วันนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอนำเสนอปัญหาการนอนหลายรูปแบบของลูก ๆ โดยเฉพาะลูกออทิสติกและลูกสมาธิสั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองมักนำมาพูดคุยและขอคำปรึกษากับทีมครูอยู่เสมอ ๆ
ก่อนจะพูดถึงปัญหาการนอนของลูก “บ้านอุ่นรัก” อยากสรุปความสำคัญของการนอนในเวลากลางคืนสำหรับลูก ๆ ในภาพรวมก่อนว่าทำไมลูกจึงควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่มและควรเข้านอนให้เป็นเวลา จนกลายเป็นกิจวัตร
“ลูกควรเข้านอนก่อนเวลา 4 ทุ่ม เพื่อลูกจะได้นอนหลับลึกก่อนเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งของฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเซลล์กระดูก ตลอดจนช่วยเพิ่มการดูดซึมของโปรตีนในร่างกาย”
แต่ลูกที่มีอาการออทิซึมหรือสมาธิสั้น มักมีปัญหาการนอนในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ และกลายเป็นเหตุนำที่ทำให้ลูกอาจต้องเริ่มทานยาเพื่อการบำบัดรักษาในบางกรณี
4 ลักษณะปัญหาการนอนของลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น
สำหรับการแก้ปัญหาการนอนของลูก “บ้านอุ่นรัก” อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลองวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาเป็นลำดับแรก เมื่อทราบสาเหตุ จะได้หาวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดด้วย “การปรับสภาพ ปรับวิถีชีวิต” ในเบื้องต้นต่อไป
การที่ “บ้านอุ่นรัก” อยากชวนให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลอง “ปรับสภาพ ปรับวิถีชีวิต” เป็นเบื้องต้นก่อนตัดสินใจใช้ยา (ภายใต้การดูแลของแพทย์) เพราะเราพบว่าการปรับสภาพและปรับวิถีชีวิตสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการนอนของลูก ๆ จำนวนหนึ่งได้ แต่ในลูกรายที่มีปัญหาเรื่องการนอนชนิดหนักหนาจริง ๆ จนการปรับสภาพ ปรับวิถีชีวิต ไม่สามารถช่วยได้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องพาลูกไปพบและปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการ ตลอดจนพิจารณาเรื่องการใช้ยาเพื่อการบำบัดรักษาในลำดับถัดไป
แนวทางแก้ไขปัญหาการนอนของลูกด้วย “การปรับสภาพ ปรับวิถีชีวิต”
“การปรับสภาพ ปรับวิถีชีวิต” ตามแนวทางข้างต้น คือ เน้นการทำให้ช่วงเวลาก่อนเข้านอน 30 นาทีเป็นช่วงเวลาพิเศษที่มีการจัดสภาพเพื่อเตรียมเข้านอนอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เพียงปรับตัวลูก ๆ แต่ยังเป็นการปรับวิถีของพ่อแม่ผู้ปกครองควบคู่ไปอีกประการหนึ่งด้วย เช่น การจัดเวลาที่แน่นอนเพื่อพาลูกเข้านอนโดยที่เด็ก ๆ ไม่ต้องเล่น หรือดูทีวีรอพ่อแม่ผู้ปกครอง มีการลดการใช้โทรศัพท์ ย้ายคอมพิวเตอร์ และทีวีออกจากห้องนอน ซึ่งบางครั้งที่ผ่านมาเราไม่เคยสังเกตุเห็นว่ามีอะไรบางอย่างในวิถีชีวิตที่เราทำมานาน จนสร้างภาวะการนอนที่ไม่มีรูปแบบในชีวิตของลูก และกลายเป็นช่วงเวลาที่ลูกได้เล่น กิน หมกมุ่นกับกิจกรรมบางอย่างจนลูกไม่อยากจะเข้านอน
การปรับวิถีการเข้านอนของลูกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปรับความเคยชินทั้งลูกและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งกว่าแต่ละครอบครัวจะทำได้สำเร็จ มักใช้เวลายาวนาน บางบ้านต้องปรับกันหลายเดือน หลายครั้ง กว่าจะทำได้สำเร็จ แต่ถ้าทำสำเร็จแล้วจะคุ้มค่ามาก เพราะลูกจะเข้านอนได้ดีขึ้น ลูกได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ จึงมีผลดีต่อสุขภาพของลูกและพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย และที่มีคุณค่ากว่านั้น คือ พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ผ่านประสบการณ์ฝึกวิเคราะห์ ฝึกแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่าเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยความสะดวกหรือง่าย เช่น ให้ยาเพื่อให้ลูกหลับ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ง่าย เห็นผลเร็ว โดยไม่ต้องลงแรง แต่จะขาดโอกาสดี ๆ ที่จะได้ลองผิดลองถูกจนเกิดทักษะใหม่ ๆ ที่ดีในการดูแลลูก ซึ่งการแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ด้วยการลองทำ และลงมือทำที่บ้าน เป็นเรื่องจำเป็นมากในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลองปรับวิถีสภาพและวิถีชีวิตดูกันสักตั้งก่อนนะคะ หากลองทำและลองปรับทุกทางแล้ว ยังไม่สำเร็จ การใช้ยาสักระยะหนึ่งเพื่อปรับวิถีการนอนหรือเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างอาจจำเป็นต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ประจำตัวเด็กสำหรับเด็กบางคน
เครดิตภาพ: freepik.com