by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
การพูดและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนับเป็นพัฒนาการและทักษะสำคัญที่จะส่งผลให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเลียนแบบ ความสามารถที่จะสานต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ความสามารถในการคิด ประมวลผลการสื่อสารและกลั่นออกมาเป็นคำพูดโต้ตอบที่ตรงตามสถานการณ์ตรงหน้าได้ และความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เป็นต้น
แต่ในกรณีของลูกออทิสติก ลูกมักจะมีปัญหาเรื่องการพูดและไม่ค่อยเข้าใจภาษาเพื่อการสื่อสาร จึงต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากยิ่ง ๆ ขึ้นจนยากที่จะแก้ไข
การแก้ไขปัญหานี้ควรมีนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดเป็นบุคคลหลัก ในการช่วยบำบัดและรักษา อย่างไรก็ตาม การบำบัดรักษาต้องใช้ระยะเวลาและต้องทำสม่ำเสมอ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้านสามารถเข้ามาเป็น “ทีมเสริม” ของนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูด เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้ที่ดีขึ้นได้ โดยเมื่อนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดวางแนวทางการดูแลและบำบัดรักษาลูกในขณะลูกอยู่ที่บ้าน ทุกคนในบ้านควรร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ๆ ค่ะ
สำหรับเด็ก ๆ ออทิสติกที่มาเรียนที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เรามีแนวทางในการกระตุ้นทักษะและพัฒนาการด้านนี้ให้กับเด็ก ๆ ดังนี้ คือ
ใช้สื่อ อุปกรณ์ เครื่องมือ
ใช้การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น ( Visual Learning)
เพิ่มทักษะทางภาษาท่าทาง
วางเงื่อนไขการพูด
เน้นพูดตาม ถามทวนซ้ำ
เน้นการพูดโต้ตอบสนทนา
เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้ลองทำตามแนวทางของเราควบคู่ไปกับแนวทางที่นักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดให้ไว้ ทั้งนี้เพื่อในที่สุดลูกหลานออทิสติกจะได้เข้าใจภาษาได้ดีขึ้นค่ะ
Photo Credit: Humphrey Muleba | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
เราจะตั้งเป้าหมายให้ลูกดูแลตนเองในชีวิตประจำวันให้ได้
ทำไม…ต้องตั้งเป้าหมายเช่นนี้ ?
ทำไม…ต้องสอนให้ลูกออทิสติกรู้บทบาทของตนเองและมีส่วนร่วมลงมือทำทุก ๆ เรื่องที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับตัวลูกเอง ?
เราทำเช่นนั้น เพราะ…เรารู้ว่า
ลูกทำได้
ลูกรู้บทบาทของตนเองได้
ลูกมีส่วนร่วมลงมือทำในกิจวัตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดูแลตนเองได้ตามวัย และ
ลูกพึ่งพาตนเองได้
เพราะลูกทำได้เช่นนี้ ในอนาคต…ลูกจึงไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากเราหรือใคร ๆ ในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองในชีวิตประจำวันตามวัย
เราทำเช่นนั้น เพราะ…เรามีเป้าหมายว่า “ลูกออทิสติกของเราต้องดูแลตนเองในชีวิตประจำวันได้”
เมื่อมีเป้าหมายแน่ชัด เราจึงลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ ค่อย ๆ สอนและให้เวลาลูกได้เรียนรู้ เพื่อได้ถึงวันที่เป้าหมายของเราจะสำเร็จลุล่วง…
ความสำเร็จในการลงมือทำของเรา = ความอดทน + ความพยายามทำที่เราได้ทุ่มเท ใส่ใจ และลงแรงไป
Photo Credit: Anna Earl | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
เพราะความหวังสูงสุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือ ในอนาคต ลูกของเราจะต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองในโลกใบนี้นั่นเอง
จากเป้าหมายนี้ …. สิ่งแรกที่เป็นรูปธรรมที่จะเป็นตัวทำนายหรือชี้วัดผลสำเร็จได้ชัดเจนที่สุด ว่าลูกเราจะยืนอยู่บนโลกนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมากนัก คือ ลูกจำเป็นต้องดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวันได้เกือบ 100 % ก่อนอายุ 7-12 ปี
เพราะเรามีความเชื่อว่า ความรัก ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้
บ้านอุ่นรัก
งั้นเรามาเริ่มต้นทำความหวังให้เป็นจริงตั้งแต่วันนี้ เรามาเริ่มต้น จับมือลูก นำลูกทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตนเอง และเรามาฝึกลูกในการช่วยเหลือตนเองให้ได้ โดยทีมงานบ้านอุ่นรัก ขอนำเสนอแนวคิด ดังนี้ค่ะ
6 สิ่งที่ต้องฝึก
ให้เด็กออทิสติกรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน
1. ฝึกลูกดูแลตนเอง
ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องว่าลูกจะต้องดูแลตนเอง โดยจับนำ ฝึกให้ลูกร่วมลงมือทำ ในทุกกระบวนการ แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยลงทีละน้อย จนถึงจุดที่ลูกทำได้ด้วยตนเอง
2. ฝึกลูกด้านสุขอนามัย
ให้ความสำคัญ ในเรื่องการดูแลเรื่องสุขลักษณะ สุขอนามัย โดยไม่ปล่อยผ่าน แม้ลูกจะมีท่าทีฝืนหรือต่อต้าน (เด็กออทิสติกจะมีการรับรู้ไวจึงมักจะเลี่ยงกิจวัตรที่กระตุ้นการรับสัมผัสด้านต่าง ๆ) เราจำเป็นต้องตะล่อมนำให้ลูกทำได้จนเป็นกิจวัตรตามปกติตามที่ควรจะเป็นจริงให้ได้ เช่น การอาบน้ำ การแปรงฟัน การตัดเล็บ การสระผม ตลอดจนค่อย ๆ จับนำให้ลูกสามารถดูแลสุขลักษณะอื่น ๆ ตามจริงด้วยตนเอง เช่น ล้างมือ เช็ดมือ เช็ดน้ำมูก ฯลฯ
3. ฝึกลูกร่วมลงมือทำ
ร่วมกันลงมือทำกิจวัตรประจำวันด้านการช่วยเหลือตนเอง โดยจับมือนำ กระตุ้นให้ลูกมีส่วนร่วมลงมือกระทำจริงตามสถานการณ์ที่เกิดจริงตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เช่น การเก็บที่นอน การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งกาย การทานอาหาร-ดื่ม การขับถ่ายและเข้าห้องน้ำ การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ของตน จนถึงการเข้านอน
4. ฝึกให้ลูกมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
ร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเป็นผู้กระทำตามวัย ตามความสามารถ เช่น จับมือให้ลูกร่วมเช็ดน้ำที่ทำหก ถอดเสื้อผ้าของตนเองใส่ไว้ในตะกร้า เก็บรองเท้าขึ้นชั้นวางรองเท้า
5. ฝึกให้ลูกมีส่วนร่วมในงานบ้าน
ซึ่งได้แก่งานบ้านที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น เก็บภาชนะของตนหลังทานอาหาร ทิ้งขยะลงถัง หรือเก็บสิ่งของเครื่องใช้ ของเล่น หนังสือ ที่ตนรื้ออกมาเก็บให้เข้าที่
6. ฝึกลูกรับผิดชอบภารกิจตนเอง
ฝึกรับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ก่อนเข้านอนในตอนค่ำ เพื่อลูกตื่นนอนตอนเช้าได้ด้วยตนเอง จัดกระเป๋า ตารางสอน ของใช้สำหรับไปโรงเรียนตั้งแต่ตอนค่ำ รับผิดชอบงานของตนเองให้เสร็จ เช่น ทำการบ้านให้เสร็จ เป็นต้น
Tips เล็กๆ น้อยๆ จากบ้านอุ่นรัก
ลองนั่ง list รายการกิจวัตรประจำวันของลูกตั้งแต่ตื่นเช้าถึงเข้านอน
นำกิจวัตรทีละอย่างมานั่งนึกถึงขั้นตอน แยกส่วนเป็นขั้นตอนย่อย ๆ โดยคิดเป็นภาพของการทำในแต่ละขั้นตอนของกิจวัตรนั้น ๆ ทีละเรื่อง คิดเป็นภาพสั้น ๆ ทีละ shot ที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกิจกรรมจนถึงขั้นสุดท้าย ในเรื่องที่คาดว่าลูกจะเข้าใจได้ยาก เราอาจวาดรูปหรือถ่ายภาพกิจวัตรนั้น ๆ ทีละขั้นมาประกอบการสอนลูก เพราะการใช้ภาพช่วยสอนลูก จะทำให้ลูกเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าการพูดอธิบายแต่อย่างเดียว เช่น จะสอนลูกเรื่องการแปรงฟัน เราจะคิดเป็นภาพย่อย ๆ ทีละขั้น ได้ดังนี้
หยิบแปรงสีฟัน
à
บีบยาสีฟันลงบนแปรง
à
เปิดก้อกน้ำ à
เอาแปรงจุ่มน้ำ
à
แปรงจุดละ
10 ครั้ง
(พร้อมนำให้แปรงทีละจุดจนทั่วทั้งปาก) à
บ้วนปาก
à
ล้างแปรง
à
เก็บแปรง
ฝึกลูกให้มีส่วนร่วมลงมือทำ เริ่มจากนำให้ลูกมีส่วนร่วมลงมือทำในกิจวัตรที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ ในระยะแรก อาจจับทำ บอกบท แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยทีละน้อย
กระตุ้นให้ลูกทำด้วยตนเองมากที่สุด จนปล่อยให้ลูกทำเอง
ฝึกทุกวัน เริ่มจับนำให้ลูกทำตามสถานการณ์จริง โดยเริ่มต้นฝึกเร็วที่สุดตั้งแต่ยังเล็ก ฝึกช่วยเหลือตนเองมาตั้งแต่ลูกอายุ 3-5 ปี ขวบ จนอายุ 7 ขวบ หรือ อาจถึง 10 ขวบ
เลือกสอนทีละงาน เริ่มจากเรื่องที่ง่ายที่สุด
พ่อแม่หรือสมาชิกในบ้านจัดเวลาลงมาจับนำในสถานการณ์จริง ทำด้วยความสุขที่จะได้ใช้เวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ร่วมกัน
เรามีภารกิจนี้ร่วมกับลูกนะคะ และยังพอมีเวลาอีกยาวนานที่จะเตรียมตัวลูกให้สามารถดำรงชีวิตให้ได้ในวัยผู้ใหญ่ เรามาเริ่มลงมือทำจริง ๆ ตั้งแต่วันนี้นะคะ ใช้กิจวัตรตามจริงจับนำแล้วปล่อยให้ลูกทำอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่นานนัก อาจจะใช้เวลาไม่เกิน 4-7 ปี เป็นช่วงชีวิตดี ๆ ที่เราได้จะใช้เวลาร่วมกับลูก ในที่สุดความรัก ความพยายามที่เราทุ่มเทให้ไป จะถึงจุดที่ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ในอนาคต จึงมั่นใจได้ว่าลูกจะยืนหยัดอยู่บนโลกนี้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่เป็นภาระของใครค่ะ
ท่านที่สนใจเรียนรู้ตัวอย่างการคิดกิจวัตรและขั้นตอนการสอน ให้สำเร็จได้จริง ท่านสามารถติดตามจากสื่อการสอนของบ้านอุ่นรัก ชุดการฝึกช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ตามช่วงวัย ตั้งแต่ อายุ 2-12 ปี ได้ ตามที่ท่านสะดวกค่ะ