by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
การพูดและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนับเป็นพัฒนาการและทักษะสำคัญที่จะส่งผลให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเลียนแบบ ความสามารถที่จะสานต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ความสามารถในการคิด ประมวลผลการสื่อสารและกลั่นออกมาเป็นคำพูดโต้ตอบที่ตรงตามสถานการณ์ตรงหน้าได้ และความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เป็นต้น
แต่ในกรณีของลูกออทิสติก ลูกมักจะมีปัญหาเรื่องการพูดและไม่ค่อยเข้าใจภาษาเพื่อการสื่อสาร จึงต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากยิ่ง ๆ ขึ้นจนยากที่จะแก้ไข
การแก้ไขปัญหานี้ควรมีนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดเป็นบุคคลหลักในการช่วยบำบัดและรักษา อย่างไรก็ตาม การบำบัดรักษาต้องใช้ระยะเวลาและต้องทำสม่ำเสมอ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้านสามารถเข้ามาเป็น “ทีมเสริม” ของนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูด เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้ที่ดีขึ้นได้ โดยเมื่อนักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดวางแนวทางการดูแลและบำบัดรักษาลูกในขณะลูกอยู่ที่บ้าน ทุกคนในบ้านควรร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ๆ ค่ะ
สำหรับเด็ก ๆ ออทิสติกที่มาเรียนที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เรามีแนวทางในการกระตุ้นทักษะและพัฒนาการด้านนี้ให้กับเด็ก ๆ ดังนี้ คือ
- ใช้สื่อ อุปกรณ์ เครื่องมือ
- ใช้การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น (Visual Learning)
- เพิ่มทักษะทางภาษาท่าทาง
- วางเงื่อนไขการพูด
- เน้นพูดตาม ถามทวนซ้ำ
- เน้นการพูดโต้ตอบสนทนา
เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ได้ลองทำตามแนวทางของเราควบคู่ไปกับแนวทางที่นักแก้ไขการพูดหรือครูฝึกพูดให้ไว้ ทั้งนี้เพื่อในที่สุดลูกหลานออทิสติกจะได้เข้าใจภาษาได้ดีขึ้นค่ะ
Photo Credit: Humphrey Muleba | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
แม้ว่าลูกมีอาการออทิสติก แต่ลูกก็เป็นสมาชิกที่มีสิทธิที่จะอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพียงแต่เราจำเป็นต้องตระหนักว่าในฐานะพ่อแม่เรามีหน้าที่เตรียมลูกของเราให้พร้อมพอสมควรก่อนเริ่มเข้าสู่สังคมในวงกว้าง เพราะในบางสถานการณ์หากเรา ปล่อยให้ลูกปฏิบัติตามธรรมชาติในวิถีที่ลูกเคยชิน อาจมีผลให้เกิดเรื่องวุ่นๆให้ผิดใจกับคนรอบข้างได้เหมือนกัน ดังนั้นเราควรมาเริ่มสร้างแบบฝึกหัดอย่างมีรูปแบบ มีการซ้อมในสถานการณ์เล็กๆ ตามจริง เลือกเวลา เลือกสถานที่ ที่เริ่มจากควบคุมปัจจัยแวดล้อมง่ายๆ ใช้เวลาสั้นๆ บ่อยๆ แล้วค่อยๆขยายไปสู่สถานการณ์ตามจริงมากขึ้นเรื่อยๆ หากทำได้แบบนี้เชื่อมั่นได้เลยค่ะว่า ลูกของเราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสมตามควร ซึ่งหากเรามองไปรอบๆ สังคมพร้อมอยู่แล้วที่จะอ้าแขนต้อนรับลูกๆของเรา ….นับจากวันนี้… เตรียมลูกให้พร้อม แล้วสูดหายใจลึกๆ ..ยืดอกอย่างภาคภูมิใจจูงลูกออกไปสำรวจโลกข้างนอกกันค่ะ
7 เรื่องที่ต้องเตรียมตัว เมื่อลูกออทิสติก เริ่มเข้าสู่สังคมในวงกว้าง
1 ปรับพฤติกรรมที่อาจขัดขวางการใช้ชีวิตในสังคม
มีบางพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาการออทิสติก ที่เราควรเฝ้าดู เพื่อตั้งเป้าทีละน้อยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก โดยทำตามสถานการจริงที่เกิดขึ้นจริง เช่น
1.1 พฤติกรรมที่อาจเกิดอันตราย ต่อตนเอง และผู้อื่น เราควรพิจารณาว่าลูกมีร่องรอยพฤติกรรมอะไรที่ควรเฝ้าระวังหรือ เตือนลูกโดยไม่ปล่อยผ่าน เช่น เข้าไปดูแลใกล้ๆลูกเมื่อเห็นลูกเล่นแบบไม่ระมัดระวัง อาจเกิดการชนหรือกระแทกคนรอบข้าง การ เล่นในที่สาธารณะโดยย้อนศรหรือวิ่งตัดวงจรตามปกติของกิจกรรมนั้นๆ หรือเข้าไปดูแลใกล้ๆเมื่อเห็นลูกมีพฤติกรรมรนรีบ ขาดความระมัดระวังจนอาจเกิดอันตราย หยุดลูกเมื่อเห็นลูกวิ่งเตลิด หรือการตั้งเป้าหมายที่จะฝึกลูกควบคุมตนเองเมื่อหงุดหงิด เพื่อลดการแสดงพฤติกรรมรุนแรงซึ่งอาจส่งผลถึงการบาดเจ็บของตนเองและคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง การโยนของเล่น หรือเล่นเครื่องเล่นสาธารณะที่อาจมีผลให้สิ่งของนั้นแตกหักชำรุด พฤติกรรมในร้านอาหารลดการวิ่งไป-มา
1.2 พฤติกรรมที่ขัดขวางการดำรงชีวิต และรบกวนการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เช่น พฤติกรรมติดรูปแบบจนลูกมีอาการฝืนต่อต้านไม่เป็นตามพฤติกรรมตามจริงที่ควรจะเป็น เช่น ไปผลักคนอื่นให้ลุกจากที่นั่งโดยลูกจะจองที่นั่งที่เดิมแม้ที่นั้นไม่ว่าง พฤติกรรมหวาดกลัวมีผลให้ลูกหลีกเลี่ยงบางสถานการณ์อย่างรุนแรง เช่น วิ่งเตลิดเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่ยอมเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะลูกจึงขับถ่ายอย่างอิสระข้างทาง หรือพฤติกรรมยึดติดหมกมุ่นกับของบางอย่างที่ใช้เป็นส่วนรวมจนขัดขวางคนอื่นที่จะมาเล่นร่วมกัน พฤติกรรมหมกมุ่นกับตัวอักษร โลโก้ ภาพ ฯลฯ จนลูกมักจะมีพฤติกรรมสนใจเข้าไปหยิบจับลูบคลำที่สิ่งของเครื่องใช้ของ คนรอบข้าง ฝึกลูกควบคุมอารมณ์ตนเองเมื่อหงุดหงิด ลดพฤติกรรมยึดติดรูปแบบ พฤติกรรมเข้าไปจัดการสภาพแวดล้อมให้เป็นดังที่คิดเพราะลูกขาดความยืดหยุ่น
Tips วิธีการสอนลูก
ตั้งธงว่า อะไรจำเป็นต้องทำ จากนั้นฝึกลูกตามจริง ใช้คำพูดกระชับ กรณีที่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก อาจใช้ภาพ สัญลักษณ์มาประกอบการสอนลูก
ให้ลูกเผชิญ สถานการณ์ ตามจริง บอกให้ลูกรู้ลำดับ ขั้นตอน อย่างชัดเจน
เมื่อจะออกไปข้างนอก มีการพูดคุยทำข้อตกลง ให้ลูกรู้กิจวัตรล่วงหน้า
2 เพิ่มทักษะการพูด การใช้ภาษาท่าทาง ตามสถานการณ์จริง
เพิ่มทักษะการสื่อสารทั้งทางการพูดและการแสดงท่าทางของลูก ให้ลูกสามารถสื่อสารให้บุคคลภายนอกเข้าใจความต้องการและสื่อสารกันได้ตามสมควร โดยพิจารณาว่าในแต่ละสถานการณ์ลูกควรพูดหรือใช้ภาษาท่าทางอย่างไรในการสื่อสาร จากนั้นกระตุ้นให้ลูกพยายามสื่อสารตามสถานการณ์จริง หากลูกพูดหรือสื่อสารเองไม่ได้ ในระยะแรกสามารถใช้การบอกบทหรือสาธิตให้ลูกทำตาม เช่น การพูดเพื่อขอความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาพาะหน้า บทสนทนาในการซื้อของ
3 ฝึกทักษะทางสังคมของลูกกับเด็กวัยเดียวกัน
หาโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน เช่น การเล่นกับเพื่อนที่สวนสาธารณะ การเล่นเครื่องเล่นสนาม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อดูการตอบสนองของลูก ว่าลูกมีพฤติกรรมอย่างไรทั้งในแง่การควบคุมตนเอง และความสนใจ แรงจูงใจที่ลูกจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพื่อนๆอย่างมีความหมาย โดยลองปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อนสักครู่ แล้วสังเกตการเล่นและการตอบสนองของลูกว่าเป็นอย่างไรหากจำเป็นพ่อแม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการสาธิตการเล่น บอกบทการสนทนา การพูดหรือขอเข้าร่วมเล่นกับเพื่อน และการเล่นร่วมกันอย่างถูกวิธี
4 ฝึกให้ลูกทำตามข้อตกลง หรือกติกาของส่วนรวม
ลูกจำเป็นที่จะต้องเคารพกติกาและพยายามทำตามกติกา โดยเฉพาะกติกาพื้นฐานที่จำเป็นในการที่การอยู่ร่วมกัน เช่น การแบ่งปัน การรอคอยคิว การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน การเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น การสอนให้ลูกสังเกตเห็นและทำตามป้ายข้อห้ามกติกาในที่สาธารณะ ในกรณีที่จำเป็นต้องยืดหยุ่นอาจทำได้บางส่วน แต่อย่างน้อยลูกควรได้เรียนรู้ที่จะพยายามทำตามกติกา ที่เด็กวัยเดียวกันทำได้ ให้ได้มากที่สุดโดยอาจให้เวลาลูกได้เรียนรู้และฝึกฝนซ้ำๆ จนกว่าลูกจะทำได้ และก่อนนอกบ้าน ควรมีการตกลงเงื่อนไขกันล่วงหน้าว่าลูกควรปฏิบัติตนอย่างไร
5 สอนมารยาทพื้นฐาน ตามวัยตามควร
เช่น สอนลูกให้พูดจาสุภาพ ใช้คำพูดให้เหมาะสมกับผู้ใหญ่ ใช้คำกล่าวเหมาะสมตามสถานการณ์ เช่น คำกล่าวสวัสดีทักทาย กล่าวขอบคุณ.เมื่อได้รับสิ่งใดที่เป็นที่ต้องการหรือมีคนช่วยทำอะไรบางอย่างให้ ขอโทษ ฝึกขออนุญาตตามสถานการณ์ ไม่ไม่พูดแทรกขัดจังหวะเมื่อผู้ใหญ่กำลังพูดคุยกัน ปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจาม ใช้ช้อนกลางตักอาหาร ใช้ช้อนหรือช้อนส้อมให้ถูกต้อง ไม่พูดวิจารณ์คนอื่น
6 สอนให้ลูกรู้จักตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
เมื่อเห็นโอกาสใดๆ ที่จะสอดแทรกการฝึกให้ลูกนำพาตนเองควรกระตุ้นให้ลูกพยายามเผชิญและตัดสินใจโดยพ่อแม่ดูแลห่างๆ เริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น ให้ลูกใช้คูปองไปแลกซื้ออาหารโดยเลือกร้านที่ชอบเอง เลือกที่นั่งเอง การซื้อของในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยเน้นฝึกลูกคิด เป็นขั้นตอนเลือกลำดับก่อนหลังว่าจะทำอะไร โดยเมื่อใดที่ลูกชะงักลังเล อาจชี้นำด้วยการเสนอทางเลือก 2-3 ข้อ ให้ลูกเลือก หากจำเป็นอาจอธิบายเพิ่มเติมให้แนวทางการตัดสินใจ โดยเน้นการสอนให้ลูกคิดด้วยวิธีการอธิบายที่สั้น เห็นภาพชัดเจน มีลำดับการคิดอย่างเป็นขั้นตอน
7 สอนเรื่องการใช้จ่ายเงิน
เช่น การซื้อของให้ลูกรู้จักเงินเหรียญและธนบัตร เรียงลำดับค่าของเงินตามวัย การรอรับเงินทอน การคิดคำนวณค่าสินค้า (หากจำเป็นอาจใช้เครื่องคิดเลขได้) สอนการประหยัด การใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจใช้จ่ายในสิ่งนั้นๆ การเลือกระหว่างของสองสิ่งที่ทดแทนกันได้ รู้จักออมเงิน
หากเห็นว่าบทความนี้ เป็นประโยชน์ ก็อย่าลืมช่วยแชร์ ให้กับคนที่คุณรัก ได้อ่านกันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