VDO | 4 วิธีกระตุ้นการพูดระดับต้นแบบง่าย ๆ | บ้านอุ่นรัก

VDO | 4 วิธีกระตุ้นการพูดระดับต้นแบบง่าย ๆ | บ้านอุ่นรัก

สำหรับลูกที่เมื่อถึงวัยที่ควรเริ่มพูดแต่ยังไม่ยอมพูด ครูนิ่ม (คุณนิสิตา ปีติเจริญธรรม) มีวิธีกระตุ้นการพูดระดับต้นแบบง่าย ๆ มาฝากคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองค่ะ

  1. ฝึกความแข็งแรงของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดของลูก
  2. เพิ่มความถี่ในการออกเสียงของลูก
  3. ยื้อ ดึงจังหวะให้ลูกพูดก่อนที่จะให้สิ่งต่าง ๆ ที่ลูกต้องการ ทั้งนี้ ให้พ่อแม่อาศัยทุกจังหวะในกิจวัตรประจำวันในการทำเช่นนี้
  4. กระตุ้นการพูดของลูกตามสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน

มาชม VDO นี้ และลองกระตุ้นการพูดของลูก ๆ ตามวิธีง่าย ๆ ที่ครูนิ่มแนะนำ

https://www.youtube.com/watch?v=gyGM7-97ILI&t=69s

เราขอเอาใจช่วยค่ะ

Credit ภาพ: Insung Yoon | Unsplash

ลูกออทิสติกไม่เข้าใจภาษา ทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจได้ดีขึ้น? | บ้านอุ่นรัก

ลูกออทิสติกไม่เข้าใจภาษา ทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจได้ดีขึ้น? | บ้านอุ่นรัก

การพูดและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนับเป็นพัฒนาการและทักษะสำคัญที่จะส่งผลให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเลียนแบบ ความสามารถที่จะสานต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ความสามารถในการคิด ประมวลผลการสื่อสารและกลั่นออกมาเป็นคำพูดโต้ตอบที่ตรงตามสถานการณ์ตรงหน้าได้ และความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เป็นต้น

แต่ในกรณีของลูกออทิสติก ลูกมักจะมีปัญหาเรื่องการพูดและไม่ค่อยเข้าใจภาษาเพื่อการสื่อสาร จึงต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากยิ่ง ๆ ขึ้นจนยากที่จะแก้ไข

การแก้ไขปัญหานี้ควรมีนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดเป็นบุคคลหลักในการช่วยบำบัดและรักษา อย่างไรก็ตาม การบำบัดรักษาต้องใช้ระยะเวลาและต้องทำสม่ำเสมอ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้านสามารถเข้ามาเป็น “ทีมเสริม” ของนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูด เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้ที่ดีขึ้นได้ โดยเมื่อนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดวางแนวทางการดูแลและบำบัดรักษาลูกในขณะลูกอยู่ที่บ้าน ทุกคนในบ้านควรร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ๆ ค่ะ

สำหรับเด็ก ๆ ออทิสติกที่มาเรียนที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เรามีแนวทางในการกระตุ้นทักษะและพัฒนาการด้านนี้ให้กับเด็ก ๆ ดังนี้ คือ

  • ใช้สื่อ อุปกรณ์ เครื่องมือ
  • ใช้การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น (Visual Learning)
  • เพิ่มทักษะทางภาษาท่าทาง
  • วางเงื่อนไขการพูด  
  • เน้นพูดตาม ถามทวนซ้ำ
  • เน้นการพูดโต้ตอบสนทนา

เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้ลองทำตามแนวทางของเราควบคู่ไปกับแนวทางที่นักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดให้ไว้ ทั้งนี้เพื่อในที่สุดลูกหลานออทิสติกจะได้เข้าใจภาษาได้ดีขึ้นค่ะ

Photo Credit: Humphrey Muleba | Unsplash

ประโยชน์ที่ลูกออทิสติกจะได้รับจากการบำบัดและฟื้นฟูความผิดปกติเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร | บ้านอุ่นรัก

ประโยชน์ที่ลูกออทิสติกจะได้รับจากการบำบัดและฟื้นฟูความผิดปกติเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร | บ้านอุ่นรัก

ประโยชน์ที่ลูกออทิสติกจะได้รับจากการบำบัดและฟื้นฟูความผิดปกติเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร

โรคออทิสติกกระทบพัฒนาการด้านใดของลูกบ้าง

โรคออทิสติกเป็นโรคเกี่ยวกับความบกพร่องทางพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก เช่น ภาษา สังคม พฤติกรรม และอารมณ์ ซึ่งลูกแต่ละคนอาจมีกลุ่มของความบกพร่องหรืออาการ ตลอดจนระดับของอาการ (น้อย กลาง มาก) ต่างกันไปได้ ส่วนการสังเกตเห็นร่องรอยของอาการหรือวินิจฉัยพบโรคนั้น แพทย์เคยวินิจฉัยพบอาการออทิสติกในลูกบางรายตั้งแต่ลูกอายุ 10-12 เดือน นอกจากนี้ หากลูกมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาหรือมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าไม่สมวัย เราจะสังเกตเห็นปัญหานี้ได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในวัย 1.6 ขวบ ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการของลูกออทิสติกมักจะแสดงออกมาให้เราเห็นตั้งแต่ลูกอยู่ในวัยก่อน 3 ขวบ

ปัญหาเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารของลูกออทิสติก

สำหรับการแปลสรุปบทความ ๆ นี้ เราขอเน้นที่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของลูกออทิสติกเรื่องการใช้ภาษา (วัจนภาษาและอวัจนภาษา) และการพูดเพื่อการสื่อสาร ตลอดจนการบำบัดและฟื้นฟูทักษะด้านนี้ให้กับลูก ทั้งนี้ ปัญหาที่พบบ่อยเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารของลูกออทิสติกอาจมีลักษณะต่าง ๆ กัน ดังต่อไปนี้
• ไม่พูด
• ออกเสียงหรือเปล่งเสียงแต่จะเป็นเสียงคราง เสียงร้อง เสียงแหลม ๆ เสียงในลำคอ หรือเสียงกระโชกโฮกฮาก
• ทำเสียงฮึมฮัมหรือพูดแบบทำนองเพลง
• พูดเจื้อยแจ้วด้วยเสียงที่ฟังแล้วคล้าย ๆ จะเป็นคำ
• พูดภาษาต่างดาว
• พูดแบบหุ่นยนต์
• พูดตามแบบนกแก้วนกขุนทอง พูดซ้ำ พูดทวนคำที่คนอื่น ๆ พูดออกมา (echolalia)
• ใช้วลีและประโยคถูกต้อง แต่มีโทนเสียงผิดปกติ
• ขาดทักษะการสนทนาหรือพูดคุย
• ขาดการสบตากับคู่สนทนา
• ใช้ภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสารได้ไม่ดีนัก
• ไม่เข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ นอกเหนือจากคำที่เคยเรียนรู้มา
• จดจำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ยิน พูดตามชุดความจำนั้น แต่อาจไม่รู้ความหมายว่าสิ่งที่พูดนั้นคืออะไร
• พูดซ้ำคำพูดที่คนอื่น ๆ พูด
• ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ
• ขาดการใช้ภาษาเชิงสร้างสรรค์

ทั้งนี้ 1/3 ของลูกออทิสติกมักมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาและการพูด ทำให้การสื่อสารของลูกขาดประสิทธิภาพ และเราไม่ค่อยเข้าใจความหมายของสิ่งที่ลูกพูดหรือเปล่งเสียงออกมา

เราจะช่วยลูกแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

การบำบัดและฟื้นฟูความบกพร่องเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับลูก ทั้งนี้ ผลจากการวิจัยพบว่าลูกออทิสติกที่มีพัฒนาการคืบหน้าในระดับดี มักเคยผ่านการบำบัดฟื้นฟูเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่การช่วยลูกบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหานี้ เราไม่ใช่เพียงต้องส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพูด แต่ต้องสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ที่จะพูดควบคู่ไปกับเรียนรู้ที่จะสื่อสาร เรียนรู้ว่าจะเข้าร่วมและอยู่ในวงสนทนากับคนอื่น ๆ ได้อย่างไร อีกทั้งเรียนรู้การทำความเข้าใจนัยยะทางการสื่อสารที่คนอื่นแสดงออกมาผ่านคำพูด สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง และภาษากายพร้อม ๆ กันไปด้วย

นักวิชาชีพที่ช่วยแก้ปัญหานี้ให้ลูก

นักแก้ไขการพูด คือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะช่วยคัดกรอง ตรวจหาความเสี่ยง วินิจฉัย วางแนวทางการบำบัด รักษา และฟื้นฟูความบกพร่องทางการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารของลูก ตลอดจนอาจมีการส่งต่อลูกไปพบนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่พบในลูกออทิสติกแต่ละคนให้ครบรอบด้านอีกด้วย

นักแก้ไขการพูดจะกำหนดแนวทางการบำบัดรักษาที่ดีที่สุดสำหรับลูกของเรา และให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสาร เพื่อลูกมีคุณภาพชีวิตที่ปกติสุขดีขึ้น ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางการบำบัดรักษา นักแก้ไขการพูดจะทำงานร่วมกับครอบครัว โรงเรียน และสหวิชาชีพทีมบำบัดด้านอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

เทคนิคที่ใช้ในการบำบัดปัญหาเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร

สำหรับลูกที่ไม่ยอมพูดหรือมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารนี้ นักแก้ไขการพูดจะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้กับลูก และอาจใช้เทคนิควิธีการทางเลือกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เข้ามาเสริมในลูกบางราย
• ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยในการพูด
• ใช้สัญลักษณ์หรือการพิมพ์
• ใช้แผ่นภาพประกอบคำเพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนความหมาย
• ใช้เทคนิคขยายเสียงหรือบีบเสียงในการบำบัดรักษาลูกที่มีระบบรับรู้เสียงไวกว่าปกติหรือต่ำกว่าปกติ
• แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเปล่งเสียงพูดด้วยการนวด การออกกำลังกายริมฝีปาก หรือกล้ามเนื้อบนใบหน้า
• ใช้การร้องเพลงที่มีจังหวะ การเน้นเสียง และความลื่นไหลของประโยค เป็นต้น

ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคนิคหรือวิธีการอื่นใดเพื่อส่งเสริมการบำบัดรักษานั้น นักแก้ไขการพูดตลอดจนทีมแพทย์และทีมบำบัดของลูกจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุดให้ลูก ตลอดจนให้คำแนะนำแก่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองในการช่วยเหลือลูกคู่ขนานกันไปด้วยค่ะ

ประโยชน์ที่ลูกออทิสติกจะได้รับจากการบำบัดการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร

ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่านักแก้ไขการพูดเน้นเรื่องการสร้างเสริมพัฒนาการภาพรวมเรื่องการสื่อสารให้กับลูก เพื่อลูกมีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติสุขและดีขึ้น อีกทั้งเพิ่มความสามารถของลูกในการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นพร้อม ๆ กันไปด้วย ในภาพรวมนั้น จุดประสงค์สำคัญ ๆ ในการบำบัดรักษาเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร คือ
• ลูกประกอบคำเพื่อใช้สื่อสารได้
• ลูกสื่อสารแบบต่าง ๆ ผ่านภาษาพูด ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า และภาษากายได้ (สื่อสารแบบวัจนภาษาและอวัจนภาษาได้)
• ลูกเข้าใจความหมายของการสื่อสารที่คนอื่นต้องการสื่อสารในแต่ละสถานการณ์ได้
• ลูกเริ่มสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ใครชี้นำ เริ่มต้นให้ หรือนำทาง
• ลูกรู้กาลเทศะเรื่องการสื่อสารตามสถานการณ์ เช่น รู้ว่าต้องพูดคำว่า “อรุณสวัสดิ์” ในช่วงเช้า เป็นต้น
• ลูกมีพัฒนาการด้านทักษะการสนทนา
• ลูกมีการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด
• ลูกมีการสื่อสารในรูปแบบที่เพิ่มพูนสัมพันธภาพ
• ลูกสนุกสนานที่ได้สื่อสาร ละเล่น และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
• ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเรื่องการสื่อสาร

กระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกคือหัวใจสำคัญ

นักแก้ไขการพูดสามารถช่วยเราคัดกรอง วินิจฉัย ตรวจหาความเสี่ยงเรื่องความผิดปกติด้านการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารของลูก ตลอดจนวางแนวทางในการบำบัดรักษาให้ลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่ง “การกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก” นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในแง่ของการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกจะช่วยลูกออทิสติก 2/3 ที่อยู่ในวัยก่อนเข้าเรียนให้มีอาการดีขึ้นได้

การบำบัดรักษาลูกออทิสติกไม่ว่าจะลูกจะมีกลุ่มอาการหรือความบกพร่องด้านใด “ยิ่งบำบัดรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี ยิ่งมีเวลามากพอที่จะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และยิ่งมีประสิทธิภาพ” นอกจาก เรายิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งดีแล้ว หากเราได้บำบัดรักษาลูกตามแนวทางที่ทีมแพทย์ นักแก้ไขการพูด และสหวิชาชีพทีมบำบัดวางไว้อย่างต่อเนื่อง เท่ากับเราได้ช่วยลูกสร้างเสริมทักษะและความสามารถในการเข้าสังคมได้อีกประการหนึ่งด้วย ดังนั้น หากเราพบว่าลูกออทิสติกมีความบกพร่องด้านการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสาร เราต้องรีบปรึกษาแพทย์และนักแก้ไขการพูดกันนะคะ

สำหรับท่านที่ต้องการอ่านบทความต้นฉบับ สามารถติดตามอ่านจากลิ้งค์นี้ได้ค่ะ
https://www.webmd.com/brain/autism/benefits-speech-therapy-autism

ตอนนี้ เราได้รู้จักบทบาทของนักแก้ไขการพูดที่จะช่วยบำบัดรักษาลูกออทิสติกเรื่องการใช้ภาษาและการพูดเพื่อการสื่อสารกันไปคร่าว ๆ แล้ว ในโอกาสต่อไป เราจะหาข้อมูลที่น่าสนใจของสหวิชาชีพทีมบำบัดอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการช่วยลูกออทิสติกมานำเสนอกันอีกค่ะ

“ทุกปัญหามีทางแก้” ดังนั้น หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองมีความกังวลใจเรื่องพัฒนาการของลูกไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามที ขอให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อรับการวินิจฉัยอาการและขอแนวทางการบำบัดรักษาที่ถูกทางต่อไป

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักขอเป็นกำลังใจและเพื่อนคู่คิดให้กับทุกท่าน หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูต้องการติดต่อเราเรื่องลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น หรือลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ท่านสามารถติดต่อเราได้ยังสาขาที่สะดวก หรือเลือกติดต่อเราผ่านช่องทางต่าง ๆ ของเรา เช่น เวบไซต์ เฟสบุ๊ค หรือไลน์แอด ก็ได้เช่นกันค่ะ

เราอยู่ตรงนี้และยินดีที่ได้เป็นเพื่อนคู่คิดค่ะ

Credit บทความ: www.webmd.com
Credit ภาพ: Caroline Hermandez from Unsplash