จากประสบการณ์ให้คำปรึกษาพ่อแม่เด็กออทิสติกในวัยรุ่น และจากการที่ครูนิ่มได้ไปบรรยาย โดยมักจะสอดแทรกเรื่องนี้บ่อยๆ ครูนิ่มพบว่าเป็นเรื่องเพศเป็นประเด็นที่เรามักหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง หรือไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจน วันนี้จึงขอนำประเด็นนี้มากล่าวถึงพอสังเขป และคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม ทีมงานบ้านอุ่นรักได้เขียนแนวทางเรื่องการเลี้ยงลูกในวัยรุ่น และประเด็นเรื่องเพศของเด็กออทิสติก ในแง่มุมมต่างๆไว้ค่อนข้างละเอียดในคอร์สออนไลน์ เรื่อง การดูแลเด็กออทิสติก ในหัวข้อการเลี้ยงดูลูกออทิสติกในวัยรุ่น ท่านที่สนใจ ติดตามได้นะคะ

การสอนเรื่องเพศ เราควรสอนสอดแทรกไปตามเวลา สถานการณ์ที่เหมาะสม สอนตามเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน

1.อายุที่ควรเริ่มสอดแทรกการสอนเรื่องเพศ

ในเด็กผู้หญิง  ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุ 9-16 ปี   เด็กผู้ชาย อายุ 10-18 ปี ( การเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็น เช่น เด็กผู้หญิงเริ่มมีเต้านม มีประจำเดือน เริ่มมีสิว เด็กผู้ชายเสียงเปลี่ยน เริ่มมีขน เริ่มฝันเปียก )

2. หลักการสอนเรื่องเพศ

               *  หลีกเลี่ยง        * ป้องกัน             *  แก้ไข

การคำนึงถึง สภาพแวดล้อมด้าน บุคคล สถานที่ สถานการณ์ ที่ปลอดภัยเพื่อลดโอกาสเสี่ยงของลูก มีการสอน ล่วงหน้าเป็นขั้นตอนชัดเจน ถึงการป้องกันการถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เลี่ยงประสบการณ์ตรง เช่น สื่อที่ยั่วยุอารมณ์เพศ หรือความอยากรู้ อยากลอง     

3. การจัดการตนเองเมื่อมีความต้องการทางเพศ 

เราคงเลี่ยงการเจริญเติบโตตามธรรมชาติไม่ได้  เมื่อถึงวัยเจริญพันธ์ จริงๆทั้งลูกสาวลูกชายจะเริ่มสนใจเพศตรงข้าม  โดยเฉพาะลูกชาย ลูกจะเริ่มรู้สึกชัดเจนถึงอวัยวะเพศแข็งตัว  เริ่มฝันเปียก  มีการหลั่ง เริ่มหาวิธีช่วยตนเองในการปลดปล่อยความรู้สึกทางเพศ ทั้งการถูไถและหาอุปกรณ์เสริมต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ได้ห้ามที่ลูกจะปลดปล่อย คุณพ่อ  พี่ชาย หรือญาติผู้ชาย ควรมีบทบาทในการลอบสังเกตและเมื่อเห็นจังหวะเหมาะอาจสอนวิธีการให้ลูกสามารถปลดปล่อยได้ตามธรรมชาติ แต่ต้องระบุและตั้งกฎเหล็กชัดเจนว่าทำได้ที่ไหน ส่วนใหญ่แนะนำห้องน้ำเฉพาะที่บ้าน ทำได้วันละกี่ครั้งโดยดูตามธรรมชาติของลูก แต่ไม่มากเกินไปจนหมกมุ่น

4. สอนให้ลูกปฏิบัติตัวให้ สุภาพ เหมะสมตามวัย

เช่น ไม่เข้าไปคลอเคลีย  ประชิดตัว มีระยะห่าง ไม่เข้าไปใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกในบ้าน ระวังการพูดคุยกับบุคคลอื่นหรือการตั้งคำถามที่ลูกอาจถามคำถามที่ย้ำคิดย้ำทำประเด็นเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อย ซึ่งจะสร้างความระแวง เกิดความรู้สึกทางลบได้

5. พบแพทย์ประจำตัวทางกายและพัฒนาการของลูก

ควรพบแพทย์ อย่างน้อยปีละครั้ง และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับคำปรึกษาและร่วมวางแผนรับมือล่วงหน้า กับภาวะทางร่างกายโดยเฉพาะช่วงรอยต่อสู่วัยรุ่น เช่น การวางแผนเรื่องประจำเดือนของเด็กผู้หญิง การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เด็กมักจะกลับมามีอารมณ์รุนแรงชัดเจนขึ้นในวัยรุ่น

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 5 สิ่งต้องรู้ เพื่อการสอนเด็กออทิสติก เมื่อเขาเริ่มมีความต้องการทางเพศ ซึ่งถ้าหากท่านใด มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามกลับมาทางบ้านอุ่นรักได้ตามช่องทางที่ท่านสะดวก คลิกที่นี่เลยค่ะ

และหากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ก็อย่าลืมช่วยกันแชร์ ให้กับคนที่คุณรัก ได้อ่านกันด้วยนะคะ ทีมงานบ้านอุ่นรัก ขอขอบคุณค่ะ