สานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่ง | บ้านอุ่นรัก

สานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่ง | บ้านอุ่นรัก

เมื่อหลายวันก่อน ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้โพสต์เกริ่นไปในบทความ เรื่อง “2 วิธีสานต่อแบบสองทาง” บ้างแล้วว่า “การสานต่อแบบสองทางระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ มีอยู่ 2 ลักษณะ” คือ

  1. การสานต่อแบบสองทางด้วยการแทรกซึมตัวเราให้เด็กเคยชินที่จะอยู่กับเรา และ
  2. การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่งเพื่อให้เด็กคุ้นเคยที่ได้อยู่กับเราและเข้ามาอยู่ในครรลองที่เราพยายามนำทางเขาได้ในลำดับถัดไป

มาถึงตอนนี้ เราขอชวนชมคลิป เรื่อง “สานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่ง”  เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นภาพวิธีสานต่อแบบสองทางในลักษณะนี้ให้ชัดเจนขึ้น

เมื่อชมคลิปของเราแล้ว ก็ต้อง “ลงมือทำ ที่บ้าน” กันนะคะ เพราะทุกแนวทางการกระตุ้นพัฒนาการจะเกิดคุณค่าต่อลูก ๆ และพ่อแม่ผู้ปกครองได้…ก็ต่อเมื่อ “เราลงมือทำ…ในชีวิตจริง” ค่ะ

 

2 วิธีสานต่อแบบสองทาง | บ้านอุ่นรัก

2 วิธีสานต่อแบบสองทาง | บ้านอุ่นรัก

การสานต่อแบบสองทางระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  • การสานต่อแบบสองทางด้วยการแทรกซึมตัวเราให้เด็กเคยชินที่จะอยู่กับเรา ทำได้โดยเราไม่ปล่อยให้เด็กแยกตัวออกไปทันที หรือแยกตัวออกไปทำกิจกรรมที่หมกมุ่น หรือแยกตัวออกไปนั่งเล่นอยู่คนเดียว การสานต่อแบบสองทางในลักษณะนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเน้นความพยายามทำให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความสนุก และให้ความสำคัญกับการเพิ่มความแน่นแฟ้นให้มากขึ้น ๆ ตลอดจนมุ่งขยายระยะเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกันนี้จากระยะเวลาสั้น ๆ เป็นเวลาที่นานยิ่ง ๆ ขึ้น การแทรกซึมนี้มี “การเล่น” เป็น “สื่อกลาง” ระหว่างเราและเด็ก ซึ่งเป็นทั้งการเล่นแบบที่มีของเล่นและการเล่นระหว่างเรากับเด็กโดยไม่ต้องมีของเล่นก็ได้ เช่น เล่นจะเอ๋ เล่นจั๊กจี้ เล่นวิ่งไล่จับและสบตากัน เล่นนั่งเครื่องบินบนขาและสบตากัน หรือนำเด็กทำกิจกรรมที่เด็กชอบโดยมีเราเป็นส่วนรวม เป็นต้น
  • การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่งเพื่อให้เด็กคุ้นเคยที่ได้อยู่กับเราและเข้ามาอยู่ในครรลองที่เราพยายามนำทางเขาได้ในลำดับถัดไป ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะชวนพ่อแม่ผู้ปกครองคุยรายละเอียดของการสานต่อด้วยวิธีนี้กันต่อในตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขนี้มีข้อพึงระวังคือเราต้องไม่เน้นที่จะการวางเงื่อนไขแบบจริงจังแต่เพียงฝ่ายเดียวจนลืมที่จะเน้นกันสานต่อแบบสองทางในทางบวกกับเด็ก ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่าเราเน้นแต่ซีนดุ ซีนวางเงื่อนไข ซีนต้องทำแบบนี้จึงจะได้ความสุขหรือความสนุกเป็นการตอบแทน หากบรรยากาศการวางเงื่อนไขออกเป็นแนวนี้ เด็ก ๆ ก็จะไม่รู้สึกถึงความสุขและสนุกที่ใช้เวลาร่วมกันกับเรา เราจึงต้องระวังเรื่องการสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขอยู่บ้างเช่นกัน

ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเลือกใช้วิธีใดในการสานต่อแบบสองทางกับลูก ขอให้ท่านคงแก่นแท้ของการสานต่อแบบสองทางดังต่อไปนี้ไว้ให้ได้ เพื่อท่านสามารถสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับลูก ๆ เพิ่มบรรยากาศทางบวกในครอบครัว พร้อม ๆ กับได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกัน

  • เน้นการสร้างโอกาส หรือมีโอกาสสร้างและสานต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เล่นด้วยกัน ได้ใช้เวลาสนุกด้วยกันเยอะ ๆ และสร้างสัมพันธภาพทางบวกกับเด็ก
  • เน้นเป้าหมายการทำให้เด็กคุ้นเคยที่จะได้อยู่กับเรา ได้ใช้เวลาร่วมกันกับเราเพื่อเล่น สำรวจสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และทำกิจกรรมสนุก ๆ แบบใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมทักษะของเด็กอย่างรอบด้าน
  • เน้นการได้หัวเราะและได้สบตากัน เพื่อทำให้เด็กรับรู้ว่าการอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นมีทั้งความสนุกและความสุข
  • เน้นการลงมือทำในชีวิตจริง เพื่อให้เด็กสัมผัสให้ได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดลูกจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่รัก เข้าใจ และเป็นเพื่อนกับลูกเสมอ

เครดิตภาพ: Freepik.com

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 4 | บ้านอุ่นรัก

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 4 | บ้านอุ่นรัก

EP 4: ชวนลูกทำกิจกรรม Warm Up ก่อนเข้าสู่กิจกรรมดนตรี

สำหรับ EP 4 นี้ คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองจะได้พบกับวิธี Warm Up ไปกับลูก ๆ (การอุ่นเครื่อง) ก่อนเข้าสู่กิจกรรมดนตรี และได้เกร็ดความรู้เรื่องประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากกิจกรรม Warm Up สนุก ๆ นี้อีกด้วยค่ะ

ตัวอย่างการ Warm up

– ลูกนั่งเก้าอี้และหันหน้าเข้าหาคุณพ่อ คุณแม่ หรือ ผู้ปกครอง (ผู้สอน) จากนั้น ยกมือทั้งสองข้าง กำมือ-แบมือ สลับกันไป ทำช้า ๆ ทำซ้ำ 5 ครั้ง

– ตบมือ เป็นจังหวะช้า ๆ 4 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบ

– สะบัดมือ

– หมุนข้อมือหน้า-หลัง

– ยกแขนสลับซ้าย-ขวา นับ 1 ถึง 4 ทำซ้ำ 5 รอบ

– ยกเท้าย่ำสลับซ้าย-ขวา และ

– แทรกกิจกรรมพัฒนาการออกเสียงด้วยการพูดไปในกิจกรรม Warm Up ด้วย เป็นต้น

เกร็ดความรู้เรื่องการ Warm Up

– Warm up ด้วยกิจกรรมสนุก ๆ จะทำให้ลูกและเราเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สนุก ยิ้ม มองตา และผูกพันกัน และทำได้ง่าย ๆ เช่น เมื่อเราชวนลูก ๆ ใช้มือทำกิจกรรม Warm Up เราก็ยกมือให้อยู่ในระดับสายตา จากนั้นก็กระตุ้นลูกให้สบตาเราและร่วมทำกิจกรรมนั้น ๆ ไปกับเรา เช่น เรียกชื่อลูก (น้อง….) มองตาแม่และมาตบมือกัน….เป็นต้น 

– นอกจากการสร้างเสริมปฎิสัมพันธ์กับลูกแล้ว เรายังสามารถแทรกการเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะด้านอื่นที่รอบด้านลงไปในกิจกรรม Warm Up ได้อีกด้วย ทั้งการเสริมสร้างทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหว การออกเสียง และการคงสมาธิ

– การ Warm Up นอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูก ๆ ได้แล้ว (กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อตั้งแต่ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ) ยังช่วยลูกเรื่องการฝึกใช้นิ้วและมือที่ต้องประสานกับการใช้สายตา ดังนั้น สมองของลูกจะพัฒนาตามความสามารถของการใช้นิ้วทั้ง 10 นิ้วได้ด้วย ทั้งนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกจะส่งผลต่อความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง การแก้ปัญหาต่าง ๆ และการปรับตัว เป็นต้น

เรามาชม EP 4 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่าง จากนั้นก็เริ่ม Warm Up สนุก ๆ กับลูกได้เลยนะคะ 

https://www.youtube.com/watch?v=01MFD9TALQc

บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

Credit ภาพ: Frank McKenna | Ben White | Unsplash

ครูเดือนชวนเล่น…มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกันเหอะพวกเรา | บ้านอุ่นรัก

ครูเดือนชวนเล่น…มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกันเหอะพวกเรา | บ้านอุ่นรัก

ในทุก ๆ วันที่ลูกศิษย์ของเรามาที่ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เด็ก ๆ จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการผ่านการเรียนการสอน การทำกิจกรรมกลุ่ม และการเล่นแบบต่าง ๆ ที่เราหวังผลเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการที่รอบด้าน การปรับพฤติกรรม และการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ก่อนจะส่งพวกเขาเข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลในลำดับถัดไป

การเล่นที่ “บ้านอุ่นรัก” เด็ก ๆ และครูจะกลายเป็นเพื่อนร่วมเล่นสนุก ๆ ไปด้วยกัน และในวันนี้ “ครูเดือน” ได้ชวนเด็ก ๆ มาเล่นบทบาทสมมุติ ในหัวข้อ “มาปรุงก๋วยเตี๋ยวกัน” ค่ะ

การชวนเด็กเล่นบทบาทสมมุติสำคัญ…อย่างไร?

สำหรับเด็ก ๆ ที่มีความล่าช้าทางพัฒนาการ พวกเขามักจะมีการเล่นเชิงจินตนาการที่ไม่สมวัย ทำให้เมื่อเล่นกับเพื่อน ๆ แล้วก็มักจะไม่สนุกกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้เพราะขาดการสานต่อการเล่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ครูบ้านอุ่นรัก (หรือหากเป็นที่บ้านก็คือคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้าน) จึงต้องสวมบทบาทเป็นเพื่อนเล่นและชวนเด็กเล่นบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มทักษะการเล่นเชิงจินตนาการให้กับพวกเขา ซึ่งจะเป็นการเล่นที่เกิดขึ้นเสมอในกลุ่มเพื่อนวัยอนุบาลค่ะ

การที่เราร่วมเล่นสนุกไปกับเด็ก ๆ สามารถส่งเสริมประสบการณ์ให้เด็กรู้จักชี้ชวน สานต่อทางอารมณ์ สนุกร่วมกับเพื่อน อีกทั้งยังสามารถแทรกการกระตุ้นการสบตา ท่าทีชี้ชวนขณะเล่น และเรายังจำเป็นต้องแทรกการเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร การพูดคุยสนทนา และการแสดงท่าทางสนุก ๆ ประกอบการเล่น เพื่อให้เด็กและเพื่อน ๆ รู้สึกสนุกจนอยากเล่นด้วยกันยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกค่ะ

บรรยากาศการเรียน การสอน และการเล่นน่ารัก ๆ ที่บ้านอุ่นรักสวนสยามและบ้านอุ่นรักธนบุรียังมีอีกเยอะ ไว้เราจะเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ กันใหม่ในคราวต่อ ๆ ไปนะคะ

ทำอย่างไรดี ลูกออทิสติกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่น! | บ้านอุ่นรัก

ทำอย่างไรดี ลูกออทิสติกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่น! | บ้านอุ่นรัก

โดยทั่วไปแล้ว ลูกในวัยทารกจนถึงวัยอนุบาลที่ไม่มีอาการออทิสติก ก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นและมีพัฒนาการทางสังคมที่โดดเด่น ดังนั้น จึงสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ มากนัก คือ 

  • ค่อย ๆ เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันหรือกับคนรอบข้างได้ แม้ในระยะแรก ๆ อาจเอียงอาย ไม่กล้าเข้าไปเล่นร่วม แต่ก็มีท่าทีสนใจ สังเกตเห็น หันมอง จ้องมอง มองตาม และคอยสังเกตอากัปกริยาต่าง ๆ ของคนอื่น แต่ในท้ายที่สุด ก็จะเข้าไปเล่นร่วม อยู่ในกลุ่ม และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการเล่นที่สนุกสนานและการเข้าสังคมนั้น
  • มีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางในเชิงสานต่อกับคนรอบข้างอย่างเห็นได้ชัด และเกาะติ ชี้ชวน เลียนแบบ สานต่อแบบสองทางกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้เลี้ยงดู ครู หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน
  • ตระหนักรู้ มองเห็น สังเกต พิจารณาอากัปกริยาหรือการตอบสนองของคนรอบตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเรียนรู้โดยปริยายถึงวิธีสานต่อหรือตอบสนองกับคนอื่น เช่น โต้ตอบการสนทนากับพี่ ๆ ที่ร้านสะดวกซื้อ พูดคุยกับพ่อค้าขายไอศกรีม หรือทักทายกับเพื่อนตัวเล็ก ๆ (หรือแม้แต่กับลูกหมาลูกแมว) ที่พบระหว่างทาง
  • ลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป จะเริ่มต้นสนใจเล่นร่วมกับเพื่อนจากระยะเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ทำได้นานขึ้นตามลำดับ และเล่นอย่างมีรูปแบบมากขึ้น
  • เมื่อถึงวัย 3 ขวบ ลูกมักต้องการเข้ากลุ่มเพื่อเล่นสนุกไปกับเพื่อน เล่นอย่างมีรูปแบบ แถมยังมีและยอมรับกติกาการเล่นแบบง่าย ๆ ภายในกลุ่มของตนเองได้อีกด้วย

แต่สำหรับลูกออทิสติก ภาพการสานต่อแบบสองทางเช่นที่ว่านี้ ดูเหมือนจะถูกตัดตอนลงกลางคัน ลูกจึงมักจะมีลักษณะ ดังนี้ คือ

  • เลี่ยงการสบตากับคู่สนทนา ไม่ช้อนตามองเมื่อมีคนมาแตะตัวหรือเล่นด้วย
  • ในยามดีใจ ตกใจ เสียใจ หรือภูมิใจ ก็ไม่มองไปรอบ ๆ ไม่มองหาพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก
  • ลูกอาจวิ่งเข้ามาหา มาดึงมือ มานั่งตัก แต่ไม่มีการสานต่อ ไม่เงยหน้ามอง ไม่สบตา ไม่พยักพเยิด หรือหากพ่อแม่ชี้ชวน ล้อเล่น หรือเรียกหาจากระยะไกล ลูกก็ไม่สนใจ
  • ไม่เหลียวมองคนที่เดินผ่าน หรือเดินผ่านคนอื่นไปโดยไม่ตระหนักรู้
  • หากเลือกได้ ลูกจะแยกตัวออกมานั่งเล่นคนเดียว ง่วนอยู่กับสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือวิ่งเล่นปีนป่ายอยู่คนเดียวมากกว่าจะอยู่ร่วมกับคนใกล้ชิด
  • เมื่อได้พบกับเด็กในวัยเดียวกัน ก็ไม่ค่อยสนใจไปสานต่อ แม้ในบางครั้ง ลูกอาจเข้าไปหาเพื่อน แต่มุ่งเข้าไปหาเพื่อไปเอาของเล่นที่เพื่อนกำลังเล่นมากกว่าไปสานต่อเพื่อเล่นร่วมกับเพื่อน
  • ลูกอาจไปวิ่งเล่นร่วมกับเด็ก ๆ คนอื่น แบบอาศัยวงจรการวิ่งของเพื่อน ๆ แต่กลับเล่นสนุกคนเดียวโดยไม่มีท่าทีพยักพเยิด ล้อเล่น สบตา ยิ้มหัวเราะร่วมกันในเชิงสานต่อแบบสองทางกับเพื่อน

โดยธรรมชาติที่ลูกออทิสติกขาดการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นนี้ ลูกจึงขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางสังคม ขาดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการเข้าสังคม ขาดการใช้หรือพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารกับบุคคลอื่น และมีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป

แม้ลูกออทิสติกจะมีปัญหาเหล่านี้ บ้านอุ่นรักก็ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง มีกำลังใจและเชื่อมั่นว่า “ทุกปัญหา มีหนทางแก้ไข และท่านคือหัวเรือใหญ่ที่จะช่วยลูก ๆ แก้ปัญหานี้”

ขอเพียงท่านมองลูกตามความเป็นจริง กล้าเผชิญความจริง ตั้งสติได้เร็ว และเริ่มลงมือช่วยลูกแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถเสียแต่วันนี้ ในไม่ช้า ลูก ๆ ก็จะมีพัฒนาการทางสังคมและมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นที่ดีขึ้นได้ตามลำดับค่ะ

Photo Credit: Conner Baker | Unsplash