จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 2) | บ้านอุ่นรัก

จับปรับ พฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” (ตอนที่ 2) | บ้านอุ่นรัก

ตอน: เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซน อยู่ไม่สุข

การช่วยให้อาการ “ซนอยู่ไม่สุข” ของลูกลดน้อยลงไปได้นั้น คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญใน “การปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ 5 ประการ” ดังที่ “บ้านอุ่นรัก” ได้เกริ่นไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ คือ (1) เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซนอยู่ไม่สุข (2) จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น (3) เริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก (4) ลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัว และ (5) แทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธิ

สำหรับตอนนี้ เรามาเริ่มต้นกันที่การปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประการแรก คือ “เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซนอยู่ไม่สุข” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเราต้องมีการจัดการทางกายภาพให้กับลูก ๆ ซึ่งวิธีการจัดการที่ว่านี้ “บ้านอุ่นรัก” ได้ใช้จริงในการปรับพฤติกรรมของลูกศิษย์ และพบว่าใช้ได้ผลชัดเจนในระยะยาว

(1) เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซนอยู่ไม่สุข

เป็นการจัดการทางกายภาพ 4 รูปแบบ คือ

1.1: การออกกำลังกายอย่างมีทิศทางเพื่อเผาผลาญพลังงานเหลือใช้

สำหรับลูกที่มีพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุข เราอาจเข้าใจผิดว่าลูกที่ซนอยู่ไม่สุขและเคลื่อนไหวไป ๆ มา ๆ ทั้งวันนั้นคือได้ออกกำลังกายเยอะแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือลูกที่ซนอยู่ไม่สุขและเคลื่อนไหวทั้งวันยังคงซนมากอยู่ แสดงว่าลูกยังมีพลังงานเหลือใช้อยู่อีกมาก และเราต้องหาทางจัดการพลังงานเหลือใช้เหล่านั้นด้วยการหากิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกทำ

กิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานเหลือใช้ที่จะให้ลูกทำ ต้องเน้นการเคลื่อนไหวอย่างที่มีทิศทางและได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ เราควรทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นไปกับลูก เพื่อได้จับตาดูและคอยเตือนให้ลูกเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง โดยไม่ปล่อยให้ลูกเคลื่อนไหวในลักษณะที่เตลิดไปทางโน้นทีทางนี้ที ทั้งนี้ เราควรจัดตารางเวลาการออกกำลังกายอย่างมีทิศทางให้กับลูกให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ 15 ถึง 30 นาทีในเด็กเล็ก หรืออาจถึง1ชั่วโมงในเด็กโต

ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ เช่น เดินเล่นระยะไกลพอควร วิ่งไล่เตะลูกบอล วิ่งในลู่อย่างมีทิศทาง วิ่งไปพร้อมกับพ่อแม่ (ไม่ปล่อยลูกวิ่งเตลิดไร้รูปแบบ) ปั่นจักรยานไปด้วยกัน ฝึกว่ายน้ำ

1.2: การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เพิ่มการระมัดระวังตัวและได้ฝึกการคุมตนเองในขณะที่เคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ

ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ เช่น พาลูกไปสนามเด็กเล่นเพื่อเล่นเครื่องเล่นสนาม โดยไม่ปล่อยให้ลูกใช้สนามเด็กเล่นเป็นที่วิ่งเล่นวิ่งวนไปมา แต่เราจะพาลูกสำรวจเครื่องเล่นอย่างมีรูปแบบมากขึ้น เช่น ได้ปีนป่ายตาข่าย ได้มุดลอด ได้ขึ้นลงกระดานลื่นอย่างถูกทิศทาง ไม่ปีนขึ้นแบบย้อนศร เล่นเดินบนสะพานทรงตัวโดยเดินขนานด้านข้างให้ลูกเดินได้จนสุดทางโดยไม่วิ่งลงระหว่างทาง ทั้งนี้ เราจะกำหนดในใจให้ลูกได้สำรวจเครื่องเล่นต่าง ๆ จุดละ 5-10 รอบ

