การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 1: ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้ | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 1: ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้ | บ้านอุ่นรัก

ใครช่วยลูกได้ เมื่อลูกมีปัญหานี้?

ความล่าช้าทางพัฒนาการทางภาษาและการพูดในลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ลูกอาจไม่พูดเลย หรือแม้จะพูดได้ก็มักพูดไม่เป็นภาษา คุณภาพการพูดไม่สมวัย พูดด้วยคำพูดพยางค์เดียว พูดตาม พูดทวนคำถาม พูดเป็นประโยคยาว ๆ ไม่ได้ หรือพูดสานต่อบทสนทนาไม่ได้ เป็นต้น

สำหรับลูก ๆ ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและการพูด บุคคล 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้ คือ คนที่ช่วยลูกได้

1: แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก

การบำบัดรักษาปัญหาพัฒนาการทุกรูปแบบของลูกต้องเริ่มต้นจากการที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองพาลูกไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์ในที่นี้ หมายถึง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก ทั้งนี้ แม้แพทย์ไม่มีบทบาทโดยตรงในการสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด แต่แพทย์จะวินิจฉัยอาการเพื่อระบุปัญหาในภาพรวมและวางแผนการบำบัดรักษาให้ถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างการบำบัดรักษา แพทย์จะประเมินและติดตามผลการบำบัดรักษา ตลอดจนปรับแผนการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกเป็นระยะ ๆ ด้วย

2: นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด

นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทหลักในการสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก นอกจากนี้ นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดจะให้คำแนะนำและแนวทางเรื่องการส่งเสริมทักษะด้านนี้แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง เพื่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองนำไปปรับใช้เพื่อช่วยลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้านควบคู่กันไป ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกได้ฝึกทักษะการพูดและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนลูกสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ได้ดีขึ้นในวิถีชีวิตจริง

3: คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้าน

เมื่อนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดให้คำแนะนำเรื่องวิธีฝึกลูกที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็จะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ลูกที่บ้านควบคู่ไปกับผู้เชี่ยวชาญได้ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรแบ่งปันข้อมูลและวิธีฝึกลูกให้คนที่บ้านทุกคนที่เกี่ยวข้องกับลูกได้ทราบร่วมกันด้วย เพื่อนำไปใช้ในทิศทางเดียวกันและแทรกการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดได้บ่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติตามจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเริ่มคุ้นเคยที่จะพูด พูดอย่างมีคุณภาพสมวัยขึ้น พูดได้ยาวขึ้น และสามารถพูดสานต่อบทสนทนากับคู่สนทนาได้ดียิ่งขึ้น

 

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก ๆ ในลักษณะการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ (1) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก (2) นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด และ (3) คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้าน เป็นวิธีช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดที่คืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว  อีกทั้งยังช่วยแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนนักบำบัด และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการพาลูกไปรับการบำบัดรักษานอกบ้านได้อีกประการหนึ่ง

สำหรับบทความเรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” นี้ยังมีอีก 3 ตอน ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองติดตามอ่านให้ครบทุกตอน เพื่อท่านได้รู้แนวทางการสร้างเสริมทักษะด้านนี้ให้กับลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้าน จนสามารถช่วยลูกควบคู่ไปกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

เครดิตภาพ: Ricke 76 | Unsplash | Slidesgo

“ข้อมูลที่ควรสังเกตุและจดบันทึก” ก่อนพาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาลูกพูดช้า | บ้านอุ่นรัก

“ข้อมูลที่ควรสังเกตุและจดบันทึก” ก่อนพาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาลูกพูดช้า | บ้านอุ่นรัก

โดยทั่วไป ลูกในวัย 1 ขวบ มักเริ่มพูดออกเสียงเป็นคำ 1 พยางค์ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ยิน แต่ลูกบางรายที่พูดช้า พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมวิตกกังวล และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อวินิจฉัยอาการ ให้คำปรึกษาเรื่องแนวทางกระตุ้นการพูด ตลอดจนให้การบำบัดรักษาที่ทันท่วงที

ในกรณี “ลูกพูดช้า” ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง “สังเกตุและจดบันทึกข้อมูล” ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะส่งต่อให้แพทย์และทีมบำบัดรักษานำไปใช้ประกอบการวินิจฉัย ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อไป

“ข้อมูลที่ควรสังเกตุและจดบันทึก” ก่อนพาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องอาการลูกพูดช้า

1: คุณภาพการพูดตามวัย

คุณภาพการพูดตามวัยของเด็ก ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตุและนึกภาพตามได้โดยง่าย เป็นดังนี้ คือ

1 ขวบ: เริ่มพยายามสื่อความหมายได้ 1 พยางค์ง่าย ๆ เป็นหมวดคำที่หลากหลาย เช่น หม่ำ  หมา  ไป  แม่  ไม่

2 ขวบ: สื่อความหมายได้ 2 พยางค์

3 ขวบ: สื่อความหมายได้ 3 พยางค์ และพูดได้คละหมวด

4-5 ขวบ: ใช้ประโยคสั้น ๆ ได้ใจความค่อนข้างสมบูรณ์  สื่อสิ่งที่ต้องการได้อย่างเข้าใจความหมาย สานต่อการสนทนาไปในทิศทางเดียวกับเนื้อหาของคู่สนทนาได้ และเด็กจะสื่อความหมายด้วยหลายวิธีประกอบกันทั้งพูด ทำท่าทางประกอบ สบตา ชี้ชวน เช่น พยักหน้า และจะแสดงสีหน้าประกอบให้เห็นการสื่อถึงอารมณ์ได้ชัดเจน

2. ลักษณะการพูดของเด็กที่พูดช้า

สำหรับเด็กที่พูดช้า โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถลองสังเกตุลักษณะการพูดของลูก จดบันทึกว่าลูกน่าจะอยู่ในเด็กพูดช้ากลุ่มใด และส่งข้อมูลให้แพทย์ต่อไป

A: เด็กปกติทั่วไปแต่มีพัฒนาการด้านการพูดช้ากว่าเพื่อนไนวัยเดียวกันจึงพูดช้าซึ่งพบได้เสมอ ลักษณะของเด็กในกลุ่มนี้ คือ เด็กมักพยายามที่จะพูด มีการสบตาเว้าวอน และสามารถใช้ภาษาท่าทางแบบเจาะจงได้ เช่น ชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ ทำท่าพยักพเยิด หรือมองไปยังของที่ต้องการแม้ของสิ่งนั้นจะอยู่ในที่ ๆ ไกลออกไป

B: เด็กอาจมีปัญหาพัฒนาการบางด้านที่ส่งผลให้พูดช้าหรือพูดไม่สมวัย เช่น อาการสมาธิสั้นที่ส่งผลให้เด็กซนจนไม่สนใจเลียนแบบการพูด อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้ยังมีความพยายามที่จะสื่อสารบอกความต้องการด้วยการสบตา หรือใช้ภาษาท่าทาง เช่น มองไปที่ของ มองกลับมาที่พ่อแม่ แล้วสบตาและพยักพเยิด

C: เด็กที่อาจมีอาการออทิสติก ไม่สบตา ไม่สานต่อแบบสองทาง ไม่ใช้ภาษาท่าทางที่ชี้ชัด เช่น เมื่อต้องการอะไร เด็กจะลากมือพ่อแม่ไปโดยไม่ช้อนตาขึ้นมองหน้าพ่อแม่ อาจจะมองที่ของ แต่ไม่สลับกลับมามองคนที่จะช่วยไปเอาของให้ ไม่ชี้ไปยังของที่ต้องการ ไม่ทำท่าพยักพเยิดประกอบ

3: สำหรับลูกที่อยู่ในวัย 2.6 ขวบและยังไม่พูด ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวที่ดูไม่สมวัย เช่น เดินช้า เคลื่อนไหวแบบดูไม่แข็งแรง ป้อแป้ ก้าวขึ้น-ลง ทางต่างระดับไม่คล่อง ลุกยืนไม่คล่อง ปีนป่ายเก้งก้าง วิ่งเร็ว ๆ และหยุดเบรกไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรจดบันทึกลักษณะร่วม และรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กโดยเร็ว

พัฒนาการด้านการพูดที่ลูกทำได้ตามวัยนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารอันส่งผลต่อการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูกในวัยถัด ๆ ไป ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตุการพูดของลูก ตลอดจนจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการสังเกตุ หากพบว่าลูกพูดช้า ก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อทำการวินิจฉัยอาการ และเข้าสู่การบำบัดรักษาสำหรับลูกรายที่มีปัญหาด้านการพูดต่อไป

เครดิตภาพ: freepik