เพราะการทำความเข้าใจลำดับพัฒนาการของลูกก็คือส่วนหนึ่งของความรักที่เรามอบให้กับลูก ๆ  เพราะฉะนั้น เราจึงห้ามพลาด เราจึงต้องชมคลิปความรู้นี้ เพื่อเริ่มต้นทำความเข้าใจลำดับพัฒนาการด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลูก ๆ

กดลิงก์ข้างล่างนี้ เพื่อชมคลิป

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/ondemand/%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1-%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA/

เมื่อเด็กเล็กยังมีทักษะการสื่อสารที่จำกัด (1) ผู้ใหญ่จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีปัญหาการพูดหรือไม่?  และ (2) ผู้ใหญ่จะสอนอย่างไร ให้เด็กเล็กเข้าใจ ตลอดจนช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเองได้อย่างสมวัย?

เด็กเล็กยังมีทักษะการสื่อสารที่จำกัด

สำหรับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก ๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กยังใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารไม่ได้ ดังนั้น เด็กเล็ก ๆ จะสื่อสารกับเราผ่านสิ่งต่าง ๆ เช่น

  • การส่งสายตา
  • การมองหน้า
  • การส่งเสียง
  • การทำท่าทางประกอบ
  • การใช้อารมณ์ประกอบ หรือ
  • การชี้เพื่อสื่อสารบอกความต้องการ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กก็จะค่อย ๆ มีพัฒนาการด้านภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารมากขึ้น จึงลดการใช้ภาษาท่าทางหรือการใช้อารมณ์ประกอบการสื่อสารของตนเองลงทีละน้อย

ต้องทำอย่างไร เราจึงจะรู้ว่าเด็กเล็ก ๆ มีความบกพร่องด้านการใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารหรือไม่

จากการที่เราเข้าใจแล้วว่าเด็กเล็กยังไม่สามารถพูดเพื่อสื่อสารบอกความต้องการได้ แต่เด็กจะใช้เสียง อารมณ์ และท่าทางในการสื่อสารกับเราเพื่อบอกความต้องการ ดังนั้น พ่อแม่และคนที่บ้านต้อง (1) หมั่นสังเกต (2) ตั้งใจฟังการออกเสียงของเด็ก และ (3) ตั้งใจดูสิ่งที่เด็กแสดงออก เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของเด็ก ตลอดจนทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กด้านการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาพูดเพื่อการสื่อสารตามวัยด้วย หากสังเกตและพบว่าเด็กอาจมีความบกพร่องด้านนี้ ก็ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาทางสร้างเสริมพัฒนาการได้อย่างทันท่วงทีและถูกวิธีต่อไป

ต้องสอนแบบไหน เด็กเล็ก ๆ จึงจะเข้าใจ ตลอดจนช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเองได้อย่างสมวัย

จากคลิปนี้ รศ. พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ แนะนำวิธีสอน ดังนี้

  • พ่อแม่และคนที่บ้านต้องพูดกับเด็กตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยการพูดนี้ หมายถึง การพูดถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตประจำวันจริง เพื่อเด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารต่อไป
  • การพูดกับเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่และคนที่บ้านต้องพูดช้า ๆ ชัด ๆ และพูดซ้ำ ๆ เพราะเด็กเล็ก ๆ จะเรียนรู้ผ่านการเชื่อมโยงแบบจับคู่ หรือ Matching ซึ่งก็คือ เด็กได้ยินชื่อของสิ่งนั้น ๆ ที่มาพร้อมกับสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ทำ เช่น เด็กได้ดื่มนม เด็กได้สัมผัสผมของแม่เมื่อแม่บอกว่านี่เรียกว่าผม เป็นต้น
  • ในเด็กเล็กที่มีพัฒนาการด้านการใช้ภาษาพูดปกติ ไม่ล่าช้ามากเกินไป พ่อแม่และคนที่บ้านอาจไม่ต้องถึงกับตั้งใจสอนเด็กในเรื่องเป็นพิเศษ เพราะเด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องการนำชื่อของสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองได้เก็บรวบรวมในสมองมาเรียงร้อยเป็นประโยคสั้น ๆ หรือเป็นภาษาพูดตามวัยเพื่อการสื่อสาร และสิ่งที่เด็กพูดก็จะเชื่อมโยงสอดคล้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะที่เด็กใช้ชีวิตประจำวัน แต่สำหรับเด็กบางคนที่พูดล่าช้ามากจนผิดปกติ หรือเด็กมีพัฒนาการด้านการใช้ภาษาที่ล่าช้ากว่าวัยไปมาก ตลอดจนเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษบางกลุ่มที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร เช่น เด็กออทิสติก พ่อแม่และคนที่บ้านจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ มีการสอนโดยเฉพาะ และต้องใช้ตัวช่วยพิเศษเพื่อส่งเสริมทักษะด้านนี้ให้กับเด็ก เช่น ใช้หนังสือนิทานสำหรับเด็ก (หนังสือนิทานต้องเน้นเรื่องราวและรูปภาพที่น่าสนใจ) ใช้บัตรคำที่มีรูปภาพประกอบที่เชิญชวนให้เด็กสนใจ (พ่อแม่และคนที่บ้านต้องใช้บัตรคำเพื่อประกอบการเล่าเรื่อง) หรือใช้สื่อยุคใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือ ให้เหมาะสมและเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นต้น

เครดิต: รายการ RamaHealthTalk ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 | รศ. พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล