กิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย (สนุก ๆ แต่มีเป้าหมาย) ที่บ้านอุ่นรัก | บ้านอุ่นรัก

กิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย (สนุก ๆ แต่มีเป้าหมาย) ที่บ้านอุ่นรัก | บ้านอุ่นรัก

ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก คุณครูของเราจะแทรกกิจกรรมหลากหลายรูปแบบลงไปในตารางฝึกทักษะและกระตุ้นพัฒนาการประจำวันให้กับเด็ก ๆ โดยมีเป้าหมายว่าเด็กต้องได้รับประโยชน์ 2 ประการเป็นอย่างน้อย คือ (1) เกิดความสนุกสนานที่ได้เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับบุคคลอื่น และ (2) ได้ฝึกทักษะและสร้างเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กตามความจำเป็น และกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่ทั้งสนุกและมีเป้าหมายของเรา คือ “กิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย”

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อเด็ก ๆ มากเพียงใดและอย่างไร?

“กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย” โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็ก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางร่างกายที่ประกอบด้วยความแข็งแรงทนทาน ทักษะการทรงตัว ความยืดหยุ่นทางร่างกาย การทำงานร่วมกันของอวัยวะต่าง ๆ การคิดวางแผนเพื่อเคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์คับขัน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายส่งผลดีโดยตรงต่อศักยภาพการทำงานของสมอง ดังนั้น เมื่อเราต้องการกระตุ้นพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ (โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเด็กเล็กหรือเด็กที่เพิ่งเข้ามารับการกระตุ้นพัฒนาการในช่วงต้นของโปรแกรมการบำบัด) เราจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการจัดโปรแกรมด้านทักษะการเคลื่อนไหว ถึงขนาดที่ต้องยกให้เป็น “กิจกรรมสำคัญหลัก” อีกกิจกรรมหนึ่งกันเลยทีเดียว

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมีความสำคัญหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วน “การฝึกทักษะการเคลื่อนไหว” ให้กับเด็กก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะทำให้เด็กได้รับประโยชน์หลายประการ ดังต่อไปนี้

  • สร้างสารเคมี กระตุ้นสื่อประสาทในสมอง
  • เพิ่มความแข็งแรง สะพานเชื่อมสมองซ้าย-ขวา
  • ควบคุมร่างกายตนเองในการใช้กล้ามเนื้อได้ทั้งมัดใหญ่-มัดเล็ก
  • เพิ่มออกซิเจน-พลังงาน
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความตึงเครียด
  • กล้าเผชิญปัญหา (การเล่นผาดโผน)
  • ลดความรนรีบในเด็กที่ซน เพิ่มระดับการเคลื่อนไหวในเด็กที่เฉื่อยช้า
  • ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน
  • หากใช้ประกอบการเรียนรู้จะช่วยเพิ่มความสนใจ

ที่บ้านอุ่นรัก เราจะแยกกิจกรรมทักษะการเคลื่อนไหวออกมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมจากกิจกรรมการประมวลระบบประสาทสัมผัส หรือ Sensory Integration เนื่องด้วยในแต่ละทักษะและนักวิชาชีพ จะมีองค์ความรู้และกรอบแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะ เราจึงนำองค์ความรู้และกรอบแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะนั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ให้สอดประสานกัน เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะทางบวกแก่เด็ก ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของเรา โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหว

สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวนั้น บ้านอุ่นรักมีข้อสังเกตอาการมาฝากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู เพื่อให้ลองพิจารณากันว่าลูก ๆ เด็ก ๆ มีลักษณะการเคลื่อนไหวดังต่อไปนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เราพอที่จะรู้ว่าพวกเขามีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวหรือไม่นั่นเอง

  • มีอุบัติเหตุบ่อย ๆ ล้มบ่อย
  • มีลักษณะงุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า ไม่สมวัย เคลื่อนไหวดูไม่ราบรื่น
  • มีลักษณะเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว ผาดโผน หรือกิจกรรมที่ต้องอาศัยทักษะการทรงตัว
  • เป็นเด็กที่ทำกิจกรรมในลักษณะสหสัมพันธ์ (กิจกรรมที่ต้องอาศัยการทำงานของอวัยวะร่างกายร่วมกันหลาย ๆ ส่วน) ได้ไม่ดีนัก เช่น เรียนวิชาพละได้ไม่ดีนัก เป็นต้น

หากเด็ก ๆ มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหว เราควรรีบหาทางแก้ไข และในตอนนี้ บ้านอุ่นรักขอยกตัวอย่างปัญหาดังกล่าว ตลอดจนข้อแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดังนี้

  • ปัญหาการทรงตัว | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมเดิน วิ่ง คลาน กระโดด เดินขึ้นลงบันได วิ่ง-กระโดด-เคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง
  • ปัญหาการสมดุลตนเอง เช่น ล้มบ่อย เบรกตนเองไม่ทัน | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่มีอุปกรณ์ที่ไม่มั่นคง เช่น กระดานโยกเยก ถาดทรงตัว
  • ปัญหาการใช้อวัยวะสองส่วนร่วมกัน |แก้ไขโดยใช้กิจกรรมยืดหยุ่น โยคะ ท่าออกกำลังกาย ท่ากายบริหาร ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ
  • ปัญหาการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะรีบร้อน รนรีบ ไม่ระวังอันตราย ไม่มีจังหวะจะโคน | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่มีอุปกรณ์เป็นสิ่งกีดขวางเพื่อให้เด็กระมัดระวัง คุมตนเองมากขึ้น และไม่เคลื่อนไหวแบบรีบร้อนจนเกินไป เช่น เดินสะพายทรงตัว เดิน-วิ่งผ่านกรวยยาง เดินข้ามสิ่งกีดขวาง กระโดดบนรอยเท้า
  • ปัญหาซน อยู่ไม่สุข หรือในทางตรงข้ามคือเฉื่อยช้า | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่ใช้พลังงาน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด เต้นประกอบเพลง และกิจกรรมเคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง

มาถึงตอนนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูก็ได้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย ตลอดจนได้ทราบตัวอย่างของกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวกันไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉนั้น เราอย่ามัวรีรอกันอยู่เลยค่ะ ลุกขึ้น เหยียดแขนเหยียดขา และเตรียมตัวของเราให้พร้อมที่จะจูงไม้จูงมือลูก ๆ เด็ก ๆ ไปเดิน วิ่ง กระโดด และออกกายบริหารกันเลยดีกว่า เพื่อลูก ๆ เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกสนุกสนานร่วมไปกับเรา พร้อม ๆ กับการที่จะได้สร้างเสริมพัฒนาการของตนเอง ส่วนเราก็จะได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก ๆ อย่างมีคุณภาพ พร้อม ๆ ไปกับการได้ลดพุง ลดไขมันส่วนเกิน และมีสุขภาพที่ดีมากขึ้นค่ะ

สำหรับบ้านอุ่นรักนั้น ทุก ๆ กิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำร่วมกับเรา “ต้องสนุกสนาน” แต่จะสนุกเพียงอย่างเดียวไม่ได้แน่ ๆ เรา “ต้องมีเป้าหมาย” ด้วยค่ะ

Photo Credit: Zach Callahan | Unsplash

ครูเดือนชวนเล่น…มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกันเหอะพวกเรา | บ้านอุ่นรัก

ครูเดือนชวนเล่น…มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกันเหอะพวกเรา | บ้านอุ่นรัก

ในทุก ๆ วันที่ลูกศิษย์ของเรามาที่ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เด็ก ๆ จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการผ่านการเรียนการสอน การทำกิจกรรมกลุ่ม และการเล่นแบบต่าง ๆ ที่เราหวังผลเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการที่รอบด้าน การปรับพฤติกรรม และการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ก่อนจะส่งพวกเขาเข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลในลำดับถัดไป

การเล่นที่ “บ้านอุ่นรัก” เด็ก ๆ และครูจะกลายเป็นเพื่อนร่วมเล่นสนุก ๆ ไปด้วยกัน และในวันนี้ “ครูเดือน” ได้ชวนเด็ก ๆ มาเล่นบทบาทสมมุติ ในหัวข้อ “มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกัน” ค่ะ

การชวนเด็กเล่นบทบาทสมมุติสำคัญ…อย่างไร?

