ดูแลหัวใจลูกเมื่อถูกบูลลี่ | บ้านอุ่นรัก
ลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า หรือแม้แต่ลูก ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกบางประการไม่ว่าจะเป็นลักษณะเด่นหรือด้อยที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น ความสูง สีผิว รูปร่าง หน้าตา ทรงผม น้ำเสียง บุคลิกภาพที่แตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกที่เรียบร้อย เด็กเนิร์ด ลูกที่เรียนอ่อน ลูกที่เรียนเก่ง ลูกที่เงียบขรึม ลูกที่ชอบโวยวาย ลูกที่เป็นเด็กที่ครูกล่าวถึงบ่อย ๆ ลูกที่เข้ากับกลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่ไม่ได้และมีแนวโน้มที่จะแยกตัวหรือไปจับกลุ่มกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ และหากเป็นเด็กผู้ชาย ก็อาจต้องไปรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่ยอมรับลูกเข้ากลุ่ม ลักษณะต่าง ๆ ของลูก ๆ ดังที่กล่าวมา จึงเป็นประเด็นที่เพื่อนอาจหยิบยกมาล้อเลียนลูกได้
สำหรับลูกที่ถูกบูลลี่ ถูกล้อเลียน ถูกตัดสิน หรือถูกแกล้ง ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะขอเน้นประเด็นต่าง ๆ ที่พ่อแม่และผู้ปกครองพอจะช่วยลูกได้ ดังนี้ คือ
- ไม่เติมเชื้อไฟไปในจิตใจของลูก (และเรา) ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เราจำเป็นต้องตั้งสติ รับรู้ ย้อนคิดถึงเราในวัยเด็กว่าในช่วงประถมจนกระทั่งถึงมัธยม การบูลลี่ในกลุ่มเพื่อน ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งนี้เพราะช่วงวัยนั้นเป็นช่วงวัยที่เด็กพร้อมจะล้อเล่นกัน แซวกันได้ทุกเรื่อง และมักทำทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ไปบูลลี่เด็กคนอื่นจะเป็นเด็กที่มีจิตใจเลวร้ายเสมอไป
- เมื่อเราตั้งสติได้แล้ว เราควรกระตุ้นให้ลูกได้พูดระบายความรู้สึกออกมาว่าลูกรู้สึกอย่างไรและลูกเจอกับสถานการณ์ใดบ้าง โดยเราจะรับฟังลูกอย่างไม่รีบตัดบท ไม่รีบสอนให้ลูกแข็งแกร่ง และไม่รีบปลอบใจ
- เราจะกล่าวให้ลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรและลูกต้องเผชิญกับอะไร การที่เราทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกเกิดความอบอุ่นใจว่าเราเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดกับลูกเป็นเรื่องสำคัญของลูกและเรื่องที่ลูกเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องเล็ก (เพราะบางครั้ง ในสายตาของผู้ใหญ่อาจมองว่าเรื่องการบูลลี่ในกลุ่มเพื่อนเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเด็ก เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เพราะเด็กต้องการ ๆ ยอมรับจากเพื่อน เมื่อไม่ได้รับการยอมรับแต่กลับถูกกลั่นแกล้ง จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและกระทบจิตใจของเด็กมากพอสมควร)
- ย้ำให้ลูกรู้ว่าลูกสามารถสื่อสารกับเพื่อนได้อย่างสุภาพว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ลูกไม่ชอบ
- สร้างความเข้าใจกับลูกว่าสิ่งที่เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ บูลลี่ ล้อเลียน ตัดสิน หรือนำมาเป็นประเด็นเพื่อกลั่นแกล้ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้ ลูกมีคุณค่าในตัวเองในแบบที่ลูกเป็น และในสายตาของพ่อแม่ รวมทั้งคนรอบข้างของลูก ลูกมีค่ามากพอ
- ถ้าสถานการณ์ยังคงอยู่ยาวนาน ลูกสามารถขอความช่วยเหลือจากครู หรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ได้เสมอ
- ในระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามชี้ให้ลูกรับรู้จุดเด่นของตนเองในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจและปลูกฝังทัศนคติทางบวกที่ถูกต้องให้ลูกรู้ว่าคนทุกคนต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน และคุณค่าของคนแต่ละคนขึ้นอยู่กับมุมมองของคน ๆ นั้น ซึ่งบางครั้งแม้แต่ตัวลูกเองก็ยังมองเห็นสิ่งนั้นต่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คนรอบข้าง หรือเพื่อน ๆ ดังนั้น ลูกจึงไม่สามารถใช้คำพูดของผู้อื่นมาตัดสินคุณค่าของตัวเองและคนอื่น
- พ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยผ่อนคลายความรู้สึกของลูกได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือต้องถือเป็นข้อดีที่ลูกได้เผชิญความกดดันในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถตามไปพิทักษ์ปกป้องทุกข์สุขในชีวิตของลูกได้ทั้งหมด การเกิดแบบฝึกหัดบางอย่างในชีวิตของลูกในขณะที่พ่อแม่ยังอยู่เคียงข้างจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ให้ข้อคิดและแนวทางเรื่องการใช้ชีวิต ตลอดจนการหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสมร่วมกัน ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรปรับมุมมองว่าอุปสรรคที่ลูกพบเจอเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่มีค่าที่จะช่วยให้จิตใจของลูกได้ผ่านแรงเสียดทานต่าง ๆ ในชีวิตจนแข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับได้
แม้เราทำได้เพียงการดูแลความรู้สึกของลูกแค่ครึ่งเดียวเมื่อลูกถูกบูลลี่ แต่การดูแลหัวใจของลูกนี้จะช่วยให้ลูกรับรู้ความรักที่พ่อแม่ผู้ปกครองมอบให้ อีกทั้งลูกได้เรียนรู้คุณค่าของตนเองไปพร้อม ๆ กับการสร้างเสริมกำลังใจอันจะก่อให้ลูกเกิดความมั่นใจว่าลูกยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองและคนรอบข้างที่รักและเข้าใจลูกด้วยความจริงใจ