เด็กพูดช้า | บทความวิชาการจากจุลสาร “สื่อสารกุมารแพทย์”

เด็กพูดช้า | บทความวิชาการจากจุลสาร “สื่อสารกุมารแพทย์”

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ ได้เขียนบทความวิชาการ หัวข้อ “เด็กพูดช้า” ไว้ในจุลสาร “สื่อสารกุมารแพทย์” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจโดยสรุป ดังนี้

ปัญหาเด็กพูดช้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์ในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาในเด็ก ตรวจวินิจฉัย และแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยและป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมา เพราะเมื่อติดตามในระยะยาว เด็กพูดช้าอาจมีปัญหาการอ่าน การเขียน การเรียนรู้ การเข้าสังคม ปัญหาพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์เมื่อโตขึ้น

พัฒนาการทางการพูดสื่อสารในเด็ก เด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 6 ปี ควรมีการรับรู้ภาษา การพูด หรือการแสดงออกอย่างไร

การเฝ้าระวังติดตามและตรวจคัดกรอง ควรทำทุกครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้พาเด็กมาพบแพทย์

ควรสงสัยว่าเด็กมีปัญหาทางการพูดเมื่อใด ถ้าสังเกตให้ดี เด็กอาจมีพฤติกรรมที่แสดงว่าอาจมีปัญหาในการพูดตั้งแต่ขวบปีแรก ซึ่งรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ ได้ระบุข้อบ่งชี้ง่าย ๆ ในการสังเกตว่าเด็กอาจมีปัญหาในการพูดหรือไม่ ไว้ในบทความนี้ด้วย

สาเหตุของเด็กพูดช้า

  1. ปัญหาการได้ยิน (hearing problems) จากภาวะต่าง ๆ
  2. ความผิดปกติของการทำงานของสมองจากสาเหตุต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด
  3. ความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงพูด
  4. สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมและไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางการพูดและการใช้ภาษา
  5. Autism ออทิซึม
  6. Specific language impairment (SLI) หรือเด็กมีความบกพร่องในการเข้าใจหรือใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและท่าทาง การเข้าใจคำศัพท์ ความหมายของคำ รูปประโยค ไวยากรณ์

การตรวจและวินิจฉัย

  1. ซักประวัติอย่างละเอียด
  2. ตรวจร่างกายและพัฒนาการ
  3. Formal Audiologic Examination (ตรวจคัดกรองสมรรถภาพการได้ยิน) ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กมีปัญหาการได้ยิน

หากพัฒนาการช้าหลายด้านหรือสงสัยว่าสติปัญญาบกพร่อง หรือ มีพัฒนาการถดถอย ควรส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดต่อไป

การดูแลรักษา ใช้หลัก

EARLY IDENTIFICATION ตรวจโดยเร็วที่สุดเพื่อหาสาเหตุของการพูดช้าให้พบ

EARLY INTERVENTION แทรกแซงเพื่อกระตุ้นการพูดให้เร็วที่สุด

EARLY REFERAL ส่งต่อไปยังทีมแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาการพูดช้าให้เร็วที่สุด

คลิกที่ลิงก์เพื่ออ่านจุลสารและบทความฉบับเด็ม

http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20181220121505.pdf

เนื่องจากการพูดเป็นรูปแบบการสื่อสารกับผู้อื่นที่มีความสำคัญ ปัญหาเด็กพูดช้าจึงต้องได้รับการดูแลและแก้ไขให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เด็กจะมีปัญหาการอ่าน การเขียน การเรียนรู้ การเข้าสังคม ปัญหาพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์ตามมา

เครดิตข้อมูล: จุลสาร “สื่อสารกุมารแพทย์” จุลสารราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2561 หน้า 4-6

เครดิตภาพ: Unsplash | Alexander Schimmeck