สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่มีลูกหลานและลูกศิษย์ ที่เมื่อโกรธหรือไม่พอใจก็มักจะกัด ตี เตะ ทำร้ายผู้อื่นหรือตนเอง ตลอดจนขว้างปาทำลายข้าวของ ขอให้พิจารณาว่าการที่เด็กทำเช่นนั้น อาจไม่ได้หมายถึงการแสดงออกซึ่งอารมณ์ก้าวร้าวเสมอไป แต่เป็นความพยายามของเด็กที่ยังใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารไม่คล่อง จึงไม่รู้ว่าจะบอกให้เรารู้ได้อย่างไรว่า “หนูไม่ชอบสิ่งนั้น” “หนูไม่อยากอยู่ในสถานการณ์นั้น” เมื่อสื่อสารผ่านการบอกไม่ได้ จึงใช้การตี กัด เตะ ต่อย หรือพฤติกรรมรุนแรงแบบต่าง ๆ เพื่อแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ หรือเพื่อหยุดสถานการณ์บางอย่างที่ตนไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ทำพฤติกรรมหล่านั้นบ่อย ๆ ก็อาจกลายเป็นความเคยชิน จนเด็กเข้าใจผิดว่าการแสดงออกแบบนั้นคือวิธีสื่อสารที่เด็กสามารถทำได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองไม่ชอบหรือไม่พอใจ เนื่องจากพฤติกรรมการตี กัด เตะ ทำร้าย ทำลายข้าวของ เป็นพฤติกรรมที่เราจะไม่ปล่อยผ่าน จึงต้องหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวของลูกหลานและเด็ก ๆ ให้เร็วที่สุด ดังแนวทางง่าย ๆ ต่อไปนี้

1: เบี่ยงเบนให้ทันเพื่อลดโอกาสที่เด็กจะทำพฤติกรรมนั้น ๆ ได้สำเร็จ

เมื่อเห็นทีท่าว่าเด็กที่กำลังโกรธหรือไม่พอใจจะตี กัด เตะ ทำร้าย ทำลายข้าวของ เราต้องรีบหยุดพฤติกรรมดังกล่าวให้เร็วที่สุดด้วยการคว้าจับมือเด็กให้ทัน จากนั้นบีบนวดมือเบา ๆ พร้อมการมองสบตาเด็กสัก 5-10 วินาที ก่อนจะนำเด็กออกจากสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อเปลี่ยนทิศทางการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์สู่การทำกิจกรรมสร้างสรรค์แบบอื่น ๆ  ทั้งนี้ การเบี่ยงเบน คว้ามือเด็กให้ทัน มีผลดี 2 ประการ คือ (1) ลดโอกาสที่เด็กจะทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้สำเร็จ และ (2) ลดความเคยชินที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นลงได้อีกด้วย

2: จับนำให้เด็กทำ แสดง และสาธิตให้เด็กดูว่าเด็กควรพูดอย่างไร ควรบอกอย่างไร หรือควรทำพฤติกรรมทดแทนแบบใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ

หลังการเบี่ยงเบนเพื่อหยุดไม่ให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้แล้ว เราไม่ควรเน้นย้ำภาพพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และเราจะไม่บอกเด็กว่า “หยุด” “ไม่ตี” “ไม่กัด” “ไม่เตะ” “ไม่ทำร้ายทำลายข้าวของ” แต่จะสอนด้วยการจับนำให้เด็กทำ แสดง สาธิตให้เด็กดูว่าเด็กควรพูด ควรบอก ควรทำแบบใด เพื่อสื่อสารความรู้สึกว่าตนเอง “ไม่ชอบ” “ไม่พอใจ” “ไม่ต้องการ” สิ่งนั้น ๆ หรือสถานการณ์นั้น ๆ  ซึ่งการสอนวิธีสื่อสารนี้ เราควรสอนให้เด็กสื่อสารบอกความรู้สึกผ่านทั้งภาษาท่าทางและคำพูดประกอบกัน เพราะไม่ว่าจะบอกแบบใด “การบอก” จะช่วยสะท้อนอารมณ์ของเด็ก ตลอดจนเผยให้เราเห็นเหตุนำที่ทำให้เด็กรู้สึกเช่นนั้น เพื่อต่อไปในอนาคต เราสามารถจัดการกับสถานการณ์นั้น ลดเหตุนำนั้น ส่วนในแง่มุมของเด็ก หากเด็กพบเรื่องราวและความรู้สึกดังกล่าวอีก เด็กจะได้ใช้ “การบอก” แทน “การแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์” ได้ต่อไป

