by admin | Video
“บ้านอุ่นรัก” ชวนทุกท่านร่วมชมการฝึกซ้อมเปียโนของ Alfonzo (บุคคลออทิสติก) และร่วมยิ้ม ร่วมสุขใจไปกับเขาค่ะ
ไม่ว่าเพลงที่ Alfonzo หรือเด็กออทิสติกคนอื่น ๆ เล่น จะไพเราะหรือไม่ก็ตาม แต่ Alfonzo และเด็ก ๆ ย่อมรู้สึกรื่นรมย์ สุข สนุก และผ่อนคลายความวิตกกังวลหรือความกลัวในขณะได้เล่นดนตรี นอกจากนี้ ยังได้สร้างเสริมพัฒนาการและทักษะด้านอื่น ๆ คู่กันไปด้วย ทั้งการอ่าน การจับจังหวะ การคงสมาธิ การฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ การกำกับการเคลื่อนไหวของร่างกายคู่กับการอ่านตัวโน้ตดนตรีและความคิด การกระตุ้นการเปล่งเสียงและการพูด การเพิ่มทักษะการฟัง-เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และการกระตุ้นการสบตา เป็นต้น
ดนตรีบำบัดส่งผลดีต่อพัฒนาการที่รอบด้านของเด็กออทิสติกได้ค่ะ ดังนั้น คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ลองสังเกตความชอบและความสนใจของลูก ๆ ออทิสติกกันดูนะคะ ถ้าลูกฉายแววว่าปลื้มดนตรีและเสียงเพลง จะได้หาแนวทางส่งเสริมและผลักดันให้ถูกทางต่อไปค่ะ
กดที่ลิ้งค์ข้างล่างเพื่อชมวีดีโอ
https://www.youtube.com/watch?v=MJQHiCBTvZ8&feature=youtu.be
เครดิตภาพ: James Zwadio | Unsplash
by admin | Video, บทความบ้านอุ่นรัก
EP 7: กิจกรรมออกเสียงและทำท่าประกอบตามเพลง
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาเรื่องกิจกรรมออกเสียงและทำท่าประกอบตามเพลง เราขอทบทวนกันสักนิดว่าเราสามารถใช้กิจกรรม Warm Up การกดคีย์บอร์ด และการเคาะเครื่องเคาะจังหวะ ในการพัฒนาทักษะการออกเสียงให้เด็ก ๆ โดยผู้สอนออกเสียงเรียกชื่อเด็ก ชื่อท่าทางการ Warm Up (เช่น กำมือ แบมือ เตะมือ หรือจับมือกัน เป็นต้น) ชื่อเครื่องดนตรี และชื่อตัวโน้ตทุกครั้ง จากนั้นก็พยายามกระตุ้นให้เด็ก ๆ ออกเสียงตามเรา
สำหรับกิจกรรมพัฒนาทักษะการทำท่าตามเพลงนั้น เด็ก ๆ ต้องลุกขึ้นยืน หันหน้าเข้าหาผู้สอน ผู้สอนร้องและทำท่าตามเพลง เพื่อให้เด็ก ๆ ทำท่าตามเรา ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ ผู้สอนอาจต้องจับมือนำให้ทำไปก่อน โดยไม่ลืมที่จะเรียกชื่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กสบตา ออกเสียงของเราเพื่อให้คำสั่งง่าย ๆ สั้น ๆ ในการบอกให้เด็กทำ เช่น น้อง…(ชื่อเด็ก)…ยืน นั่ง แลกของกัน
จาก EP นี้ เราได้รู้เกร็ดความรู้มากมาย เช่น
…กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อคอ แขน ขา ลำตัว ซึ่งมีผลต่อการทรงตัว ความแข็งแรงและความคล่องแคล่วในการเดิน วิ่ง เคลื่อนไหว
…ควรใช้เพลงสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายและมีจังหวะที่ไม่เร่งเร้าเกินไปมาประกอบกิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการเคลื่อนไหว
…ผู้สอน (คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง) ควรร้องเพลงด้วยตนเองเป็นหลัก แต่บางครั้งอาจเปิดจากเครื่องเสียงสลับเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างได้
…ควรจับตาดูเพื่อรู้จังหวะเข้าแทรกหรือช่วยเหลือให้เด็กเกิดการเลียนแบบ ทั้งการเลียนแบบการออกเสียงและการทำท่าทางประกอบเพลง
มาชม EP 7 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=Mo6HmpF5PBI
บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
Credit ภาพ: Park Troopers | Unsplash
by admin | Video, บทความบ้านอุ่นรัก
EP 6: กิจกรรมเคาะจังหวะ
สำหรับการทำกิจกรรมเคาะจังหวะนี้ เราต้องให้เด็กนั่งเก้าอี้ตรงกันข้ามกับผู้สอน ให้เด็กถือเครื่องเคาะทีละชิ้น และฝึกเคาะ เขย่า บีบ ประกอบเสียงเพลงที่ผู้สอนร้องให้เป็นจังหวะ อย่างไรก็ตาม เราควรมีการสลับเครื่องเคาะ 2-3 อย่างต่อการฝึก แต่ก็ไม่ควรสลับเครื่องเคาะมากชิ้นจนเกินไป
เมื่อได้ชม EP 6 นี้ เราก็จะได้เกร็ดความรู้หลาย ๆ อย่าง เช่น