หากอยู่ที่บ้าน เราอาจสร้างด่านเล่นสนุกด้วยกัน เช่น จัดเรียงกล่องรองเท้าวางเป็นระยะแล้วชวนลูกเล่นเดินข้ามสิ่งกีดขวาง ชวนลูกก้าวเดินบนเก้าอี้ที่วางเรียงต่อกัน เล่นเดินบนเชือกที่วางบนพื้นเพื่อฝึกลูกคุมตนเองให้เดินเกาะตามเส้นจนสุดเชือก และการกระโดดไปตามเส้นกะระยะที่เราติดไว้บนพื้น เป็นต้น

การชวนลูกทำกิจกรรมเคลื่อนไหวข้ามสิ่งกีดขวางเป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้ลูกรับรู้ถึงความระมัดระวังในการเคลื่อนไหว และได้ฝึกการควบคุมตนเอง เมื่อลูกได้ทำบ่อย ๆ ก็จะเรียนรู้การควบคุมตนเองและทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ด่านฝึกกิจกรรมเคลื่อนไหวข้ามสิ่งกีดขวางแบบง่าย ๆ และสนุกสนานดังตัวอย่างข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นที่สนามเด็กเล่นหรือที่บ้าน อันที่จริงนั้นก็คือแนวคิดและแบบฝึกแบบเดียวกันกับที่คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองกำลังควักเงินในกระเป๋าไปจ่ายเพื่อซื้อบริการจากครูฝึกนอกบ้านนั่นเอง ซึ่งหากทำเองที่บ้าน ก็จะเป็นการใช้เวลาคุณภาพไปกับลูก การช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมให้ลูก และการลดอาการซนอยู่ไม่สุขของลูก แบบเปี่ยมรัก ประหยัด Low Cost ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องรอคิวเข้ารับบริการ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากมายเกินความจำเป็น

3: การจัดสมดุลการเคลื่อนไหวระหว่างวัน

เราไม่ควรปล่อยให้ลูกวิ่ง ปีนป่าย รื้อค้นอย่างไม่มีความหมาย หรือเคลื่อนไหวมาก ๆ นาน ๆ โดยไม่หยุดพัก เพราะยิ่งปล่อยนาน ลูกยิ่งเตลิด ดังนั้น ควรสลับโทนให้ลูกได้มีช่วงเวลาพักอย่างสงบนิ่งด้วย ทั้งนี้ เราไม่ควรปล่อยให้ลูกวิ่งเตลิดนานเกิน 15-20 นาที

ตัวอย่างการจัดสมดุลและสลับโทนให้ลูกที่เคลื่อนไหวมากพอสมควรแล้วได้หยุดพัก เช่น ชวนลูกนั่งร้องเพลงเบา ๆ ชวนลูกนั่งพักและนวดให้ผ่อนคลาย ชวนลูกมานั่งและทำกิจกรรมลงมือทำง่าย ๆ และควรสลับโทนการเคลื่อนไหว-การหยุดพักสงบเช่นนี้บ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อให้เกิดสมดุล

4:  การแทรกการเตือนให้ลูกเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะจะโคนในชีวิตประจำวัน

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเราควรร่วมอยู่ ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปกับลูก ทั้งนี้ เพราะเรามีจุดประสงค์ที่จะจับตาดูและคอยเตือนให้ลูกเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง มีจังหวะจะโคน โดยไม่ปล่อยให้ลูกเคลื่อนไหวในลักษณะที่เตลิดไปทางโน้นทีทางนี้ที

ตัวอย่างการเติอนลูก เช่น เตือนให้ตามองมือ ตามองเท้าขณะเคลื่อนไหว บอกให้เดินมาหาเราแทนการวิ่ง เตือนให้มองทางขณะขึ้น-ลงบันได และเตือนให้ทำกิจวัตรต่าง ๆ ช้า ๆ อย่างประณีตและมีจังหวะจะโคนมากขึ้น เป็นต้น และเมื่อลูกทำได้หรือแม้แต่พยายามทำแล้วแต่ยังไม่ได่ผลเต็มร้อย ก็อย่าลืมกล่าวชมในความสำเร็จหรือความพยายามทำของลูกด้วยความจริงใจ ลูกจะได้มีกำลังใจ เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง และภาคภูมิใจในความพยายามของตนเอง