วิธีสอนเด็กที่พูดได้

– เราพูดพากย์สะท้อนอารมณ์ของเด็กและเหตุนำที่เกิดขึ้น เช่น ลูกไม่ชอบ…ที่พ่อเก็บของเล่น ลูกโมโห…ที่แม่ไม่ให้ดูการ์ตูน

– เรากระตุ้นให้เด็กพูดตาม เพื่อเรียนรู้วิธีใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารสะท้อนอารมณ์ของตนเองและเรื่องราวที่เป็นเหตุนำ

– เราย้ำกับเด็กว่าต่อไปในอนาคต ถ้ารู้สึกเช่นนี้เพราะเหตุนำนี้ ลูกควรพูดบอกว่าลูกไม่ชอบ…ที่พ่อเก็บของเล่น ลูกไม่ชอบ…ที่แม่ไม่ให้ดูการ์ตูน

วิธีสอนเด็กที่ยังพูดไม่ได้

– แม้เด็กยังพูดไม่ได้ แต่เราก็ต้องพูดพากย์ เพื่อสะท้อนอารมณ์ของพวกเขาและเหตุนำที่เกิดขึ้น เช่น ลูกกัดพี่..เพราะพี่แย่งของเล่น

– เราจับนำ สาธิตการกระทำ คำพูด หรือการแสดงพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อบอกความรู้สึก เช่น ลูกส่ายหน้า ลูกโบกมือ เพื่อบอกพี่ว่าลูกไม่ชอบ…ที่พี่แย่งของเล่น

-แม้เด็กยังพูดไม่ได้ เราก็ต้องกระตุ้นให้เด็กออกเสียงหรือพูดตาม เพื่อเรียนรู้ว่าการใช้ภาษาพูดเป็นวิธีที่ดีอีกรูปแบบหนึ่งที่เด็กสามารถนำมาใช้เพื่อสื่อสารสะท้อนอารมณ์ของตนเองและเรื่องราวที่เป็นเหตุนำ

-เราย้ำกับเด็กว่าถ้าลูกรู้สึกเช่นนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ในอนาคตอีก เด็กควรแสดงท่าทาง เช่น การส่ายหน้า การโบกมือ เพื่อบอกพี่ว่าลูกไม่ชอบ…ที่พี่แย่งของเล่น หรือลูกเดินมาหาแม่ ลูกทำท่าทางสื่อสารบอกพี่หรือแม่ก็ได้ว่าลูกไม่ชอบ หรือเราอาจสอนลูกวาดภาพง่าย ๆ ที่ลูกจะใช้สื่อสารการบอกความรู้สึกของตนเอง เช่น ภาพกากบาท (X) เพื่อบอกว่าลูกไม่ชอบ เป็นต้น

ประเด็นการสอนเด็ก ๆ นี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คนที่บ้าน และคุณครูควรสอนเด็กผ่านทั้งภาษาพูด ภาษาท่าทาง และการสาธิตสิ่งที่ควรพูดหรือควรทำในสถานการณ์นั้น ๆ ควบคู่กันไป เพื่อเด็กเรียนรู้หลายมิติ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของสิ่งที่เราสอนได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนที่ประสบเหตุควรทำแบบเดียวกันเพื่อไม่ให้เด็กสับสน ตลอดจนมีการจำลองสถานการณ์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนและซักซ้อมการแสดงออกซึ่งคำพูดหรือพฤติกรรมดี ๆ เพื่อบอกความรู้สึก และเมื่อทำเช่นนี้บ่อย ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ เด็กก็จะเรียนรู้และเข้าใจความหมายของการใช้การบอกความรู้สึกผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับตนเอง และเด็กก็จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้สำเร็จในท้ายที่สุด