั้งใจทำจนทำสำเร็จ เป็นการยืนยันให้เรารู้ว่าครอบครัวนี้จะนำทางลูกได้แน่นอน เพราะเขารู้ว่าอะไรควรทำเพื่อการเติบโตก้าวต่อไปของลูก

  • ทานอาหารโดยนั่งทานที่โต๊ะ ไม่เดินป้อน ตักทานเอง ทานได้ปริมาณ 10 คำขึ้นไป ทานอาหารได้หลากหลายชนิด

เรื่องการทานอาหารเป็นเรื่องที่ปรับง่ายที่สุดสำหรับเด็ก ๆ ในช่วงวัยก่อน 3 ขวบ ส่วนเด็กช่วงวัย 3-4 ขวบ อาจปรับยากขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ค่อย ๆ ฝืนและฝึกได้

  • แต่งตัวแบบง่าย ๆ ได้เอง ถอด-ใส่รองเท้าได้เอง
  • นอนกับที่ในช่วงกลางวันโดยไม่ต้องนอนกอดหรืออุ้ม
  • ให้ความร่วมมือเมื่อผู้ใหญ่ช่วยนำในกิจกรรมช่วยเหลือตนเอง เช่น การแปรงฟัน
  • จับข้อมือลูกพาเดินแทนการอุ้ม

วันนี้ “บ้านอุ่นรัก” ขอกล่าวถึง “การช่วยเหลือตนเองที่เด็กวัย 3 ขวบควรทำได้” เพียงเท่านี้เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองพอที่จะเห็นภาพว่าท่านควรเตรียมลูกวัยก่อน 3 ขวบให้พร้อมในด้านใดก่อนวัยอนุบาล ซึ่งหลักการทำให้สำเร็จ คือ

  • สร้างความเชื่อให้ตัวเราเองและลูกว่าถึงวัยที่ลูกจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดแล้ว นี่คือก้าวแรกที่ลูกจะต้องเริ่มเติบโตอย่างสมวัย
  • จากนั้นจับนำ กระตุ้นให้ลูกร่วมลงมือทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ค่อย ๆ ฝึกไปอย่างช้า ๆ แต่มีความหมาย
  • ไม่เน้นว่าลูกต้องทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในทันที ณ จุดเริ่มต้น ขอเพียงลูกได้ร่วมทำ เมื่อเวลาผ่านไป ดูท่าทีของลูก หากพบว่าลูกเริ่มจับทางได้และเริ่มทำได้เอง จึงค่อย ๆ ลดการช่วยในบางขั้นตอนของกิจกรรมจนถึงจุดที่ลูกทำสิ่งนั้น ๆ ได้เองอย่างสมบูรณ์แบบ

การเลี้ยงลูกตัวจิ๋วให้เติบโตอย่างสมาร์ทแจ่มแจ๋วจะทำให้ลูกไม่ต้องรอพึ่งพิงคนอื่น ลูกดูแลตัวเองได้สมวัยเหมือนกับที่เด็กคนอื่นทำได้ ยืนบนขาของตนเอง และพร้อมก้าวเดินสู่การเติบโตในขั้นถัด ๆ ไป