อันที่จริง การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายอย่างมีทิศทางเพื่อเผาผลาญพลังงานเหลือใช้ เพิ่มการระมัดระวังตัว และฝึกการคุมตนเอง ยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบ แต่ตัวอย่างข้างต้นที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ยกมากล่าวโดยสังเขปนั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ยุ่งยาก ไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป ปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันของลูก มีแทรกอยู่แล้วในวิถีชีวิตจริงของลูก เราใช้จริง ๆ ที่ “บ้านอุ่นรัก” จนลดอาการซนอยู่ไม่สุขของลูกได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการนอกบ้านได้เป็นอย่างดี

ในตอนหน้า เราจะมาปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เพิ่มเติมกันอีก และจะมาจับ (ลูก) ปรับความซนอยู่ไม่สุขกันต่อ โปรดติดตามอ่านนะคะ

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.2 ตัวอย่างกิจกรรมช่วยลดระดับความซน

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.2 ตัวอย่างกิจกรรมช่วยลดระดับความซน

Clip Series เรื่อง “ลูกซน หรือลูกซนผิดปกติ” ตอน “ตัวอย่างกิจกรรมช่วยลดระดับความซน”

มาดูตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยลดระดับความซนของหนูน้อยจอมซน แล้วพ่อแม่จะรู้ว่าท่านสามารถจัดกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันที่บ้านเพื่อลดความซนของลูกได้

วิธีปราบซนปราบเซียนใน Clip นี้ยังกล่าวถึงการลดอาหารกระตุ้นภาวะตื่นตัวของลูก และการจัดสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของลูกให้มีระเบียบมากขึ้นเพื่อตัดวงจรวีรกรรมปั่นป่วน

พ่อแม่ที่ได้ชม Clip นี้จะรู้ว่าท่านทำทุกเรื่องได้เอง ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน และหากทำได้อย่างต่อเนื่อง จะสามารถลดพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุขหรือซนผิดปกติได้ผลในระยะยาวค่ะ

ขอแค่พ่อแม่ตระหนักรู้ว่าลูกซนผิดปกติและเริ่มต้นทำการแก้ไขปัญหา พ่อแม่ก็จะช่วยลูกจอมซนได้ เราขอให้กำลังใจ

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.1 ลูกซน อยู่ไม่สุข วิธีสังเกตอาการซนผิดปกติ

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.1 ลูกซน อยู่ไม่สุข วิธีสังเกตอาการซนผิดปกติ

Clip Series เรื่อง “ลูกซน หรือลูกซนผิดปกติ” ตอน “วิธีสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมซนผิดปกติหรือไม่”

คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูระดับการเคลื่อนไหวของลูก กระบวนการในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของลูก ระดับการคุมตนเองให้เหมาะสมและสมวัยของลูก ตลอดจนความสามารถในการอยู่นิ่ง ๆ ของลูกกันนะคะ แล้วคุณจะรู้ได้ว่าลูกแค่ซนหรือลูกซนเกินผิดปกติกันแน่

ถ้าลูกซนผิดปกติ ครูนิ่มได้บอกวิธีเบื้องต้นที่พ่อแม่ช่วยลูกได้ไว้ใน Clip นี้ด้วยค่ะ ติดตามชมกันนะคะ ลูกซนผิดปกติคนนี้รอการช่วยเหลือจากพ่อและแม่อยู่ค่ะ

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.— ลูกซน หรือ ซนผิดปกติ วิธีแก้อาการซน

VDO | ลูกซนผิดปกติ EP.— ลูกซน หรือ ซนผิดปกติ วิธีแก้อาการซน

Clip Series เรื่อง “ลูกซน หรือลูกซนผิดปกติ” ตอน “สาเหตุและการแก้ปัญหาความซนของลูกในภาพรวม” นี้ว่าด้วยความซนของลูก ๆ ที่เมื่อพ่อแม่สังเกตให้ดี ก็จะรู้ว่าลูกแค่ซุกซนหรือซนผิดปกติ

ไม่ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่จะซนประมาณไหน ใน Clip นี้มีวิธีแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การฝึกลูกให้รู้จักการรอคอยและการใช้กิจกรรมที่เพิ่มการจดจ่อให้กับลูก เป็นต้น เมื่อทำการแก้ปัญหาในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่จะแก้ปัญหาความซนของลูกได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป