ในช่วงนี้ที่เชื้อโควิด-19 ระบาด ลุงตู่และทีมงานได้ประกาศใช้มาตรการหลัก 2 ประการ คือ (1) การทิ้งระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และ (2) การปิดการเรียนการสอน (School/Program Closures) เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ แต่มาตรการทั้ง 2 ประการก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องตระเตรียมความพร้อมในการรับมือภาวะการกักตัวลูกเล็กเด็กแดงไว้ที่บ้านตามไปด้วย
สำหรับลูกออทิสติกที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือให้รัดกุม เพื่อไม่ให้ลูกได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ด้านพัฒนาการ และความปลอดภัย ในช่วงที่ลูกต้องทิ้งระยะห่างทางสังคมกับทีมแพทย์ ทีมบำบัด ทีมโรงเรียน และทีมกระตุ้นพัฒนาการ ด้วยการงดหรือหยุดเข้ารับบริการด้านการฝึก การเรียนการสอน และการกระตุ้นพัฒนาการไปสักระยะหนึ่ง
เพื่อการเตรียมพร้อมและนำพาลูกออทิสติกฝ่าวิกฤติ “การทิ้งระยะห่างทางสังคม” และ “การปิดการเรียนการสอน” ไปให้ได้ เว็บไซต์ Autism Speaks ได้โพสต์แนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองชาวอเมริกันไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแนวทางบางประการ เราสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทแบบไทย ๆ ได้ ดังนี้ คือ
1. การเตรียมตัวดูแลลูก
2. การพูดคุยกับทีมโรงเรียน ทีมบำบัด หรือทีมกระตุ้นพัฒนาการของลูก เกี่ยวกับบริการต่าง ๆ และ
3. การติดต่อองค์กรในท้องถิ่น โซเชียลมีเดีย หรือกลุ่มทางสังคมที่สามารถให้ความช่วยเหลือหากลูกและท่านต้องการความช่วยเหลือ
1. การเตรียมตัวดูแลลูก
- จัดเตรียมข้าวของ เครื่องใช้ ของเล่น อุปกรณ์การเรียนการสอนแบบง่าย ๆ ที่พอหาได้ และสถานที่ให้พร้อมในการดูแลลูก
- จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินและเวชภัณฑ์ประจำบ้าน เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ ยาลดไข้ และยาอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกรณีลูกเจ็บป่วย
- ตรวจสอบความปลอดภัยของข้าวของ เครื่องใช้ และสถานที่ เพื่อลูกที่อยู่ที่บ้านได้รับความปลอดภัย
- จัดเตรียมอาหารให้เพียงพอ ทั้งนี้ต้องเป็นอาหารที่ไม่กระตุ้นอาการและการตื่นตัวของลูก
- เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับอาการของลูก บันทึกทางการแพทย์และสุขภาพ ข้อมูลการประเมิณอาการต่าง ๆ ของลูก และวิธีดูแลลูกไว้ให้พร้อมหากต้องนำมาใช้งาน
- เตรียมตารางนัดหมายกับแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนยืนยันวันนัดหมายล่วงหน้าให้เรียบร้อย
- เตรียมตารางกิจวัตรประจำวันประจำบ้านที่ช่วยสร้างเสริมพัฒนาการของลูกให้รอบด้าน เช่น การกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็นที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบสองท้างกับบุคคลรอบข้าง การเสริมทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร กิจกรรมเสริมสร้างการสบตา กิจกรรมสร้างเสริมการคงสมาธิ การช่วยเหลือตนเอง และกิจกรรมช่วยงานบ้านง่าย ๆ ที่ลูกสามารถทำได้สำเร็จ เป็นต้น
- บันทึกข้อมูลการติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางการติดต่ออื่น ๆ ของทีมแพทย์ ทีมบำบัด ทีมโรงเรียน และทีมกระตุ้นพัฒนาการของลูก
- ในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องไปทำงานนอกบ้าน ท่านควรติดต่อเครือข่ายผู้ปกครองลูกออทิสติกที่ท่านรู้จัก เพื่อนหรือคนในครอบครัวของท่านที่รู้จักและคุ้นเคยกับลูกเป็นอย่างดี ทีมบำบัดหรือทีมกระตุ้นพัฒนาการของลูก เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องการผลัดกันมาดูแลลูกแทนท่าน
2. การพูดคุยกับทีมโรงเรียน ทีมบำบัด หรือทีมกระตุ้นพัฒนาการของลูก เกี่ยวกับบริการต่าง ๆ เช่น
- บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางไลน์ ผ่านระบบวีดีโอคอล หรือเฟซบุ๊กกลุ่มปิด เป็นต้น
- บริการที่สามารถจัดส่งถึงบ้าน
- บริการในกรณีฉุกเฉิน
3. การติดต่อองค์กรในท้องถิ่น โซเชียลมีเดีย หรือกลุ่มทางสังคมที่สามารถให้ความช่วยเหลือหากลูกและท่านต้องการความช่วยเหลือ
คลิ๊กลิงค์นี้เพื่ออ่านบทความต้นฉบับ เรื่อง “How to handle clinical care during social distancing and school/program closures” จากเว็บไซต์ Autism Speaks
คลิ๊กลิงค์นี้เพื่ออ่านบทความต้นฉบับ เรื่อง “How to handle school closures and services for your child with autism” จากเว็บไซต์ Autism Speaks
https://www.autismspeaks.org/science-news/how-handle-school-closures-and-services-your-child-autism
ไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบเร็วหรือช้า บ้านอุ่นรักขอส่งมอบกำลังใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและลูก ๆ และเราพร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดของท่านในการเผชิญหน้ากับวิกฤตนี้ เพื่อผ่านพ้นไปด้วยกันให้ได้ด้วยดี
เครดิตบทความ: www.autismspeaks.org
เครดิตภาพ: Paul Hanaoka | Unsplash