สำหรับเด็ก ๆ ที่มีความล่าช้าทางพัฒนาการ พวกเขามักจะมีการเล่นเชิงจินตนาการที่ไม่สมวัย ทำให้เมื่อเล่นกับเพื่อน ๆ แล้วก็มักจะไม่สนุกกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้เพราะขาดการสานต่อการเล่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ครูบ้านอุ่นรัก (หรือหากเป็นที่บ้านก็คือคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้าน) จึงต้องสวมบทบาทเป็นเพื่อนเล่นและชวนเด็กเล่นบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มทักษะการเล่นเชิงจินตนาการให้กับพวกเขา ซึ่งจะเป็นการเล่นที่เกิดขึ้นเสมอในกลุ่มเพื่อนวัยอนุบาลค่ะ

การที่เราร่วมเล่นสนุกไปกับเด็ก ๆ สามารถส่งเสริมประสบการณ์ให้เด็กรู้จักชี้ชวน สานต่อทางอารมณ์ สนุกร่วมกับเพื่อน อีกทั้งยังสามารถแทรกการกระตุ้นการสบตา ท่าทีชี้ชวนขณะเล่น และเรายังจำเป็นต้องแทรกการเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร การพูดคุยสนทนา และการแสดงท่าทางสนุก ๆ ประกอบการเล่น เพื่อให้เด็กและเพื่อน ๆ รู้สึกสนุกจนอยากเล่นด้วยกันยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกค่ะ

บรรยากาศการเรียน การสอน และการเล่นน่ารัก ๆ ที่บ้านอุ่นรักสวนสยามและบ้านอุ่นรักธนบุรียังมีอีกเยอะ ไว้เราจะเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ กันใหม่ในคราวต่อ ๆ ไปนะคะ

ทำอย่างไรดี ลูกออทิสติกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่น! | บ้านอุ่นรัก

ทำอย่างไรดี ลูกออทิสติกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่น! | บ้านอุ่นรัก

โดยทั่วไปแล้ว ลูกในวัยทารกจนถึงวัยอนุบาลที่ไม่มีอาการออทิสติก ก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นและมีพัฒนาการทางสังคมที่โดดเด่น ดังนั้น จึงสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ มากนัก คือ 

  • ค่อย ๆ เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันหรือกับคนรอบข้างได้ แม้ในระยะแรก ๆ อาจเอียงอาย ไม่กล้าเข้าไปเล่นร่วม แต่ก็มีท่าทีสนใจ สังเกตเห็น หันมอง จ้องมอง มองตาม และคอยสังเกตอากัปกริยาต่าง ๆ ของคนอื่น แต่ในท้ายที่สุด ก็จะเข้าไปเล่นร่วม อยู่ในกลุ่ม และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการเล่นที่สนุกสนานและการเข้าสังคมนั้น
  • มีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางในเชิงสานต่อกับคนรอบข้างอย่างเห็นได้ชัด และเกาะติ ชี้ชวน เลียนแบบ สานต่อแบบสองทางกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้เลี้ยงดู ครู หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน
  • ตระหนักรู้ มองเห็น สังเกต พิจารณาอากัปกริยาหรือการตอบสนองของคนรอบตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเรียนรู้โดยปริยายถึงวิธีสานต่อหรือตอบสนองกับคนอื่น เช่น โต้ตอบการสนทนากับพี่ ๆ ที่ร้านสะดวกซื้อ พูดคุยกับพ่อค้าขายไอศกรีม หรือทักทายกับเพื่อนตัวเล็ก ๆ (หรือแม้แต่กับลูกหมาลูกแมว) ที่พบระหว่างทาง
  • ลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป จะเริ่มต้นสนใจเล่นร่วมกับเพื่อนจากระยะเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ทำได้นานขึ้นตามลำดับ และเล่นอย่างมีรูปแบบมากขึ้น
  • เมื่อถึงวัย 3 ขวบ ลูกมักต้องการเข้ากลุ่มเพื่อเล่นสนุกไปกับเพื่อน เล่นอย่างมีรูปแบบ แถมยังมีและยอมรับกติกาการเล่นแบบง่าย ๆ ภายในกลุ่มของตนเองได้อีกด้วย

แต่สำหรับลูกออทิสติก ภาพการสานต่อแบบสองทางเช่นที่ว่านี้ ดูเหมือนจะถูกตัดตอนลงกลางคัน ลูกจึงมักจะมีลักษณะ ดังนี้ คือ

  • เลี่ยงการสบตากับคู่สนทนา ไม่ช้อนตามองเมื่อมีคนมาแตะตัวหรือเล่นด้วย
  • ในยามดีใจ ตกใจ เสียใจ หรือภูมิใจ ก็ไม่มองไปรอบ ๆ ไม่มองหาพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก
  • ลูกอาจวิ่งเข้ามาหา มาดึงมือ มานั่งตัก แต่ไม่มีการสานต่อ ไม่เงยหน้ามอง ไม่สบตา ไม่พยักพเยิด หรือหากพ่อแม่ชี้ชวน ล้อเล่น หรือเรียกหาจากระยะไกล ลูกก็ไม่สนใจ
  • ไม่เหลียวมองคนที่เดินผ่าน หรือเดินผ่านคนอื่นไปโดยไม่ตระหนักรู้
  • หากเลือกได้ ลูกจะแยกตัวออกมานั่งเล่นคนเดียว ง่วนอยู่กับสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือวิ่งเล่นปีนป่ายอยู่คนเดียวมากกว่าจะอยู่ร่วมกับคนใกล้ชิด
  • เมื่อได้พบกับเด็กในวัยเดียวกัน ก็ไม่ค่อยสนใจไปสานต่อ แม้ในบางครั้ง ลูกอาจเข้าไปหาเพื่อน แต่มุ่งเข้าไปหาเพื่อไปเอาของเล่นที่เพื่อนกำลังเล่นมากกว่าไปสานต่อเพื่อเล่นร่วมกับเพื่อน
  • ลูกอาจไปวิ่งเล่นร่วมกับเด็ก ๆ คนอื่น แบบอาศัยวงจรการวิ่งของเพื่อน ๆ แต่กลับเล่นสนุกคนเดียวโดยไม่มีท่าทีพยักพเยิด ล้อเล่น สบตา ยิ้มหัวเราะร่วมกันในเชิงสานต่อแบบสองทางกับเพื่อน

โดยธรรมชาติที่ลูกออทิสติกขาดการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นนี้ ลูกจึงขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางสังคม ขาดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการเข้าสังคม ขาดการใช้หรือพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารกับบุคคลอื่น และมีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป

แม้ลูกออทิสติกจะมีปัญหาเหล่านี้ บ้านอุ่นรักก็ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง มีกำลังใจและเชื่อมั่นว่า “ทุกปัญหา มีหนทางแก้ไข และท่านคือหัวเรือใหญ่ที่จะช่วยลูก ๆ แก้ปัญหานี้”

ขอเพียงท่านมองลูกตามความเป็นจริง กล้าเผชิญความจริง ตั้งสติได้เร็ว และเริ่มลงมือช่วยลูกแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถเสียแต่วันนี้ ในไม่ช้า ลูก ๆ ก็จะมีพัฒนาการทางสังคมและมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นที่ดีขึ้นได้ตามลำดับค่ะ

Photo Credit: Conner Baker | Unsplash