by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
เมื่อถึงวัยที่ลูกพยายามเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตนเอง เช่น ลูกในวัย 2-5 ขวบ ลูกออทิสติก หรือลูกสมาธิสั้น ที่เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้สึกว่าลูก ๆ เริ่มเป็นเด็กเลี้ยงยากและช่างปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้กำลังเริ่มเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังไม่รู้วิธีที่จะจัดการและบริหารอารมณ์ จึงมักแสดงออกด้วยท่าทีต่อต้านหรือปฏิเสธจนกลายเป็นความขัดแย้งกับพ่อแม่ผู้ปกครองในบางเหตุการณ์ได้
เมื่อลูกเติบโตมาถึงวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติตามวัยของลูก ทำใจยอมรับ พร้อมกับปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการเลี้ยงดูลูกเพื่อลดความขัดแย้ง เพราะแต่เดิมนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจเคยชินที่จะเป็นคนนำทางและสั่งให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตาม “คำสั่ง” เสียเป็นส่วนใหญ่
แนวทางหลัก ๆ ของการปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในวัยนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนคิดและร่วมวางแผนในกิจวัตรของตนเองแทนการทำตามคำสั่ง หรือทำตามการชี้นำของพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่การฝึกลูกให้สามารถทำกิจวัตรทุกอย่างได้ครบถ้วนและเหมาะสมด้วยตนเอง ซึ่งการทำเช่นนี้ นับเป็นการสนับสนุนให้ลูกได้เติบโตทางอารมณ์อย่างสมวัย อีกทั้งสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตนเองได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยลูกจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเป็นคู่คิดอยู่ข้าง ๆ
จากแนวทางข้างต้น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะยกตัวอย่างขั้นตอนการลงมือทำเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นภาพยุทธวิธีที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้
- หลังเลิกเรียนหรือในแต่ละวัน พ่อแม่ผู้ปกครองชวนลูกพูดคุยว่ามีกิจกรรมใดที่ลูกจำเป็นต้องทำในแต่ละวันบ้าง
- เขียนลิสต์ (List) ภาพรวมของกิจกรรมหรือกิจวัตรที่ลูกจำเป็นต้องทำให้เสร็จ และค่อยเพิ่มกิจกรรมที่ลูกชอบหรือต้องการทำเพิ่มเติม เพื่อลูกรับรู้ภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดที่ต้องทำในแต่ละวัน เช่น วันนี้ลูกจะทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อน-หลัง และทำกิจกรรมใดในเวลาใด เป็นต้น
- เพิ่มสีสันและความสนุกลงไปในตารางกิจวัตรประจำวันของลูก โดยให้ลูกออกแบบและลงมือทำตารางกิจวัตรนั้น ๆ ด้วยตนเอง เช่น วาดเป็นรูป ตัดแปะรูปกิจกรรม เขียนคำสั้น ๆ พร้อมกับใส่กำหนดเวลาว่าจะทำอะไร ในเวลาใด ทั้งนี้ การให้ลูกลงมือทำตารางกิจวัตรให้น่าสนใจนับเป็นการฝึกให้ลูกทวนย้ำกับตนเองถึงกิจวัตรต่าง ๆ ที่จะต้องทำอีกด้วย
- พ่อแม่สามารถช่วยลูกปรับแต่งตารางกิจวัตรตามความเหมาะสม หรืออาจเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องกิจกรรมและเวลาในการลงมือทำกิจกรรม
- เชื่อใจ ใจเย็น รอให้ลูกทำตามกิจวัตรที่วางแผนไว้ หากลูกมีท่าทีงอแง หรือยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีนัก ในระยะแรก พ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยเตือนลูกก่อนถึงเวลา และเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจับนำให้ลูกทำ หรือควบคุมให้ลูกทำแบบไม่ให้ลูกรู้ตัว เพื่อให้ลูกลงมือทำได้ตามรายการที่ลูกวางแผนไว้ หรือหากจำเป็นก็สามารถปรับแต่งแผนได้บ้างตามความเหมาะสม
- เมื่อลูกทำกิจวัตรแต่ละอย่างเสร็จ เพิ่มความสนุกด้วยการให้ลูกกากบาทเช็คลิสต์ด้วยตนเอง ติดสติ๊กเกอร์รูปดาว หรือรูปการ์ตูนน่ารัก ๆ แทนสัญลักษณ์ว่าลูกได้ทำกิจวัตรนั้น ๆ สำเร็จแล้ว
- อาจมีการคุยหรือตกลงกันว่าถ้าลูกทำสำเร็จได้ต่อเนื่อง เช่น ทำได้ครบ 1 วันในระยะแรก ครบ 3 วัน หรือครบ 1 สัปดาห์ ลูกจะได้ทำกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เช่น ทำขนมที่ลูกชอบ ขี่จักรยาน ซื้อขนมพิเศษ เพิ่มเวลาวิ่งเล่น หรือเพิ่มเวลาในการดูรายการต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามความชอบของลูก เป็นต้น
เมื่อเราได้ทำตามแนวทางและขั้นตอนต่าง ๆ ข้างต้น เท่ากั[เราได้เริ่มเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมกำหนดชีวิตตนเอง และนำพาตนเองตามธรรมชาติที่ลูกวัยนี้ต้องการ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังอยู่ในขอบเขตที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถดูแลลูกได้
พ่อแม่ผู้ปกครองลองทดลองทำอย่างสม่ำเสมอด้วยความเข้าใจ ใจเย็น และอดทน ทั้งนี้ ในระยะแรก ลูกอาจยังหยุดตัวเองไม่ได้ หรือไม่สามารถทำตามลำดับกิจวัตรได้ทั้งหมด เพราะลูกยังไม่คุ้นเคย แต่เมื่อเราขยันทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีรูปแบบที่ชัดเจน ในวันหนึ่งจะเริ่มเห็นผลและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าเราช่วยลูกได้ และลูกของเราสามารถดูแลตนเองได้ นำพาตนเองได้ รู้จักวางแผนชีวิตประจำวัน และทำกิจวัตรต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นนิสัยติดตัวลูกไปจนโตอย่างเด็กที่รู้จักรับผิดชอบตนเองได้อย่างดีโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องกวดขันมากเกินไปนัก
ไม่ลองก็คงไม่รู้ ดังนั้น ต้องเริ่มต้น ต้องลงมือทำ ต้องใจเย็น เพื่อผลสำเร็จปลายทางที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
ในตอนที่แล้ว บ้านอุ่นรักได้แชร์ 5 สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง กันไปแล้ว ส่วนในตอนนี้ เราจะมาดูข้อมูลเพิ่มเติมของ “การปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” กันว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร
6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง มีดังนี้ คือ
1: เบี่ยงเบนด้วยอารมณ์ขันหรือการทำกิจกรรมที่ลูกสนใจ
- อารมณ์ขัน หรือสร้างความสนุกแทน เช่น จั้กจี้ลูกจนลูกเผลอปล่อยของที่ติดมือ
- เปลี่ยนความสนใจด้วยการเสนอให้ลูกเล่นหรือทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ตามที่ลูกสนใจ เช่น ร้อยลูกปัด หยอดกระปุกออมสิน ฟังเพลง
2: ใช้ Time In หรือ Time Out ให้เป็นประโยชน์
- Time In คือ ปล่อยให้ลูกอยู่กับตนเอง โดยมีพ่อแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ แบบเงียบ ๆ อย่างเมตตา
- Time Out คือ แยกลูกและพ่อแม่ออกจากกัน หรืองดกิจกรรมหรือการให้ลูกเข้าร่วมทำกิจกรรมแบบต่าง ๆ
3: พาลูกเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยพ่อแม่ใช้เวลากับลูกนานพอสมควรในขณะที่ลูกได้เปลี่ยนอิริยาบถจนคลายอารมณ์ลงได้ เช่น พาไปล้างหน้า ล้างมือ เดิน วิ่ง จับลูกกระโดด หรือพาเดินขึ้น-ลงบันได
4: เปลี่ยนความโกรธของลูกมารับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น นั่งโยกบนบอลยิมนาสติก นวดลงน้ำหนักสม่ำเสมอที่ไหล่ นวดมือ นวดช้า ๆ ไล่จากต้นแขนลงไปยังปลายนิ้วมือ ลูบหลังหรือตบเบา ๆ ที่ฝ่ามือของลูก
5: เพิกเฉย ในกรณีที่ใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลและลูกยังไม่คลายจากอารมณ์โกรธ แต่ลูกเริ่มมีพฤติกรรมเรียกร้องรุนแรงหรือพบว่าลูกเริ่มแสดงอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ควรเริ่มใช้วิธีเพิกเฉย แล้วค่อยกลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- เพิกเฉยโดยปล่อยลูกอยู่กับตนเองตรงนั้น โดยพ่อแม่ใช้วิธีนิ่งเงียบ ไม่พูดด้วย ไม่มอง ไม่ให้ความสนใจ หรือพ่อแม่อาจเดินเลี่ยงออกมาเงียบ ๆ แล้วเดินกลับเข้าไปหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 1-3 นาที
- เพิกเฉยด้วยการแยกลูกออกจากตรงนั้น (Time Out) เพื่อไปหามุมสงบอื่นให้ลูกได้อยู่คนเดียวเพื่อสงบอารมณ์ แล้วพ่อแม่กลับเข้าหาลูกเป็นระยะ ๆ ทุก 1-3 นาที ทั้งนี้ หากเข้าไปหาแล้วลูกยังไม่สงบ พ่อแม่จะเดินออกมาใหม่รอบละ 1-3 นาที โดยไม่ปล่อยลูกอาละวาดรุนแรงคนเดียวนานเกินไป
- กลับไปให้ความสนใจลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหมาะสม
6: หลังลูกสงบ พ่อแม่จึงสอนวิธีจัดการกับปัญหาด้วยการสอนให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ของตนเองและเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น นำเหตุการณ์ที่ผ่านมา ๆ พูดคุยเพื่อสอนวิธีรับมือว่าถ้าลูกพบกับสถานการณ์แบบเดิม ลูกควรจะพูดจาสื่อสาร ควรแสดงท่าทาง หรือจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไรในครั้งต่อไป
- กรณีที่ลูกพูดไม่ได้: พ่อแม่กล่าวสะท้อนอารมณ์โดยพูดให้ลูกฟังสั้น ๆ เช่น ลูกโกรธใช่มั้ยที่พี่เดินเตะของเล่นของลูก
- กรณีที่ลูกพูดได้: พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกพูดแสดงอารมณ์ + ความจริง (เหตุการณ์) เช่น ลูกโกรธเพราะแม่เก็บของเล่น
ไม่ว่าจะเป็น “5 สิ่งที่ต้องทำ เมื่อต้องรับมือกับลูกที่หงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง” หรือ “6 ขั้นตอนการปรับอารมณ์ของลูกทีละขั้นตามระดับความรุนแรง” ล้วนเป็นวิธีรับมือที่เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้เรียนรู้กันล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมให้กับลูก ๆ ซึ่งนับเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะมีชีวิตได้อย่างปกติสุขและปลอดภัยในอนาคตได้ค่ะ
Photo Credit: Ninety Eyes | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
ในบางครั้งที่ลูกหงุดหงิด คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง อาจพบว่าลูกจะอาละวาดและมีการระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเราคิดทบทวนหาทางรับมือกันแทบไม่ทัน
เราไม่อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองรอให้ถึงสถานการณ์แบบนั้นแล้วค่อยตั้งรับ แต่อยากให้ลองหาวิธีรับมือกันไว้ล่วงหน้า เพื่อที่ว่าเมื่อต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ก็จะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มีวิธีรับมือลูกหงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง มาฝากดังนี้ค่ะ
1: ปรับใจและสร้างทัศนคติเชิงบวก เข้าใจข้อจำกัดว่าวุฒิภาวะของลูกไม่สมวัย ในบางสถานการณ์ลูกจึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ดีนัก และด้วยพัฒนาการในปัจจุบันที่ลูกยังพูดสื่อความต้องการไม่ได้ดังใจ ลูกจึงมีอารมณ์หงุดหงิดหรืออาละวาดรุนแรงกว่าปกติ เราจึงควรคิดในแง่บวกว่า “ดีแล้วที่ลูกมีอารมณ์หงุดหงิดถึงขีดสุดในยามที่ลูกมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง เพราะพ่อแม่จะได้มีส่วนค่อย ๆ ช่วยปรับพฤติกรรมให้กับลูกและจะไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมเหล่านี้ แต่จะช่วยจนกว่าลูกจะฝึกควบคุมตนเองได้ เพื่อในอนาคต ลูกจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขและปลอดภัย”
2: พูดสั้น ๆ ระบุพฤติกรรมที่ลูกควรทำ แทนการดุ ตำหนิ หรือบ่น และเลี่ยงการใช้คำพูดที่จะกระตุ้นอารมณ์ของลูก
3: ตั้งสติ ไม่ตกใจ ไม่รน ทั้งนี้เพราะการมีสติจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าและไวต่อการตอบสนอง และหากเราเคยพบว่าลูกมีพฤติกรรมรุนแรง เราต้องถอยหลังเว้นระยะห่างไม่ให้ลูกเข้าประชิดตัว
4: หยุดความรุนแรงเฉพาะหน้า เช่น เราคาดว่าลูกอาจหงุดหงิดรุนแรง เราก็จะต้องแยกลูกออกจากบุคคล สิ่งของ หรือจุดอันตราย ตลอดจนต้องหยุดการสูญเสียด้วยการเก็บสิ่งของอันตรายแบบต่าง ๆ ที่ลูกอาจนำมาใช้ระบายความโกรธหรือหยิบมาขว้างปาจนเกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นออกไปให้หมด
5: เริ่มปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง ด้วยการเบี่ยงเบน การแยกลูกออกจากสถานการณ์ การพาลูกเปลี่ยนอิริยาบถ การเปลี่ยนความโกรธของลูกมารับรู้ความรู้สึกทางกาย การเพิกเฉย ไปจนกระทั่งการสอนลูกจัดการกับปัญหาหลังลูกสงบอารมณ์ของตนเองได้แล้ว ซึ่งการปรับทีละขั้นนี้มีรายละเอียดอีกหลายประการที่เราจะนำมาเสนอกันต่อในตอนต่อไปค่ะ
Photo Credit: Ninety Eyes | Unsplash