ฮาวทู ใช้การเล่นและการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกที่บ้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วม | บ้านอุ่นรัก
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 องค์กรออทิซึมสปีค (Autism Speaks) โดยความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้เผยแพร่วิดีโอชุดใหม่เกี่ยวกับเคล็ดลับง่าย ๆ ในการเพิ่มทักษะการดูแลเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น เด็กออทิสติก
องค์กรออทิซึมสปีคตั้งเป้าหมายให้วิดีโอชุดนี้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ บอกเคล็ดลับ ตลอดจนแสดงตัวอย่างและขั้นตอนง่าย ๆ ในการลงมือทำที่จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กมีแนวทาง ทราบขั้นตอนการลงมือทำ และได้ฝึกทักษะการดูแลเด็กอันจะส่งผลดีในการช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ที่บ้านด้วยตนเองได้ต่อไป
สำหรับวิดีโอเคล็ดลับการเพิ่มพูนทักษะการดูแลเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษที่เรานำมาแชร์ในวันนี้ เป็นการแสดงตัวอย่าง “ฮาวทู” (How To) ใช้การเล่นและการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกที่บ้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนั้น ๆ กับเรา
ประโยชน์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กจะได้รับจากการชมวิดีโอนี้ คือ
- มีแนวทางในการฝึกฝนทักษะการดูแลเด็ก
- ได้รู้วิธีใช้การเล่นเพื่อเข้าแทรกตัวไปคลุกคลีกับลูก
ประโยชน์ที่ลูกจะได้รับ
- เสริมสร้างพัฒนาการผ่านการเล่นร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก
- เรียนรู้การเข้าไปมีส่วนร่วม
- ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
- เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่น
สำหรับท่านที่สนใจชมวิดีโอโปรแกรมพัฒนาทักษะการดูแลเด็ก ท่านสามารถชมวิดีโอต่าง ๆ จากช่องยูทูปขององค์กรออทิซึมสปีค หรือจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกอบรมทักษะผู้ดูแลเด็กจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก หรือจะชมวิดีโอผ่านช่องยูทูปหรือเฟซบุ๊คของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ก็ได้เช่นเดียวกัน
วิดีโอ เรื่อง ใช้การเล่นและการทำกิจวัตรประจำวันที่บ้านเพื่อสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของลูก (คลิกที่ลิงค์ข้างล่างนี้เพื่ออ่านบทความต้นฉบับและชมวิดีโอ)
สถานการณ์ตัวอย่างจากวิดีโอ:
แมรี่ (แม่) และนีล (ลูกชาย) นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน
จากวิดีโอ ผู้บรรยายแนะนำให้เราใช้ “การสังเกต”
- สังเกตกิจกรรมที่ลูกกำลังทำ (ลูกกำลังเล่นต่อบล็อก)
- สังเกตสิ่งที่แม่ลงมือทำในแต่ละขั้นตอน
- แม่นั่งอยู่ตรงหน้า ในระดับที่สายตาของลูกจะมองเห็นแม่ได้โดยง่าย
- ในขณะที่ลูกกำลังเล่นต่อบล็อก แม่ก็ทยอยเก็บของเล่นชิ้นอื่น ๆ เข้าที่ เพื่อขจัดสิ่งรบกวนอื่น ๆ รอบตัวที่อาจทำให้ลูกวอกแวก ทั้งนี้ การลงมือจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวส่งผลดีคือช่วยให้ลูกไม่วอกแวก ลูกจึงพุ่งความสนใจมาที่แม่และกิจกรรมที่แม่จะชวนลูกร่วมทำได้ง่ายขึ้น
- แม้แม่จัดเก็บของเล่นชิ้นอื่น ๆ ที่เกลื่อนอยู่บนพื้นเข้าที่ แต่แม่ไม่เก็บบล็อก เพราะลูกกำลังเล่นต่อบล๊อกเหล่านั้นอยู่
- หลังเก็บของเล่นชิ้นอื่น ๆ เข้าที่เสร็จแล้ว แม่ยื่นบล็อกสองชิ้นไปตรงหน้าลูก รอสักครู่ จนลูกสนใจสิ่งที่แม่ยื่นให้ แม่สบตาและยิ้มให้ลูก แม่พูดกับลูกว่า “เรามาต่อบล็อกด้วยกันนะ”
- เมื่อพูดจบ แม่ลงมือต่อบล็อกหนึ่งชิ้นให้ลูกเห็นเป็นการนำทางและชี้ชวนให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจว่าแม่และลูกกำลังเล่นอะไรร่วมกัน ในขณะเดียวกัน แม่เก็บ (ถือ) บล็อกอีกชิ้นไว้ในมืออีกข้างของตนเอง
- ลูกมองแม่ต่อบล็อก ลูกหยิบบล็อกมาอีกหนึ่งชิ้นและต่อบล็อก ลูกพูดว่า “ต่อบล็อก”
- แม่ชมว่า “ลูกต่อบล็อกได้ดีมากจ๊ะ”
- แม่เริ่มเลียนแบบสิ่งที่ลูกทำ คือ แม่วางบล็อกอีกชิ้นหนึ่ง (ที่ถือไว้ในมือ) ลงบนพื้นใกล้ ๆ กับบล็อกชุดแรกที่ลูกได้ต่อเอาไว้แล้ว
- ลูกมองแม่และเห็นสิ่งที่แม่ทำ
จากการที่แมรี่ (แม่) เลียนแบบสิ่งที่นีล (ลูก) ทำ จากนั้นแม่ก็เริ่มสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการพูดชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมนั้น ๆ ด้วยกัน ซึ่งในสถานการณ์นี้ คือ แม่ใช้การเล่นมากระตุ้นให้ลูกสนใจมองมาที่แม่ + สนใจกิจกรรมตรงหน้าที่แม่ชักชวนให้ลูกทำร่วมกันกับแม่ + ลูกลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ร่วมกันกับแม่ได้สำเร็จ
สรุปขั้นตอน
- สังเกตว่าเด็กกำลังสนใจและทำกิจกรรมอะไรอยู่ในขณะนั้น
- ขจัดสิ่งรบกวนอื่น ๆ รอบตัวออกไปให้หมดเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้การทำกิจกรรมตรงหน้านั้น ๆ ร่วมกับผู้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น (อีกทั้งยังเป็นการจัดการสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยในการทำกิจกรรมอีกประการหนึ่งด้วย)
- นั่งหันหน้าเข้าหาเด็ก อยู่ในระดับสายตาเด็กเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน
- กล่าวชมเด็กเมื่อเด็กทำกิจกรรมตามที่เราชักชวนได้สำเร็จ ทั้งนี้ ต้องกล่าวชมให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่าเด็กกำลังทำสิ่งใดได้ดีจึงได้รับคำชมนั้น
- เมื่อถึงคิวที่เราต้องทำกิจกรรมต่อเนื่องจากเด็ก ให้เราใช้การเลียนแบบสิ่งที่เด็ก
ลองทำกันดูนะคะ ลองค่อย ๆ แทรกตัวเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ลูกผ่านกิจกรรมประจำวันง่าย ๆ ที่บ้านตามวิถีชีวิตจริง เช่น การเล่น จากนั้นก็หาทางขยับขยายชักชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการและทักษะที่รอบด้าน โดยนำขั้นตอนข้างต้นมาประยุกต์ใช้ไปตามสถานการณ์ค่ะ
#ผลลัพธ์ที่ได้ ขึ้นอยู่กับการลงมือทำ
เครดิตบทความและวิดีโอ: Autism Speaks
เครดิตภาพประกอบบทความ: Unsplash by Dan Burton