…ในช่วงแรก ๆ ของการฝึก เราอาจต้องจับมือเด็กเพื่อหัดให้เด็กถือเครื่องเคาะ และอาจปล่อยให้เด็กได้เคาะ ตี เขย่า เครื่องเล่นแบบต่าง ๆ ตามใจชอบบ้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความสนุก
…ในขณะเคาะจังหวะ ผู้สอนต้องกระตุ้นเรียกชื่อเด็กเป็นระยะ ๆ ตลอดจนมีการออกเสียงเรียกชื่ออุปกรณ์ และยื่นอุปกรณ์หรือเครื่องเคาะให้เด็กทีละอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เด็กพยายามออกเสียงตามในการเรียกชื่อเครื่องดนตรีด้วย
…การสลับหรือแลกอุปกรณ์เครื่องเคาะ จะแลกกับผู้สอนหรือแลกกับเพื่อนที่เรียนอยู่ด้วยกันในกลุ่มก็ได้
…ผู้สอนพยายามยกอุปกรณ์การสอนให้อยู่ในระดับสายตาและเรียกชื่อเด็กเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นการสบตาและกระตุ้นความสนใจของเด็ก
การทำกิจกรรมพื่อพัฒนาทักษะให้กับเด็ก ๆ ขอให้เราเน้นการฝึกฝนที่สม่ำเสมอเป็นสำคัญด้วยนะคะ
มาชม EP 6 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=Zl10KuZdoiw
บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
Credit ภาพ: | Hatice Yardim | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
EP 5: ใช้เวลาร่วมกับลูกในการกดคีย์บอร์ดกันค่ะ
เราชมวีดีโอชุดนี้ถึง EP 5 “กิจกรรมกดคีย์บอร์ด” กันแล้วนะคะ ในตอนนี้ บ้านอุ่นรักขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองช่วยเช็คอีกรอบว่าเราได้ติดสติ๊กเกอร์ชื่อตัวโน้ตบนแป้นคีย์บอร์ดกันเรียบร้อยแล้วหรือยัง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราจะมาเรียนรู้วิธีสอนลูกกดคีย์บอร์ดกันได้เลยค่ะ
วิธีการสอนโดยสรุป คือ
การเตรียมความพร้อมเรื่องการออกเสียง (โด เร มี ฟา ซอล) ทำได้ด้วยการชวนลูกออกเสียงของตัวโน้ต ออกทั้งเสียงยาว ๆ และสั้น ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับตัวโน้ตก่อนเริ่มกดคีย์บอร์ด
การนั่งของลูกและเรา ลูกนั่งบนเก้าอี้ ลูกหันหน้าเข้าหาคีย์บอร์ด ส่วนเราซึ่งเป็นผู้สอนนั่งด้านขวามือของลูก
ตำแหน่งการวางมือของลูกสำหรับกดคีย์บอร์ด คือ นิ้วโป้ง-โด | นิ้วชี้-เร | นิ้วกลาง-มี | นิ้วนาง-ฟา | นิ้วก้อย-ซอล
การกดตัวโน้ต ในช่วงแรก ๆ ให้กดตัวโน้ตทีละตัวและกดแค่ 3 ตัวโน้ต คือ โด เร มี ไปก่อน กดซ้ำสัก 4 ครั้ง กดไล่ขึ้นลง (โด เร มี : มี เร โด) จนกว่าลูกจะทำได้คล่องและทำได้เอง จากนั้น ค่อยเพิ่มการกดตัวโน๊ตอีก 2 ตัว คือ ฟาและซอล
การเพิ่มทักษะการออกเสียง ระหว่างกดตัวโน้ต เราสามารถเพิ่มทักษะการออกเสียงให้ลูกด้วยการให้ลูกออกเสียงตามตัวโน้ต กระตุ้นให้ลูกออกเสียงและพูดในทุก ๆ ครั้งที่กดตัวโน้ต และในขณะกดคีย์บอร์ด เรากระตุ้นเรียกชื่อลูกเป็นระยะ ๆ ให้โต้ตอบและออกเสียงตัวโน้ต
การจับนำให้ทำและการให้ลูกกดแป้นเองตามใจ ในระยะแรก ๆ เราอาจต้องจับนิ้วของลูกเพื่อกดตัวโน้ตไปก่อน หมั่นสอนลูกจนกว่าลูกจะทำได้เอง ทั้งนี้ ในการฝึก 2-3 ครั้งแรก เราอาจให้ลูกกดตัวโน้ตตามใจได้บ้างเพื่อสร้างความรู้สึกดีที่ลูกจะมีต่อการฝึกในครั้งต่อ ๆ ไป
การจัดการลูกที่อยู่ไม่นิ่งหรือวุ่นวายกับอุปกรณ์ เรานั่งชิดกับลูก ใช้แขนซ้ายโอบตัวลูกไว้ จับมือซ้ายของลูกวางแนบขาซ้ายของลูก ส่วนมือขวาของเรา จับนิ้วมือขวาของลูกกดแป้นคีย์บอร์ด
ในระยะแรก ๆ ลูกอาจยังกดคีย์บอร์ดเองไม่ได้ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองก็จับนำให้ลูกทำอย่างสม่ำเสมอไปก่อนนะคะ ซึ่งบ้านอุ่นรักเชื่อมั่นว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จะค่อย ๆ ช่วยลูก ๆ ให้ทำกิจกรรมนี้ได้อย่างคืบหน้าและสนุกสนาน และในที่สุด พัฒนาการที่คืบหน้าของลูกจะนำความภาคภูมิและความสุขใจมาสู่เราทุกคนได้ค่ะ
มาชม EP 5 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=KCJrXbaRP2U
บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
Credit ภาพ: | Paige Cody | Unsplash