ความบกพร่องในการได้ยินและตอบรับเสียง หรือ Auditory Processing Disorder (APD) | บ้านอุ่นรัก
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า “ทำไมลูกออทิสติกจึงไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกที่ลูกได้ยิน?”
คำตอบ คือ ลูกออทิสติกมีอาการของความบกพร่องในการได้ยินและตอบรับเสียง หรือ Auditory Processing Disorder (APD) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ใช่หูหนวกหรือไม่เข้าใจภาษา
อาการ APD เช่น
- ฟังเสียงแล้วสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก
- สับสนกับเสียงที่ได้ยินซึ่งเป็นรายการต่อกัน
- ไม่สามารถจำลำดับของสิ่งที่ได้ยิน
- ไม่สามารถจำลำดับของคำสั่งได้
- แยกเสียงออกจากกันไม่ได้
- มีปัญหาในการบอกแหล่งกำเนิดเสียงและทิศทางของเสียง
- มีปัญหาในการแยกแยะเสียง
- มีปัญหาในการแยกความเหมือนและความต่างของเสียง หรือ
- มีปัญหาในการทำความเข้าใจเสียงที่รบกวน เป็นต้น
เมื่อลูกออทิสติกได้ยินเสียงเรียก เสียงเรียกที่ลูกได้ยินและเสียงอื่น ๆ รอบตัวจะพัวพันกันไปหมดจนลูกไม่สามารถแยกเจาะฟังเฉพาะเสียงที่มุ่งมาหาตนเองได้ ดังนั้น เมื่อเราส่งเสียงเรียกลูก ลูกจึงไม่ได้ยิน ไม่หันมามอง และไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกของเรา
ในกรณีที่ลูกมีความบกพร่องในการได้ยินและตอบรับเสียง (APD) พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยลูกได้ ดังนี้
- ส่งเสียงเรียกพร้อมการสบตาหรือแตะตัว เพื่อให้ลูกรู้ว่าเรากำลังพูดกับลูก หากลูกไม่สบตา เราใช้มือจับใบหน้าของลูกเบา ๆ ให้ลูกมองตรงมาที่เราในขณะที่เราพูดกับลูกโดยให้ระดับสายตาของลูกและเราอยู่ในระดับเดียวกัน
- พูดกับลูกด้วยคำกระชับสั้น ๆ บอกให้ชัดว่าลูกต้องทำอะไร ทั้งนี้ อาจต้องมีการพูดซ้ำหรือพูดทวนเพื่อให้ลูกเข้าใจได้ดีขึ้น
- ใช้การ์ดภาพช่วยในการสื่อสาร ทั้งนี้ แม้จะใช้การ์ดภาพ แต่เรายังต้องกระตุ้นการสานต่อแบบสองทางและการพูดของลูกควบคู่กันไปด้วย
- ใช้ตารางกิจวัตรประจำวันที่มีรูปแบบหรือเป็นภาพเข้าช่วยเพื่อให้ลูกคาดเดาและเข้าใจได้โดยง่ายว่าเรากำลังพูดกับลูกเกี่ยวกับเรื่องใด หากลูกมีปัญหาจะลำดับของคำสั่งไม่ได้ ตารางกิจวัตรประจำวันนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจและรู้ได้ง่ายขึ้นว่าเมื่อเกิดสิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรตามาเป็นลำดับถัดไป (อะไรเกิดก่อน-หลัง ตามลำดับ)
- กระตุ้นทักษะการใช้ภาษาพูดและภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร การขยายคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การสานต่อและสื่อสารแบบสองทาง การออกเสียงโต้ตอบกัน
- สร้างบรรยากาศการสื่อสารที่เป็นมิตร สื่อสารกับลูกด้วยความเมตตา ชมเมื่อลูกเข้าใจสิ่งที่เราพูด ชมเมื่อลูกสื่อสารโต้ตอบ ให้กำลังใจเมื่อลูกยังไม่เข้าใจ หรือแม้แต่ให้รางวัลเมื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามกิจวัตรประจำวันได้สำเร็จด้วยตนเอง เป็นต้น
- ฝึกลูกใส่ใจหันมองเดินมาหาตามเสียงเรียก
แม้อาการ APD จะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างบุคคลและการใช้ชีวิตประจำวันของลูกออทิสติก แต่การที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามทำความเข้าใจและหาทางช่วยเหลือบำบัดรักษาอาการของลูก จะทำให้ลูกมีโอกาสได้สร้างเสริมพัฒนาการของตนเองจนสามารถค่อย ๆ ลดอาการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้
เครดิตภาพ: มูลนิธิ ณ กิตติคุณ
เครดิตข้อมูล: มูลนิธิ ณ กิตติคุณ และ Brain and Life Center